เรื่องสั้น ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม ผลงานทรงคุณค่าของคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์ ผลงานเหมืองแร่ถือเป็น ภาพตัวแทนของคุณอาจินต์ ปัญจพรรค์เลยก็ว่าได้เพราะมีน้อยคนนักที่มีการกล่าวถึงเรื่องเหมืองแร่ไว้ในงานเขียนของตนอาจเป็นเพราะว่าเหมืองแร่ดูไม่ใช่เรื่องสำคัญที่ควรนำมาเป็นประเด็นให้คนในสังคมได้รับรู้ จึงถือได้ว่า คุณอาจิตต์ ปัญจพรรค์เป็นตำนานของการนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับเหมืองแร่ให้ผู้อ่านได้รับรู้เรื่องราวความเป็นไป การดำเนินชีวิตของผู้คนในเหมืองแร่แห่งนั้นๆ โดยในเรื่องสั้น ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม เป็นเรื่องราวสั้นๆที่ เกี่ยวกับชายหนุ่มคนหนึ่งที่ทำงานเสร็จแล้วแอบแวะไปนั่งเล่นที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในเหมืองนั้นและได้พบกับสามี ภรรยาคู่หนึ่งที่ต้องการเดินทางมาหางานทำในเหมืองนี้ด้วยเหตุผลหลายๆอย่าง และสุดท้ายเรื่องจบลงโดยการที่ นายฝรั่งรับสามีภรรนาคู่นั้นเข้าทำงานบนพื้นฐานของการมีมนุษยธรรม
เรื่องสั้น ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม นอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงชนชั้นของคนมีเงินกับชนชั้นแรงงานที่แม้แต่วันหยุดก็ยังมีความแตกต่างกัน ค่าเบี้ยเลี้ยงที่ชนชั้นแรงงานไม่เคยได้ถึงแม้จะต้องทำงานหนักแค่ไหนก็ตาม ยังสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างตัวละครที่มีสองขั้วอำนาจทางความคิดซึ่งหากพิจารณาเพียงแค่ชื่อเรื่อง ในเหมืองแร่ มีมนุษยธรรม อาจสะท้อนให้เห็นถึงการสร้างให้มนุษย์เป็นมนุษย์ คือ สร้างให้ตัวละครมีความเป็นคนที่มีความ เมตตา ช่วยเหลือผอื่น มีมนุษยธรรมต่อกัน ตัวอย่างจากตัวบท
“ข้าพเจ้าภาวนาอย่างเสียสติให้ฝนเทลงมาอย่างป่นปี้ ให้ถนนพัง ให้ทำนพพังในบัดนี้ เพื่อให้ชายผู้นี้ได้งาน ทำและมีที่นอนให้เมียผู้มีท้องของเขาในคืนนี้”
จากตัวบทคือตอนที่คนเล่าที่แทนตัวเองว่าข้าพเจ้าแสดงความสงสาร เห็นอกเห็นใจในความอาภัพที่สามี ภรรยาคู่นี้ต้องพบเจอ แต่ถึงกระนั้นความเห็นอกเห็นใจหรือความสงสารคนกรุงเทพด้วยกันของชายหนุ่มที่มีต่อสามี ภรรยาคู่นี้ก็ไม่ได้ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมหรือปรากฏออกมาในรูปแบบของความช่วยเหลือให้เขาได้เข้าทำงาน ตัวอย่างจากตัวบท
“ข้าพเจ้าสะท้านใจยิ่งกว่าแววตาออดอ้อนของฝ่ายเมีย แต่ข้าพเจ้ามีลูกมือของข้าพเจ้าแล้ว งานแผนที่ของ ข้าพเจ้าก็ไม่เร่งร้อน และข้าพเจ้าไม่ใหญ่พอที่จะช่วยให้เขาได้งาน”
จากตัวบทจึงเป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามว่าเพียงแค่เขามีความเห็นอกเห็นใจ ความสงสารในโชคชะตาชีวิตของ สามีภรรยาจะเรียกว่าเขามีมนุษยธรรมอยู่ในจิตใจจริงหรือไม่ หรือมนุษยธรรมที่ผู้แต่งต้องการกล่าวถึงนั้นหมายถึง นายฝรั่งชาวต่างชาติที่ยอมรับสามีภรรยาคู่นี้เข้าทำงานในเหมืองแร่ถึงแม้จะรู้ว่าฝ่ายสามีได้ทำความผิดตามกฎ ข้อบังคบของสมาคมเหมืองชาวยุโรปในการที่เขาเป็นหัวหน้าในการสไตรก์ จากตัวบท
“บรรจุเขาเป็นผู้ช่วยหัวหน้าเวิร์กช็อปเงินเดือนเท่าที่เขาเคยได้จากเหมืองเหนือ”
ตัวละครของนายฝรั่งมีการสะท้อนให้เห็นถึงสองขั้วอำนาจทางความคิด คือ ความมีมนุษยธรรมและความกลัว มนุษยธรรมในการรับสามีภรรยาคู่นี้เข้าทำงานหลังจากที่ได้ไต่สวนรู้ถึงเหตุผล และความกลัวที่อาจทำผิด ข้อบังคับของสมาคม แต่ถึงกระนั้นเขาก็เลือกที่จะใช้ช่องโหว่ของข้อบังคับของสมาคมมาใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างมนุษยธรรมเพื่อเอาชนะความกลัวได้ จากตัวบท
“เยสฉันกลัวแต่ฉันไม่ได้ทำอะไรนอกข้อบังคับเลย ชายผู้นี้เป็นชายที่มีเมียตามกฎหมาย และเมียกำลังมีลูกที่เขาจะต้องการเลี้ยง เขาเป็นคนละคนกับชายโสดนักสไตรก์คนเก่า”
จากตัวบทสะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมในการมองหัวหน้าชาวต่างชาติได้เช่นกัน ผลงานการเขียนหลายๆเรื่อง ที่ปรากฎในสมัยนั้นมักจะมีการกล่าวถึงชาวต่างชาติในแง่ลบหรือแง่ที่ไม่ค่อยจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติสักเท่าไร แต่เรื่องนี้กลับสร้างให้นายฝรั่งคนนี้มีมนุษยธรรมในการช่วยเหลือผู้ที่กำลังตกทุกข์ได้ยากและตัวละครที่แทนตัวเองว่าข้าพเจ้าก็สะท้อนให้เห็นถึงสองขั้วอำนาจทางความคิดเช่นกัน ความคิดแรกคือ ความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนชาวกรุงเทพด้วยกันแต่อีกความคิดหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความไม่มีมนุษยธรรมที่ปรากฏ ให้เห็นจากชายหนุ่มผู้นี้คือ ความพร้อมที่จะเอาเปรียบคนอื่นได้ทุกเมื่อที่มีโอกาส ตัวอย่างจากตัวบท
“และในยามบ่ายอันเปล่าเปลี่ยวข้าพเจ้าก็ติดรถงานกลับไปนั่งเล่นในร้านกาแฟไม่แยแสต่อเสียงหวูดเลิกงานเลย”
“แต่วันอาทิตย์ที่กล่าวนี้ฝนได้กลายเป็นผู้ช่วย ผู้ร้ายคือข้าพเจ้า...ผู้ร้ายในการหลบงาน คือในขณะที่รอรถ งานอยู่แถวร้านกาแฟแล้วมีฝนเทลงมา ข้าพเจ้ามีสิทธิอย่างแน่นอนที่จะไม่โผล่ออกจากชายคา แม้รถมาแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังแกล้งโอ้เอ้ว่ากินชาร้อนยังไม่หมดถ้วย”
จากตัวบทสะท้อนให้เห็นถึงความเห็นแก่ใจที่ไม่ได้มีความเป็นมนุษยธรรมอยู่ในจิตใจของชายหนุ่มผู้นี้เลย เพราะเขาพร้อมที่จะเอาเปรียบผู้อื่นเมื่อมีโอกาสที่จะทำให้ตนเองได้รับความสบาย และสิ่งที่ปรากฏอีกอย่างจากชายหนุ่มผู้นี้คือ ความย้อนแย้งทางความคิด ในตอนแรกเขามีความคิดว่าฟ้าฝนธรรมชาตินั่นช่างใจร้ายที่ตกลงมาแกล้งให้พวกเขาต้องลำบากทำงานหนักขึ้นมากกว่าเดิม แต่เมื่อเขามีลู่ทางในการหาความสบายให้ตัวเองจึงเปลี่ยนความคิดว่าฟ้าฝนนั้นช่างเป็นใจและสร้างผลดีให้กับเขาเอง หรือเป็นตอนที่เขาภาวนาให้เกิดพายุเพื่อที่จะช่วยเหลือสามีภรรยาคู่นั้น เขาอยากให้เกิดพายุหนักเพียงเพราะแค่อยากช่วยคนแค่สองคนที่อาจจะเป็นเพื่อนจากกรุงเทพแต่ เขากลับไม่นึกถึงเพื่อนร่วมงานอีกนับร้อยชีวิตที่อาจต้องพบเจอความยากลำบากจากสิ่งที่เขาภาวนา
ดังนั้นตัวละครข้าพเจ้าจึงเป็นตัวละครที่สะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งสองขั้วอำนาจทางความคิด การที่ชายหนุ่มผู้นี้มีความคิดที่ย้อนแย้งอยู่ในตัวเองเป็นเรื่องที่น่าตั้งคำถามว่าเขามีมนุษยธรรมอยู่ในจิตใจของเขาจริงหรือไม่ การที่เขาภาวนาให้ฝนตกให้เกิดพายุเป็นเพียงแค่การขอให้ฟ้าฝนธรรมชาติช่วยเหลือสองคนนั้นโดยที่สุดท้ายแล้ว เขาก็ไม่ได้มีส่วนช่วยเหลือสามีภรรยาคู่นั้นอยู่ดี เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าความคิดที่มีความเป็นมนุษยธรรมไม่สามารถกระทำออกมาได้จริง แต่ความคิดที่ไม่มีความเป็นมนุษยธรรมนั้นเขากลับได้กระทำออกมาแล้ว คือ ความเห็นแก่ตัวของเขาที่มีต่อเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ และเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาว่าความมีมนุษยธรรมที่ถูกกล่าวถึง ในเรื่องนี้นั้นไม่ได้กล่าวถึงมนุษย์ของคนไทยด้วยกันเองแต่เป็นการกล่าวถึงมนุษยธรรมที่ชาวต่างชาติหรือนายฝรั่ง คนนั้นมีต่อคนไทยเป็นการแย้งความคิดของคำทำนายที่มีต่อชาวต่างชาติได้เช่นกัน
ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม : สองขั้วอำนาจทางความคิดที่แสดงความมีหรือไม่มีมนุษยธรรม
บทวิจารณ์โดย นางสาววิลาสินี แซ่ซื่อ
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6