กะพริบตาครั้งเดียว เรื่องสั้นแนวดิสโทเปียที่เล่าถึงชีวิตของชายกำจัด ‘ขยะ’ คนหนึ่ง ที่ถูกเอไอจากรัฐบาลจับคลุมถุงชนกับหญิงแปลกหน้า ช่วงเวลาในเรื่องคือสามสิบปีหลังจากการระบาดครั้งแรกของไวรัสโคโรนา (COVID-19) หรือราว ค.ศ.2049 รัฐบาลในยุคนั้นใช้ไวรัสเป็นข้ออ้างในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งการตั้งกฎเหล็กให้สวมหน้ากากปิดปาก ปิดจมูกตลอดเวลา เว้นระยะห่างทั้งทางร่างกายด้วยการใช้แผ่นพลาสติกใสกั้น และทางจิตใจด้วยการห้ามพบปะผู้อื่นโดยปราศจากเหตุอันควร ทำให้ตัวเอกผู้เล่าเรื่องรู้สึกเปล่าเปลี่ยวหัวใจมากยิ่งขึ้น และหวนกลับไปนึกถึงอดีตอันแสนหวานชื่น ยุคสมัยที่เรามองเห็นรอยยิ้มของผู้คนได้โดยไม้มีหน้ากากมาบดบัง สูดกลิ่นหอมละมุนของแสงแดดและทุ่งหญ้าได้เต็มปอด เขาจึงพยายามเก็บสะสมและส่งต่อ ‘ขยะ’ ซึ่งเป็นตัวแทนของความทรงจำในอดีตที่รัฐบาลไม่อนุญาตให้รำลึกถึง เมื่อถูกจับได้ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจึงจะวิสามัญฆาตกรรมเขา ก่อนตาย เขาจึงกล่าวกลอนของพ่อตัวเองออกมาเพื่อยืนยันจุดยืนของตัวเอง นั่นก็คือการพยายามคงไว้ซึ่งอดีตอันดีงามและ ‘ความฝัน’
หากอ่านผิวเผิน เรื่องสั้นเรื่องนี้ก็มีพล็อตเรื่องคล้ายเรื่องแต่งแนวดิสโทเปียทั่วไปอย่าง Fahrenheit 451 ที่รัฐบาลมีกฎห้ามครอบครองหนังสือ หากตรวจพบ ทั้งหนังสือและคนจะถูกเผา หรือเรื่อง 1984 ที่รัฐบาลจะจัดสรรคู่ที่เหมาะสมให้กับประชาชน ห้ามประชาชนมีความรักกันเอง ต้องรักบิ๊กบราเธอร์เท่านั้น เป็นต้น เรื่องแต่งแนวดิสโทเปียมักมีองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่คล้ายกัน นั่นก็คือการหวนคิดถึงอดีต(ของเรื่อง)อันดีงาม ทว่า สำหรับเรื่อง ‘กะพริบตาครั้งเดียว’ อดีตที่ตัวเอกหวนคิดถึงกลับไม่ใช่รัฐบาลที่อนุญาตให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพเป็นหลัก แต่กลับเป็นการหวนนึกถึงภาพฝันของความเป็นชายและหญิงในอดีตที่เขามองว่าดีงามและต้องการไปให้ถึงจุดนั้น ความเหนื่อยใจและสิ้นหวังซึ่งนำไปสู่ความตายของตัวเอกในตอนท้ายจึงไม่ได้เกิดมาจากการยอมแพ้ต่อผู้มีอำนาจ แต่เป็นเพราะความรู้สึกล้มเหลวที่ไม่สามารถไปถึงภาพฝันภาพนั้นได้ต่างหาก
“เหมือนทั้งชีวิต…ผมรู้สึกเหมือนรู้จักเธอมาทั้งชีวิต” น่าประหลาดใจที่ตัวเอกเชื่อว่าตัวเองเหมือนรู้จักกับคลีนเนอร์หญิงตรงหน้ามาทั้งชีวิต เพราะหากพิจารณาบทสนทนาของตัวเอกกับคลีนเนอร์ หญิงที่รัฐบาลคลุมถุงชนมาให้แล้วจะพบว่า นี่เป็นเหมือนการสัมภาษณ์มากกว่าการสนทนาด้วยซ้ำ แต่เหตุใดเล่าที่ทำให้ตัวเอกไม่รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกสัมภาษณ์หรือกำลังถูกสอบสวนอยู่ นั่นเป็นเพราะโดยปกติแล้ว ผู้หญิงมักถูกคาดหวังให้เป็นผู้ฟัง ผู้ปฏิบัติตาม และผู้เยียวยาจิตใจของผู้ชายอยู่แล้ว ในทางกลับกัน ผู้ชายมักถูกคาดหวังให้เป็นผู้นำ ผู้พูด จนเกิดคำศัพท์อย่าง ‘mansplaining’ ที่แปลได้ใจความว่า ‘การอธิบายบางอย่างให้กับบางคนในวิธีที่มองคนอีกฝั่งว่าโง่เขลากว่าตน มักใช้เวลาที่ผู้ชายอธิบายบางอย่างกับผู้หญิงทั้งที่ผู้หญิงเองก็รู้’ ตัวอย่างที่ยกมานี้เป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าผู้ชายมักเป็นผู้พูด ผู้สอน และผู้หญิงมัก(ถูกทำให้เป็น)ผู้ฟัง ผู้ทำตาม ไม่แปลกที่ตัวเอกจะไม่รู้สึกตะหงิดใจที่ตัวเองสาธยายข้อมูลส่วนตัว ชีวิต และอดีตของตน โดยไม่เอะใจเลยว่าตัวเองกำลังถูกล้วงข้อมูลอยู่ เพราะเขาก็คงรู้สึกว่าการเล่าเรื่องให้ผู้หญิงคนหนึ่งฟังนั้นเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องเข้าใจผู้หญิง ผู้หญิงต่างหากที่ต้องสนใจเรื่องของตน ดังเช่นตัวอย่างด้านล่าง
“คุณพูดเหมือนรู้จักงานของผมดี”
“แปลกด้วยเหรอคะ ฉันก็รู้เรื่องของคุณ เท่า ๆ กับที่คุณรู้เรื่องของฉันนั่นแหละ หรือคุณจะบอก ว่าก่อนพบกัน คุณไม่ได้อ่านข้อมูลของฉันมาเลย”
ถูกต้อง สามวันก่อนนัดหมาย ผมได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเธอ ผมอ้านจนจำขึ้นใจทุกตัวอักษร แต่ทั้งหมดไม่ทำให้รู้จักเธอเลยสักนิด วินาทีที่เธอนั่งลงตรงหน้าผมต่างหาก ที่หัวใจซึ่งเต้นโครมครามแทบทะลุออกมาบอกให้รู้ว่าเรื่องราวระหว่างเราเริ่มต้นขึ้นแล้ว
เนื้อหาท่อนนี้ชี้ให้เห็นว่าในขณะที่คลีนเนอร์หญิงศึกษาข้อมูลของตัวเอกมาเป็นอย่างดี เข้าใจจนถึงกระทั่งเนื้องานของผู้ชาย แต่ฝั่งผู้ชายกลับท่องจำ ท่องจำข้อมูลของผู้หญิง และนั่นทำให้เขาไม่รู้จักเธอเลยสักนิด จนกระทั่งวินาทีที่เธอมานั่งอยู่ตรงหน้าเขา วินาทีที่เขาได้ยลโฉมของเธอ ได้เล่าเรื่องของตัวเองให้เธอฟัง ทำให้หัวใจของเขาเต้นระรัวแทบจะทะลุออกมา หัวใจที่เต้นระรัวนั้นไม่ได้เต้นเพราะความรักของเขาที่มีต่อเธอ แต่เต้นระรัวเพราะมีผู้หญิงกำลังทำหน้าที่เป็นผู้ฟังให้เขาอยู่
“เราทุกคนต้องทำงาน” หากใช้เลนส์มาร์กซิสม์อ่านประโยคนี้คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับทุนนิยมที่บีบบังคับให้คนต้องรับใช้นายทุนและรัฐบาล ทว่า หากมองผ่านเลนส์ทฤษฎีการสวมบทบาททางเพศ (Gender Performativity) ของจูดิธ บัตเลอร์ แล้ว เราอาจสามารถตีความประโยคข้างต้นได้ว่า ‘ทุกคนมีบทบาทต้องแสดง’ สังคมได้วางบทบาทหน้าที่มนุษย์แต่ละเพศไว้ให้แล้ว ผู้ชายต้องทำตัวอย่างไร ผู้หญิงต้องทำตัวอย่างไร ต้องทำตามเท่านั้นชีวิตถึงจะมีความสุข หากไม่ทำตามก็ต้องจะเผชิญหน้ากับบทลงโทษ ทั้งการเหยียดในระดับปัจเจก ตลอดจนการตรากฎหมายประหารชีวิตคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ตัวเอกพูดประโยคนี้ก่อนที่จะเล่าเรื่อง ‘หนู’ ส่งของที่เขาและเธอเคยตกหลุมรักกันให้เรารู้ เขาและเธอไม่เคยคุยกันต่อหน้า แต่มักจะเขียนจดหมายโต้ตอบกัน และส่งให้กันเวลาเธอนำเสื้อผ้ามาส่งให้ตัวเอก เริ่มจากการให้กำลังใจ จากนั้นก็ค่อย ๆ ทำความรู้จักกัน เขาเชื่อว่า เขารักเจ้าหนูส่งของและไม่อยากใช้ชีวิตร่วมกับใครนอกจากเธออีกแล้ว แต่หากเป็นอย่างนั้นจริง ทำไมใจถึงเขาถึงได้เต้นระรัวตอนได้เล่าเรื่องของตัวเองให้คลีนเนอร์หญิงฟังกันเล่า ทั้งยังกล่าวอีกว่าเรื่องราวของตนกับคลีนเนอร์หญิงได้เริ่มขึ้นแล้ว ที่เป็นเช่นนั้นเพราะแท้จริงแล้วตัวเอกไม่ได้รักผู้หญิงที่ตัวเองคุยอย่างที่พวกเธอเป็นตัวของตัวเองเลยแม้สักคน แต้เขารักผู้หญิงในความคิดของเขา ผู้ญิงที่ ‘ทำงาน’ ของตัวเองได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็คือการเป็นผู้ฟัง และการเป็นผู้เยียวยาบาดแผลทางจิตใจของผู้ชาย หนูส่งของทำให้เขาตกหลุมรักจากการให้กำลังใจผ่านจดหมาย คลีนเนอร์หญิงทำให้เขาตกหลุมรักด้วยการบอกว่าเขากำลังทำหน้าที่ที่สำคัญ มีคุณค่า สิ่งนี้ทำให้ตัวเอกรู้สึกว่าเขากำลังทำหน้าที่ของผู้ชายซึ่งก็คือการทำงานได้เป็นอย่างดี นั่นทำให้เขารู้สึกชอบการอยู่กับผู้หญิงที่สามารถทำหน้าที่สนับสนุนเขาได้
“ไม่แค่นั้น ผมยังเห็นแม่นั่งเคียงข้างพ่อ ฟังพ่ออ่านบทกวีเหมือนต้องมนต์สะกด รอยยิ้มของแม่อ่อนหวาน บางครั้งแม่ก็นิ่งงันไปกับอารมณ์ในบทกวี”
ตัวเอกถ่ายทอดภาพอันงดงามในความทรงจำของเขาออกมาขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบ ‘ขยะ’ ในกล่องขนาดเอสี่ ซึ่งก็คือกระดาษนิตยสารที่บันทึกบทกวีของพ่อเขาเอาไว้อยู่ เดิมทีเขาต้องการยื่นกล่องใบนี้ให้กับคลีนเนอร์หญิงที่เขากำลังจะตกลงปลงใจอยู่ร่วมกับเธอ ดูเป็นการขอแต่งงานที่โรแมนติก แต่หากมองให้ลึกลงไป เขาตัดเก็บกระดาษนิตยสารเหล่านี้ไว้เพราะมันบันทึกภาพในฝันของเขาไว้อยู่ ภาพที่แม่นั่งฟังพ่ออ่านบทกวีด้วยความซาบซึ้ง แสดงถึงอัจฉริยภาพของพ่อ มหากวีในใจเขา พ่อกับแม่สวมบทบาทของชายและหญิงได้อย่างสมบูรณ์แบบตามความคิดของตัวเอก ผู้ชายพูด ผู้หญิงฟัง ผู้ชายสร้าง ผู้หญิงซาบซึ้ง การยื่นบทกวีเหล่านี้ให้คลีนเนอร์หญิงได้อ่านก่อนจะตกลงว่าจะอยู่ร่วมกันมีความหมายโดยนัยว่าเขาต้องการใช้ชีวิตครอบครัวให้เหมือนกับพ่อและแม่ที่ดำเนินบทบาทของตนได้อย่างไร้ที่ติ และคาดหวังว่าเธอจะซาบซึ้งในสิ่งที่เขายื่นให้อ่าน ทว่า สิ่งที่เธอทำกลับเป็นการหักหลังเขา เพราะที่แท้จริงแล่ว เธอคือสายสืบจากรัฐบาลที่ทำหน้าที่หาตัวคนที่ยังโหยหาอดีตอยู่ เมื่อมีหลักฐาน เธอจึงเรียกให้เจ้าหน้าที่มากำจัดเขา นอกจากจะไม่ซาบซึ้งบทกวีของพ่อของเขาแล้ว ยังมองว่าตัวเอกได้ยื่น ‘ขยะ’ ที่รัฐบาลต้องการกำจัดให้สิ้นซากให้เธออีกด้วย นับเป็นการปัดความเป็นชายของตัวเอกตกลงพื้นดังเพล้ง
“ขอโทษด้วย ฉันต้องไปแล้ว” เธอลุกขึ้น
“มีอะไรเหรอครับ”
“หมดงานของฉันแล้ว”
ในเรื่อง งานของคลีนเนอร์กวาดล้าง ‘ขยะ’ อย่างตัวเอกที่ทำผิดกฎหมายอย่างการเก็บสะสมของในอดีตไว้อยู่ แต่หากเราพิจารณาผ่านเลนส์เรื่องเพศแล้ว การที่คลีนเนอร์ทำงานเสร็จ ทำให้เธอไม่ต้องทนฟัง แสร้งเป็นสนใจเรื่องราวของตัวเอกอีก การรับฟัง การสนใจใยดี การถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ การให้กำลังใจ ซึ่งเป็นหน้าที่ของฝ่ายหญิงเป็นหลัก เป็นแค่ทบาทหรือ ‘งาน’ ที่เธอต้องทำตามคำสั่งของใครสักคนเท่านั้น หากในเรื่องอาจเป็นคำสั่งจากหัวหน้าของเธอ แต่ในความเป็นจริง ทุกคนถูกสังคมกดดันให้ต้องสวมบทบาทหรือ ‘ทำงาน’ ตามแนวทางที่ถูกกำหนด มิฉะนั้นจะถูกลงโทษไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นคลีนเนอร์จึงดูเป็นตัวร้ายที่ทรยศหักหลังตัวเอก เพราะเธอหลอกให้พระเอกรักเพื่อที่จะได้หลักฐานมาใช้กำจัดเขาในท้ายที่สุด และเธอยังเป็นตัวร้ายในสายตาผู้อ่านในอีกแง่ที่ว่าเธอ ‘จบงาน’ การเป็นผู้หญิงในอุดมคติของสังคมด้วยการเลิกเป็นผู้ฟังที่ดีของผู้ชาย และยังเป็นผู้หญิงที่มีความเฉลียวฉลาดมากกว่าผู้ชายจนสามารถหลอกตัวเอกได้สำเร็จอีกด้วย
ภาพชายหญิงในหัวของตัวเอกดับสลายไปต่อหน้าต่อตา พ่อที่นั่งอ่านบทกวีให้แม่ฟัง แม่ที่นั่งฟังอย่างซาบซึ้ง มีรอยยิ้มที่อ่อนหวาน กลับถูกแทนที่ด้วยภาพตัวของเขาเองที่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบยกปืนเล็งมาที่เขา ปืน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องเพศชาย (phallic symbol) ทำให้เขาตระหนักได้ว่าตัวเองเป็นผู้ชายที่ด้อยกว่าเจ้าหน้าที่ที่กำลังจ่อปืนมาที่เขา และภาพที่คลีนเนอร์หญิงก้าวพ้นออกจากประตูเพราะดูแคลนความคิดของตัวเอก ยิ่งตอกย้ำให้เขารู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถเป็นชายอัจฉริยะเหมือนพ่อได้ ไม่สามารถทำให้ผู้หญิงซาบซึ้งได้ ไม่มีผู้หญิงทำหน้าที่ ‘ผู้หญิง’ ให้เขาอีกแล้ว หนูส่งของที่ดูเหมือนจะไร้ที่ติก็ดันถูกฆ่าตาย คลีนเนอร์หญิงที่ดูเหมือนจะเป็นความหวังอันใหม่ก็กลับทรยศหักหลังเขาเช่นนี้ ในวินาทีชีวิตนี้ เขาจึงหวนกลับไปนึกถึง ‘เด็กหญิงในทุ่งหญ้า’ เด็กหญิงที่หัวเราะอย่างมีความสุขใต้แสงอาทิตย์และธรรมชาติ ความไร้เดียงสา ความสดใส ความเยาว์วัย เป็นสิ่งที่ตัวเอกมองหาในผู้หญิงที่เข้ามาในชีวิตของเสมอมา เมื่อผู้หญิงทุกคนเดินออกไปจากชีวิตของเขาแล้ว เขาจึงทำได้เพียงหวนนึกถึงเด็กผู้หญิงที่เขาวาดฝันไว้ ผู้หญิงที่ไม่ประสีประสาอะไรกับโลกใบนี้
“ใครมิอาจหยุดข้าไว้ไม่ให้ฝัน” ตัวเอกท่องกลอนท้าทายเจ้าหน้าที่ที่กำลังเล็งปืนจ่อเขาอยู่ กลอนท่อนนี้ยืนยันว่าความฝันของเขาคือการตามหาผู้หญิงที่จะมา ‘ทำงาน’ ให้เขาได้ เฉกเช่นที่พ่อของเขาทำได้มาแล้ว เพราะในเรื่องไม่ได้เน้นความฝันอื่นใดที่ยิ่งใหญ่เหมือนเรื่องแต่งดิสโทเปียเรื่องอื่น เช่น 1984 ที่วินสตัน สมิธ พระเอกของเรื่องมีฝันที่จะรวมกลุ่มโค่นล้มระบอบบิ๊กบราเธอร์ เป็นต้น สิ่งที่เขาทำมีเพียงการส่งต่อความทรงจำในอดีตให้กับผู้คนที่ยังคงถวิลหา แต่ละคนมีอดีตที่ต่างกันแต่สำหรับตัวเอกในเรื่อง ‘กะพริบตาครั้งเดียว’ นั้น ฝันที่เด่นชัดที่สุดคือการได้รำลึกถึงพ่อและแม่ต้นแบบของชายหญิงอันดีงามในหัวของเขาเอง เมื่อโลกตรงหน้าไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่เขาฝัน และเขาเองก็ยืนยันที่จะยังฝันแบบนั้นต่อไป เขาจึงยอมถูกยิงให้ตายยังดีกว่าต้องทนใช้ชีวิตเป็นผู้ชายที่พ่ายแพ้ผู้หญิง ผู้ชายที่ทำให้ผู้หญิงประทับใจไม่ได้ ผู้ชายที่ไม่มีผู้หญิงรับฟัง
กะพริบตาครั้งเดียว เรื่องสั้นแนวดิสโทเปียที่บอกเล่าเกี่ยวกับชีวิตท่ามกลางโรคระบาดในอนาคต ทำให้เรารู้สึกสิ้นหวังได้สำเร็จเพราะสามารถเชื่อมโยงกับชีวิตของผู้อ่านได้ ทั้งโรคระบาดในปัจจุบัน รัฐบาลเผด็จการที่จำกัดเสรีภาพประชาชน และทั้งความกดดันที่จะต้องสวมบทบาทชายหญิงให้ตรงตามความคาดหวังของสังคมให้ได้ แม้ความหวังจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ความหวังที่จะให้ผู้อื่นประพฤติตัวตามที่เราต้องการอาจไม่ใช่ทางที่เหมาะที่ควรนัก ไม่แน่ว่าหากตัวเอกของเรื่องไม่ได้คาดหวังให้คลีนเนอร์หญิงต้องมานั่งฟัง นั่งปลอบโยน นั่งซาบซึ้งในสิ่งที่เขาทำ แบบที่เขามองเห็นแม่นั่งฟังพ่ออ่านบทกวี เขาอาจจะฮึดสู้ หรือไม่ก็รักชีวิตตัวเองพอที่จะไม่ท่องกลอนท้าทายให้เจ้าหน้าที่เป่าหัวตัวเอง ทว่า เมื่อตัวเอกได้ยึดถือบทบาทของแต่ละเพศมาเป็นความฝันของตัวเองไปแล้ว พอตัวเองหรือผู้อื่นไม่สามารถและไม่ยอมทำตามความฝันนั้น ก็นำมาสู่โศกนาฏกรรมในตอนจบ
“Masculine and feminine roles are not biologically fixed, but socially constructed.”
-Judith Butler
บทวิจารณ์โดย ดุสิต บริสุทธิ์
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 8