บ่วงพยากรณ์ : บ่วงพยากรณ์...ฆาตกรรมซ่อนเงื่อน

บ่วงพยากรณ์

              หากติดตามดูข่าวตามสื่อต่างๆ ในปัจจุบันนี้ จะเห็นได้ว่า ข่าวที่เห็นอยู่แทบทุกวัน คงจะหนีไม่พ้นข่าวอาชญากรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าชิงทรัพย์ การฆ่าเพราะความเคียดแค้นส่วนตัว หรืออาชญากรรมประเภทอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องราวที่แสนโหดร้าย ที่เกิดขึ้นเพราะอารมณ์ชั่ววูบของคนบางคน ซึ่งอารมณ์รัก อารมณ์แค้น อารมณ์โกรธ และอารมณ์โลภที่เกิดขึ้น เป็นมูลเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมเหล่านี้ขึ้นนั่นเอง

              บ่วงพยากรณ์ ฝีมือจากปลายปากกาของนักเขียนหน้าใหม่ ‘ฌายา’บอกเล่าเรื่องราวของ‘ศิศิรา’ แพทย์นิติเวชสาว ผู้มีญาณวิเศษ สามารถมองเห็นเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นได้อดีตได้เพียงแค่สัมผัสเท่านั้น หล่อนบังเอิญต้องไปพัวพันกับการตายของ ‘ผ่านภพ’ นักธุรกิจหนุ่มดัง โดย ‘กรุณ’ หนึ่งในสมาชิกของบ้านปักใจเชื่อว่าการผูกคอตายในตู้เสื้อผ้าของพี่ชายต่างสายเลือดเป็นการฆาตกรรม ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย เดือดร้อนไปถึงสมาชิกในบ้านที่เหลือ ได้แก่ ‘อลัน’ น้องชายแท้ๆ ของผ่านภพ ‘ไอริณ’ น้องสาวต่างสายเลือดของผ่านภพ และ ‘ชาริณี’ ภรรยาของผ่านภพ ที่ต้องตกเป็นผู้ต้องสงสัย ยิ่งเวลาผ่านไปเท่าไร ศิศิราก็ยิ่งสับสนกับความสัมพันธ์ของคนในบ้านที่ยิ่งซับซ้อน จนทำให้ยากยิ่งสำหรับการหาตัวฆาตกรที่แท้จริงมาลงโทษ

              นวนิยายเล่มนี้ มีการวางโครงเรื่องได้อย่างดีเยี่ยม ฉากต่างๆ ถูกวางมาอย่างลงตัว เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องทำให้ผู้อ่านคล้อยตาม มีความตื่นเต้นแทรกอยู่ในเนื้อเรื่องทุกๆ ช่วง ทำให้น่าติดตามมากยิ่งขึ้น มีการหักมุม ใส่เหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงลงไปในตอนท้าย และผู้แต่งมักจะสอดแทรกข้อคิดเข้าไปในคำพูดของตัวละครเสมอ

               ผู้แต่งนำเสนอเนื้อเรื่องเรียงลำดับเหตุการณ์ โดยค่อยๆ ทวีความตื่นเต้นขึ้นทีละนิดจนไปถึงจุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง มีการดำเนินเรื่องย้อนกลับไปอดีตบ้างเล็กน้อย ในช่วงที่ญาณวิเศษของศิศิราเกิดขึ้นเมื่อสัมผัสกับบางสิ่ง นอกจากนั้นยังมีการทิ้งท้ายปิดเรื่องได้อย่างดีส่วนเรื่องของภาษา ผู้เขียนเขียนด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย สั้น กระชับ มีการปนคำภาษาต่างประเทศเข้าไปในคำพูดของตัวละคร นั่นคือไอริณ เพื่อให้ตัวละครที่เป็นหญิงสาวสมัยใหม่นี้สมจริงมากยิ่งขึ้น

              ปมประเด็นหลักของเรื่องนี้ ตั้งใจสะท้อนเรื่องความรักที่เปรียบเสมือนดาบสองคม รักมาก ให้ผลดีก็มาก แต่ในทางกลับกัน รักมากเกินไป ก็ให้ผลเสียอีกมากเช่นกัน ความรักที่เกินพอดี รักโดยไม่คำนึงถึงสิ่งใดๆ มักจะสร้างผลเสียเสมอ ดังคำพูดของหลวงพ่อในเรื่อง คือ “รัก ถ้ามันมีแต่ข้อดีฝ่ายเดียว มันจะถูกรวมอยู่กับ ความโลภ ความโกรธ ความหลงหรือโยม...เคยได้ยินไหมว่ารักนั่นเหมือนดาบสองคม รักมาก ใช้ถูก เป็นประโยชน์ ทว่ารักมาก ใช้ผิด เป็นโทษ...ไม่ว่าจะความรักฉันใด ทั้งฉันหนุ่มสาว หรือฉันบิดาต่อบุตร หากผิดพลาดแล้ว ก็รังแต่จะเกิดโทษทั้งสิ้น” ปัญหาหลักของเรื่องนี้ ก็เกิดขึ้นจากความรักของคนที่มีมากจนเกินไป เมื่อไม่ได้ครอบครองคนที่ตนเองรัก ก็กลับไปทำร้ายเขาแทน

              เนื่องจากเนื้อหาโดยส่วนใหญ่ของหนังสือนิยายเล่มนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวการสืบคดีฆาตกรรม ทำให้ผู้อ่านสามารถทราบถึงขั้นตอนการทำงานในการสอบสวน และการชันสูตรศพอย่างคร่าวๆ ถือเป็นความรู้ที่ไม่มีโอกาสจะได้ทราบบ่อยนัก

              จากที่กล่าวมาแล้วว่าผู้เสียชีวิตในเรื่องมีชื่อว่าผ่านภพ เขาอยู่ในตระกูลเลิศดำรงกุล ซึ่งเป็นตระกูลของนักธุรกิจชื่อดัง ถือได้ว่ามีเงินมากมาย แต่เงินก็ไม่ได้สร้างความสุขให้ทุกคนเสมอไป เห็นได้จากการที่กรุณมักจะหาเรื่องชาริณีอยู่เสมอ และยังปมปัญหาอีกมากมายที่เกิดขึ้นภายในบ้าน แสดงให้เห็นว่าคนรวยไม่ได้มีชีวิตที่ดีพร้อมเสมอไป ผู้คนภายนอกอาจจะคิดว่าเหล่าคนรวยจะมีชีวิตที่สวยหรู สมบูรณ์พร้อมทุกประการ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ปัญหาต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่ากับคนจนหรือคนรวยก็ตาม

              ประเด็นสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของเรื่องนี้ก็คือการถือทิฐิ เกิดขึ้นจากการที่ศิศิราฝังใจ เพราะพ่อของหล่อนทิ้งหล่อนไปบวชตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้หล่อนมีทิฐิ ไม่ยอมไปเยี่ยมหลวงพ่อ ซึ่งเป็นพ่อแท้ๆ ของหล่อนที่วัด แม้ว่ายายของหล่อนจะพยายามชวนไป จนถึงวันหนึ่ง หลวงพ่อได้ปรากฏตัวมาในนิมิตของหล่อน และได้สอนหล่อนหลายสิ่งหลายอย่าง สิ่งหนึ่งที่หลวงพ่อพูดก็คือ “ทิฐิมานะ ถือเป็นกรรมที่อ่อนหวานและขื่นขมในคราวเดียวกัน หากไม่ลดลงเสียบ้าง ผู้ครอบครองจักไม่มีวันพบความสุขสงบอันเป็นสัจธรรมของชีวิต หากไม่ลดลงเสียบ้าง จักไม่มีวันหลุดพ้นเงาแห่งกรรม”

              ปัจจัยหนึ่งที่มีผลทำให้ศิศิราสามารถลดทิฐิลงได้นั้น เป็นเพราะคำสอนของคุณพิมพ์ใจ ยายของหล่อน ที่สอนหล่อนว่า หน้าที่ของลูกคือการกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ สนองคุณท่านเท่าที่เราจะทำได้ ไม่ว่าฝ่ายนั้นจะเป็นอย่างไร จะดีเลว จะรวยจนแค่ไหนก็ตาม ในส่วนนี้ถือเป็นคำสอนที่ดีมากๆ คำสอนหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่มีความรักใด เทียบเท่าความรักของบุพการีที่มีต่อบุตร

              ญาณวิเศษของศิศิรา เป็นสิ่งที่หล่อนไม่เคยยอมรับมัน ไม่คิดว่ามันเป็นพรสวรรค์ คิดแต่ว่าตนเองเป็นตัวประหลาด แต่ในที่สุด หล่อนก็ได้เรียนรู้ว่า ยิ่งเอาใจไปจดจ่อ ความทุกข์มันก็ยิ่งใหญ่หลวงเป็นเท่าทวีคูณ สุดท้ายหล่อนจึงปล่อยวาง และมองสิ่งที่ตนเองมีอยู่ให้เป็นข้อดี แต่ถึงกระนั้น หล่อนก็ไม่ได้เชื่อทุกสิ่งที่หล่อนเห็นเหมือนแต่ก่อน เพราะหลวงพ่อสอนหล่อนไว้ว่า ทุกสิ่งในโลกไม่มีอะไรเที่ยงแท้ จงตั้งมั่นในสติ อย่าหลงเชื่อในสิ่งลวงตาที่หล่อนเห็น

             ตอนหนึ่งของนวนิยายเล่มนี้ ได้นำเสนอคำสอนที่ดีมากๆ มาอย่างหนึ่ง ซึ่งยกเอาพุทธวจนะในเรื่องหลักกาลามสูตรว่าด้วยความอย่าเชื่อทั้งสิบประการมา สองในนั้นสามารถนำไปใช้ได้ในการประกอบอาชีพอย่างรอบคอบยิ่งขึ้น หนึ่งคือ “มา อาการปริวิตกฺเกน แปลว่า จงอย่าเชื่อด้วยการคิดตรองตามเหตุผล” และสองคือ “มา ภพฺพรูปตาย แปลว่า อย่าปลงใจเชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้”

             อีกเรื่องหนึ่งที่ถูกกล่าวพาดพิงในเรื่องคือสื่อไทยในปัจจุบัน ความว่า “สถานการณ์อย่างนี้ ไม่ว่ากี่ปีหล่อนก็ไม่เคยเห็นสื่อไทยจะพัฒนา ศิศิราพนันได้เลยว่าถ้าเมืองไทยมีคดีสะเทือนขวัญ คนตายแบบพิสดารไม่เว้นแต่ละวันเพิ่มยิ่งกว่านี้อีกนิด ประชาชนชาวบ้านคงได้เห็นหน้าโทรมๆ ของหมอนิติเวชอย่างหล่อนทุกวัน เพราะสื่อมวลชนนี่แหละที่จะปั้นหล่อนขึ้นมาเป็นดาราแทนนางเอกที่ส่งเสียงวี้ดๆ อยู่ในจอแก้ว” เมื่ออ่านเจอข้อความตรงนี้ ความเห็นของข้าพเจ้าก็ไม่ต่างไปจากตัวเอกของเรื่องเลย หลายครั้งที่ข้าพเจ้าได้ดูข่าวตามโทรทัศน์ ข้าพเจ้าก็ได้แต่ถอนหายใจกับข่าวบางข่าวที่ดูไร้แก่นสาร บางที่ที่ข้าพเจ้าอ่านข่าวตามสื่ออินเทอร์เน็ต ข้าพเจ้าก็ได้แต่ตกใจกับพาดหัวข่าวที่ขึ้นได้อย่างไม่เหมาะสมอย่างมาก บางข่าวที่ข้าพเจ้าเคยได้อ่าน เนื้อความของข่าวก็ช่างต่างจากพาดหัวอย่างมาก ข้าพเจ้าก็ได้แต่คิดว่า เมื่อไรสื่อไทยจะพัฒนาเสียที

              นอกจากนั้น ข้าพเจ้ายังสังเกตเห็นคำผิดอยู่ประปราย ซึ่งจะขอยกทั้งหมดที่ข้าพเจ้าเห็นมากล่าว ณ ที่นี้ ได้แก่ ร้อนร้น ควรเขียนเป็น ร้อนรน และ เขามาเอะอะ ควรเขียนเป็น เข้ามาเอะอะ จากบริบทว่า “จู่ๆ ทำไมถึงเขามาเอะอะโวยวายตบตีกันถึงที่นี่...” นอกจากนี้ยังมี ตัดเย็นทันสมัย ควรเขียนเป็น ตัดเย็บทันสมัย และคำสุดท้าย พิจ ควรเขียนเป็น พิศ เนื่องจากไม่พบคำว่า พิจ ในพจนานุกรม ซึ่งหากดูจากบริบทว่า “ยิ่งพิจมองคนป่วย อลันก็ยิ่งรู้สึกเหมือนลมหายใจขาดช่วง” ควรจะมีความหมายว่า เพ่งดู ซึ่งตรงกับคำว่า พิศ

              หากจะมองโดยภาพรวมแล้ว บ่วงพยากรณ์ ถือได้ว่าเป็นนวนิยายที่ให้ข้อคิดดีๆ มากมาย ซึ่งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความตื่นเต้นของเนื้อหาในเรื่องเลย มีการผูกเรื่องและคลายปมปัญหาที่เข้มข้น น่าติดตาม ถือได้ว่าเป็นงานเขียนชิ้นเอกของนักเขียนหน้าใหม่ไฟแรงอย่างฌายา และถือเป็นนวนิยายที่น่าประทับใจอีกเรื่อง ใครที่กำลังมองหาหนังสือที่ให้ทั้งข้อคิดและความตื่นเต้น บอกได้เลยว่านวนิยายเล่มนี้ควรค่าแก่การเป็นหนึ่งในตัวเลือกของท่านทีเดียว

 

อธิษฐ์ จารุพัฒนพรกิจ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ