‘คุก’ สถานที่ที่ไม่มีมนุษย์คนใดปรารถนาที่จะเข้าไปแม้แค่เพียงเวลาอันสั้น อาจด้วยตั้งแต่อดีตกาลนานมาไม่ว่าจะกี่ยุคสมัยเป็นที่ทราบกันดีว่า มนุษย์คนใดที่กระทำความผิดย่อมต้องได้รับโทษให้ถูกจองจำอยู่ภายในคุก บ้างก็ถึงขั้นไม่ให้เห็นเดือนเห็นตะวัน บางก็ถึงขั้นประหารชีวิต หรืออาจเพราะเรื่องเล่ามากมายที่ล้วนกล่าวถึงความโหดร้ายภายในห้องสี่เหลี่ยมที่ใช้สำหรับกักขังอิสรภาพห้องนั้น แต่น้อยคนนักที่จะเข้าใจถึงชีวิตความเป็นอยู่ของนักโทษทั้งหลายที่ต้องรับโทษทัณฑ์จนต้องไปอาศัยในเรือนจำโดยแท้จริง บันทึกเล่มหนึ่งที่ถูกร้อยเรียงในนาม “ขังหญิง” บันทึกชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องโทษอย่างไม่เป็นธรรมจนถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลาสามปี ซึ่งคุณธนัดดา สว่างเดือน ได้เรียบเรียงไว้อย่างแยบยลจนได้รับรางวัลชมนาดครั้งที่ 5 มาการันตีถึงความเข้มข้นของเนื้อหา
“ขังหญิง” เป็นวรรณกรรมประเภทสารคดีที่สอดแทรกด้วยข้อกฏหมายและแง่คิดมากมาย โดยได้บอกเล่าเสียงสะท้อนจากห้องขังของผู้หญิงคนหนึ่งนามว่า ‘หนิง’ เธอเป็นหญิงสาวที่เคยมีชีวิตสุขสบายกับสามีของเธอที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนต้องโทษในข้อหาวางยาชิงทรัพย์ แม้ว่าข้อหาที่เธอได้รับมานั้นจะเป็นสิ่งที่ได้มาอย่างไม่เป็นธรรม แต่กลับทำให้เธอต้องเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในทัณฑสถานหญิงแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เป็นเวลานานกว่า 3ปี หลังจากนั้นเธอก็รู้จักกับนักโทษหญิงอีกมากมายหลายคนที่ต้องโทษในคดีต่างๆซึ่งทั้งหมดล้วนอาศัยอยู่ใน ‘บ้านใหญ่’ ที่คนคุกทั้งหลายต่างรู้จักกันดี เรื่องราวมากมายเกิดขึ้นภายในสถานกักกันนั้น ทำให้เธอต้องรู้จักที่จะประพฤติตนให้เหมาะสมตราบระยะเวลาที่เธอต้องอาศัยในบ้านใหญ่หลังนั้น เธอต้องพบกับเรื่องราวมากมาย เช่น การที่เธอได้รู้จักนักโทษที่เป็นพวก ‘เก๋าคุก’ กล่าวคือเข้าออกคุกจนกลายเป็นเสมือนเรื่องปกติ การรู้จักนักโทษหลายคนที่ไม่ได้รับโทษอย่างเป็นธรรมการใช้อำนาจบาทใหญ่ภายในคุกของเหล่านักโทษที่ต้องคดียาเสพติดหรือคดีที่นักโทษเป็นผู้มีอิทธิพลมาก่อน ทั้งยังมีเรื่องเกี่ยวกับรักร่วมเพศที่เกิดขึ้นภายในเรือนจำ ไปจนถึงการเป็นอยู่การจับจ่ายใช้สอยในเรือนจำที่มีลักษณะต่างออกไปจากปกติด้วยเพราะมีขีดจำกัดของกฏระเบียบ ทำให้คุณหนิงต้องเรียนรู้ที่จะเอาตัวรอดจากสิ่งเหล่านี้ เมื่อเธอพ้นโทษและสามารถออกมาจากสถานกักกันนั้น เธอจึงได้เขียนบันทึกถึงเรื่องราวที่ทั้งเจ็บปวดและสุขสันต์ของเหล่านักโทษหญิงให้คนภายนอกทราบถึงความเป็นจริงของ
ทัณฑสถานว่ามีความโหดร้ายมากน้อยเพียงใด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปีพ.ศ.๒๕๕๔ ได้ให้ความหมายของคำว่า ‘นรก’ ไว้ว่าโดยปริยายหมายถึงแดนที่มีแต่ความทุกข์ทรมาน ซึ่งคนไทยเรานั้นได้มีมายาคติที่เชื่อว่า ‘คุก’ คือ นรกคนเป็น กล่าวคือ ดินแดนที่มนุษย์ที่กระทำความผิดต้องชดใช้ด้วยการถูกกักขังโดยมีข้อจำกัดในมากมายและไร้อิสระ แต่อย่างไรก็ตาม มนุษย์หลายคนกลับเลือกทางเดิน ที่จะเข้าไปอยู่ในสถานกักกันแห่งนี้ และวนเวียนเข้าออกดั่งเป็นวัฏจักรชีวิต ซึ่งเมื่อได้อ่านวรรณกรรมเล่มนี้แล้วนั้น เห็นได้ว่าชีวิตของนักโทษหญิงที่อาศัยอยู่ในทัณฑสถานต่างมีข้อจำกัดในทุกด้าน เปรียบได้ว่านักโทษที่อาศัยอยู่ในทัณฑสถานนั้นมีชีวิตที่แสนสาหัสดั่งอยู่ในนรกคนเป็น ถึงกระนั้นกลับมีนักโทษหลายคนที่เคยต้องคดีมาแล้วกลับล้วนยินดีที่จะกลับเข้าไปในเรือนจำอย่างมิได้เกรงกลัวในความยากลำบากแม้แต่น้อย ดังบทประพันธ์
“ …ฉันรู้มาว่า ไอ้พวกนี้ตอนเดินเข้าแดน จะมีสภาพเหมือนหมาอดโซ สตุ้งสตางค์
ไม่มีติดตัวเข้าไปสักบาทเดียว แต่ยามใดที่พวกมันพ้นโทษออกมา ก็เป็นเหมือนราชามี
เงินติดตัวออกมามากมาย สามารถนำมาต่อทุนเป็นพ่อค้าจำหน่ายยาเสพติดรายย่อยๆได้
สบายไปอีกนาน นี่คือวัฏจักรของชาวคุกตัวจริงเสียงจริง ที่เวียนว่ายอยู่อย่างนี้ไม่จบ
ไม่สิ้นจนกว่าจะสิ้นลมหายใจลาจากโลกนี้ไป…”
(ธนัดดา สว่างเดือน, 2559, หน้า38)
จากบทประพันธ์ข้างต้น เห็นได้ว่าภายในทัณฑสถานนั้นไม่ได้เป็นสถานที่ใช้กักขังผู้คนที่ต้องโทษเท่านั้น เห็นได้ว่าทัณฑสถานกลายเป็นสถานที่ที่นักโทษสามารถเข้าไปเพื่อประกอบอาชีพได้ด้วยเช่นกันซึ่งการประกอบอาชีพภายในทัณฑสถานคือการเปิดตลาดมืดภายในคุก ซึ่งสิ่งของที่อยู่ในตลาดมืดนี้จะมีมูลค่าที่สูงกว่าสินค้าทั่วไปเพื่อเก็บเป็นเงินกำไรแก่ผู้ขาย ตลาดมืดเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ทำให้นักโทษทั้งหลายมีรายได้ระหว่างที่ตัวเองต้องโทษอยู่ในทัณฑสถาน
จึงวิเคราะห์ได้ว่าเหตุที่นักโทษหลายคนกระทำความผิดเพื่อเข้ามาในทัณฑสถานซ้ำๆนั้นเป็นเพราะภายในทัณฑสถานมีสถานที่ให้ประกอบอาชีพได้ และถึงแม้จะไม่ได้รับความอิสระมากนัก ทั้งยังเสี่ยงต่อการถูกทำโทษจากผู้คุม แต่การเปิดตลาดมืดนี้นั้นก็ทำให้นักโทษหลายคนร่ำรวยจนมีทรัพย์สินเงินทองมากพอจะนำไปต่อยอดเป็นผู้ค้ายาเสพติดภายนอกได้ในที่สุด จึงกล่าวได้ว่าทัณฑสถานจึงกลายเป็นสถานที่ประกอบอาชีพเพื่อหาเงินของนักโทษเพื่อไปย่อยอดอาชีพทุจริตภายนอกอีกครั้งและกลับมาสู่ทัณฑสถานดั่งเป็นวัฏจักร
ด้วยเพราะมนุษย์นั้นมีมายาคติที่เชื่อว่า คนที่เคยติดคุกมานั้นเป็นคนที่ไม่น่าคบหา จึงทำให้เมื่อนักโทษพ้นโทษออกไปจากทัณฑสถานกลับไม่ได้รับความรักเมตตาจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจึงเป็นผลทำให้นักโทษที่ออกมาสู่สังคมไม่ได้รับโอกาสในการประกอบอาชีพที่สุจริตและไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม และแม้ว่าทัณฑสถานจะมีข้อจำกัดไปบ้าง แต่สังคมของนักโทษทั้งหลายที่ล้วนตกในสภาวะจำทนเหมือนกันทั้งสิ้น ผู้คนในทัณฑสถานจึงมีความเข้าอกเข้าใจ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นแรงจูงใจให้นักโทษที่พ้นโทษออกไปสู่สังคมยินดีที่จะกลับมาสู่วัฏจักรของนรกคนเป็นอีกครั้ง
ทั้งนี้ก็เพราะมนุษย์เรานั้นมีความต้องการเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตอยู่ดังเช่นในทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ บิดาแห่งนักจิตวิทยาสายมนุษยนิยมที่กล่าวไว้ว่า มนุษย์เรานั้นมีความต้องการ 5 ขั้น ได้แก่
1. ความต้องการทางร่างกาย (physiological needs)
2. ความต้องการความปลอดภัยและมั่นคง (safety and security needs)
3. ความต้องการทางสังคมและความรัก (social and love needs)
4. ความต้องการการยกย่อง (esteem needs)
5. ความต้องการความเป็นจริงในชีวิต (self-actualization needs)
ความต้องการเหล่านี้ถือเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน โดยถึงแม้ภายในทัณฑสถานจะไม่ได้ให้อิสระ และยังมีข้อบังคับมากมาย แต่กลับตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานของนักโทษ กล่าวคือ เมื่อนักโทษพ้นโทษออกไปสู่สภาพสังคมที่ครอบงำด้วยมายาคติบีบคั้น สิ่งเดียวที่สามารถตอบสนองความต้องการของนักโทษได้ก็คือ สังคมที่มีความต้องการพื้นฐานเดียวกันอย่างสังคมในทัณฑสถาน เพราะทัณฑสถานมีอาหารมียามีของต่างๆที่จำเป็นต่อการมีชีวิตอยู่ของมนุษย์ให้แก่นักโทษถึงแม้ว่าคุณภาพบางอย่างไม่ได้ดีมากเท่าที่ควร แต่ก็ยังมีทางเลือกอีกมากมายให้นักโทษสามารถเลือกสรรหนทางได้ ทั้งนี้ทัณฑสถานยังเป็นที่พักอาศัยป้องกันความหนาว ความเปียกปอนของฝน ความร้อนจากแสงแดด และนอกจากนั้นนักโทษที่อยู่ในทัณฑสถานย่อมได้รับการยกย่อง ความช่วยเหลือ ความเข้าใจจากนักโทษด้วยกัน สิ่งเหล่านี้จึงนำไปสู้ความจริงที่ว่า เมื่ออิสรภาพที่เหล่านักโทษโหยหากลับกลายเป็นความขมขื่น ชีวิตของนักโทษถูกสังคมบีบคั้นนั้นจึงทำให้เขาเลือกทางเดินที่จะกระทำผิดและกลับเข้ามาสู่วัฏจักรนรกคนเป็นอีกครั้ง
‘ขังหญิง’ จึงเป็นวรรณกรรมสารคดีที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของนักโทษทั้งหลายว่าแท้จริงแล้วการที่นักโทษทั้งหลายเลือกทางเดินชีวิตของตนให้กลับมาวนเวียนในวัฏจักรของนรกคนเป็นซ้ำๆนั้นอาจมิได้เป็นเพราะนักโทษเหล่านั้นปรารถนาที่จะทำความผิดซ้ำเดิม แต่ส่วนหนึ่งที่ทำให้นักโทษทั้งหลายเลือกที่จะกลับมาสู่ทัณฑสถานก็เป็นเพราะสังคมภายนอกที่บีบคั้นชีวิตใหม่ของนักโทษด้วยมายาคติของมนุษย์ที่เลือกปฏิบัติต่อ ‘คนคุก’ ทำให้นักโทษไม่มีทางเลือกให้ชีวิตใหม่ของพวกเขา และกลับไปวนสู่วังวนเดิมในที่สุด
ชีวิตของนักโทษเมื่อออกมาจากทัณฑสถานก็เปรียบได้ดั่งนกที่ถูกเลี้ยงอยู่ในกรงมาตลอด วันหนึ่งที่นกตัวน้อยได้หลุดออกมาจากกรงนั้น แม้จะได้รับอิสรภาพแต่กลับไปต่อไหนไม่เป็นเพราะโลกของเขานั้นเคยอยู่เพียงแค่ในกรงมาตลอด ดังนั้นหากสังคมไทยเปลี่ยนมุมมองความคิดใหม่ ละทิ้งมายาคติบางอย่างเพื่อให้โอกาสแก่นักโทษที่ออกมาสู่สังคมได้ สังคมไทยก็จะสามารถลดทอนเรื่องทุจริตผิดกฎหมายอันเป็นผลมาจากวัฏจักรของคนคุก และจะเป็นผลให้สังคมไทยพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้นั่นเอง
__________________________________________________________
อ้างอิง
ดร. เมธา หริมเทพาธิป. (มิถุนายน,2560). ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ .
สืบค้นเมื่อ 25 มิถุนายน 256, จาก https://www.gotoknow.org/posts/629839.
ธนัดดา สว่างเดือน. (2559). ขังหญิง. (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ: ประพันธ์สาล์น.
บทวิจารณ์โดย นางสาวกาญจนา วัลมาลี