“ถูกต้อง” กับ “ถูกใจ” คำง่ายๆ ที่เราได้ยินกันทั่วไปในปัจจุบัน และด้วยเพียงคำสองคำนี้ที่หลายครั้งก่อให้เกิดเรื่องราววุ่นวายในสังคม ด้วยกฎเกณฑ์ที่คนในสังคมต่างสร้างกันขึ้นมา ว่าสิ่งนี้ถูกต้องสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง ในขณะที่คำว่า ถูกใจ มีผู้กำหนดขึ้นมาเพียงคนเดียวคือ ตัวเราเอง เรารู้ว่าสิ่งไหนถูกใจสิ่งไหนไม่ถูกใจผ่านสัญชาตญาณของเรา แต่เมื่อใดก็ตามที่ความถูกใจขัดกับความถูกต้อง สิ่งที่คนเราต้องทำคือ “การเลือกระหว่างสิ่งที่ถูกต้องกับสิ่งที่ถูกใจ” และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในเรื่องของความรัก ความถูกต้อง และความถูกใจจะต้องไปด้วยกัน
ท่ามกลางความสงสัยของใครหลายคน ที่กำลังสับสนว่าควรเลือกความรักแบบไหนให้เข้ากับตัวเองนั้นปรารถนา รัตนะ ก็ได้เล่าเรื่องราวมุมมองความรักที่หลากหลายรูปแบบ ผ่านตัวละครเอกของเรื่อง ชนิกา หรือ ไชนี่ หญิงสาวหัวคิดสมัยใหม่ ทันสมัย รักในการใช้ชีวิตแบบอิสระ ที่ต้องตอบคำถามหัวใจตัวเองให้ได้ว่า จะเลือกความรักที่เพียบพร้อมไปด้วยชื่อเสียง เกียรติยศ ฐานระ ความมั่นคง ที่อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง หรือความรักที่แสนจะเรียบง่าย แต่กลับรู้สึกสบายทุกครั้งที่ได้ชิดใกล้ ความรักความ เข้าใจที่อยู่บนพื้นฐานของความถูกใจแต่ไม่ถูกต้อง “การเลือก” แน่นอนว่าต้องสร้างความหนักใจกับผู้เลือก และความโดดเด่นของตัวละครเรื่องนี้คือ “ความกล้า” ชนิกากล้าที่จะเลือกความรักบนพื้นฐานความถูกใจ มากกว่าเลือกความรักที่ถูกต้องแต่ทุกข์ใจ แม้ใครมองว่าผิด แต่เธอก็ไม่ได้เสียใจแต่อย่างใด เพราะเธอกล้าเลือกที่จะทำตามหัวใจของเธอ ดิฉันคิดว่า “ชนิกา” คือตัวแทนคำตอบของคำถามที่ถามว่า “ถูกต้องกับถูกใจควรเลือกสิ่งไหน?” เพราะไม่ว่าเลือกสิ่งใดถ้าใจมีความสุข ไม่นานสิ่งนั้นจะกลายเป็นเรื่องที่ถูกต้องสำหรับหัวใจของเราเอง
อย่างไรก็ตาม "ตามใจหัวใจ” มิได้เด่นเพียงตัวละครที่กล้าแหวกกฎของสังคมเพียงเท่านั้น แต่ข้อคิดที่ได้จากการอ่านนั้น สามารถตอบได้ว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร ใช้ชีวิตอย่างไรถึงจะตอบคำถามที่ตั้งไว้กับตัวเองได้ว่าวันนี้เรามีความสุขหรือไม่? มากกว่าการมานั่งทุกข์ใจ กระวนกระวาย ว่าสิ่งที่เราทำในวันนี้จะถูกอกถูกใจใครหรือเปล่า หรือสิ่งที่เราทำถูกต้องแล้วหรือยัง เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยมาก
หากเทียบกับการเอาเวลาไปทำสิ่งที่เป็นความต้องการของใจ ดังเช่น ชนิกา ที่ฝ่ากำแพงที่กั้นสูงอย่างคำพูดของคนรอบข้าง เพราะสังคมปัจจุบันมีน้อยคนที่จะกล้าทำเรื่องที่ถูกใจก่อนเรื่องที่ถูกต้องด้วยยังห่วงชื่อเสียง เกียรติยศ ห่วงความรู้สึกของคนอื่นมากกว่าตัวเอง หลายคนแต่งงานกันเพียงเพราะความถูกต้อง เหมาะสม หาใช่แต่งจากความรัก ความชื่นชมที่มีต่อกัน นั่นเป็นการใส่หน้ากากเข้าหากัน ซึ่งร้ายแรงกว่าการทำสิ่งที่ถูกใจก่อนสิ่งที่ถูกต้องเสียอีก
ในเรื่องของการใช้ภาษา นวนิยายเรื่องนี้ ใช้ภาษาแบบเรียบง่าย เพื่อให้ผู้อ่านเข้าง่ายแต่ข้อเสียของการใช้ภาษาที่เรียบง่ายเกินไปนั้น ทำให้ผู้อ่านไม่ได้อรรถรสของเรื่องนี้มากเท่าที่ควรจะเป็นทำให้มีอารมณ์เบื่อในบางครั้งที่อ่าน บางตอนที่ควรจะขยี้อารมณ์ ผู้แต่งก็มิได้แต่งด้วยภาษาที่จะดึงอารมณ์ของผู้อ่านเท่าที่ควร บางตอนที่เร่งให้จบเสียด้วยซ้ำ จึงทำให้ประโยคดูห้วนๆ ไป ดังข้อความที่ปรากฏในเรื่องว่า ความว่า “เธอรีบวางใจอยากโบยบินไปหาเพื่อน นี่เธอกำลังอยู่ในกรงขัง หรือยังไงกันนี่ ทำไมจึงอึดอัดเหลือเกินก่อนลุกขึ้นไปดูภาพเขียนของเธอเอง ลูบคลำพลางพูดกับภาพว่า “สักวันแม่จะปล่อยให้ลูกได้โบยบิน ได้มีชีวิตของตัวเอง” จู่ๆ น้ำตากระทะลักลันออกมาเต็มเบ้า และไหลบ่าราวทะเลเลือด ชนิกาฟุบหน้าลงกับโต๊ะร้องไห้โฮ” ฉากนี้เป็นฉากที่ชนิการู้สึกอึดอัด และน้อยใจในชีวิตตัวเอง แต่บทบรรยายดูจะสั้นไป ทำให้ผู้อ่านอ่านแล้วไม่รู้สึกอิ่มในอารมณ์นี้ของตัวละคร
นอกจากการใช้ภาษาที่เรียบง่าย กลวิธีการนำเสนอเนื้อเรื่องก็ดูเรียบง่ายไปด้วย เพราะไม่มีเหตุการณ์ที่ซับซ้อนแต่อย่างใด มีเพียงการเปิดเรื่องเท่านั้นที่เปิดด้วยปัจจุบันก่อน แล้วฉายภาพย้อนกลับไปยังอดีต จากนั้นก็แต่งไปแบบเรียบๆ จะโดดเด่นก็คงเป็นเรื่องอารมณ์ของตัวละครที่ถูกแต่งให้นางเอกเป็นผู้ดำเนินเรื่องเพียงคนเดียว และมีความโลเล สับสน ต้องลองผิดลองถูกกับความรู้สึกของตัวเอง จนท้ายที่สุดก็เลือกอยู่กับคนรักอย่างมีความสุขในตอนสุดท้าย
“ตามใจหัวใจ” เป็นหนังสือที่ต้องยอมรับว่ามีชื่อเรื่องที่ดีและน่าสนใจ ดิฉันเลือกอ่านเพราะชื่อเรื่องที่ชวนอ่าน และทันทีที่ได้เห็นรูปเล่มที่กะทัดรัด เนื้อความบนหน้าปก ปกหลัง ยิ่งชวนอ่านเข้าไปใหญ่ เพราะเต็มไปด้วยข้อความที่ไถ่ถามความคิด ความรู้สึกของเรา ในเรื่องของความรัก ว่าคุณจะเลือกความรักแบบไหน
“มิตรภาพ...ความรัก
ความร่ำรวย...มั่นคง
กฎเกณฑ์...ความซื่อสัตย์
อิสระเสรี...ความเข้าใจ
ถ้าเป็นคุณจะเลือกสิ่งไหน? แต่สำหรับเธอคนนี้
เธอเลือกที่จะทำตามใจ...ตามหัวใจที่ปรารถนา”
ดิฉันชอบข้อความข้างต้น เพราะทุกอย่างที่กล่าวมามันยากที่จะเลือก และอยากจะรู้หัวใจของเธอคนนี้จะเลือกข้อใดที่เป็นความต้องการของหัวใจเธอ รูปเล่ม หน้าปก หลังปก ข้อความที่สรุปมาเชื้อเชิญให้อ่านเพียงเล็กน้อยจึงถือเป็นจุดเด่นอีกจุดหนึ่งของหนังสือเรื่องนี้
แน่นอนว่า ตามใจหัวใจ มิได้มีดีเพียงรูปเล่ม หน้าปก หลังปก หรือเนื้อหาที่สะท้อนสังคมเพียงเท่านั้น แต่ด้วยทุกอย่างที่พอมารวมกันนั้น ผู้อ่านอ่านแล้วสามารถตอบโจทย์ชีวิตตัวเองได้ ผู้อ่านอ่านแล้วได้ข้อคิดที่ดีให้กับตัวเอง ตรงนี้มากกว่าที่จะชี้ว่านวนิยายเรื่องนี้มีประโยชน์ที่ควรแก่การอ่านมากเพียงใด สำหรับดิฉันแล้ว ตามใจหัวใจ เป็นกุญแจไขเส้นทางชีวิตที่ทำให้ปลงกับเรื่องที่คนอื่นเป็นผู้ตัดสิน แต่ทำให้คิดว่าควรใช้ชีวิตในแบบความคิดของเราในแบบใด จะทำสิ่งที่ถูกต้องหรือถูกใจก็ตามแต่หัวใจปรารถนาที่จะทำ
น.ส.พรรณภา แสงยะรักษ์