ความหวัง…ข้างใต้เหมืองชีวิต : บทวิจารณ์โดย ธีรภัทร์ อัครธีระกุล โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 9

ความหวัง…ข้างใต้เหมืองชีวิต

 

    ทำความรู้จัก “เหมือง” : แหล่งขุดค้นหาแร่ธาตุที่สร้างมูลค่าแก่ชีวิต หากข้าพเจ้าจะกล่าวถึง “เหมือง” คงต้องนึกถึงสิ่งมีค่าใต้พื้นธรณีที่ยากต่อการค้นพบ หากแต่ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญในการค้นหา ซึ่งเหมืองแต่ละประเภทมีความหลากหลายและแตกต่างกันออกไป นักธรณีวิทยาได้จำแนกประเภทเหมืองตามลักษณะวัตถุ แร่ธาตุ และประโยชน์ในการนำไปใช้งาน เช่น เหมืองฝาย ขุดขึ้นเป็นลำน้ำเพื่อส่งน้ำไปตามความต้องการของพื้นที่ เหมืองหิน ที่ใช้วิธีการระเบิดย่อยหิน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านอุตสาหกรรม และเหมืองแร่ ขุดขึ้นโดยสกัดเอาแร่มีค่าเพื่อนำไปแปรรูปให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ยังมีเหมืองต่าง ๆ อีกมากมายที่ข้าพเจ้าไม่ได้กล่าวถึง ซึ่งเหมืองที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นชนวนสำคัญชักนำไปสู่เรื่องราวภายในกวีนิพนธ์ เรื่อง เหมืองชีวิต ให้กับผู้อ่านได้ไขข้อสงสัยต่อไป

      กวีนิพนธ์ เรื่อง เหมืองชีวิต เป็นกวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์ โดยใช้รูปแบบกลอนแปดในการประพันธ์ ของ จินตนา ปิ่นเฉลียว ผู้แต่งได้ร้อยเรียงเรื่องราวผ่านแง่มุมต่าง ๆ โดยใช้ “เหมือง” เป็นใจความสำคัญ กล่าวคือ แสดงให้เห็นถึงการนำการขุดเหมืองมาเปรียบเทียบเพื่อสื่อความหมายโดยนัยที่ฝังแฝงอยู่ภายใต้บทกวีเรื่องนี้

     จากชื่อกวีนิพนธ์ “เหมืองชีวิต” ผู้แต่งได้ตั้งชื่อเรื่องในลักษณะการเปรียบเทียบระหว่าง เหมือง กับ ชีวิต กล่าวคือ เหมืองเปรียบเสมือนชีวิต และเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตก็เปรียบเสมือนกลไกในการขุดเหมืองเช่นกัน เป็นการสร้างมโนภาพให้ผู้อ่านเกิดจินตนาการก่อนทำการอ่าน เป็นการชักชวนให้ผู้อ่านอยากไขปริศนาจากชื่อเรื่องว่าแท้จริงแล้วใน “เหมืองชีวิต” ผู้แต่งจะแฝงประเด็นใดให้ผู้อ่านได้ค้นหากันแน่…

 

ภาพทับซ้อนที่ซ่อนอยู่ใน “เหมืองชีวิต”

     กวีนิพนธ์เรื่องนี้ทำให้ข้าพเจ้าสัมผัสถึงความประณีตในการร้อยเรียงภาษา ผู้แต่งสามารถสอดแทรกความหมายที่เป็นนัยซ่อนอย่ภายในบทกวีได้อย่างลึกซึ้ง จากบทกวีเหมืองชีวิตข้าพเจ้ามีประเด็นที่สนใจอยู่ 3 ประเด็นด้วยกัน ซึ่งสามารถนำเสนอเป็นประเด็นได้ดังต่อไปนี้

 

ประเด็นแรก : ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น

     การขุดแร่แท้นั้นมันเสี่ยงนัก

     ขุดทะลักลึกทะลวงล้วงดินผอง

     เป็นอุโมงค์ตรงใต้หินทรายรอง

      กว่าจะกรองแร่ได้ดังใจจินต์

     จากบทกวีข้างต้นจะเห็นได้ว่าผู้แต่งกล่าวถึงความพยายามฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคเพื่อไปสู่สิ่งที่ตนเองคาดหวัง โดยเปรียบการขุดแร่เป็นความพยายาม ซึ่งในระหว่างขุดก็ต้องพบกับความเสี่ยง อันตราย และปัญหาต่าง ๆ จากดินทรายที่กว่าจะร่อนกรองเจอสิ่งที่หวังคงไม่ง่าย แต่ถ้ามีความพยายามต้องมีสักครั้งที่หวังนั้นจะเป็นจริง ข้าพเจ้าจึงให้คำว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ให้กับบทนี้

 

ประเด็นที่สอง : ลืมกิน ลืมเหนื่อย ลืมตาย

อันตรายหลายอย่างล้วนขวางกั้น

ความกดดัน, อุโมงค์ล่ม, จมใต้หิน

ไม่มีอากาศผ่านผลาญชีวิน

บางคนสิ้นชีวังเพราะพลั้งไป
 

      จากบทกวีข้างต้นจะเห็นได้ว่าผู้แต่งกล่าวเปรียบถึงอุปสรรคอันตรายในการขุดเหมืองแต่หากจะมองลึกลงไปผู้แต่งต้องการสอนให้ผู้อ่านรู้จักความพอดี ไม่ประมาทในการใช้ชีวิต ข้าพเจ้าจึง ให้คำว่า ลืมกิน ลืมเหนื่อย ลืมตาย แทนความหมายของบทนี้ กล่าวคือ “ลืมกิน” เปรียบถึงการขุดเหมืองลงไปลึกเท่าไหร่ยิ่งเจอแร่ เมื่อเจอแร่ก็ยิ่งขุดจนลืมกินข้าว “ลืมเหนื่อย” เปรียบถึงเมื่อยิ่งขุดลึกลงไปยิ่งได้แร่มากจนลืมความเหน็ดเหนื่อยไป “ลืมตาย” เปรียบถึงยิ่งขุดไปลึกเท่าไหร่ได้มากเท่าไหร่อันตรายยิ่งมากเท่านั้น จนลืมตายและกลืนกลายความประมาทพลาดพลั้งของตนเองไปในที่สุด

 

ประเด็นที่สาม : ความหวังข้างใต้เหมือง

นี่คือภัยจากเหมืองมีเรื่องบ่อย

คนยังคอยขุดแร่แน่ไฉน

วางความหวังว่าจะชนะภัย

เพื่อจะได้แร่บ้างเป็นรางวัล

 

     จากบทกวีข้างต้นจะเห็นได้ว่าผู้แต่งกล่าวเปรียบถึงภัยอันตรายจากการขุดเหมืองที่มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งแต่ก็ไม่อาจล้มความพยายามของคนบางกลุ่มที่จะขุดต่อ กล่าวคือ คนบางกลุ่มที่กล่าวถึงยังคงดื้อด้านหวังจะได้แร่จากการขุดเหมืองจึงยอมเสี่ยงภัยเพื่อจะได้มันมา ไม่ต่างไปจากคนที่เห็นอันตรายอยู่ต่อหน้าแต่ยังคงคาดหวังและต่อสู้หวังจะชนะภัยเพื่อหวังจะได้สิ่งที่ตนต้องการ โดยไม่คำนึงว่าสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่นั้นอาจจะพรากชีวิตของตนไปได้ ทุกอย่างล้วนเกิดจากความหวังที่เห็นลาง ๆ อยู่ใต้เหมือง

 

ประเด็นที่สี่ : ปัญญาพาสำเร็จ

เหมืองชีวีมีทั่วหัวระแหง

แร่ก็แพง มีซุกทั่วทุกหน

แร่ความสุข, สมหวัง, รัก, ฝั่งชนม์

จะขุดค้นพบมันด้วยปัญญา.

     

    จากบทกวีข้างต้นจะเห็นได้ว่าผู้แต่งกล่าวเปรียบถึงปัญญาที่จะนำพาก้าวผ่านอุปสรรคและปัญหาไปสู่สิ่งที่ปรารถนา และเปรียบแร่เป็นดังความสุข ความสมหวัง และความรัก หากผู้ขุดไม่มีปัญญาโง่เขลาก็ไม่อาจพบกับสิ่งที่ปรารถนานั้นได้ แต่ถ้าหากผู้ขุดมีปัญญา ปัญญานั้นเปรียบเสมือนแสงสว่างที่มาพร้อมวิธีขุดจนนำพาไปสู่ความสำเร็จได้อย่างง่ายดาย ผู้แต่งต้องการสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของความรู้ ความสามารถ เพราะสิ่งเหล่านี้คือปัญญา เพราะปัญหาทุกสิ่งอย่างบนโลกนี้จะผ่านพ้นไปได้นั้น ต้องพึ่งปัญญาในการแก้ปัญหานั่นเอง

 

สรุป : เหมืองชีวิต

     กล่าวได้ว่า กวีนิพนธ์ เรื่อง เหมืองชีวิต ได้มุ่งให้ข้อคิดและคติเตือนใจ โดยแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเหมืองกับชีวิตได้อย่างน่าสนใจ นับเป็นความโชคดีของข้าพเจ้าที่ได้มีโอกาสหยิบยกกวีนิพนธ์เรื่องนี้มาอ่าน ข้าพเจ้าได้เพิ่มพูนความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางความคิดของผู้แต่ง เน้นย้ำต่อสารัตถะของกวีนิพนธ์เล่มนี้ที่ต้องการสื่อให้มนุษย์นั้นอยู่บนโลกด้วยความไม่ประมาท และมีความหวังอย่าง ไม่กลืนกลายความปลอดภัยของตนเอง

 

“ความหวัง…ข้างใต้เหมืองชีวิต”
บทวิจารณ์กวีนิพนธ์ เรื่อง เหมืองชีวิต : จินตนา ปิ่นเฉลียว
นายธีรภัทร์ อัครธีระกุล (มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์)
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 9

Writer

The Reader by Praphansarn