ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต : หลีกหนี หลุดพ้น จากเขาวงกต

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต

 

              มันปราศจากซึ่งดวงตา อาภรณ์ และแขนขา... ไม่อาจบอกได้ว่ามันกำลังหลับหรือตื่นอยู่ พยายามเคลื่อนที่ต่อไปข้างหน้าหรือย่ำเหยียบอยู่กับที่ ไม่แม้กระทั่งจะรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเจ็บปวดใดๆต่อโลกใบนี้เพียงดำรงอยู่ในวงจรชีวิตที่สุดแสนธรรมดาสามัญ กินดินถ่ายออกมาเป็นดินแล้วกินเข้าไปใหม่วนเวียนซ้ำซากอยู่ในวัฏจักรเดิมและหลงทางกลางเขาวงกตที่ตัวเองสร้างขึ้น

 

             ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต นวนิยายที่ถูกรังสรรค์จากปลายปากกาของนักเขียนนาม วีรพร นิติประภานักเขียนผู้สะท้อนเงาของสังคมปัจจุบันออกมาในรูปแบบของนวนิยายรักน้ำเน่า บีบอัดความรู้สึกและอุดมคติ ซ่อนเร้นในรูปแบบของมายาคติ ฉาบทับด้วยศัพท์แสงและสัญลักษณ์มากมาย รวมทั้งความงดงามในการใช้ภาษา ส่งผลให้นวนิยายเรื่องนี้ ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปีพุทธศักราช๒๕๕๘

 

             เนื้อเรื่องถูกดำเนินโดยตัวละครหลักสามตัว ตามแบบฉบับนิยายรักสามเส้า ชารียา เด็กสาวผู้เกิดมาพร้อมคราบน้ำตาบนรักร้าวรานของพ่อและแม่ กับชลิกา ผู้ที่เป็นทั้งเพื่อนและพี่สาวของเธอผูกพันกันราวกับฝาแฝด และปราณ เด็กหนุ่มผู้ถูกผูกติดกับความเดียวดายมาโดยตลอด   ตัวละครทั้งสามเริ่มเรียนรู้ เติบโต ผ่านวัยเด็กสู่วัยหนุ่มสาวมาด้วยกันและความรักก็เริ่มผลิบานดังตอนหนึ่งที่ชารียากล่าวไว้ว่า... ทั้งที่ในความเป็นจริงเธอจะรู้สึกได้ทันทีหากเขาเข้ามาในรัศมีสิบเมตร จากความรู้สึกเหมือนกับผ้าซักตากที่เพิ่งเก็บเข้ามาจากแดดจัดจ้าน เกือบๆ เหมือนกับมีละไอแดดอุ่นอวล เกือบๆ เหมือนกับมีรังสีนุ่มนวลที่มองไม่เห็นแผ่ซ่านเข้ามา เกือบๆ เหมือนกับได้กลิ่นสะอ้านฟุ้งลอยอยู่ในอากาศ...(หน้า๗๔-๗๕) แต่โชคชะตากลับพรากทั้งสามออกจากกันปล่อยให้ไหลไปตามกระแสชีวิต ก่อนจะนำพาให้ทั้งสามกลับมาพบเจอกันอีกครั้งและติดตรึงไว้ในรักสามเส้าชั่วนิรันดร์  ตัวละครหลักทั้งสามถูกสร้างให้มีสิ่งที่เหมือนกันนั้นคือ  ความกำพร้าอ้างว้าง เดี่ยวดาย จากการถูกทอดทิ้งจากคนที่รัก เป็นสิ่งที่คอยสร้างแรงขับให้ตัวละคร ต้องดิ้นรน โหยหา เพื่อให้ได้มาซึ่งความรัก เพื่อหวังทดแทนสิ่งที่ขาดในจิตใจของเขาและเธอ    …เติบโตมีสุขภาพดีเหมือนเด็กทั่วไปโดยไม่มีใครรู้เลยว่าเธอไปติดเอาเชื้ออ้างว้างมา ไม่อาจตรวจพบด้วยเครื่องมือทันสมัยทางการแพทย์ ไม่มีหนทางรักษา และทำให้เธอต้องต่อสู้กับความรู้สึกว้าเหว่รุนแรงอยู่เสมอไปชั่วชีวิต...(หน้า๑๓-๑๔)    ...ไม่รู้ว่าน้ำที่พรากออกมานั้นเป็นแค่เหงื่อหรือน้ำตา ไม่อาจข้าใจได้ว่าทำไมตัวเขาถึงสั่นเทาในแดดแผดกล้าหรือว่าความกลัวที่เกาะกุมเขาอยู่นั้นมาจากไหน...(หน้า๑๐๕)    ...ใช่แต่ดูสิ่งที่พวกเขาเป็นกัน กำพร้าตลอดกาล โดดเดี่ยวในโลกส่วนตัวของแต่ละคนไปตามลำพัง แปลกแยก แตกต่าง หลงทาง แล้วยังอ้างว้างที่ไม่มีวันเยียวยาให้หายขาดกับหลุมโพรงเปล่ากลวงข้างในใจที่ไม่อาจถมเต็มได้พวกนั้นอีกเล่า...(หน้า๑๙๐)   วรรคตอนที่หยิบยกมาจากในหนังสือข้างต้นถ่ายทอดความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว ว้าเหว่ของตัวละครออกมาได้เป็นอย่างดี

 

              นอกจากนี้ผู้เขียนยังสร้างตัวละครขึ้นมาอีกหลายตัวซึ่งล้วนแล้วแต่มีอิทธิพลต่อการเติบโตขึ้นของตัวละครหลักในเรื่อง เช่น ลุงธนิตผู้เปิดโลกของเด็กๆให้กว้างขึ้น ธนา ชานนท์และนทีผู้สอนบทเรียนของความรักให้แก่ชารียา อาภัทร และภราดร พ่อลูกผู้นำปราณสู่โลกแห่งมายา รสรินหญิงสาวผู้ยอมให้ความรักอยู่เหนือเหตุผลทั้งปวง พฤติกรรมที่ตัวละครต่างๆเหล่านี้แสดงออกมายังสะท้อนภาพของสังคมร่วมสมัยในหลายๆแง่มุมที่อ่อนแอและเปราะบาง พร้อมที่จะพังทลายและขาดพรึงได้ทุกขณะ

 

              กลวิธีในการนำเสนอผู้เขียนมีการวางโครงเรื่องและลำดับเนื้อหาของเรื่องได้อย่างแยบยล เล่าเหตุการณ์ที่สลับไปมาแต่สามารถเข้าใจเรื่องราวและผูกโยงเข้าหากันได้เมื่ออ่านจบ ประกอบกับการพรรณนาและบรรยายภาพออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน ด้วยสุนทรียภาพทางด้านภาษาที่มีการเรียบเรียงไว้อย่างงดงาม สละสลวย เน้นเร้าอารมณ์ของผู้อ่าน ทั้งยังมีการสรรค์สร้างคำใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่จับและตรึงใจผู้อ่านได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างการการใช้โวหารภาพพจน์...บางขณะก็จะเป็นฉากตอนแปลกๆ อย่างประดู่แดงหยาดฟ้าละลายเลือนเหมือนมองผ่านฝน ปลาสีส้มซึ่งถูกจับยัดไว้ในกล่องแก้วที่เล็กจนมันขยับว่ายไม่ได้ ขอนไม้ก้นแม่น้ำใต้เงาแดดเมลืองมลัง ม่านหน้าต่างพลิ้วกระพือเหมือนหนวดปลาหมึก ไฟจราจรซึ่งเอาแต่สลับสีเหงาๆ ในความมืดกลางถนนร้าง...(หน้า๒๔๐)    ...และเรื่องสั้นของใครสักคน ซึ่งเขียนถึงหอยที่ตื่นขึ้นแล้วพบว่าทำเปลือกของตัวเองหายไปในระหว่างหลับ เพื่อจะใช้ครึ่งชีวิตที่เหลือคืบขยักไปอย่างเปลือยเปล่า อ้างว้าง เหน็บหนาวบนหาดที่โพลนพราวด้วยเปลือกขาวนับล้านๆมุดเข้ามุดออกบ้านน้อยไร้เจ้าของพวกนั้นไล่ไปทีละอัน ทีละอัน แต่อนิจจา...ไม่มีเปลือกเปล่าใดจะพอดีได้ เหมือนเปลือกเก่าร้าวบิ่นที่ตนทำหาย...ไม่มีเลย(หน้า๑๑๓)   

 

             ศัพท์แสงและสัญลักษณ์ต่างๆมากมายถูกฉาบซ่อนไว้ในเกือบจะทุกบทตอนของเรื่อง มากจนให้ความรู้สึกราวกับมีเนื้อหาอีกมากมายที่ถูกซ่อนไว้ในระหว่างบรรทัด เก็บงำความรู้สึกความคิดของตัวละครและฉากหลังไว้ อาทิเช่น การเลือกเบาะลายดอกโบตั๋นมาประดับไว้ในห้องของชารียานั้นก็เพราะตามคติความเชื่อของชาวจีนดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ที่จะนำพาความโชคดีมาสู่ชีวิตคู่ของหญิงสาว หรือการมองเห็นนกนางแอ่นได้เพียงแค่ปราณกับชารียาก็เพราะนกนางแอ่นสื่อถึงคู่แท้ที่จะรักเดียวใจเดียวชั่วนิจนิรันดร์   ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้ มีปรากฏอยู่ในทุกบทตอนของเรื่อง    ผู้เขียนยังสอดแทรกเรื่องราว ลายละเอียดปลีกย่อยต่างๆของข้อมูลข่าวสาร วัฒนธรรมอาหาร ขนบธรรมเนียม บทเพลงและสถานที่ต่างๆลงในเนื้อเรื่องได้อย่างลงตัว จนบางครั้งได้รับความรู้สึกราวกับผู้อ่านได้ร่วมเสพกลืนสิ่งเหล่านั้นตามตัวละครไปด้วย

 

             นวนิยายเล่มนี้มิได้สะท้อนภาพความรักที่ล้มเหลวของหนุ่มสาวร่วมสมัยอย่างรักสามเส้าของชารียา ชลิกา และปราณแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังสะท้อนภาพขาวดำของสังคมไทยในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง การแก่งแย่งชิงดีกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น ชักจูงเรา ขีดเส้นแบ่งที่มองไม่เห็นลงบนพื้น ชี้นิ้วเชื้อเชิญให้เราบอดใบ้ไปตามเสียงลำโพงและโทรโข่ง... สิ่งเหล่านี้แย่งชิงเอาความผาสุกของเราไป สุดท้ายเราอาจไม่หลงเหลือสิ่งล้ำค่าใดให้เก็บจำเหมือนดังบทสรุปของชลิกาตอนท้ายเรื่องที่เลือกความตายเป็นทางออก หรือปราณที่เอาแต่หนีปัญหาจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต วิ่งวน จมปรัก คงเหลือก็แต่ตัวละครนวลพี่เลี้ยงของชลิกาและชารียา ตัวละครซึ่งไม่สลักสำคัญอะไร แต่เป็นต้นแบบชีวิตที่ไม่ยึดติด ไขว่คว้า ลุ่มหลงในสิ่งใด ปล่อยวางพยายามทำความเข้าใจและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน นี่คือสัจธรรมที่นวลค้นพบ...และอีกครั้ง

 

...เพลงรักหวานซึ้งกึ่งอุดมคติทำให้เขารู้สึกคลื่นไส้ รักก็รัก ไม่รักก็ไม่รัก สามัญเหมือนตะวันขึ้นทุกเช้าตกทุกเย็นไม่เห็นมีอะไรซับซ้อนให้ต้องซาบซึ้งน้ำตาซึม คนเราก็แค่นี้รู้สึกเท่าที่รู้สึก แล้วเขาก็ไม่เห็นนึกออกว่าอุดมคติจะต่างกับอคติตรงไหน หรืออย่างไร...ก็แค่มายาคติของมายาคติ...(หน้า๒๓๕)

 

              ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต วรรณกรรมทรงคุณค่าอีกชิ้นหนึ่งที่ควรค่าแก่การอ่านเป็นอย่างยิ่ง อาจช่วยเตือนสติ ขุดเอาสามัญสำนึกของเรากลับขึ้นมา ให้เราฉุกคิด ถึงบางสิ่งที่เราเคยมี บางสิ่งที่เราเคยเป็น หรือบางสิ่งที่เราอาจหลงลืมมันไปแล้ว นานแสนนาน จนอาจจดจำไม่ได้ว่าครั้งหนึ่งเราเคยมีมัน ... เพราะคงไม่มีใครอยากติดอยู่ข้างในนั้น เขาวงกตอันซ้ำซ้ำซากซาก...

 

               มันยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง/ หันหลัง/ วกกลับ/เมื่อพบมันอีกหลายตัวในที่แห่งนั้น /นอนนิ่ง /รอคอย มันอาจมิได้บอดใบ้อย่างที่เราคิด เราแค่อาจไม่เห็นตามัน มันยังคงไปต่อไม่หยุด... หรือว่า มันกำลังหาทางออกจากเขาวงกตอันบอดใบ้แห่งนั้นกันแน่?

                                                                                                                                              

                                                                                                                                             บทวิจารณ์โดย นายรัชพล มีฤกษ์

Writer

The Reader by Praphansarn