ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม : บทวิจารณ์โดย กรรณทิชา รักษาศักดิ์สกุล

ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม

      วันอาทิตย์ เป็นวันที่หลายคนสุขใจที่จะได้หยุกพักผ่อนจากการทำงานหาเงิน และใช้ชีวิตอย่างวุ่นวายมาตลอดทั้งสัปดาห์ นั่นคือวันอาทิตย์ของใครหลายๆคน แต่ไม่ใช่ของคนที่ไร้ซึ่งงานและเงิน ถ้าเรารู้ว่าพรุ่งนี้ก็วันจันทร์ แล้วเราก็จะได้ไปทำงานต่อ และอีกไม่นานก็จะได้ค่าจ้างแล้ว ก็คงไม่มีเรื่องทุกข์ใจอะไร แค่ใช้ชีวิตต่อไป แต่หากคุณมองไม่เห็นอนาคตเลย ว่าพรุ่งนี้จะทำอะไรต่อ จะหาเงินจากไหนมาประทังชีวิต ที่ไม่ใช่แค่ชีวิตตัวเองอย่างเดียว แต่เป็นชีวิตของภรรยาและลูกด้วย ยิ่งทำให้รู้สึกว่าต่อให้มีวันหยุดอีกกี่ร้อยกี่พันวัน ก็ไม่เท่ามีวันที่ได้ทำงานพร้อมได้เงินเสียยังดีกว่า

     “ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม” เป็นหนึ่งในชื่อตอนของนิยายเรื่อง “เหมืองแร่” ประพันธ์โดย อาจินต์ ปัญจพรรค์ และยังถูกนำไปสร้างภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในด้านของคำวิจารณ์มาอย่างยาวนานในชื่อเรื่อง “มหา’ลัย เหมืองแร่” ในตอนย่อยตอนนี้ เป็นการกล่าวถึงคู่รักชาวกรุงเทพคู่หนึ่ง ที่ได้เข้ามาหางานทำที่เหมืองแร่แห่งนี้ จากที่ก่อนหน้านี้ ชายผู้นี้เคยทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยนายช่างใหญ่ฝ่ายพลังไฟฟ้า แต่ในตอนนี้เขาไม่เหลือแม้แต่เงินซักสตางค์เดียวที่จะนำพาตัวเขาและภรรยาพร้อมลูกตัวน้อยในท้องออกจากร้านเพื่อไปขึ้นรถสองแถว ตัวอักษรในบทนี้จะค่อยๆเผยปมให้เรารู้ว่า เหตุใดเขาถึงต้องมาหางานทำที่นี้ มาเป็นกรรมกรในสถานที่แห่งนี้ โดยไม่ได้มีแต่เราที่ลุ้นเอาใจช่วยสองสามีภรรยาคู่นี้เพียงฝ่ายเดียว แต่ตัวผู้เล่าเรื่องเอง ก็วิงวอนต่อพระเจ้าให้ฝนตกลงมา ให้พวกเขามีที่ซุกหัวนอน ให้พวกเขาได้งานด้วยเช่นกัน เป็นการปลุกสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า “มนุษยธรรม” ขึ้นมาในจิตใจผู้เขียนเรื่อง รวมถึงผู้อ่านอย่างเราด้วย

     ไม่เพียงแต่จะเล่าความเป็นมาเป็นไปของสองสามีภรรยาคู่นี้ แต่ในตอน “ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม” นี้ ทำให้เราเห็นและตระหนักถึงสิ่งที่เรียกว่า “ชนชั้นในสังคม” ว่ามันมีอยู่จริง และแทรกซึมอยู่ทุกพื้นที่ทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ที่เหมืองแร่แห่งนี้ จากการที่ชายผู้นี้เป็นคนกรุงเทพ มีรูปร่างผิวพรรณดูผู้ดี และรวมถึงภรรยาของเขาก็เช่นกัน ทำให้นายฝรั่งถึงกับถามว่า “ทําไมท่านจึงไม่หางานตามวุฒิ ทําไมจึงมาเป็นกรรมกร ท่านหวังจะมาช่วยกรรมกรที่นี่ก่อการสไตรก์หรือไม่” เหตุที่นายฝรั่งถามไปแบบนี้ โดยส่วนตัวแล้วข้าพเจ้าคิดว่านายฝรั่งไม่ได้มีเจตนาจะดูถูกหรือจับผิดแต่อย่างใด กลับกันด้วยซ้ำ นายฝรั่งรู้สึกแปลกใจ ที่ชาวกรุงเทพผู้เคยมีหน้าที่การงานมั่นคงอย่างชายผู้นี้ เหตุอันใดถึงได้มาขอทำงานเป็นกรรมกรในเหมืองทางภาคใต้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงค่านิยมที่คนทั่วไป ไม่เว้นแม่แต่ชาวต่างชาติอย่างนายฝรั่งมีต่อคนในเมืองหลวง ว่าจะต้องมีชีวิตที่สุขสบาย มีเกียรติ มีอาชีพที่มั่นคง

     อีกสิ่งหนึ่งที่ตกตะกอนได้จากการอ่านเรื่องสั้นนี้ เราจะเห็นได้ว่า ชีวิตมีขึ้นก็ต้องมีลง มีโชติช่วงก็ต้องมีดับสูญ เปรียบเหมือนตัวละครชายผู้มาเยือนเหมืองแร่ผู้นี้ ที่แต่ก่อนเขาเคยมีชีวิตที่สุขสบาย มีหน้าที่การงานมั่นคงเหมาะกับวุฒิการศึกษาของเขา มาจากแหล่งความเจริญอย่างเมืองหลวงที่คนมีฐานะมากมายอาศัยอยู่ แต่แล้ววันนึงเมื่อโชคชะตาไม่อาจเดินทางอย่างที่ใจหวังได้ตลอดไป เขาก็ต้องระหกระเหินจนต้องมาสมัครงานเป็นกรรมกรในที่สุด โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าประทับใจที่ตัวละครชายท่านนี้ ไม่ถือตนว่าตัวเองเคยอยู่ในจุดที่สูงและสุขสบายแค่ไหน ขอแค่ได้นอนในที่พักคนงานในกงสี ได้มีที่นอนให้ลูกและภรรยา ยังไม่แม้แต่จะนึกถึงเรื่องอาหารในมื้อต่อๆไป เพียงแค่ได้มีที่นอน ก็เป็นความสุขเล็กๆน้อยๆที่พวกเขาจะมีได้แล้ว ไม่ถือตัวว่าตัวเองเคยทำงานที่มีการศึกษาแค่ไหนมาก่อน ตอนนี้การได้รับเข้าทำงานเป็นกรรมกร ณ ที่แห่งนี้ ก็ดูเหมือนจะเป็นพรที่พระเจ้าเมตตาประทานให้เขาแล้ว เพราะมันจะช่วยต่อชีวิตเขา คนรักและลูกที่ยังไม่ลืมตาดูโลกไปได้อีกหลายวัน ท้ายที่สุดแล้ว การที่เขาไม่ถือตัวว่าเคยสุขสบายแค่ไหนมาก่อน ยอมทำงานที่แม้จะหนักและใช้แรงกายจำนานมากกว่าที่เขาเคยใช้หลายเท่า ก็ทำให้นายฝรั่งเห็นใจทั้งเขา ภรรยา และบุตรในครรภ์ที่ยังไม่ลืมตาดูโลก โดยถึงแม้ว่าเขาจะเคยทำการสไตรก์มาก่อน เป็นสาเหตุให้ต้องออกจากงานก่อนหน้า แต่ด้วยสถานการณ์ที่แสนลำบากของเขาตอนนี้ คำว่า “มนุษยธรรม” คงได้ก่อกำเนิดขึ้นมาในใจของนายฝรั่งผู้นี้ ไม่มากก็น้อย ทำให้รับเขาเข้าทำงานโดยมองข้ามอดีตของเขาได้ในที่สุดนั่นเอง

 


ในเหมืองแร่มีมนุษยธรรม
บทวิจารณ์โดย กรรณทิชา รักษาศักดิ์สกุล

โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 6

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ