บทวิจารณ์ ชรากาลที่น่ารัก : โดย กฤษฏิ์กมล ผดุงจิต

บทวิจารณ์ ชรากาลที่น่ารัก

       บทกวีนิพนธ์นี้ มีความโดดเด่นเป็นอย่างมากในการเล่าเรื่องในส่วนของเนื้อหา โดยกวีไม่กล่าวในตอนแรกว่า จะพูดถึงเรื่องอะไร กวีเริ่มเรื่อง โดยใช้สรรพนามว่า “เธอ” แล้วค่อยอธิบายลักษณะของ “ เธอ” ไปเรื่อย ๆ ในแต่ละบท แล้วเฉลยในบทสุดท้ายว่า “เธอ” คือ “วัยชรา”  อีกประการที่มีความโดดเด่นมาคือ ความสามารถของกวีในเรื่องการปรุงแต่งความโดยใช้ “บุคคลวัต” กล่าวคือ สมมติให้ความชราที่เป็นนามธรรม มีกิริยาอาการเยี่ยงมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการร่ายรำ การยืน การก้าวเดิน  และที่น่าประทับมากกว่านั้นคือ กวีได้สมมติให้ความชราเป็น เพศหญิง สังเกตได้จากสรรพนามที่ใช้คำว่า “เธอ” ซึ่งทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงความงดงาม ความน่ารักของวัยชรา เพราะผู้หญิง ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความงดงาม (ซึ่งโดยธรรมดาแล้ว เมื่อกล่าวถึงความชรา มนุษย์ทุกคนจะมีความรู้สึกหวาดกลัว และปฏิเสธการมาถึงของความชราทั้งสิ้น)
 

       อีกประการหนึ่งที่โดดเด่นและเห็นได้เด่นชัดทันทีเมื่ออ่าน คือ กวีมีความสามารถในการตั้งชื่อบทกวีนิพนธ์ได้อย่างคมคายและมีเสน่ห์น่าติดตาม เพราะปกติแล้วชื่อกวีนิพนธ์นั้น ไม่ควรบอกความกระจ่างชัดของเนื้อหาจนหมด สะท้อนให้เห็นได้ว่าชื่อที่ดีต้องเป็นเสมือนหัวใจหรือแก่นสำคัญเสมอ    ชื่อกวีนิพนธ์ “ชรากาล ที่น่ารัก” จึงเป็นการตั้งชื่อที่เป็นปริศนา กระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ว่าทำไมความชราจึงเป็นสิ่งที่น่ารักได้ เป็นการใช้ลักษณะปฏิพจน์ในชื่อเรื่องโดยการนำเอาคำว่า ชรากาล ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายที่ขัดแย้งกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างคำว่า น่ารัก เมื่อมารวมกันแล้ว ทำให้เกิดเป็นชื่อที่มีเสน่ห์เป็นอย่างยิ่งยวด
 

       กวีมีลักษณะเด่นในการยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพของวัยชรา ทั้งทางด้านกายภาพ และ วุฒิภาวะทางอารมณ์ กล่าวคือ  กิริยาการเดินช้าๆ  หลังค่อม ผมขาว (ลักษณะภายนอก) และได้ยกตัวอย่างลักษณะของคนที่อยู่ในวัยชรา ว่าเป็นวัยที่ถึงพร้อมด้วยอุเบกขาและเมตตา โดยผ่านคำว่า ง่ายง่ายไม่กดข่ม เงียบนิ่งกำหนดลม หรือกระทั่งคำว่า ยอมเป็นป้าเป็นยายให้ล้อเลียน (วุฒิภาวะทางอารมณ์)  เมื่อกวีใช้คำว่า “ยอม” ซ้ำ ๆ หลายครั้งในบทกวีนิพนธ์ เหมือนจะเน้นย้ำความหมายและความสำคัญ  ซึ่งคำว่า “ยอม” ในแง่พระพุทธศาสนานั้นหมายถึง “ความเข้าใจ” สองด้าน คือ  ๑) เข้าใจในนิยาม ๕ : อุตุ คือ การเข้าใจสภาพอากาศ, พีช คือ ความเข้าใจความเป็นไปของพันธุกรรม, จิต คือ ความเข้าใจการทำงานของจิต, กรรม คือ เข้าใจกฎแห่งการกระทำและผลแห่งกรรม  และธรรมชาติ คือ กฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)  และ ๒) ความเข้าใจกฎเกณฑ์ความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์  โดยรวมแล้ว คล้ายกวีจะสะท้อนว่าธรรมชาตินั้นมีอำนาจเหนือมนุษย์เสมอ
 

      ในเนื้อความของกวีนิพนธ์นั้น กวีได้สอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับพุทธธรรม โดยสื่อถึงความจริงแท้ของชีวิตมนุษย์ นั่นโดยสะท้อนผ่านวัยชรา ใน “ตรีกาล” (วัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ วัยชรา) โดยอธิบายว่าวัยชราเป็นวัยที่เข้าใจความเป็นจริงของโลก
 

       “ …ประสบการณ์ชีวิตสนิทแนบ  ความเข้าใจอิงแอบสม่ำเสมอ  ก้าวทุกก้าวการทวนทบการพบเจอ  รู้จักทั้งเลิศเลอและต่ำตม… ”  ซึ่งในเนื้อความได้สอดแทรกหลักธรรม  “โลกธรรม ๘”  ซึ่งวัยชรา คือวัยที่ตระหนักดีถึงหลักแห่งโลกธรรม ๘ ก็คือความจริงที่ทุกคนต้องประสบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 
 

         บทกวีนิพนธ์ที่ว่า                    “...จนแยกแยะความยับเยิน และหยดย้อย          จนรัดร้อยความจริงได้เหมาะสม

                                                      จนเรียบเรียงความเป็นไปได้เฉียบคม                จนรู้จักการติ-ชมตามสมควร...”
 

      กวีคล้ายจะตั้งใจเขียนบทกวีขึ้นมา โดยอิงทฤษฏีการเรียนรู้ของ Bloom ( Bloom’s Taxonomy) ว่าเมื่อมนุษย์เข้าสู่วัยชรา จะเป็นบุคคลที่มี่วิธีการเรียนรู้ที่ลึกซึ้ง ถึงขั้น วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม
 

       ส่วนกวีนิพนธ์บทสุดท้ายนั้นยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของวัยชราว่า เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อสิ่งมีชีวิตในทรงอำนาจ   โดยใช้เทคนิคการกล่าวประโยคคล้ายๆ กันอีกครั้ง  “...เธอนามว่าชรากาลบัลดาลใจ...เธอนามว่าชรากาลบัลดาลจริง...” เพื่อจะสื่อให้เห็นความสำคัญว่า วัยชราคือดอกผลแห่งใจ และ วัยชราคือดอกผลแห่งความเป็นจริง
 

       หากพูดถึงความเป็นเอกภาพของเนื้องาน ผู้เขียนบทกวีนิพนธ์นี้ได้สร้างความสอดคล้องอันกลมกลืน จนเกิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวของเนื้อหา โดยเริ่มจากการสร้างจินตภาพแก่ผู้อ่านว่า ความชราค่อย ๆ คืบคลานมาทีละเส้น ทีละสาย (ตีนกา)และที่สุดความชราก็ได้ยืนตระหง่านท่ามกลางกาลเวลา อีกนัยหนึ่ง ผู้อ่านจะสามารถรับรู้ได้อย่างแจ่มแจ้งว่า กวีมีประสาทสัมผัสในการรับรู้การเคลื่อนไหวรอบ ๆ เป็นเลิศ แล้วสะท้อนออกมาให้ผู้อ่าน ได้รับรู้ผ่านรายละเอียดของการปรากฏรอยตีนกา ทีละน้อย ละน้อยและท้ายที่สุดความชราก็ยืนตระหง่าน มีชัยชนะเหนือทุกอย่าง และที่สำคัญยังปรากฏความเอกภาพที่เกิดจากความสัมพันธ์แบบสวนทาง  คือ ในขณะที่ความชรากำลังคืบคลานและ เติบโต ขณะเดียวกันนั้นอายุขัยของมนุษย์ก็ลดลงเรื่อยๆ ตามลำดับ คล้ายว่ากวีจะสื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์แบบสวนทาง ของความชราและอายุขัยนั่นเอง
 

       ครั้งหนึ่ง กรมหมื่นนราธิป พงประพันธ์ ได้กล่าวไว้ว่า “กวีนิพนธ์ ได้แก่การเรียงร้อยถ้อยคำให้ถูกฉันทลักษณ์ แต่การเรียงร้อยถ้อยคำให้ถูกฉันทลักษณ์เป็นเพียงการร้อยกรอง ยังไม่ใช่กวีนิพนธ์ ถ้าจะให้ถึงขีดกวีนิพนธ์ ผู้ประพันธ์ต้องแสดงความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง และยิ่งกว่านั้นคือทำให้ผู้อ่านรู้สึกตามไปด้วย” จากคำกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่ากวีได้เรียบเรียง “ชรากาล ที่น่ารัก” ออกมาโดยใช้ภาษา ความรู้สึกที่สามารถส่งตรงจากใจไปสู่ใจ ทำให้ไม่เพียงแค่เป็นการเรียบเรียงถ้อยคำที่ถูกฉันทลักษณ์ แต่ถือว่าเป็นกวีนิพนธ์อย่างแท้จริง
 

บทวิจารณ์ "ชรากาลที่น่ารัก"
โดย กฤษฏิ์กมล ผดุงจิต

โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 6

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ