จะหลับตาลงได้อย่างไร : “จะหลับตาลงได้อย่างไร” กับบทบาทชีวิตแห่งโลกียชน

จะหลับตาลงได้อย่างไร

ปกหนังสือสีส้มที่มีรูปดวงตาอยู่บนหน้าปก แต่เมื่อมองเข้าไปให้ลึกในดวงตานั้น จะเห็นว่าไม่ใช่ดวงตาที่ว่างเปล่าแต่อย่างใดสะท้อนให้เห็นความเป็นมนุษย์ของคนแต่ละคน สิ่งที่อยู่ในดวงตาแสดงออกถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของคนผู้นั้น ใครจะล่วงรู้ได้ว่าภายในดวงตาแต่ละคู่ของมนุษย์แต่ละคนจะปรากฏภาพใดออกมาบ้าง ภาพที่แสดงออกมาทางสายตาอาจจะเป็นแค่ภาพลวงตาที่ลวงใจผู้พบเห็น หรืออาจจะเป็นภาพที่แท้จริงของจิตใจ ซึ่งก็คงยากยิ่งนักต่อการคาดเดาจิตใจของมนุษย์ และจะหลับตาลงได้อย่างไร ถ้าภายในดวงตายังเต็มไปด้วยกิเลส ตัณหาและความเป็นโลกียชน

“จะหลับตาลงได้อย่างไร” เป็นชื่อหนังสือที่สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวล และเป็นคำถามที่รอคำตอบในตัวเอง ว่าคนเราจะหลับตาลงได้อย่างไรกับบทบาทชีวิตและความเป็นโลกียชนของมนุษย์แต่ละคน เป็นผลงานที่รวบรวมเรื่องสั้นที่เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ทั้งหมดสิบเอ็ดเรื่อง เป็นเรื่องที่เคยรวมเล่มมาแล้วจำนวนสามเรื่อง ซึ่งทั้งสามเรื่องนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผลงานของนักเขียนหญิงนามว่า “เสาวรี” ที่เคยได้รับรางวัลมาแล้วทั้งสิ้น และได้นำเรื่องราวความเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความเป็นโลกียชนมาเขียนเป็นภาคต่อ นำเสนอเรื่องสั้นออกมาเป็นคู่ๆชวนน่าติดตามไปจนถึงเรื่องที่สิบเอ็ด ซึ่งเรื่องสั้นทุกเรื่องจะถูกเชื่อมโยง ร้อยเรียงถ้อยคำ และตอกย้ำให้ผู้อ่านได้รู้สึกว่าคนเราทุกคนยังเป็นเพียงมนุษย์ที่ยังลุ่มหลงใหลในความเป็นมนุษย์อย่างเต็มเปี่ยม

จุดเด่นของ “จะหลับตาลงได้อย่างไร” คือเรื่องสั้นแต่ละเรื่องในหนังสือเล่มนี้จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกัน ตัวละครในแต่ละตอนจะเชื่อมโยงกัน เราสามารถมองเห็นมุมมองของตัวละครหลักแต่ละตัว ซึ่งสามารถสะท้อนให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความเป็นมนุษย์ในปัจจุบันที่คนทุกคนยังคงมองทุกสิ่งรอบตัวในมุมมองของตนเองเท่านั้น การไม่คิดถึงเรื่องราวในมุมมองของผู้อื่น อาจสร้างเรื่องราวที่เลวร้ายและเป็นตราบาปให้แก่ตนเองได้เช่นกัน

ดังเช่นเรื่อง “ชัยชนะหมายเลขศูนย์” หนึ่งในเรื่องสั้นอีกสิบเอ็ดเรื่อง ที่ “เสาวรี” ได้สรรค์สร้างผลงานเรื่องนี้ขึ้นเป็นที่แรก เรื่องราวในครอบครัวของเด็กหนุ่มที่ชื่อ “อาอู๋” ซึ่งเป็นลูกคนเล็กจากลูกทั้งหมดสามคนของเตี่ยการถ่ายทอดเรื่องราวในส่วนของ “อาอู๋” นั้นเป็นการถ่ายทอดเชิงบรรยายเหตุการณ์ต่างๆในส่วนที่ อาอู๋ คิดและเข้าใจซึ่งเค้าเข้าใจมาตลอดว่าเตี่ย ไม่เคยรักและพึงพอใจในตัวเค้าเลยอาอู๋ จึงต้องการพิสูจน์ตัวเองด้วยวิธีการต่างๆเพื่อให้ผู้เป็นพ่อยอมรับในความสามารถของตนเอง

เมื่อจบในส่วนของ อาอู๋ ก็จะมีในส่วนของ “เตี่ย” ที่จะบรรยายความรู้สึกนึกคิดของเตี่ย ซึ่งฉากและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือเหตุการณ์เดียวกัน จะทำให้ผู้อ่านเสมือนเป็นผู้ที่ยืนดูเหตุการณ์เหล่านั้นด้วยตนเอง เพิ่มอรรถรสในการอ่าน จากการเห็นใจและเข้าใจในมุมมองของแต่ละตัวละครที่แตกต่างกันออกไปสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของสถาบันครอบครัว ที่เกิดจากการไม่พูดคุยและปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน ดังตัวอย่างในเรื่องช่วงหนึ่งที่ อาอู๋และเตี่ยของเค้าเกิดความเข้าใจผิดกันในเรื่องของศาลเจ้า ซึ่งเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ก่อให้เกิดจุดวิกฤตภายในเรื่องขึ้น

“ผมคลานเข้าไปนั่งจ้องเรือนไม้ทาสีแดง เบื้องหน้ามีกระถางธูปกลิ่นควันธูปหอมเอียน ควันขาวลอยม้วนตัวสู่เบื้องบน เบื้องหน้ามีส้มเขียวหวาน แอปเปิ้ล สาลี่ องุ่น อยู่ในถาดใบเล็ก ผมเริ่มกินผลไม้ทั้งหมดด้วยความหิวผสมความอยาก ไม่เข้าใจว่าทำไมผมจึงกินไม่ได้” (ชัยชนะหมายเลขศูนย์: หน้า49)

จะเห็นว่าการบรรยายเหตุการณ์จะเป็นในส่วนของ อาอู๋ ที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของตนเอง การกระทำของอาอู๋ เกิดจากสัญชาตญาณของความเป็นเด็ก และความไม่เข้าใจว่าการกระทำของตนเองนั้นผิดพลาดตรงที่ใด สามารถสะท้อนให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความสำคัญในการดูแลบุตรหลาน ความสำคัญของสถาบันครอบครัว การทำความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่ต่างวัยกัน เมื่อผู้อ่านได้อ่านและสัมผัสความนึกคิดของ อาอู๋ ตัวละครหลักผู้เป็นลูกจบแล้ว ผู้อ่านอาจจะรู้สึกเห็นใจและจบความรู้สึกต่างๆไว้ที่ตัวละครผู้เป็นลูก แต่งานเขียนของ “เสาวรี” สามารถทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจและสัมผัสถึงความรู้สึกของอีกฝ่ายได้อย่างชัดเจน เมื่อในบทถัดมาจะเป็นความรู้สึกนึกคิดและการบรรยายเหตุการณ์ของเตี่ย ซึ่งเป็นตัวละครหลักอีกหนึ่งตัว

“อาอู๋ ลื้อรู้มั้ย ก๋งของลื้อกำชับนักหนาให้เตี่ยดูแลศาลเจ้าที่ให้ดี มันจะเป็นคุณแต่ถ้าเราทำไมดีมันจะมีโทษ เตี่ยห่วงลื้อ ห่วงทุกคน ลื้ออาจจะว่าเตี่ยงมงายแต่เตี่ยทำเพื่อทุกคนนะอาอู๋”(เตี่ย: หน้า73)

ความรู้สึกนึกคิดของเตี่ยที่มีต่อ อาอู๋ นั้น ไม่ใช่บทสนทนาเชื่อมต่อกันแต่อย่างใด เป็นเพียงความรู้สึกนึกคิดของผู้เป็นพ่อที่หวังจะให้ลูกเข้าใจแต่ไม่ได้เอื้อนเอ่ยออกไปให้รับรู้ได้ จะมีเพียงแต่ผู้อ่านเท่านั้นที่จะเข้าใจเหตุผลและการกระทำของตัวละครและเหตุการณ์ต่างๆเป็นอย่างดี และเมื่อผู้อ่านได้อ่านเรื่องนี้จนจบแล้วจะเข้าใจในทันทีว่าเหตุใดจึงเป็น ชัยชนะหมายเลขศูนย์

นับได้ว่าเป็นเสน่ห์ในการถ่ายทอดเรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ เพราะในบทอื่นๆ เรื่องราวที่เกิดขึ้นจะเป็นไปในลักษณะเดียวกัน ทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ด้วยตนเองว่าชื่อเรื่องของแต่ละบทนั้นมีความเป็นมาอย่างไร เพราะชื่อเรื่องของแต่ละบทเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นและบ่งบอกเรื่องราวในตนเอง

นอกจากนี้เรื่องสั้นทั้งสิบเอ็ดเรื่องในหนังสือเล่มนี้ เป็นการถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงด้านมืดของจิตใจมนุษย์ผ่านตัวละครแต่ละตัว มองเห็นวิถีชีวิตซึ่งเราสามารถพบเห็นได้ในปัจจุบัน การดำเนินชีวิตและการเอาตัวรอดของมนุษย์จากเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะอยู่ภายใต้จิตใจของมนุษย์ทุกคน หรือแม้แต่ตัวผู้อ่านเองก็เป็นได้

ดังเช่นเรื่องสั้นเรื่อง “ผมกลับมาที่เขาหลักอีกครั้ง” ลักษณะการถ่ายทอดเรื่องราวเป็นการบรรยายความเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นของตัวละคร ในเรื่องสั้นเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นเรื่องราวของคู่สามีภรรยาที่ต้องอยู่ห่างไกลกัน ตัวละครจะแสดงความเป็นโลกียชนให้ผู้อ่านได้สัมผัสถึงอารมณ์และสัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์ ที่ในบางครั้งสามารถทำให้เราข้ามพ้นผ่านความถูกต้องไปอย่างง่ายดาย เพื่อความสบายใจของตนเอง

นอกจากฉากที่บรรยายรวมทั้งสำนวนการเล่าเรื่องจะชวนน่าติดตามแล้วนั้น ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ “เสาวรี”ยังเลือกที่จะหยิบยกกาพย์เห่เรื่อง กากี ตอน พญาครุฑอุ้มนางกากี เข้ามาแทรกในเนื้อเรื่องเพื่ออุปมาอุปมัยตัวละครในเรื่องกับวรรณคดีที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี ถึงแม้ตัวละครที่ถูกอุปมาอุปมัยนั้นจะถูก กล่าวถึงเพียงเล็กน้อย แต่เมื่อผู้อ่านได้อ่านกาพย์เห่ที่แทรกอยู่ในเนื้อเรื่องก็จะสามารถคาดเดาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวละครนี้ได้ด้วยตนเอง

“กางกรอุ้มโอบแก้ว กากี ปีกกระพือพาศรี สู่งิ้ว ฉวยฉาบคาบนาคี เป็นเหยื่อ หางกระหวัดรัดหิ้ว สู่ไม้รังเรียง”

ดิฉันโยนหนังสือเรื่องกากีทิ้งบนพื้นห้อง ก่อนจะตามไปขยำขยี้กระดาษจนขาดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย“นรก นรก ชัดๆ ไอ้อีตัวไหนส่งหนังสือเล่มนี้มา”ดิฉันโกรธจัด เลวเหลือเกิน ไม่ต้องมาด่าดิฉันแบบนี้ ได้โปรดเห็นใจดิฉันบ้าง (เขาหลักวันนี้ : หน้า 101)

นับว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นกระจกที่สะท้อนสังคมและบทบาทความเป็นมนุษย์หญิงชายได้อย่างครบถ้วน มีการสอดแทรกวรรณคดีไทยลงในเนื้อเรื่อง แต่ถ้าหากผู้เขียนได้ลงรายละเอียดหรือที่มาของกาพย์เห่เรื่อง กากี ว่ามีที่มาจากตอนใดในวรรณคดีและใครเป็นผู้แต่ง คงจะเป็นการดีไม่น้อย เพราะผู้อ่านจะได้ทราบและจดจำไว้เป็นความรู้ต่อไป

ตัวละครทุกตัวในเรื่องสั้นของ “เสาวรี” ต่างมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป แต่ทุกตัวละครที่ดำเนินเรื่องนั้นล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคม คงจะไม่แปลกอะไรถ้าจะเปรียบหนังสือเล่มนี้ดังกระจกสะท้อนสังคม ดังเช่นเรื่องสั้นเรื่อง “ดวงชะตา” ซึ่งจัดพิมพ์ครั้งแรกในผลงานรวมเรื่องสั้นคุณภาพดี “ตามหาชั่วชีวิต” ที่เคยผ่านเข้ารอบสุดท้ายรางวัล ซีไรท์ แต่ความพิเศษที่เกิดขึ้น คือ “เสาวรี” ได้นำ “ดวงชะตา” ของตัวละครหลักในเรื่องมาถ่ายทอดเป็นเรื่องสั้นอีกหนึ่งเรื่องซึ่งไม่เคยตีพิมพ์มาก่อน ทำให้เห็นจุดเริ่มต้นทั้งหมดของเรื่องสั้นเรื่องนี้

“ดวงชะตา” เป็นเรื่องสั้นที่ถ่ายทอดเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตของตัวละครหลัก บทบรรยายของเรื่องสั้นเรื่องนี้จะเป็นไปในลักษณะของการเล่าความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง ระหว่าง ครูกับนักเรียนในความสัมพันธ์เชิงชู้สาว ความเป็นโลกียชนที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน ไม่เว้นแม้แต่อาชีพอันทรงเกียรติ ที่เกิดขึ้นกับครูที่เป็นที่พึ่งทางใจของนักเรียน และนักเรียนหญิงที่มีบาดแผลลึกในจิตใจแต่ไม่มีใครรับรู้ได้

เรื่องสั้นที่ “เสาวรี” นำมาถ่ายทอดต่อจาก “ดวงชะตา” นั้นจะเป็นเรื่องราวของตัวละครที่เป็นนักเรียน ทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของเรื่อง และปริศนาต่างๆที่เกิดขึ้นกับชีวิตคนคนหนึ่ง นำไปสู่เหตุการณ์ที่เลวร้าย เรื่องราวในชีวิตของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ชีวิตของเธอคือผลพวงจากความเป็นโลกียชน และสร้างบาดแผลลึกที่เลวร้ายในจิตใจของเธอ นับว่าปริศนาท้ายเรื่องสั้นเรื่องนี้จะสร้างความตกใจให้ผู้อ่านได้อย่างมากแน่นอนและคงจะเกิดคำถามกับตัวเองแน่นอนว่าเหตุการณ์เหล่านี้มีอยู่จริงหรือที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมันร้ายแรงกว่านี้หรือไม่

เรื่องสั้นทุกเรื่องใน “จะหลับตาลงได้อย่างไร” จะมีการใช้ภาษาที่สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมของคนถิ่นนั้นๆ สอดแทรกไปกับการถ่ายทอดความเป็นโลกียชนของมนุษย์และสิ่งที่สำคัญมากไปกว่านั้น เรื่องสั้นทุกเรื่องสะท้อนสังคมไทยได้เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นถึงแนวคิดแต่ละยุคแต่ละสมัยสมัยของไทย ความเชื่อ จากอดีตจนถึงปัจจุบันได้ดี ดังตอนหนึ่งในเรื่องสั้นเรื่อง “เงาอดีต”ที่เรื่องสั้นเรื่องนี้จะมีการหยิบยก เพลงไทยดำรำพัน และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ไทยมาเป็นฉากและบทบรรยายให้เชื่อมโยงกับตัวละครและเหตุการณ์ในในเรื่อง

สิบห้าปี ที่ไตเฮา เสียบ้านเมือง เคยฮุ่งเฮือง หมู่ข้าน้อย อยู่สุขสบาย ลุงแก่นตา ได้สางสาบ้านเมืองไว้ให้ บัดนี้จากไกล ไตเสียดายเด…

“สงครามเวียดนามสิ้นสุดลงเมื่อ พ.ศ. 2515 เวียดนามเหนือรวมกับเวียดนามใต้ โฮจิมินจ์ได้รับชัยชนะ เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ฝรั่งเศสกับอเมริกากลับบ้านพร้อมกับความสูญเสียมหาศาล และไทยดำหรือไตดำที่อยู่ตอนเหนือของเดียนเบียนฟูก็ไม่มีแผ่นดินเป็นของตนเองนับแต่นั้นมา” (เงาอดีต: หน้า 166)

นับว่าหนังสือเรื่อง “ จะหลับตาลงได้อย่างไร” เป็นหนังสือที่สะท้อนสังคมอย่างแท้จริง การร้อยเรียงเรื่องราวของเรื่องสั้นแต่ละเรื่องต่อเนื่องกัน ทำให้ผู้อ่านเมื่อได้ลองอ่านแล้วจะต้องคิดตามและสนุกกับการค้นหาปริศนาต่างๆภายในเรื่อง เมื่อปริศนาเหล่านั้นได้ถูกเปิดเผยออกมา จะยิ่งทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่า เพราะเหตุอันใดเรื่องสั้นเรื่องนั้นๆจึงมีชื่อที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ข้อคิดที่เกิดขึ้นในเรื่องจะถูกเปิดเผยพร้อมกับปริศนาที่รอผู้อ่านไปค้นหา ซึ่งบางเรื่องเป็นเรื่องสั้นที่เคยตีพิมพ์และได้รับรางวัลมาแล้ว แต่ผู้เขียนได้นำเรื่องราวเหล่านั้นมาสานต่อและตีพิมพ์ในหนังสือเล่มนี้ครั้งแรก แต่จะมีเพียงเรื่องสั้นเรื่องสุดท้ายที่ “เสาวรี”ตั้งใจเขียนให้เรื่องนี้ไม่เชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ แต่เมื่อผู้อ่านได้อ่านจบแล้วคงจะค้นพบคุณค่าและเข้าใจเจตนารมณ์ของผู้เขียนได้แน่นอน หนังสือเล่มนี้คงจะเป็นอีกเล่มหนึ่งที่หากแฟนพันธุ์แท้เรื่องสั้นแนวปรัชญาชีวิต หรือผู้อ่านที่กำลังค้นหาข้อคิดในการดำเนินชีวิตไม่มีเก็บไว้คงจะน่าเสียดายไม่น้อย

 

อภิญญา จันทมิฬ (แอปเปิ้ล)

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ