ดอกไผ่: ลางร้ายที่ซ่อนตัวใต้ความเมินเฉย : บทวิจารณ์โดย ชนกานต์ คังคะโร โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 9

ดอกไผ่: ลางร้ายที่ซ่อนตัวใต้ความเมินเฉย

       'ปัญหาของใคร ปัญหาของมัน' หากมองคำกล่าวนี้ในบริบทที่ว่า เราไม่จำเป็นต้องสนใจปัญหาของคนรอบข้าง เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา จริงหรือไม่ที่ว่าปัญหาเหล่านั้นไม่ใช่ปัญหาของเรา? ในความเป็นจริงแล้วทุก ๆ คนไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ปัญหาที่ใครคนหนึ่งเคยประสบพบเจอ จะกลายมาเป็นปัญหาของเราเองเมื่อไร และความยากลำบากที่เขาเหล่านั้นเผชิญ แน่ใจแล้วหรือว่าเราไม่ควรแสดงความเห็นอกเห็นใจหรือให้ความช่วยเหลือจนกว่าเรื่องเหล่านั้นจะมากระทบกับตัวเรา

       'ดอกไผ่' หนังสือรวมเรื่องสั้นสุดสะเทือนใจครั้งแรกของนักเขียน เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ศิลปินแห่งชาติ อาจารย์ และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ทุกบทบาทของเขาล้วนแล้วแต่สร้างผลงานอันยิ่งใหญ่และเป็นที่จดจำในหลาย ๆ ฐานะในส่วนของหนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ ดอกไผ่เองก็เป็นตอนหนึ่งที่น่าสนใจ และเป็นตัวแทนแก่นแท้ของเรื่องราวทุก ๆ ตอน ทั้งยังแฝงประเด็นสังคมเอาไว้อย่งแยบยล ถ่ายทอดออกมาผ่านวาทศิลป์อันคมคาย ให้ผู้อ่านได้คิดวิเคราะห์ไปตาม ๆ กัน

       เรื่องราวของดอกไผ่ สะท้อนชีวิตของชายชราชาวชนบทคนหนึ่ง ซึ่งมักจะออกไปล่าสัตว์ในที่นา พื้นที่ทำมาหากินของเขา พร้อม ๆ กับหมาพรานคู่ใจ โดยที่มักจะมีลูกสาวคอยปราม คอยดูแลเอาใจใส่ทุกคนในครอบครัวและมีลูกชายอีกหนึ่งคน ที่ติดสินบนเพื่อให้ผ่านการสอบเป็นภารโรง แต่กลับต้องผิดหวังกลับมา

       เห็นได้ชัดว่าการกระทำของคนเป็นลูกชายนั้นเป็นสิ่งที่ผิดอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ทว่าการกระทำผิดของเขากลับต้องพ่ายให้กับความผิดที่ใหญ่หลวงกว่า นั่นก็คือคนที่จ่าย 'เงินใต้โต๊ะ' มากกว่า ซ้ำร้ายตำรวจก็ยังแปะป้ายตัวเขาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นคนมีประวัติไม่ดีเพียงเพราะเขาเคยเรียกร้องเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าของคนในครอบครัวและคนในหมู่บ้าน

     "...ข้าไม่รู้เรื่องอะไรทั้งนั้นแหละ รู้อย่างเดียวว่าปีนั้นนาล่มกันทั้งหมู่บ้าน จะอดตายอยู่แล้ว..." (ดอกไผ่ 2 ตุลาคม2527 ; เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)

     จากสิ่งที่ตัวละครชายหนุ่มกล่าว จะเห็นว่าทุกสิ่งที่เขากระทำลงไปในอดีตคือการดิ้นรนเอาชีวิตรอด ไม่ได้ผิดเลยแม้แต่น้อยแต่เหตุที่ทำให้ถูกคนอื่น ๆ ตีตราว่าผิด แท้จริงแล้วผิดเพราะอะไรกันแน่? เพราะประวัติ หรือเพราะจำนวนเงิน แต่จนแล้วจนรอด ทั้งสองสิ่ง และทั้งสองฝ่ายล้วนสะท้อน 'ปัญหา' ที่ไม่มีใครคิดจะแก้ไข ยิ่งปล่อยไปก็รังแต่จะทวีคูณความเป็นปัญหาที่หนักมากยิ่งขึ้น เพราะการกระทำของทั้งชายหนุ่มและคนอื่น ๆ ที่สอบเป็นภารโรงได้สำเร็จ แท้จริงแล้วก็คือการโกง ส่วนประวัติที่ว่าเสียหายนั้น ก็ไม่มีใครคิดที่จะซักถามไปถึงที่มาของการเรียกร้องเลยสักคน กลับตัดสินชายหนุ่มด้วยมุมมองที่ตนมีทันที ในส่วนต่อมาผู้เขียนได้กล่าวเล่าถึงเรื่องวิวาทของชายสองคน

       "...ลมแห้งของฤดูหนาว พัดฝุ่นจากถนนหน้าร้านเข้ามาเป็นระยะ ๆ แต่ดูเหมือนจะ ไม่มีใครสนใจหรือสังเกตุ...(ดอกไผ่ 2 ตุลาคม 2527 ; เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)

       ตัวบทข้างต้นสามารถนำมาเปรียบเทียบได้กับสิ่งที่เป็นปัญหา อย่างฝุ่นที่เมื่อสูดดมมาก ๆ เข้า ก็จะนำไปสู่โรคร้ายได้ ทว่าไม่มีเลยสักคนที่จะสนใจเศษผงเล็ก ๆ เหล่านั้นที่อยู่นอกตัวร้าน เพราะมันดูไกลห่างจากตัวเองมากเหลือเกิน ดัง 'ชายกินเหล้า ในเรื่องที่เป็นคนเริ่มการทะเลาะเบาะแว้ง ตรงเข้าทำร้ายอีกฝ่ายก่อน แต่ก็ไม่ได้มีใครสนใจนัก จนกระทั่งเรื่องราวเลยเถิด ทำให้ 'ชายกินโอเลี้ยง' ที่เคยมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน กลายเป็นฝ่ายทำร้ายชายกินเหล้าจนสาหัสปางตาย ไม่ว่าในมุมมองของผู้อ่านจะเห็นการกระทำนั้นเป็นการป้องกันตัวหรือไม่ แต่ตัวละครซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ ณ ที่นั้น กลับมองเห็นแค่เพียงว่ามีชายคนหนึ่งแทงชายอีกคนจนเลือดอาบ และหันมาสนใจก็เมื่อตอนที่เสียงวิวาทเริ่มดังขึ้นจนรบกวนการเชียร์มวยของพวกเขา ในท้ายที่สุด เมื่อเสียงรบกวนเงียบไป ทุกคนก็กลับเข้าที่ของตนโดยไม่สนใจว่าชายกินเหล้าและชายกิน โอเลี้ยงจะเป็นอย่างไรต่อไป

      ตัวละครหลักที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้อย่างชายชรา บุคคลที่ขยายภาพปัญหาความไม่เท่าเทียมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ตัวเขาทำไร่ทำนามาตั้งแต่ไหนแต่ไร ทว่าเมื่อเวลาผันเปลี่ยนความเจริญของคนเพียงบางกลุ่มก็ทำให้ที่ทำกินของเขาอยู่ลึกเข้าไปในเขตดงดอยขึ้นเรื่อย ๆ เขาเป็นตัวละครหนึ่งที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรค โดยไม่มีใครเห็น ด้วยทั้งอายุที่เพิ่มขึ้นทุกวัน การที่ต้องเลี้ยงดูบุตรถึงสองคน และกาลเวลาที่ไม่คอยท่า ทำให้ชายเฒ่าต้องลำบากลำบน กระนั้นเขาก็ยังไม่ย่อท้อกับการกำจัดสิ่งที่จะเป็นปัญหาให้กับตนและครอบครัว

    ดังที่ชายชรากล่าวซ้ำไว้ในเรื่องบ่อย ๆ 'ปีนี้ไผ่ออกดอก' แสดงให้เห็นถึงการกระหนักในปัญหาหรืออาจแสดงถึงลางของภัยร้ายผ่านสายตาชายเฒ่า เนื่องจากเขาทราบดีว่าทุกครั้งที่ต้นไผ่ออกดอกฝูงหนูจะรุมเข้ามากัดกินข้าวในนาซึ่งเป็นผลผลิตของเขา เป็นเหตุให้ตัวละครนี้ต้องคอยเฝ้าระวังเหล่าหนูอยู่ตลอดเวลาแต่สุดท้าย เขาก็ต้องมาจบชีวิตอย่างน่าอนาถเพราะหนูเหล่านั้น

     หากลองย้อนกลับไปที่ต้นเรื่อง ผู้เขียนได้บรรยายฉากที่หมาพรานเห่าโคนกอไผ่ที่ว่างเปล่าแต่ชายชรากลับตำหนิสุนัขและจากไปโดยไม่ได้สำรวจตรวจสอบ ทั้งที่ในฉากนี้อาจจะบอกใบ้ผู้อ่านไว้แต่ต้นแล้วก็ได้ว่า มี 'ปัญหา' กำลังเกิดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ แต่ชายเฒ่าที่คอยดูแลผลผลิตเสมอมา กลับกลายเป็นคนที่มองข้ามปัญหานั้นไปเสียเอง เพราะเขาคิดว่ามันไม่มีอะไร และมันคงจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเขาในอนาคตได้อย่างแน่นอน แต่ชายเฒ่าก็คิดผิดมหันต์ สิ่งที่เขาเคยเมินเฉยในวันนั้น กลายมาเป็นสิ่งที่ทำร้ายเขาจนต้องยอมจำนนในวันนี้

     "...คนเฒ่านอนเหยียดขนานไปกับกันนา หน้าอกและท้องกระตุกขึ้นลงไม่เป็นจังหวะ ขณะที่หนูนับร้อยไต่ข้ามร่างกายของแกไปอย่างไม่สนใจ..." (ดอกไผ่ 2 ตุลาคม 2527 ; เสกสรรค์ ประเสริฐกุล)

     จากเรื่องราวของครอบครัวชายชราซึ่งมีฐานะยากจนและใช้ชีวิตเรียบง่าย ทั้งลูกชายและตัวของชายชราเองได้ถูกทำร้ายจากอำนาจที่มากกว่า โดยเฉพาะจากมนุษย์ด้วยกันเอง รวมไปถึงตัวละครลูกสาวที่อาจไม่ได้มีบทบาทมากนัก แต่ก็เห็นได้ชัดว่าสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวละครอื่นจะนำพาความทุกข์โศกมาให้กับเธอในไม่ช้า

     แม้ว่าในเรื่องดอกไผ่ จะเล่าถึงฉากและเรื่องราวโหดร้ายที่ดูเหมือนจะเกิดจากธรรมชาติมากเพียงใด แต่เมื่อพินิจพิจารณาดูให้ดีแล้วนั้น เป็นมนุษข์ต่างหากที่ข่มเหงมนุษย์ด้วยกันเอง เป็นมนุษย์ที่ละเลยความทุกข์ยากของมนุษย์ด้วยกัน และเป็นมนุษข์ ที่บีบบังคับให้มนุษย์คนอื่นอับจนหนทาง กลับกันเป็นสุนัขเสียอีกที่คอยอยู่เคียงข้างชายชรา และมองเห็นทุกปัญหาอย่างทะลุปรุโปร่งโดยไม่ลืมที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพยายามแก้ไข อย่างตอนที่หนูป่าออกมาไล่กัดชายชราและยังเป็นตัวการทำให้ข้าวเสียหาย แต่ด้วยจำนวนที่มากของมัน ทำให้ทั้งหมาและคนไม่อาจเอาชนะ ซ้ำยังพลาดท่าให้กับพวกมันอีกต่างหาก

     ไม่แน่ว่าหนูป่าที่ปรากฏตัวสร้างความวุ่นวายจนนำไปสู่ความตายของชายชราในตอนท้ายนั้น อาจเปรียบได้กับผู้มีอำนาจที่เอาแต่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อพรรคพวกของตน และเหนือสิ่งอื่นใดอำนาจนั้นจะไม่อาจลบเลือนไปได้ ถ้าหากสังคมเรายังคงเมินเฉยต่อปัญหารอบตัว เพราะคิดว่าไม่ได้ส่งผลกระทบกับตัวเองดังสำนวน 'น้ำผึ้งหยดเดียว' ว่าด้วยเรื่องเล็ก ๆ ที่ไม่ได้เป็นปัญหาในคราแรก แต่เมื่อเมินเฉยปล่อยปละละเลยน้ำผึ้งหยดนั้นก็สามารถสร้างความหายนะมาถึงตัวเราได้ในท้ายที่สุด

 

บทวิจารณ์โดย ชนกานต์ คังคะโร
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 9

 

Writer

The Reader by Praphansarn