ครอบครัวรักมหัศจรรย์ : ครอบครัวรักมหัศจรรย์ : คนพิเศษกับความรู้สึกแสนพิเศษ

ครอบครัวรักมหัศจรรย์

“เพราะครอบครัวเราอยู่ด้วยความหวัง แต่ไม่เคยคาดหวัง อะไรในตัวน้องเม่น...เพราะถ้าเรามีความหวังเราก็หาหนทางสารพัดที่จะทำให้ความหวังหรือความฝันของเราเป็นจริง แต่ถ้าเรามีความคาดหวังเมื่อไร จะสร้างความกดดันให้ลูกเราทันที” นี่เป็นเพียงหนึ่งความคิดดีๆที่แฝงอยู่ในหนังสือ “ครอบครัวรักมหัศจรรย์” และยังมีแนวคิดที่ดีและวิถีการใช้ชีวิตกับครอบครัวอีกมากมาย ที่รอให้คุณเปิดพบในหนังสือเล่มนี้

การเขียนของแม่น้องเม่น หรือคุณแม่หนุงหนิง ‘จิตติมา กุลประเสิรฐรัตน์’ เป็นการบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของครอบครัว ที่ไม่ได้มีแค่การเล่าถึงการดูแล ‘น้องเม่น’ เด็กพิเศษ หนึ่งในลูกชายทั้งสามของเธอและสามีเท่านั้น แต่ในตอนต้นของหนังสือ ผู้เขียนยังได้เล่าถึงความเป็นมาของตัวเธอและสามี ถึงครอบครัวที่เคยใช้ชีวิตในวัยเด็ก และการพบเจอของพวกเขา จนกระทั่งก่อเป็นความรัก และก่อเป็นครอบครัวและลูกน้อยทั้งสามคน ได้แก่ ลูกหมี ลูกเม่น และลูกมด จนถึงตอนที่พบว่า ลูกเม่นนั้นมีอาการของเด็กสมาธิสั้นและมีอาการความบกพร่องทางการเรียนรู้ แต่เธอนั้นก็ไม่ยอมแพ้ จับมือลูกเม่นแล้วรับมือกับอุปสรรคไปด้วยกัน ‘ “ เด็กสมาธิสั้น” มันช่างเป็นคำที่โหดร้ายเหลือเกินสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเรา แต่เมื่อได้รู้ความลับของมัน และเยียวยามันได้อย่างถูกวิธี เด็กสมาธิสั้นที่เคยสร้างปัญหากวนใจให้กับใครหลายๆคนก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่น่ารักได้ในที่สุด พวกเราทุกคนในครอบครัวช่วยกันฝ่าฝันจนกระทั่งมีวันนี้ ก็เพราะใช้ความรักและความเข้าใจของคนในครอบครัวเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อน’(หน้า119-120)

‘ยาที่ดีที่สุด ที่จะใช้รักษาเด็กประเภทนี้คือความรัก’ (หน้า44) นอกจากหนังสือเล่มนี้จะบอกถึงสาเหตุของโรคสมาธิสั้นด้วยภาษาที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ง่ายแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังอุดมไปด้วยวิธีการในการดูแลรักษาเด็กพิเศษอย่างเม่น ด้วยการกระทำที่มาจากความรัก ความใส่ใจในรายละเอียดของลูกๆ อย่างเช่นในหน้าที่ 49 ‘…เวลากอดเขา เราต้องกอดด้วยความรู้สึกอยากที่จะกอดเขาจริงๆ เพราะเด็กจะสัมผัสได้ตลอดเวลาว่าเรามีความรู้สึกอย่างไร กอดด้วยความรักความผูกพันจากสายใย หรือว่ากอดเพียงเพื่อสัมผัสให้ผ่านๆไปเท่านั้น เขาจะรับรู้ได้ ฉะนั้นเวลาที่เรากอดลูกเราจะกอดแบบที่เรียกว่า “กอดรัดฟัดเหวี่ยง” แล้วร้อง “อื้อๆ” ออกมาด้วยความหมั่นเขี้ยว เพื่อให้ลูกรับรู้ว่าเรากอดด้วยความรักมากมาย ...การ “อื้อๆ”ของบ้านเราคงเหมือนกับชาร์จแบตเตอรรี่หรือเติมน้ำมันที่ทำให้เม่นเดินเครื่องได้ต่อไปนั่นเอง’ และ การใช้คำชมเชย ชมลูกเวลาที่เขาได้ทำในสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง ‘คำชมเหล่านี้เสมือนยาวิเศษสำหรับเด็กแบบเม่น ที่เป็นยาชูกำลัง ยาต่อชีวิต ให้เม่นมีความมั่นใจที่จะก้าวต่อไปได้อย่างไม่อายใคร’(หน้า66) และชั่วโมงเปิดเผยความลับ เป็นเวลาที่ทุกคนในครอบครัวจะพูดความลับหรือความผิดของตัวเอง โดยเรื่องที่นำมาเปิดเผยจะได้รับอภัย เพื่อฝึกให้ลูกให้ป็นคนซื่อสัตย์ ไม่ให้เป็นคนโกหก และการสอนให้เม่นมองโลกในแง่ดี ‘ทุกๆวันฉันจะให้เม่นเล่าเรื่องดีๆที่เกิดขึ้นในโรงเรียนอย่างน้อยวันละหนึ่งเรื่องเสมอ ซึ่งเรื่องราวดีๆของเม่นส่วนใหญ่ก็จะหนีไม่พ้น วันนี้เม่นได้กินมาม่าที่โรงเรียนหรือไม่ก็ได้กินไข่เจียวเป็นอาหารกลางวัน..เพียงเท่านี้สำหรับเด็กอย่างเม่นก็ถือเป็นเรื่องดีๆในชีวิตแล้ว...’(หน้า66) ถึงแม้ในตอนที่เม่นโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เม่นก็ยังเก็บเรื่องราวดีๆของคนรอบข้างกลับมาเล่าให้ที่บ้านฟังเสมอ ผู้เขียนไม่ได้แต่บำบัดโรคของเม่นเพียงเท่านั้น แต่เธอยังสอนลูกๆให้เข้าใจรับฟังถึงสาเหตุของพฤติกรรมของเม่น ให้ครอบครัวเข้าใจและคอยช่วยเหลือกัน ซึ่งการสอนเช่นนี้ทำให้ลูกๆมีทัศนคติดีๆในการใช้ชีวิต และยังมีกิจกรรมที่ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น การสอนลูกๆทำการบ้านที่’โต๊ะญี่ปุ่น’ ซึ่งทุกคนในบ้านก็จะช่วยเม่นทำการบ้านไปด้วย หรือจะเป็นการที่ไปเรียนพิเศษด้วยกันเช่น เรียนเทควันโด เรียนเปียโน ซึ่งการได้ใช้เวลาร่วมกันของครอบครัวทำให้เด็กๆ แม้ว่าณ ตอนนี้ได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวเเล้ว แต่ครอบครัวก็ยังได้ใช้เวลาสุดสัปดาห์ในการรับประทานอาหารด้วยกัน

ขณะที่อ่านจะสัมผัสได้ถึง ‘พลังความคิดบวก’ ที่แผ่ซ่านไปในทุกๆบรรทัดของหนังสือเล่มนี้ ด้วยแง่คิดที่ออกมาจากผู้หญิงผู้เป็นแม่คนนี้ ไม่ว่าเรื่องราวแบบใดจะประดังปะเดเข้ามา เธอจะเล่าด้วยมุมมองที่อารมณ์ดีหรือติดตลกเสมออย่างในตอนที่ ‘ถึงแม้เม่นจะถูกจับให้นั่งหน้าชั้นเรียนเพื่อให้คุมง่าย ใกล้มือครู แต่เม่นก็ยังซนไม่ยอมเรียน ไม่สนใจครู นั่งหยอกนั่งแกล้งเพื่อน ทำให้มิสมาลัยโมโหจนถึงกับออกปากว่า “นิพิฐ ครูทนเธอไม่ไหวแล้ว เธอจะไปไหนก็ไป” เพียงเท่านั้น เม่นก็เลยเก็บกระเป๋าเดินออกจากห้องทำตามคำสั่งอย่างเคร่งครัดขึ้นมาทันที จนมิสมาลัยต้องวิ่งตุ๊บๆตั๊บๆ(เพราะมิสออกจะตัวท้วมๆหน่อย) ไปตามกลับมาแทบไม่ทัน’ (หน้า37)

ด้วยสไตล์การเขียนที่สามารถเข้าใจง่าย โดยไม่ต้องตีความซับซ้อน ทำให้เราเข้าถึง‘ครอบครัว(รักมหัศจรรย์)’นี้ได้ไม่ยาก ซึ่งครอบครัวของน้องเม่น ซึ่งก็เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนครอบครัวอีกหลายๆครอบครัวที่พักอาศัยอยู่ใจกลางเมืองกรุงเทพ เพราะการใช้ชีวิตแบบวิถีคนเมือง ไม่ว่าจะเป็นรับประทานอาหารหรืองีบหลับบนรถ รวมไปถึงการขับถ่ายบนรถของเด็กๆด้วย ‘ลูกสองคนจึงเป็นเหมือนเด็กกรุงเทพฯทั่วไปที่โตมาในรถจริง…ทำให้กิจวัตรประจำวันของเราสี่คนพ่อแม่ลูก ต้องผจญภัยอยู่บนท้องถนนมากกว่าการได้ใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็นอยู่ที่บ้าน’ (หน้า24) หรือจะเป็นการฝากปากท้องไว้กับอาหารถุงพลาสติกข้างทาง เพราะผู้เขียนและสามีเองไม่มีเวลาพอที่จะทำอาหารเองที่บ้านได้ ‘เนื่องจากเราทั้งคู่ก็เป็นมนุษย์เงินเดือน ที่ต้องทำงาน 8ชั่วโมงต่อวัน มีความกดดันมาจากภาระหน้าที่การงาน และภาระความรับผิดชอบในครอบครัวต้องคอยรับส่งลูกด้วยตัวเอง ทำงานบ้านเอง อาศัยอาหารในถุงพลาสติกเพิ่มพลังกายเอาเพราะไม่มีเวลาจะมาเอาใส่ใจเรื่องลูกเท่านั้น 24ชั่วโมงในหนึ่งวันของเราทั้งคู่จึงมีความหมายอย่างยิ่ง’(หน้า68)

โดยการเล่าเหตุการณ์ในแต่ละครั้ง ผู้เขียนจะเล่าถึงสิ่งที่คาดว่าจะเกิดหรือสิ่งที่วางแผนกับอนาคตของตนและครอบครัวเป็นตัวปูเรื่อง ก่อนจะเข้าสู่เหตุการณ์จริงซึ่งส่วนใหญ่นั้นเหตุการณ์หรือ ‘ชีวิต’ มักจะสวนทางกับตอนที่คาดการณ์หรือวาดฝันไว้ เช่น ในตอนที่ผู้เขียนและสามีวางแผนที่จะแต่งงานและไปเรียนต่อเมืองนอกด้วยกัน แต่เมื่อแต่งงานได้สามเดือน ผู้เขียนก็ได้ท้องลูกชายคนแรกเสียก่อน ทำให้เปลี่ยนแผนที่วางไว้ สามีจึงตัดสินใจสละทุนกพ.ที่ไปเรียนเมืองนอก และทำงานหาเงินซื้อบ้านใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน

หรือในตอนที่เม่นจะสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยผู้เขียนได้วางแผนไว้มากมาย โดยตอนแรกให้เม่นเรียนเปียโน เพื่อจะทำเกรดวิชาดนตรีถึงเกรด6 แล้วมหาวิทยาลัยจะรับเข้าศึกษา แต่เม่นก็ทำเกรดวิชานั้นได้เกรด3 และแผนที่2 คือให้เม่นกวดวิชาภาษาอังกฤษ เพื่อสอบSATและCU-TEP ใช้เป็นคะแนนเข้าศึกษาต่อในคณะเศรษฐศาสตร์และ พาณิชยศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษ แต่เม่นนั้นไม่ผ่านการคัดเลือก และได้ไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

และเมื่อเม่นจะไปเรียนต่อปริญญาโทที่ประเทศแคนาดา ในหลักสูตรMBA โดยเม่นต้องเรียนคอร์สCAS Course เป็นเวลา 8 เดือน และเมื่อสอบต้องทำคะแนนสอบเฉลี่ยผ่าน 75% ถึงจะได้การตอบรับเข้าศึกษา แต่สุดท้ายเม่นสอบขาดไปแค่2คะแนน เม่นจึงตัดสินใจกลับมาที่ไทย เมื่อกลับมาไทย เม่นพยายามสมัครงานในเครือบริษัทFMCG ตามที่ฝันไว้ เม่นส่งใบสมัครไปแต่ไม่ได้เข้าทำงาน จึงได้มาทำงานเป็นผู้จัดการร้านกาแฟโอบอลแปง และในที่สุดเม่นก็ได้เข้าทำงานในบริษัท Media agency ตามที่ต้องการ เหตุการณ์ที่ผู้เขียนได้เล่าผ่านตัวหนังสือทำให้เราเห็นว่า สิ่งที่คาดหวังหรือฝันไว้ในชีวิตที่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ แต่ความจริงนั้น ชีวิตนั้นไม่ได้เป็นตามที่เราคิดไว้เสมอไป มีหลายอย่างไม่เป็นไปตามแผนชีวิตไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ หรือสมบูรณ์แบบตามอุดมคติ แต่สิ่งที่สามารถทำได้นั้นคือ ยอมรับชีวิตของเราและทำให้ดีที่สุด และในตอนที่ผู้เขียนรู้ว่าเม่นเป็นเด็กสมาธิสั้น ก็เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเช่นกัน ‘แต่เมื่อเห็นสายตาเขาที่มองดูเราแล้วก็ทำใจไม่ได้หากจะทอดทิ้งให้เขาเคว้งคว้างอยู่ในชะตากรรมที่เขาไม่ได้ตั้งใจเลือกเอง เลยจับมือลูกสัญญาจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่กำลังความสามารถของแม่และลูกจะทำได้’(หน้า79)

ผู้เขียนนั้นได้เล่าเรื่องเหตุการณ์ตามเวลา โดยเล่าย้อนตั้งแต่ในสมัยที่ตัวผู้เขียนยังใช้จดหมายคุยส่งตอบกลับกันไปมากับสามีที่ยังเป็นหนุ่มสาวมหาวิทยาลัย จนมาถึงยุคที่มีเว็บไซต์พันทิปและเด็กดี และจนถึงปัจจุบันที่มีการใช้โซเชียลมีเดีย คือ สไกป์ เฟสบุ๊คและแอพพลิเคชั่น ไลน์ ซึ่งการเล่าเหตุการณ์ต่างๆตามยุคสมัยที่แตกต่างกันไป ก็สามารถสะท้อนสภาพสังคมตามช่วงเวลาได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นระบบเส้นสายอุปถัมภ์และการบริจาคเงินเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเพื่อรับลูกของตัวเองเข้าเรียนนั้น หรือจะเป็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ‘แบบหว่านแห’ แม้ตัวเองจะได้ที่เรียนมหาวิทยาลัยได้อย่างแน่นอนแล้ว แต่ก็ยังมาสอบในมหาวิทยาลัยอื่นอีก และการฝากฝังญาติหรือคนสนิทเข้ารับทำงาน โดยไม่ต้องยื่นใบสมัครหรือแข่งคุณสมบัติกับคนภายนอก ซึ่งทุกๆเรื่องที่กล่าวมานั้นยังเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและเกิดขึ้นเป็นเวลาที่นานและยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน

และการเล่าถึงวิถีการดำเนินชีวิตของตัวผู้เขียน ก็สามารถบอกได้ถึงมุมมองของผู้หญิงผู้เป็นแม่คนหนึ่งและผู้คนรอบข้างได้อีกด้วย อย่างตอนที่เม่นได้เข้าไปเรียนป.1 ในช่วงแรกๆ เพื่อนในห้องไม่สามารถรับพฤติกรรมของเม่นได้ เม่นจึงไม่ถูกเลือกให้เข้าทำงานกลุ่มและยังถูกว่าว่า โง่อีกด้วย เพราะว่าเพื่อนหรือเด็กๆณ ตอนนั้นยังไม่เข้าใจถึงอาการป่วยของเม่น หรือในตอนที่ผู้เขียนนั้นได้พยายามส่งเม่นไปเรียนต่อเมืองนอก ‘การพยายามผลักดันให้ลูกไปเรียนต่อเมืองนอก นั่นไม่ใช่แค่การสานฝันของลูก แต่อีกนัยหยึ่งมันเป็นการซ่อมแซมความฝันของตัวเองไปด้วย เนื่องจากเราทั้งคู่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศ แต่ไม่เคยได้ไป..’(หน้า 91) หรือในตอนที่ผู้เขียนได้โพสต์ภาพของเม่นที่กำลังทำงานที่ร้านโอบอลแปงลงเฟสบุ้ค แต่ก็มีคนได้มาแสดงความคิดเห็นว่า ทำไมผู้เขียนกับสามีถึงยอมให้ลูกเม่นไปทำงานเช่นนี้ เพราะค่านิยมที่ว่าคนไทยชอบให้ลูกหลานเรียนจบสูงๆได้ทำงานในหน้าที่เป็นเจ้าคนนายคน หากได้หน้าที่การงานที่ต่ำกว่านั้น ก็อาจจะโดนดูถูกหรือไม่ถูกยอมรับจากคนในสังคม ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็สามารถสะท้อนถึงความคิดของคนในสังคม ค่านิยมที่แฝงอยู่ลึกๆในตัวเรา

หากได้เปิดอ่านหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะได้รับความรู้สึกดีๆและรอยยิ้มที่ปรากฏที่มุมปากแล้ว คุณอาจจะได้เปิดประตูที่ซ่อนในหัวใจ ได้เปิดใจเพื่อจะเข้าใจคนในครอบครัวมากขึ้น ถ้าเราได้มองทุกๆเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วยความคิดบวกให้เป็นเรื่องตลกหรือเป็นประสบการณ์ในการดำเนินชีวิต ดั่งเช่นครอบครัวนี้ ที่แม้พวกเขาจะประสบเรื่องราวไม่คาดฝันมากมายแต่ว่า ‘นี่จึงไม่ใช่เรื่องรักรันทดน่าสลดใจ ทว่าเป็นความสดใสทีซ่อนอยู่ในความขมุกขมัว’ (คำนำสำนักพิมพ์ หน้า5)

 

 

อริสรา วรรณพันธุ์

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ