เมื่อลูกเป็นสุภาพบุรุษ : ความเป็นสุภาพบุรุษ ผ่านการยัดเยียดจากเพศหญิง
แท้จริงแล้วความเป็นสุภาพบรุษคืออะไร?
หากกล่าวถึงความเป็นสุภาพบุรุษจากหลายบุคคล คงไม่อาจนิยามความเป็นสุภาพบุรุษได้เหมือนกันเนื่องจากความเป็นสุภาพบุรุษจากหลายบุคคลมองนั้นมีนิยามและลักษณะแตกต่างกันออกไป ในเรื่องสั้น “เมื่อลูกเป็นสุภาพบุรุษ” ว่าคือผู้ที่เกิดมาเพื่อคนอื่นแต่แท้จริงแล้วความเป็นสุภาพบุรุษคือการทำเพื่อผู้อื่นเสมอไปหรือไม่ ใครเป็นผู้ตัดสินความเป็นสุภาพบุรุษในตัวของคนคนหนึ่ง
เรื่องสั้น “เมื่อลูกเป็นสุภาพบุรุษ” เขียนโดยชมัยพร แสงกระจ่าง หรือนางชมัยพร บางคมบาง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ประจำปี 2557 ได้มีการเล่าเรื่อง “ความเป็นสุภาพบุรุษ” ผ่านอุดมคติและมุมมองของเพศหญิงไว้อย่างแยบยล
ในเรื่องสั้นกล่าวถึง “นันท์” ที่เล่าเรื่องราวในอดีตให้ “ดิน” ลูกของตนฟังว่าเธอและแม่ได้ช่วยกันเลี้ยงลูกจนเติบโต โดยมีความตั้งใจไว้ว่าจะเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นมาเป็น “สุภาพบุรุษ” อันมีความหมายว่าผู้ที่เกิดมาเพื่อคนอื่น โดยนางบอกกับลูกมาตลอดว่าพ่อของลูกได้ตายไปแล้ว แต่ที่จริงเป็นเพราะเธอตัดสินใจขาดจาก “อรรณพ” พ่อของดิน เพราะเหตุการณ์ที่อรรณพไปทำผู้หญิงท้องจนทำให้ผู้หญิงคนนั้นมาทวงความรับผิดชอบถึงงานแต่งของเธอ เมื่อ “ดิน” เติบโตขึ้น เธอก็คอยสอนลูกเรื่องความเป็น “สุภาพบุรุษ” ให้แก่ดินเสมอจนมาถึงจุดเปลี่ยนของเรื่องที่ดินต้องการหาเงินเรียนเอง เพื่อแบ่งเบาภาระของแม่เรียนรู้ชีวิตและทำหน้าที่ “สุภาพบุรุษ” จนทำให้ดินต้องไปทำงานกลางคืนและเรียนตอนกลางวัน เมื่อนานวันเข้ามีผู้หญิงที่ชื่อ “ฟ้าใส” มาหานันท์และบอกว่าเธออาจจะท้องกับดิน ด้วยความเห็นใจเธอจึงให้สัญญาไปว่าหากเป็นลูกของดินจริง ๆ เธอจะส่งเสียให้ฟ้าใสได้เรียน ในที่สุดเธอก็มารู้ภายหลังว่าลูกของฟ้าใสไม่ใช่ลูกของดินแต่ดินกลับยอมรับว่าเป็นพ่อ เพราะอยากให้ฟ้าใสได้เรียนเธอจึงรู้สึกปราบปลื้มใจที่ลูกของเธอมีความเป็น “สุภาพบุรุษ” อย่างที่เธอพร่ำสอนเขามาแต่เล็กจนโต
หากพิจารณาถึงเนื้อหาของเรื่องสั้นจะพบว่าผู้เขียนมีการเขียนย้ำถึงความเป็น “สุภาพบุรุษ” และความเป็น “ลูกผู้ชาย” บ่อยครั้ง โดยอาจตั้งข้อสังเกตได้ว่าความเป็น “สุภาพบุรุษ” ที่ถูกกล่าวถึงในเรื่องไม่ใช่แค่การทำเพื่อผู้อื่นเพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึงพฤติกรรมในอุดมคติของเพศหญิงที่หมายรวมว่าความเป็นสุภาพบุรุษต้องเป็นบุคคลที่อยู่ใน “กรอบ” ของความประพฤติที่ดีและพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้อื่นเสมอ ดังตอนหนึ่งของเรื่องที่กล่าวถึงความคิดของนันท์ว่า “แม่มองดูลูกที่กองอยู่กับพื้นเหมือนผ้ายับ ๆ ด้วยความเสียใจ ภาพเด็กชายคนดีสุภาพบุรุษของแม่หายไปไหนหนอ” ความเป็นสุภาพบุรุษจึงไม่ใช่แค่การทำเพื่อคนอื่นแบบที่ “นันท์” เคยพูดไว้อยู่เสมอในเรื่อง หากแต่เป็นความกล่าวเรียกของ “ผู้ชาย” ในอุดมคติของเธอและผู้หญิงทั่วไปอยากเห็นโดยใช้คำว่า “สุภาพบุรุษ” เป็นคำเพื่อบังหน้าในการสร้างเพศชายในอุดมคติของเธอขึ้นมา ซึ่งเพศชายที่เธอตั้งใจจะให้เป็น “สุภาพบุรุษ” อย่างเต็มตัวก็คือ “ดิน” ลูกชายของเธอ
ในเนื้อเรื่องผู้เขียนเลือกที่จะใช้วิธีการแต่งเนื้อเรื่องให้เพศหญิงมีความเป็นใหญ่เหนือเพศชายในหลายสถานการณ์ เช่น การจัดงานแต่งเองโดยฝ่ายชายมาทำหน้าที่เหมือนถูกรับเชิญมา หรือแม้แต่บทสนทนาที่มีการสอดแทรกไว้ในเรื่อง เช่น “แม่ยืนยันรู้สึกเหมือนตัวเองอยู่บนโต๊ะและพ่ออยู่ที่พื้นดินมันต่างระดับกันมาก” และทำให้เข้าใจว่าการกระทำของเพศหญิงในเรื่องมักมีเหตุผลรองรับเสมอ ต่างจากเพศชายที่มีการระทำที่ดูไร้เหตุผล และไม่ควรค่าแก่การให้อภัย โดยที่เมื่อเป็นเพศหญิงด้วยกันก็พร้อมที่จะให้อภัย ดังตอนที่ฟ้าใสเข้ามาปรึกษานันท์ นันท์ก็พร้อมที่จะช่วยเหลือเพศหญิง เพราะคิดว่าตนเองเข้าใจหัวอกผู้หญิงด้วยกันดี และพร้อมที่จะยอมรับและหาทางช่วยเหลือ ซึ่งหากมองกลับมาในมุมของเพศชายจะมีเพียงตัวละครเพศชายที่มีความเป็น “สุภาพบุรุษ” เท่านั้นที่ควรค่าแก่การให้อภัย และการที่ผู้ชายจะได้รับการยอมรับว่าเป็นสุภาพบุรุษนั้นต้องมาจากการยอมรับของเพศหญิงหรือตรงกับการเป็นเพศชายในอุดมคติของเธอ จะเห็นได้จากการที่ดินยอมรับว่าเป็นพ่อของลูกฟ้าใส ซึ่งเป็นการกระทำที่ “กล้าทำ กล้ารับ” ต่างจากพ่อเขาที่ทำท่าทีว่าจะไม่รับเป็นพ่อของลูก ซึ่งเป็นการกระทำที่แม่เขาน่าจะภูมิใจ แต่กลับเป็นว่าไม่ภูมิใจในลูกตนเองลูกไม่ใช่สุภาพบุรุษ แต่ท้ายที่สุดเมื่อรู้ถึงเหตุผลการกระทำ เธอก็เข้าใจเพราะลูกของเธอมีความเป็นสุภาพบุรุษหรืออุดมคติที่ตั้งไว้นั่นเอง
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง แท้จริงแล้วความเป็นสุภาพบุรุษที่ถูกสั่งสอนและถูกยัดเยียดให้มาตลอดเป็นสิ่งที่ดินต้องการแน่หรือ? หรือเพียงใช้คำนี้เป็นข้ออ้างในการทำงานกลางคืน โดยจะเห็นจากการที่ดินบอกกับแม่เสมอว่าในการทำงานกลางคืนเป็นหน้าที่ของสุภาพบุรุษ โดยเห็นจากการบรรยายว่า “ในที่สุดลูกก็กลายเป็นคนออกจากบ้านแต่เช้าและกลับถึงบ้านดึก ดูว่าลูกสนุกกับชีวิตมากขึ้น” จะเห็นว่าตัวดินเองก็รู้สึกดีที่ตนได้ออกจาก “กรอบ” ความเป็นสุภาพบุรุษที่แม่ได้ตีกรอบไว้ให้และออกนอกกรอบไปไกลจนเมากลับบ้าน และถึงขั้นมีอะไรกับผู้หญิงในที่ทำงาน
การโดนคาดหวังถึงความเป็นสุภาพบุรุษจากในเรื่องทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่า แท้จริงแล้วความเป็นสุภาพบุรุษของเพศชายขึ้นอยู่กับสิ่งใด จากการกระทำของตนเองและยอมรับความเป็นสุภาพบุรุษของตนได้ หรือเป็นการได้รับการยกย่องจากเพศหญิงว่าเราเองได้เป็นสุภาพบุรุษแล้วกันแน่ เรื่องสั้นเรื่องนี้จึงไม่เพียงแต่เป็นเรื่องสั้นที่เมื่ออ่านแล้วเกิดความบันเทิงเพียงอย่างเดียว แต่ทำให้เกิดความคิดในการยอมรับตนเอง และได้กลับมามองย้อนดูตนเองว่าแท้จริงแล้วตนเองได้ประพฤติตนสมกับความเป็นสุภาพบุรุษในนิยามของตนเองหรือไม่ในแบบที่ไม่ต้องให้ใครมายัดเยียดหรือตัดสินตัวเรา
เมื่อลูกเป็นสุภาพบุรุษ : ความเป็นสุภาพบุรุษ ผ่านการยัดเยียดจากเพศหญิง
บทวิจารณ์โดย : เชาว์วัฒน์ ทองโคตร
โครงการ “อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ” ปีที่ 5