“ดอกไผ่” : เค้าลางแห่งโชคชะตา ของชายชรากับหมาไล่เนื้อ
“ดอกไผ่” เรื่องสั้น ผลงานของ “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พุทธศักราช 2552 เป็นงานเขียนในแนวทาง “ศิลปะเพื่อชีวิต” เรื่องสั้นดอกไผ่ถูกเลือกให้เป็นชื่อหนังสือรวมเรื่องสั้น แสดงให้เห็นถึงความเป็นเรื่องสั้นเรื่องเอกของเล่ม โดยเนื้อหาพยายามสะท้อนเรื่องราวความเหลื่อมล้ำและเหตุการณ์ร่วมยุคสมัย ทั้งการถูกเอารัดเอาเปรียบของชาวบ้าน การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษากับชาวนา และการพูดถึงเหตุการณ์ที่นักศึกษาในสมัยนั้น เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับประสบการจริงของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ทั้งยังแสดงลักษณะความเชื่อของสังคมไทยเกี่ยวกับลางบอกเหตุ “ปีไหนไผ่ออกดอก หมูป่าจะมา...” (หน้า 5) ภาพชีวิตของชาวนาชนบทและครอบครัวที่ต้องเผชิญชีวิตตามโชคชะตาที่แร้นแค้น และปลิดปลิวร่วงหล่นไปเช่นเดียวกับดอกไผ่ชาวนาใช้ชีวิตไม่ต่างอะไรจากหมาไล่เนื้อ ซึ่งบางครั้งจากผู้ล่าก็ต้องตกเป็นเหยื่อเสียเอง
เรื่องดอกไผ่พูดถึงเหตุการณ์ที่ชายชราผู้เป็นพราน หมาไล่เนื้อของเขาพบดอกไผ่บาน ซึ่งดอกไผ่บานนั้นตามธรรมชาติแล้วเป็นเรื่องยากที่จะพบเห็นได้ จึงมีความเชื่อว่าหากพบดอกไผ่บานจะมีเหตุการณ์ผิดปกติเกิดขึ้น ถือเป็นความเชื่อเรื่องเค้าลางต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ทั้งเรื่องเองยังเล่าเหตุการณ์ของลูกชาย เป็นเส้นคู่ขนานกันไปในบริบทที่ เขาพยายามติดสินบนเพื่อสอบเป็นภารโรงแต่ไม่ประสบความสำเร็จจนต้องจบชีวิตลง ในตอนท้ายเรื่องชะตากรรมของชายชราเองก็ไม่ต่างกันต้องจบลงอย่างอนาถ แต่ลักษณะสำคัญที่ผู้เขียนสุดแทรกไว้ตลอดทั้งเรื่อง คือความสัมพันธ์ของชายชราและหมาล่าเนื้อซึ่ง ปรากฎทั้งตอนเปิดเรื่องและตอนปิดเรื่อง
ประเด็นสำคัญที่ผู้อ่านอาจถูกมองข้ามของเรื่อง คือ ความเป็นเพื่อนแท้และความซื่อสัตย์ระหว่างคนกับสัตว์ที่อาจมีมากกว่าระหว่างคนกับคน
ตัวละครหมา เปรียบเสมือน ความซื่อสัตย์และความเป็นมิตรแท้ระหว่างคนกับสัตว์ จากเรื่องสั้นดอกไผ่ เสกสรรค์ ได้วางตัวละครหมาให้มีนิสัยรักนายตัวเอง จะเห็นได้จากการติดตามชายชราไปในป่าเพื่อออกล่าสิ่งสัตว์เป็นการหาอาหารของคนชนบท “ไหน กูไม่เห็นมีอะไรสักนิดชายชราพูดกับหมาขณะเดินตัดทิวหญ้ากอไผ่…..แกตบสีข้างมันเบา ๆ อย่างให้กำลังใจ ขืนเห่าลมๆ แล้งๆ อย่างนี้มีหวังกลับบ้านมือเปล่านะโว้ย – นกกาที่ไหนจะโผล่มายิงให้” (น.1)
การตบสีข้างหมาเบา ๆ เป็นการแสดงความรักและความผูกพันธ์อย่างใกล้ชิดเปรียบเสมือนเพื่อนสนิทที่คอยร่วมทุกข์ร่วมสุข ของชายชราซึ้งสอดคล้องกับบทสนทาข้างต้น
เสกสรรค์ เปิดเรื่องด้วยหมา เป็นการทำให้ผู้อ่านเกิดความคิดในใจว่าชายชราผู้นี้มีครอบครัวหรือไม่ หรือเป็นแค่ชายแก่ตัวคนเดียวที่มีหมาคอยเป็นเพื่อนร่วมออกหาอาหาร ในยามเช้าและยามค่ำ จึงเป็นการนำมาสู่เหตุการณ์ถัดไป เสกสรรค์ ได้เล่าต่อด้วยภูมิลำเนาของชายชราเป็นคนชนบทออกหาอาหารตามป่าตามทุ่งนาเพื่อประทังชีวิตและครอบครัว
ในขณะที่พ่อออกหาอาหารในป่ากับหมาที่เป็นเพื่อนคู่คิด ลูกชายกลับทำเรื่องทุจริตการสอบเข้าภารโรง แม้ตัวเองจะสอบไม่ติดแต่ก็ยังติดสินบนเพื่อแลกกับอาชีพการงาน ที่สังคมได้ตั้งกรอบเอาไว้แล้ว ดังบทสนนา “ฉันก็เจ็บใจเหมือนกันพ่อ”..... “สอบเข้าภารโรงไม่ได้ฉันไม่ว่า แต่มันน่าจะคืนสามพัน”(น.2) ซึ้งสามารถโยงไปถึงสังคมในปัจจุบัน การทุจริตไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับคนที่มีฐานะทางสังคมที่ดีหรือคนที่รวย แต่มันสามารถเกิดได้กับทุกคนไม่ว่าผู้นั้นจะยากดีมีจนก็ตาม
การกระทำของลูกชายทำให้มองเห็นความน่าสงสารของชายชรา แม้แต่ลูกตัวเองก็ยังไม่เคยคิดที่จะสนใจ อยากที่จะมีสังคมเหมือนกับคนอื่น ๆ เขาหลงลืมพ่อตัวเองที่อยู่ตรงหน้า เอาแต่โทษผู้อื่น มองว่าตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำ สนใจแต่ชีวิตของตัวเอง แต่ไม่เคยย้อนมองตัวเองว่าเคยทำหน้าที่ลูกได้ดีหรือปล่าว จึงเกิดการเปรียบเทียบระหว่างคนกับหมา หมายังมีประโยชน์คอยติดตามชายชราไปทุกที่เพราะเห็นเป็นนายของมัน แต่คนที่เป็นลูกกลับทำแต่สิ่งไม่ดี ทำสิ่งที่ไร้ประโยชน์และยังเป็นการกระทำที่สิ้นคิด แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
เราไม่จำเป็นต้องทำเหมือนคนอื่น เส้นทางชีวิตของคนไม่สามารถเหมือนกันได้ตลอด การเลือกใช้ชีวิตสามารถเลือกเอง และไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามความต้องการของสังคม เปรียบเสมือนหมา แม้จะเป็นแค่สัตว์แต่ยังเลือกทางเดินที่ดีได้ แตกต่างจากคน แต่ชายชราเองยังคงเลือกเส้นทางที่สุจริต แม้จะยอมแลกกับความลำบาก
ความน่าสงสารของชายชราผู้นี้ยังคงดำเนินมาจนถึงจุดจบของเรื่อง ในคืนที่ลูกสาวทักท้วง ไม่ให้คนเป็นพ่อออกไปยามค่ำ แสดงถึงความเป็นห่วงเพราะกลัวเกิดอันตราย จากบทสนทนา “พ่อไปทำไมทุกเย็น ฉันไม่เข้าใจเลย ....ออกไปสามคืนติด ๆ กันแล้วไม่เห็นได้อะไรกลับมา....อย่าไปเลย เดี๋ยวนี้เราเหลือกันแค่สองคน ” (น.4)
ด้วยความคิดของคนชราย่อมมีนิสัยหัวรั้น ยืนยันที่จะออกไปหาหมูป่ากับหมาพรานสีน้ำตาลคอยเป็นเพื่อนร่วมทางไม่เคยห่าง ทั้งยังคอยสำรวจตรวจตราพื้นที่ไปพร้อมกับเจ้าของ เรื่องไม่คาดคิดได้เกิดขึ้นเมื่อชายชราถูกหนูกัดที่ข้อเท้า จากหนึ่งตัว ก็กลายเป็นสองตัว จากสองตัวก็กลายเป็นร้อยตัว “ตรงนั้นหมาพรานกำลังกัดทึ้งเจ้าสิ่งเล็ก ๆ เอาเป็นเอาตาย.....คนเฒ่ากราดแสงไปรอบ ๆ....แต่ทันทีที่ก้าวออกจากคันนา คนเฒ่าก็ต้องครวญ ครางออกมาด้วยความเจ็บปวด....หนูตัวหนึ่งกำลังงับข้อตีนของแกไว้แน่นด้วยอารมณ์ตกใจ” (น.4)
หมาพรานวิ่งโซซัดโซเซมา เมื่อเห็นนายของมันล้มลง ขาเหยียดกับคันนา นอนแน่นิ่งสนิท มันทำได้แค่เห่า และยืนนิ่ง ๆ และหอนออกมาอย่างอ้างว่าง เคียงข้างนายของมันโดยมันเองก็รู้ว่านายของมันตาย พบได้จากบทบรรยาย “บนนั้น – แผ่นสีดำ แผ่นสีดำมหึมากำลังเคลื่อนตัวลงมาช้า.......หมาไล่เนื้อหอนออกมาอย่างอ้างว้าง”
เสกสรรค์ ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า หมาแม้จะเป็นเพียงแค่สัตว์ตัวเล็ก ๆ แต่หัวใจของมันช่างยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์บางคน บางคนเกิดมาซึ้งไร้ประโยชน์กว่าสัตว์ตัวเล็ก ๆ แม้ในวันที่ชายชราตาย ลูกสักคนยังไม่มีใครอยู่เคียงข้าง และยังแทรกมุมมองผ่านตัวละคร ชายชรา ให้เห็นถึงด้านสังคมการฉ้อโกง สังคมทางการเมือง เรื่องราวในครอบครัวชนชั้นของความเป็นจริงที่ตัวละครต้องเผชิญ และยังแสดงให้เห็นมุมมองความรักของคนกับสัตว์ไว้อีกด้วย
"ดอกไผ่" เค้าลางแห่งโชคชะตา ของชายชรากับหมาไล่เนื้อ
บทวิจารณ์โดย เบญจพร สนสี
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 9