ข้าพเจ้าค้นพบอะไรบางอย่างใน “เหมืองชีวิต” : บทวิจารณ์โดย นายเจษฎากร อัครทรัพย์สกุล โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 9

ข้าพเจ้าค้นพบอะไรบางอย่างใน “เหมืองชีวิต”

ข้าพเจ้าค้นพบอะไรบางอย่างใน เหมืองชีวิต

          มนุษย์มีโอกาสค้นพบสิ่งต่าง ๆ เสมอ บ้างค้นพบสิ่งที่ยิ่งใหญ่ควรค่าแก่การรักษาไว้ บ้างค้นพบสิ่งธรรมดา บ้างค้นพบสิ่งที่ไร้ค่าโดยไม่ต้องชั่งใจว่าจะรักษาไว้หรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่มนุษย์น้อยคนจะมีโอกาสได้พบ (มนุษย์ในที่นี้รวมถึงข้าพเจ้าด้วย) คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ชีวิต’ มนุษย์สามารถค้นพบอะไรได้บ้าง ‘ชีวิต’ นั่นคือสิ่งที่ข้าพเจ้าใคร่ครวญและพยายามหาคำตอบอยู่เสมอ แต่วันที่ 7,611 ของชีวิตข้าพเจ้า ข้าพเจ้ามีโอกาสค้นพบสิ่งที่เรียกว่า ‘ชีวิต’ ผ่านบทกวีนิพนธ์ของกวีสตรีผู้มากความสามารถ ซึ่งเธอคล้ายอาจารย์สอนมาน ข้าพเจ้าในเรื่องนี้ นั่นคือ จินตนา ปิ่นเฉลียว ผู้เขียนบทกวีนิพนธ์ เรื่อง เหมืองชีวิต

          บทกวีนิพนธ์ เรื่อง เหมืองชีวิต ผู้เขียนกล่าวถึงเหมือง 2 ประเภท คือ ‘เหมืองแร่’ และ ‘เหมืองชีวิต’ ซึ่งกวีใช้เหมืองทั้งสองประเภทนี้สำหรับเปรียบเทียบว่าเมื่อขุดแร่จะค้นพบสิ่งใดและขุดชีวิตจะค้นพบสิ่งใด ถ้อยคำที่ใช้ในบทกวีมีความเรียบง่าย ผู้อ่านสามารถทำความเข้าใจได้ตรงกับสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อสาร หากพิจารณาอย่างละเอียด ผู้อ่านย่อมจะได้รับแง่งามบางประการของชีวิตมนุษย์หลังจากการขุดเหมืองแล้วค้นพบบางสิ่งในชีวิต

 

การขุดแร่แท้นั้นมันเสี่ยงนัก

          แร่ เป็นสสารมีค่าอย่างหนึ่งที่ผู้ทำเหมืองแร่ต้องการพบเพื่อสร้างมูลค่าให้แก่ตนเองในภายหลัง การมีวิชา เหมืองแร่จำเป็นต้องมีผู้ “สอนแก่ผู้- หวังต่อสู้ขุดหินดินทั้งหลาย” แต่ใช่ว่ามีความรู้แล้ว จะถือตนว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญแล้วจะทำสิ่งใดตามอำเภอใจได้ ดังที่จินตนา ปิ่นเฉลียว เขียนไว้ในตอนหนึ่งของกวีนิพนธ์เรื่องนี้ ความว่า

                                      “การขุดแร่แท้นั้นมันเสี่ยงนัก

                                      ขุดทะลักลึกทะลวงล้วงดินผอง

                                      เป็นอุโมงค์ตรงใต้หินทรายรอง

                                      กว่าจะกรองแร่ได้ดังใจจินต์

          อาชีพที่ต้องใช้แรงและเครื่องมืออุปกรณ์ในการสำรวจและขุดค้นสิ่งที่อยู่ตามธรรมชาติต้องคำนึงความปลอดภัยเป็นที่ตั้งเพราะทุกการกระทำล้วนมีความเสี่ยง สาเหตุที่คนยอมตกอยู่ในสภาวะอันตรายคงหนีไม่พ้น “ความหวังว่าจะชนะภัย เพื่อจะได้แร่บ้างเป็นรางวัล” หากพูดถึงทฤษฎีทางจิตวิทยา การได้รับรางวัลคือเหมืองแร่ ย่อมเป็นการเสริมแรงทางบวกอย่างหนึ่งที่ทุกคนล้วนปรารถนาจะได้รับ นอกจากนี้กวียังย้ำความอันตรายของเหมืองแร่ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ความว่า

                                     “อันตรายหลายอย่างล้วนขวางกั้น

                                      ความกดดัน อุโมงค์ล่ม จมใต้หิน

                                      ไม่มีอากาศผ่านผลาญชีวิน

                                      บางคนสิ้นชีวังเพราะพลั้งไป

        จินตนา ปิ่นเฉลียว พยายามสร้างภาพของการขุดเหมืองแร่ให้เกิดความไม่น่าชื่นชม ด้วยการกล่าวถึงอันตรายที่เกิดจากการขุดเหมืองแร่ ด้วยการใช้คำว่า กดดัน, ล่ม, จม, ผลาญชีวิน, สิ้นชีวัง ซึ่งทำให้เกิดอาการปริวิตกจากการใช้คำเชิงลบในการกล่าวถึงการขุดเหมืองแร่เนื่องจากคำเหล่านี้มิใช่สิ่งที่มนุษย์ปรารถนาที่จะให้เกิดขึ้นในชีวิต ทั้งนี้ หากผู้ขุดเหมืองแร่มีโอกาสได้อ่านบทกวีนิพนธ์ช่วงดังกล่าวที่ได้ยกมาแสดง คนกลุ่มนั้นคงรู้สึกต่อต้านความคิดที่สร้างภาพลบให้แก่วงการเหมืองแร่ แต่เมื่อพิจารณาบทกวีนิพนธ์ตั้งแต่ต้นจนจบอย่างถี่ถ้วนจะทราบว่าสาระสำคัญมิได้อยู่ที่เรื่องภาพลบของเหมืองแร่

 

เหมือนเราขุดของดี เหมืองชีวิตหวังพิชิตภัยผองครองสุขสันต์

          สาระสำคัญอยู่ในเนื้อหาที่กล่าวถึง เหมืองชีวิต ตามชื่อกวีนิพนธ์ซึ่งเป็นสิ่งที่กวีต้องการให้ผู้อ่านได้รับทราบจุดมุ่งหมายที่แท้จริงในการเขียนบทกวีเรื่องนี้

        ภาพของเหมืองชีวิตที่กล่าวถึงในตอนท้ายของบทกวีเป็นภาพเชิงบวกซึ่งเกิดจากการใช้คำที่มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาพบและกวีเองต้องการให้มนุษย์ทุกคนขุดพบสิ่งเหล่านี้ในเหมืองชีวิตตามความตั้งใจของกวีในความตอนหนึ่งที่กล่าวว่า

                                      “เหมือนเราขุดของดี เหมืองชีวิต

                                      หวังพิชิตภัยผองครองสุขสันต์

                                      ขุดความสุข สมหวัง รักทั้งนั้น

                                      บ้างก็บรรลุบ้างก็ปางตาย

             คุณค่าที่ปรากฏในชีวิตของเรามีมากมายและเป็นนิรันดร์ยิ่งกว่าแร่ที่ขุดขึ้นมาซึ่งอยู่กับเราได้ไม่นานบางทีเราอาจจะมิได้เป็นเจ้าของสิ่งของนั้นด้วย แต่ ความสุข ความสมหวัง ความรัก เป็นของของเราเป็นสิ่งที่เราได้รับมาตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต แม้ว่าจะได้รับมากหรือน้อยก็ตาม แต่เหล่านี้ล้วนเป็นของของเรา... นี่คือเรื่องที่ดูจะเหนือจริงแต่เป็นความจริง

               สิ่งที่เรียกว่า ความสุข ความสมหวัง ความรัก มิได้ขุดพบขึ้นได้จากการเรียนรู้ซึ่งมีผู้คอยสอนเหมือนการขุดเหมืองแร่ที่ต้องรู้ว่าอย่างไรจึงจะมีคุณค่า แต่การขุดพบคุณค่าแห่งชีวิตที่กวีได้กล่าวไว้เรามิต้องอาศัยการรับฟังคำสอนหรือเรียนรู้ทฤษฎีจากอาจารย์หรือนักปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญท่านใด ตัวเราเองย่อมแสวงหา ความสุข ความสมหวัง ความรัก ได้ ผ่านการเรียนรู้ตัวตนและมุมมองของผู้คนบนโลกรวมถึงตนเองซึ่งเปรียบเสมือนครู-อาจารย์ผู้สอนการใช้ชีวิต ดังบทกวีนิพนธ์ความว่า

                                      “แต่เหมืองชีพนี้ไร้ใครบรรยาย

                                      ทุกคนคล้ายอาจารย์สอนมานตน”

 

          บทสุดท้ายของกวีนิพนธ์ เรื่อง เหมืองชีวิต จินตนา ปิ่นเฉลียว ได้กล่าวปิดท้ายเรื่องไว้ว่า

                                      “เหมืองชีวีมีทั่วหัวระแหง

                                      แร่ก็แพง มีซุกทั่วทุกหน

                                      แร่ความสุข สมหวัง รัก ฝังชนม์

                                      จะขุดค้นพบมันด้วยปัญญา

               เนื้อความนี้กวีต้องการสรุปความเนื้อหาทั้งหมดที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้น เน้นจุดสำคัญเรื่อง เหมืองชีวิต ตามเนื้อความวรรคสุดท้ายว่า การค้นพบชีวิตที่มี ความสุข ความสมหวัง ความรัก ได้ ด้วยความรอบรู้ที่เกิดจากการเรียนและการคิด หรือที่เรียกว่า ปัญญา หากเรารู้จักใช้ปัญญาในทางที่ควร สิ่งที่เราขุดได้จากเหมืองชีวิตนั้นก็จะมีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อตนเองเป็นอย่างยิ่ง

          เหมืองชีวิต สร้างความประทับใจให้แก่ข้าพเจ้าในฐานะผู้อ่าน ในฐานะวัยรุ่นที่กำลังต้องการทำความเข้าใจชีวิต และในฐานะมนุษย์ที่ต้องการขุดค้นสิ่งที่อยู่ในเหมืองชีวิตของข้าพเจ้า หลังจากอ่านบทกวีนิพนธ์เรื่องนี้จบ ข้าพเจ้าอดมิได้ที่จะชื่นชมความสามารถของจินตนา ปิ่นเฉลียว ในเรื่องของการถ่ายทอดเรื่อง ‘ชีวิต’ ที่ใครหลาย ๆ คน รวมถึงข้าพเจ้า ต้องการขุดค้นชีวิต และหาความหมายหรือความปรารถนาอันสูงสุดของชีวิตในวัยที่ขึ้นเลขสอง

                ข้าพเจ้าได้ทราบแล้วว่าสิ่งใดที่ข้าพเจ้าปรารถนามากที่สุดในชีวิตนี้...

 

 

Writer

The Reader by Praphansarn