ท่องทวิภพ : ท่องทวิภพบนพื้นฐานของทางโลกและทางธรรม

ท่องทวิภพ

“ตายแล้วไปไหน” เชื่อว่าหลายๆ คนที่เกิดมาเป็นมนุษย์คงเกิดความสงสัยในเมื่อคนเราเกิดมามีชีวิตล้วนต้องตาย คำตอบของคำถามนี้พบในคัมภีร์ของหลายๆ ศาสนา อย่างศาสนาพุทธ ผู้ที่ศึกษาพระไตรปิฎกจะพบว่าการแบ่งภพในพระพุทธศาสนามี 3 ภพ หรือที่เรียกว่าไตรภูมิ อันประกอบด้วยกามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ ซึ่งเป็นการแบ่งตามผลบุญ-บาป และจิต โดยในปัจจุบันคนที่เข้าถึงเรื่องดังกล่าวมีอยู่น้อยนิด

“ท่องทวิภพ” ชื่อนี้ผู้อ่านหลายท่านคงนึกถึงนวนิยายอมตะชื่อดังอย่างทวิภพของทมยันตีแต่ทว่าท่องทวิภพกลับมีเนื้อหาที่แตกต่างจากอารมณ์รักโรแมนติกอย่างสิ้นเชิง คุณสุกัญญา ปัญญาวิศิษฎ์กุล ผู้เขียนเรื่องนี้แต่งเรื่องราวและโครงเรื่องคล้ายการตอบปัญหาที่หลายๆ คนสงสัยว่าตายแล้วไปไหน การผูกเรื่องราวด้วยตัวเอกที่ชื่ออมร และการผจญภัยของเขาทำให้เรื่องราวชีวิตหลังความตายเข้าใจได้ง่ายขึ้น

จุดเด่นของนวนิยาย “ท่องทวิภพ” คือการดำเนินเรื่องที่เป็นเสน่ห์ทำให้ผู้อ่านเชื่อในเรื่องผลบุญและผลบาปซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเรื่องราวหลังความตาย อย่างการที่ผู้เขียนได้แบ่งระดับวิญญาณเป็น9 ชั้น ตามระดับสติและความดีของวิญญาณที่ได้กระทำมา ซึ่งในทางโลกธรรมได้กล่าวถึงการทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วอย่างชัดเจน นอกจากนั้นผู้เขียนได้เพิ่มความหลากหลายในตัวละครแต่ละตัวให้มีจุดกำเนิดและอุปนิสัยที่แตกต่างกัน แน่นอนระดับวิญญาณของตัวละครต่างๆจึงแตกต่างกัน

ผู้อ่านต้องยอมรับว่านวนิยายเรื่องท่องทวิภพเป็นนวนิยายที่อยู่ในโลกของจินตนาการ ในบางครั้งผู้เขียนจะแฝงลักษณะวิญญาณไว้เหมือนเป็นสสารชนิดหนึ่ง เป็นต้นว่าดวงวิญญาณทุกดวงจะมีสีแสดงความรู้สึก หรือในบางครั้งวิญญาณถูกลมพัดก็จะปลิวไปตามลมหรือในกรณีโดนน้ำฝนก็จะทำให้วิญญาณเกิดความผิดปกติไป

แต่การที่อยู่ในโลกจินตนาการผู้เขียนกลับแฝงเรื่องราวชื่อบุคคลที่อยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ เพื่อให้เกิดความเสมือนจริงอีกด้วย เช่น

“ข้าก็อุตส่าห์ให้พวกเจ้ายืมพลังแล้วแท้ๆ พวกเจ้ากลับเลือกไปควบคุมความคิดเจ้า ‘อดอล์ฟ’ แทนที่จะเป็น ‘แฟรงคลิน’ นี่ขนาดฆ่าพวกเดวิดดารกะไปเป็นแสนเป็นล้าน แต่พวกเจ้าก็ยังจำกัด ‘อัลเบิร์ต’ ไม่สำเร็จ”

จะเห็นว่าชื่อของบุคคลในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างอดอร์ฟ ฮิตเลอร์, แฟรงคลิน ดี รูสเวลต์หรืออัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ถูกกล่าวถึงว่าเป็นความผิดพลาดของตัวร้ายที่กำจัดอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงครามไม่สำเร็จ ซึ่งจะดูเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ของผู้เขียนที่แต่งนวนิยายแนวโลกเสมือนแต่เอาเหตุการณ์หรือตัวบุคคลที่มีอยู่จริงมาไว้ด้วยกัน

นอกจากนั้นการสะท้อนสังคมก็ปรากฏให้เห็นในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เป็นต้นว่าในเรื่องค่านิยมของวัยรุ่นในปัจจุบันถูกปรากฏอยู่ในต้นเรื่องและปลายเรื่อง เช่น อมรมีความต้องการจะมีรถจักรยานยนต์ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็น หรือค่านิยมการไปฉลองงานวันเกิดที่บ้านเพื่อนที่เป็นต้นเหตุให้อมรเสียชีวิต หรือการอยากรู้อยากลองของวัยรุ่นและการเข้าถึงสารเสพติดได้ง่าย ประการต่อไปปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าก็ปรากฏอยู่ในเรื่องนี้ ในตอนที่อมรไปเจอกับวิญญาณที่พบแต่ความทุกข์และไม่มีสติ มีสาเหตุจากการตัดไม้ทำลายป่า นับว่าเป็นการแฝงข้อคิดอย่างแนบเนียน

ในตอนท้ายของเรื่องจะพบว่า อมรส่งจิตไปถึงนนว่า “…ขอให้นนได้เกิดในสภาพที่สังคมที่เอื้ออำนวยต่อความตั้งใจของเขาด้วยเถอะ ขอให้ได้เป็นคนดีดังที่หวังแม้มันจะยากเหลือเกินในสังคมปัจจุบัน...” คาดว่าเป็นความตั้งใจของผู้เขียนซึ่งจะตัดจบด้วยการสะท้อนสังคมว่ามีคนดีเหลือน้อยเหลือเกิน

แม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นนวนิยายที่แฝงไปด้วยข้อคิดและคุณธรรม แต่ทว่าการผูกปมเรื่องอย่างตอนที่ตัวร้ายโผล่ขึ้นมากลับสร้างความสับสนแก่ผู้อ่าน ซึ่งในเรื่องนี้ตัวร้ายโผล่ขึ้นมา 3 ครั้งด้วยกัน เช่น ในตอนโดนฟ้าผ่า อมรก็ถูกจับตัวไป ดวงไฟกลับช่วยแต่อธิบายได้ไม่ชัดเจนนักว่าเกิดอะไรขึ้น เป็นที่น่าสังเกตที่ในแต่ละครั้งที่อมรพบตัวร้าย กลับมีแต่คำพูดที่สื่อความยาก และเข้าใจได้ยาก ถ้าผู้อ่านไม่ได้ศึกษาด้านประวัติศาสตร์และเผ่าพันธุ์มนุษย์

ในตอนจบผู้เขียนทิ้งท้ายด้วยปริศนาว่าจะเกิดอะไรต่อไป ซึ่งการทิ้งท้ายลักษณะนี้เหมือนดาบสองคม ในแง่หนึ่งมันทำให้ผู้อ่านสามารถสรุปความด้วยตัวเองได้ แต่อีกแง่จะเป็นการทำให้ผู้อ่านเกิดความงงและสับสน การเขียนเรื่องนี้จะเป็นแง่ที่ทำให้คนสับสนเสียมากกว่า ผู้อ่านกลับตัดสินใจหรือไม่สามารถรู้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับนน ทำให้อรรถรสที่อ่านมาสูญเสียไปไม่มากก็น้อย

ถ้าผู้อ่านหลายๆ คนเข้าใจเรื่องนี้ง่าย ก็คงจะเป็นเพราะการใช้สำนวนทางภาษาที่ง่ายและเข้าถึงคนทั่วไป ผู้เขียนได้ใช้คำบรรยายที่ทำให้เกิดภาพชัดเจน เช่น

“ที่ผมคิดอย่างนี้เพราะว่าถนนสานนี้เป็นถนนเล็กๆ มีรถสัญจรตลอดเวลา มีแยกเล็กๆ ข้างทางที่รถมอเตอร์ไซค์คันนี้ขี่ออกมาเพื่อจะเลี้ยวซ้ายตรงมุมถนน เข้าสู่เส้นทางที่เกิดเหตุ ซึ่งมีรถสิบล้อจอดอยู่ห่างมุมถนนเพียงเมตรกว่า จึงทำให้ต้องเลี้ยววงกว้างขึ้น จนออกไปเกือบกลางถนน ระหว่างนั้นเอง มีรถเก๋งคันที่เกิดเหตุขับตรงมาอย่างรวดเร็ว เพื่อแซงรถจักรยานยนต์อีกคันทำให้กินเลนขวานิดหน่อยโดยไม่คิดว่าจะมีรถที่ไหนโผล่มาในที่สุดก็ชนกัน” จะเห็นว่าการบรรยายภาพของอุบัติเหตุที่ผู้เขียนบรรยายเป็นไปอย่างเห็นได้ชัด และผู้อ่านจะจินตนาการได้ชัดเจน

สำนวนอีกสำนวนที่ผู้เขียนทำออกมาได้น่ารักน่าเอ็นดูของตัวละครที่เชื่อว่ากีกี้ซึ่งเป็นสุนัขแต่สามารถพูดคุยกับวิญญาณที่เป็นมนุษย์ได้ การใช้คำพูดของกีกี้ เช่นในตอนที่กีกี้ถูกผลักออกมาจากรถแล้วจึงให้เหตุผลกับเหล่าวิญญาณ

“พอดีกีกี้เห็นผู้หญิงคนที่นั่งใกล้ๆ เขาลุกขึ้นเดินไปข้างหลังรถคันนั้น” “กีกี้ก็แค่อยากรู้ว่าเขาเข้าไปทำอะไรก็เลยเดินไปดู”

สำนวนภาษาทำให้ผู้อ่านจินตนาการถึงเด็กชายวัย 3-4 ปี ที่ใช้ประโยคแก้ตัวง่ายๆ และดูซี่อๆ เหตุผลดังกล่าวยังทำให้ผู้อ่านเห็นใจและเห็นความน่ารักของตัวละครตัวนี้

คำพูดที่ดูเหมือนจะให้แง่คิด และบทสรุปบางส่วนของเรื่อง ที่พบส่วนใหญ่จะเกิดกับตัวละครที่เป็นดวงไฟ เช่น

“…สมบัติของมีค่าจะมีพลังชีวิตของมนุษย์ห่อหุ้มไว้ สำหรับบ้าน...ถ้าเป็นบ้านของตนเองจะมีพลังของทุกคนในครอบครัวอยู่ หากครอบครัวมีความสุขพลังที่ห่อหุ้มก็จะอบอุ่น ทำให้เมื่อผู้เข้าไปรู้สึกอบอุ่น รู้สึกดีและสบายใจ...”

แง่คิดที่ได้น่าจะเป็นการเปรียบเทียบของผู้เขียนที่โยงถึงเรื่องสถาบันครอบครัว ที่มีผลต่อความเป็นอยู่ บ้านที่อยู่ด้วยกันด้วยความสุขด้วยความอบอุ่น คนที่เข้าไปเยือนก็รู้สึกดี แต่ถ้าบ้านมีแต่ความแตกแยก ผู้ไปอยู่อาศัยก็เกิดความอึดอัดฉันใดก็ฉันนั้น

การใช้ภาษาที่ดูจะมีความผิดพลาด ในบางครั้งคำพูดหรือความคิดของอมรจะเป็นสิ่งที่ดูเป็นผู้ใหญ่เกินไป ทั้งๆ ที่อมรเป็นเพียงแค่เด็ก ม.ปลาย เท่านั้น การให้เหตุผลของผู้เขียนอาจจะให้ไว้ในช่วงท้ายว่าอมรเป็นเด็กที่เกิดมาในเผ่าพันธุ์ที่ฉลาด แต่ก็จะดูน้อยเกินไป แล้วซ่อนไว้ในจุดที่ตัวร้ายพูดซึ่งเข้าถึงยากดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

“ท่องทวิภพ” เป็นอีกหนึ่งนวนิยายที่ผู้วิจารณ์คิดว่าเยาวชนในวัยเรียนรู้ควรได้อ่านถึงแม้จะมีข้อผิดพลาดก็มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื้อหาและข้อคิดอันแฝงอยู่ในทุกๆ จุดของวรรณกรรมเล่มนี้ ทำให้เป็นเครื่องการันตีถึงผลงานวรรณกรรมทรงคุณค่าสมควรที่จะได้รับรางวัลชมนาดในที่สุด

 

นายฑิฆัมพร บุญมี รร. ฤทธิยะวรรณาลัย

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ