คำพิพากษา : “คำพิพากษา” คำสั่งประหารจากเพื่อนมนุษย์

คำพิพากษา

 

               ท่านเคยถูกศาลพิพากษาหรือไม่ ไม่เพียงการพิพากษาคดีความในชั้นศาลอันสูงส่งเท่านั้น แต่ข้าพเจ้าหมายรวมถึงศาลเตี้ยอีกด้วย ท่านเคยถูกคนรอบข้างตัดสินว่าท่านผิดหรือไม่ ผิดทั้ง ๆ ที่ท่านไม่ได้กระทำผิดเลยแม้แต่น้อย ผิดทั้ง ๆ ที่ท่านบริสุทธิ์ แล้วท่านเคยถูกคนรอบตัวรุมประณามด้วยสายตาและท่าทาง โดยไม่เคยไต่ถามความจริงจากท่านหรือไม่ หากท่านเคยสัมผัสสถานการณ์เหล่านี้ ท่านก็คงเข้าใจความรู้สึกของ “ฟัก” ได้ไม่ยากเย็น

 

                ฟัก เป็นลูกชายของ ตาฟู ที่ตายไปหลังมีเมียใหม่เป็นสาวไม่เต็มเต็งอย่าง สมทรง ฟักต้องการจะบวชตลอดชีวิต แต่ติดที่ไม่มีใครเลี้ยงดูสมทรง ฟักจึงต้องหันมาทำอาชีพภารโรงต่อจากพ่อแทน และเรื่องคงไม่วุ่นวาย ถ้าสมทรงไม่ไปต่อว่าแม่ค้าขายถั่ววัยสาวที่ชื่อ ละมัย ในคืนงานทำบุญแซยิดของหลวงพ่อ

 

                เพียงประโยคที่ว่า “อย่ามายั่วผัวฉันนะ” ที่สมทรงพูดไปตามประสาคนสติสตังไม่ดี ก็ทำให้ข่าวฉาวที่ว่า ฟักได้แม่เลี้ยงตัวเองเป็นเมีย แพร่ไปทั่วทั้งหมู่บ้านและถูกใส่สีตีไข่เพิ่มกันอย่างสนุกสนาน ฟักตกอยู่ในร่างแหของข่าวลือ ถูกตราหน้า และถูกพิพากษาให้เป็นคนชั่ว เณรฟักที่ใคร ๆ เคยรักเคยชื่นชม และไอ้ฟักผู้มีจิตใจดีก็หายไปจากใจของทุกคน ทุกคนพร้อมที่จะปักใจเชื่อข่าวลือโดยไม่มีใครคำนึงถึงคุณความดีที่ฟักเคยทำอีกเลย แต่กระนั้นชีวิตก็คงต้องดำเนินต่อไป ตอนเช้าฟักทำงานอย่างขยันขันแข็ง ทำงานเพื่อให้ลืมเรื่องราวร้าย ๆ  ตกเย็นก็กลับกระต๊อบไปกินข้าวกับสมทรงที่ขยันสร้างเรื่องเพิ่มไม่เว้นแต่ละวัน

 

                  ต่อมาฟักอยากจะจัดการเผาศพพ่อตามประเพณี ฟักจึงไปหา ลุงไข่ สัปเหร่อที่ใคร ๆ ต่างก็รังเกียจ เพื่อบอกให้ลุงไข่จัดเตรียมงานเผาศพพ่อ ทั้งยังมีโอกาสได้เล่าความจริงเรื่องตนกับสมทรงให้ลุงไข่ฟัง ลุงไข่ก็บอกว่าเชื่อ ฟักดีใจมากที่ในที่สุดก็มีคนเชื่อเขา แต่แล้วฟักก็เปลี่ยนใจ เพราะคิดว่า ลุงไข่มาพูดจาดีกับตนเพียงเพราะเงินค่าทำศพ

 

                วันเผาศพตาฟูไม่มีแขกคนใดมางานเลย มีเพียงแต่ฟัก สมทรง สัปเหร่อไข่ และพระสงฆ์เท่านั้น ฟักได้แต่โทษตัวเองว่า ที่ไม่มีใครมาเพราะชาวบ้านเกลียดตน ลุงไข่เห็นใจฟักจึงชวนฟักดื่มเหล้า ฟักที่รักษาศีล ถูกฤทธิ์ของสุราครอบงำ เมื่อน้ำเมาตกถึงท้อง ความเจ็บปวดของเขาก็พลันสลายไป ฟักจึงเริ่มติดเหล้า กินข้าวกินปลาไม่ลง ละทิ้งการงาน ไม่มีความรับผิดชอบเหมือนอย่างเคย ทำให้เขาถูกรังเกียจ ล้อเลียน และเอาเปรียบ จนในที่สุดเขาก็เสียชีวิตด้วยพิษของสุรา และเป็นอิสระจากความผิดที่เขาไม่ได้ก่อเสียที

 

                ทันทีที่ข้าพเจ้าอ่านเรื่องราวของฟักในเรื่อง “คำพิพากษา” จบ ข้าพเจ้ารู้สึกสงสารและสังเวชในชะตากรรมของฟักเสียเหลือเกิน เพราะเพียงแค่คำว่า “ศีลธรรม” ก็ทำให้มนุษย์ผู้ยกย่องตนเองเป็นสัตว์ประเสริฐ สูงส่ง และมีคุณธรรม สามารถกระทำย่ำยีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้อย่างเลือดเย็น

 

ชาติ กอบจิตติ (พ.ศ. ๒๔๙๗–ปัจจุบัน) ซึ่งเป็นผู้เขียนวรรณกรรมเรื่อง “คำพิพากษา” ได้กล่าวว่า

 

“ข้าพเจ้าขอชี้ให้ท่านเห็นว่า ภัยจากธรรมชาติเป็นภัยที่น่ากลัว เป็นภัยที่นำความ

เดือดร้อนความทุกข์ยากมาให้มนุษย์ แต่ภัยจากธรรมชาตินั้นเกิดเพียงชั่วครั้งคราว

เกิดขึ้นเป็นบางท้องที่เท่านั้น ผิดกับภัยที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ด้วยกันเอง

ซึ่งมีอยู่สม่ำเสมอและเป็นภัยที่โหดร้ายอย่างเงียบเชียบ เป็นภัยที่เราชาชินกันจนกลายเป็นภัยปรกติ”

                                                                                                                (ชาติ กอบจิตติ, ๒๕๖๐: ๖-๗)

 

คำพูดข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ผู้เขียนเป็นผู้หนึ่งที่ได้ตระหนักถึงผลเสียของภัยที่เกิดจากมนุษย์ด้วยกันเอง ภัยนี้เป็นเรื่องใกล้ตัว และรุนแรงกว่าภัยธรรมชาติมากนัก แต่มนุษย์เรากลับเห็นเป็นเรื่องปกติ ไม่ทันสังเกตเลยแม้แต่น้อย ผู้เขียนจึงใช้พลังแห่งวรรณกรรมในการบันดาลภาพความโหดร้ายทารุณนี้ผ่านเรื่องราวของฟักและชาวบ้านที่ตั้งตนเป็นศาลเตี้ยตัดสินชะตาชีวิตฟัก เพื่อให้ผู้อ่านตระหนักถึงภัยดังกล่าวที่สามารถทำให้ชีวิตหนึ่งพังทลายและรู้สึกตายทั้งเป็นได้เลย

 

           ผู้เขียนได้เลือกการทำผิดศีลธรรมอย่างการมีสัมพันธ์กับแม่เลี้ยง มาเป็นประเด็นในการนำเสนอ เนื่องจากศีลธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สามารถส่งผลให้คนในสังคมรักหรือเกลียดผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย

 

“เขาลือกันว่าไอ้ฟักได้แม่เลี้ยงเป็นเมียเสียแล้ว หลังจากที่พ่อมันตายได้ไม่ถึงเดือน

บางเสียงยังเสริมเติมว่า ทั้งคู่ร่วมกันสวมเขาให้ตาฟูก่อนที่แกยังไม่ได้ลงนอนในโลงเสียอีก...

ดูอีสมทรงมันสิ บึ้บบั้บขึ้นเป็นกอง ไอ้ฟักน่ะผอมแห้งยังกะผีตายซาก ฯลฯ ”

                                                                                                                                                                                       (หน้า ๙)

 

ข้อความนี้แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงพื้นฐานที่มนุษย์กระทำต่อกัน นั่นก็คือการนินทาและวิพากษ์วิจารณ์ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใครสืบหาความจริง เพียงแค่มีเรื่องที่คาวฉาวโฉ่ ผิดศีลธรรม ก็พร้อมเชื่อและตราหน้าทันที ทั้งยังแต่งเสริมเติมเรื่องราวโดยไม่สนใจว่า ผู้ที่ถูกใส่ความจะเป็นอย่างไรต่อไป ฟักจึงถูกตัดสินว่าผิด โดยที่ไม่มีใครรับรู้ความจริง หรือแม้แต่รับฟังเขาเลย

 

                ขณะที่ความรุนแรงเรื่องแรกโหมกระหน่ำฟัก ความรุนแรงเรื่องที่สองก็เกิดขึ้นอีก นั่นก็คือ ฟักถูกชาวบ้านกีดกันออกจากสังคม ไม่มีใครอยากสนิทสนมกับฟัก แม้แต่งานเผาศพของพ่อฟักก็ไม่มีใครมา ช่างเป็นการทำร้ายจิตใจที่รุนแรงมากสำหรับมนุษย์ด้วยกัน ทำให้ฟักได้แต่โทษตัวเองว่า ชาวบ้านเกลียดตนจึงไม่มางานเผาศพพ่อ และส่งผลให้ฟักหันไปพึ่งน้ำเมาเพื่อให้ลืมความทุกข์

 

              เมื่อฟักก้าวเข้าสู่โลกแห่งสุราเมรัย ความรุนแรงเรื่องที่สามก็ตามมา ฟักถูกทำร้ายร่างกายตอนเมา ฟักโกรธแค้นและเจ็บปวด แต่ก็เอาผิดใครไม่ได้ เพราะแม้ฟักจะรู้ว่าใครทำ แต่สถานะของเขาในตอนนี้ ทำให้เขาไม่สามารถทำอะไรได้เลย ซ้ำชาวบ้านยังไม่เห็นใจฟัก คิดว่า คนบาปอย่างฟักสมควรจะถูกทำร้ายร่างกายแล้ว ฟักจึงบอบช้ำทั้งร่างกายและจิตใจ

 

                และความรุนแรงเรื่องสุดท้ายที่ฟักได้รับคือ การหักหลังจากคนที่ตนเคารพและไว้ใจ สมัยที่ฟักยังเป็นภารโรง ฟักฝากเงินเดือนทั้งหมดไว้กับ ครูใหญ่ ที่มีบุคลิกน่าเชื่อถือ มีความรู้ และใจดี เมื่อจะใช้เงินฟักจึงค่อยมาเบิก แต่ครูใหญ่กลับไล่ฟักออกจากงานเพราะไม่อยากให้คนขี้เมามาสร้างปัญหาในโรงเรียนให้ตนเสื่อมเสียชื่อเสียง ทั้งยังโกงเงินเดือนทั้งหมดของฟัก ทำให้ฟักไม่เหลืออะไรเลย ฟักจึงทั้งเจ็บแค้นและใจสลาย แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะชาวบ้านเคารพรักและเชื่อถือครูใหญ่มากกว่าตน

 

             ความรุนแรงทั้ง ๔ เรื่อง ที่ฟักได้รับจากคนในสังคม ส่งผลให้ฟักทุกขเวทนาเหมือนตายทั้งเป็น ผู้แต่งได้ใช้ประโยคที่ว่า “ฟักตายแล้ว...” เพื่อตอกย้ำว่า ภัยร้ายที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ สามารถทำให้ชีวิตหนึ่งจบลงได้อย่างง่ายดาย และบางทีการตายก็อาจมีความสุขมากกว่าการอยู่ต่อไปโดยไร้ซึ่งความสุข ตัวอย่างเช่น

 

                                                                             “ฟักตายแล้ว...

ฟักตายแล้ว...เขาจึงไม่รู้ว่างานศพเขานั้นได้มีผู้คนมามากมาย แม้จะไม่มากเท่างาน

                                                                 ศพพ่อของกำนันยอมก็ตาม แต่งานศพของเขาวันนี้ ก็ไม่น้อยหน้าใครในเรื่องแขกเหรื่อที่มาในงาน

และเขาควรจะภูมิใจด้วยซ้ำว่างานศพเขาเป็นงานแรกในตำบลแห่งนี้ที่ผู้คนมีสิทธิ์แต่งตัวตามสบายได้...”

                                                                                                                                 (หน้า ๓๓๑)

 

              ตัวบทตอนที่ข้าพเจ้ายกมาคือ ตอนที่ลุงไข่อยากให้ศพของฟักได้เผาตามประเพณีบ้าง จึงไปหาครูใหญ่เพื่อขอให้ครูใหญ่จัดการงานศพให้ และหวังว่า เงินดังกล่าวคงจะทำให้ฟักได้เงินที่ถูกโกงกลับคืนมาบ้าง ครูใหญ่ก็รับปากจะจัดงานเผาศพให้ แต่เมื่อถึงวันงาน ศพของฟักกลับกลายเป็นร่างลองเผาของเตาเผาศพใหม่ที่พึ่งสร้างเสร็จ แขกเหรื่อมากมายมาก็เพื่อดูเตาเผาใหม่ ไม่มีใครใส่ชุดขาวหรือดำมาไว้ทุกข์ ไม่มีใครเห็นใจ และไม่มีใครมาเพื่อฟัก ผู้เขียนจึงใช้ประโยค “ฟักตายแล้ว...” เพื่อเน้นย้ำว่า ฟักไม่ต้องเจ็บปวดกับสิ่งใดอีกแล้ว เหลือเพียงความสลดใจที่ผู้เขียนได้ฝากไว้กับผู้อ่านเท่านั้น

 

                ถึงแม้ผู้แต่งจะเล่าเรื่องราวอันน่าเศร้านี้ผ่านตัวละครฟักที่ตกเป็นเหยื่อจากภัยของเพื่อนมนุษย์ แต่ถึงกระนั้น มนุษย์ย่อมเป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ สมกับคำเปรยปกของเรื่อง “คำพิพากษา” ที่ว่า “โศกนาฏกรรมสามัญ ที่มนุษย์กระทำและถูกกระทำ อย่างเยือกเย็นในภาวะปรกติ” นั่นก็คือ การที่ฟักเองก็เคยตัดสินผู้อื่นเช่นกัน เช่น ตอนที่ลุงไข่ดื่มเหล้ากับฟัก และระบายความอัดอั้นตันใจของตนออกมา

 

“เขาพูดดีกับข้า ตอนที่เขาต้องการพึ่งข้าเท่านั้น พูดจากับข้าดีตอนครอบครัวเขามีงานศพ ลุงกินข้าวรึยัง ลุงเอาไอ้โน่นมั้ย ลุงเอาไอ้นี่มั้ย พอเสร็จงานแล้วเดินสวนกันหน้ายังแทบไม่อยากจะมองเลย เอ็งรู้มั้ยลูกข้ามันต้องไปทำงานที่กรุงเทพฯ กันหมดเพราะอะไร...ก็เพราะมันมีพ่อเป็นสัปเหร่อน่ะสิ สัปเหร่อที่ต้องหากินกับผีน่ะ มันต้อยต่ำขนาดไหน ลูกข้ามันบอกให้ข้าเลิกทำมันจะเลี้ยงข้าเอง แต่ที่ข้ายังไม่เลิก เพราะมันยังไม่มีคนอื่นทำ ข้ากลัวคนตายแล้วมันจะไม่ได้เผา มันจะไม่ได้ไปผุดไปเกิด ข้าถึงต้องทำให้มัน แล้วมีใครบ้างล่ะที่เห็นใจข้าบ้าง”

                                                                                                                                (หน้า ๑๕๓-๑๕๔)

 

“เอ็งก็เถอะ เอ็งเคยมองข้ายังไงเอ็งก็รู้อยู่กับใจเอ็งดี มีมั้ยที่เอ็งจะมาคุยกับข้า มาหาข้าแบบคนรู้จักกันน่ะ แบบเพื่อนบ้านน่ะมีมั้ย ถ้าเอ็งไม่เผาศพพ่อเอ็ง เอ็งก็คงไม่มาหาข้าหรอก”

                                                                                                                         (หน้า๑๕๔)

 

                   ข้อความที่ข้าพเจ้ายกมาข้างต้นแสดงถึงความอัดอั้นตันใจของลุงไข่ได้เป็นอย่างดี อาชีพสัปเหร่อเป็นอาชีพที่คนมองว่าไร้เกียรติ หากินกับคนตาย สกปรก น่ารังเกียจ ไม่น่าเข้าใกล้ ฟักก็เคยคิดแบบนี้เช่นกัน นี่เป็นตัวอย่างที่ว่า แม้แต่ฟักก็เคยตัดสินผู้อื่นโดยที่ยังไม่รู้ความจริง เป็นความผิดพลาดอย่างหนึ่งที่ฟักก็เสียใจอย่างมาก ฟักไม่คิดเลยว่า สัปเหร่อที่น่ารังเกียจคนนี้ ในท้ายที่สุดจะเป็นคนที่เชื่อเขา เข้าใจเขา ปลอบใจเขา และกลายเป็นเพื่อนที่คอยปรับทุกข์กันเสมอมา

 

                หากพิจารณาถึงเรื่องการถูกพิพากษาโดยที่ไม่ฟังความใด ๆ ท่านจะพบว่า ทั้งฟักและลุงไข่ ที่สังคมได้ตัดสินให้คนหนึ่งเป็นคนบาป และอีกคนเป็นคนที่น่ารังเกียจ อย่างน้อยทั้งคู่ยังได้ระบายความอัดอั้นและความลำบากใจให้กันฟัง แต่ยังมีตัวละครหนึ่งซึ่งถูกพิพากษาอย่างสมบูรณ์ นั่นก็คือตัวละครสมทรง

 

              สมทรงเป็นคนสติสตังไม่สมประกอบ ทำอะไรตามใจ ไม่มีกาลเทศะ สร้างแต่ปัญหา สมทรงจึงถูกสังคมพิพากษาให้เป็นตัวอันตราย เป็นตัวปัญหาของตำบล จนทุกคนไม่อยากอยู่ใกล้ ไม่มีใครสงสาร ไม่มีใครเห็นใจ และไม่มีใครเข้าใจ แม้แต่ฟักเองก็เคยคิดว่า สมทรงเป็นตัวปัญหา สาเหตุที่ฟักคอยอยู่ดูแลก็เพราะเป็นห่วงสมทรงเท่านั้น สมทรงจึงเป็นตัวละครที่ถูกพิพากษาอย่างสมบูรณ์ ไม่มีใครที่จะเข้าใจสมทรงจริง ๆ  และไม่สามารถแก้ตัวใด ๆ ได้เลย

 

            กล่าวโดยสรุปก็คือ วรรณกรรมเรื่อง “คำพิพากษา” ได้มุ่งเสนอผลของภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ผู้เขียนได้ใช้ความสามารถของตนในการถ่ายทอดภัยที่ทุกคนชาชิน เห็นเป็นปกติ และไม่ทันสังเกต ออกมาเป็นภาพได้อย่างสมจริงและแนบเนียน ทำให้ “คำพิพากษา” จากปลายปากกาของ ชาติ กอบจิตติ สามารถคว้ารางวัลนวนิยายดีเด่นแห่งชาติ ในปี ๒๕๒๔ และรางวัลซีไรต์ ในปี ๒๕๒๕ ได้อย่างง่ายดาย และยังถูกแปลเป็นภาษาต่างประเทศอีกด้วย ได้แก่ อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เยอรมัน และฝรั่งเศส นับได้ว่า “คำพิพากษา” เล่มนี้ เป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าและประสบผลสำเร็จเป็นอันมาก

 

            เรื่องราวของฟักได้สิ้นสุดลงแล้ว เขาเป็นอิสระจากสิ่งที่เขาไม่ได้ก่อแล้ว แล้วท่านล่ะ ท่านยังตัดสินคนรอบข้างว่าผิดโดยไม่ได้ค้นหาความจริงหรือไม่ ท่านได้พลั้งเผลอไปทำร้ายจิตใจใครหรือไม่ และท่านได้กีดกันใครออกจากสังคมของท่านหรือไม่ เพราะถ้าท่านได้ทำสิ่งเหล่านี้ ท่านก็อาจจะทำลายชีวิตผู้อื่นโดยที่ท่านไม่รู้ตัว และอาจจะมัดตราสังเพื่อนร่วมโลกของท่านไปแล้วก็เป็นได้...

 

บรรณานุกรม

ชาติ กอบจิตติ. (๒๕๖๐). คำพิพากษา. พิมพ์ครั้งที่ห้าสิบ. กรุงเทพฯ: หอน.

 

บทวิจารณ์โดย นายภูรีภัค จิโนเป็ง 

Writer

The Reader by Praphansarn