ท่านเคยได้ยินเสียงเพลงของธรรมชาติบ้างหรือไม่ ? เสียง... ที่เกิดจากความเคลื่อนไหวในธรรมชาติที่ต่างก็ล้วนผสมผสานกันจนเป็นหนึ่ง บางครั้งก็ชวนให้รู้สึกชุ่มชื่นหัวใจ บางครั้งก็ทำให้เราเหน็บหนาวเมื่อได้ยินเสียงของมัน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แม้ว่าเสียงเพลงนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรมันก็ไม่เคยหยุด ท่านเคยได้ยินอะไรแบบนี้หรือไม่ ? บางทีธรรมชาติอาจส่งเสียงนั้นขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับท่าน รวมทั้งปลุกปลอบ ประโลมใจท่านผู้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอยู่ก็เป็นได้
ท่วงทำนองอันน่าพิศวงของ “ขลุ่ยไม้ไผ่” จากปลายปากกาของ พจนา จันทรสันติ เป็นกวีนิพนธ์อันเปรียบเสมือนเสียงเพลงของธรรมชาติที่น่าค้นหา เป็นบทกวีที่สื่อตรงออกมาอย่างเรียบง่าย ไร้รูปแบบฉันทลักษณ์อย่างกวีนิพนธ์ทั่วๆ ไป โดยผู้เขียนเลือกที่จะใช้วิธีการนำเสนอในรูปแบบของ “ไฮกุ” ซึ่งเป็นบทกวีสามบรรทัดที่ไม่เน้นการสัมผัสสระหรือพยัญชนะ เพียงแต่เน้นให้สัมผัสใจผู้อ่านมากกว่า โดยมีความโดดเด่นในด้านเนื้อหา ภายใต้บทกวี ๕๐ บท พจนาได้สอดแทรกประเด็นสำคัญต่างๆ มากมายลงไปเพื่อสะท้อนแนวคิดในทางปรัชญาเต๋า และ เซน อันมีใจความสำคัญที่ต้องการจะนำเสนอว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่เป็นไปด้วยความเคลื่อนไหว มนุษย์ไม่ได้มีอภิสิทธิ์เหนือกว่าใคร ไม่ได้ยิ่งใหญ่กว่าสัตว์อื่น และเป็นเพื่อนกับทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติ โดยเนื้อหาของตัวบทได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ รวมทั้งการดำเนินไปของสรรพสิ่งต่างๆ ในโลกเอาไว้อย่างละเอียดอ่อน สวยงามและน่าสนใจ
สิ่งแรกที่จะสามารถมองเห็นได้จากหนังสือเรื่องนี้ก็คือการพูดถึงธรรมชาติในมุมมองที่สวยงาม ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ดอกไม้ ใบหญ้า หรือแม้กระทั่งก้อนหิน ทุกสิ่งทุกอย่างจะได้รับการกล่าวถึงอย่างอ่อนโยนเสมอ เช่นบทกวีในหน้าที่ ๓๙ ที่ได้มีการกล่าวถึง
“แม่หินที่แข็งกระด้าง
ให้กำเนิดแก่
ชีวิตใหม่”
การใช้คำว่า “แม่” แสดงถึงการยกย่องให้เกียรติธรรมชาติในฐานะของแม่ผู้ให้ชีวิต ซึ่งบทกวีดังกล่าวเป็นการบอกเล่าถึงเรื่องราวของต้นไม้ที่เกาะติดอยู่กับหินก้อนหนึ่ง นอกจากนี้ยังได้มีการกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติอย่างเป็นเรื่องธรรมดา และงดงามเช่นพูดถึงการร่วงโรยของดอกไม้ว่าเป็นความงามอย่างหนึ่งซึ่งดำเนินไปตามกฎของธรรมชาตินั่นเอง
นอกจากนี้ ในบทกวีดังกล่าวยังได้มีการพูดถึงสัตว์ในแง่มุมของเพื่อน และมีการมองโลกผ่านสายตาของสัตว์อื่นๆ อย่างพยายามที่จะเข้าอกเข้าใจ ส่วนนี้ถือเป็นส่วนที่ผู้แต่งได้จินตนาการขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าสัตว์ต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีความรู้สึกนึกคิดเฉกเช่นเดียวกันกับมนุษย์ เช่น บทกวีของปลาช่อน
“จากร่องกระดานเบื้องบน
ฉันแลเห็นคน
กำลังเล่นโยคะ”
บทกวีดังกล่าว เป็นบทกวีที่แต่งขึ้นโดยการที่ผู้เขียนได้ทดลองจินตนาการให้ปลาที่บังเอิญเห็นจากช่องโหว่ของไม้กระดานที่อยู่ใต้ถุนเรือนคิด และขับขานบทกวีเหมือนพฤติกรรมของมนุษย์ บทกวีดังกล่าวแสดงถึงความไม่แบ่งแยก และนอกเหนือจากนี้ก็ยังมีบทกวีอีกหนึ่งบทที่ได้พูดถึงการทำงานของมดที่ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ตามธรรมชาติโดยไม่สนใจว่าวันนั้นจะเป็นวันอะไร มีความหมายหรือไม่ ซึ่งต่างจากมนุษย์ มดไม่มีการสร้างปฏิทิน มันไม่รู้ว่าปีใหม่คืออะไร และยังคงใช้ชีวิตของมันไปอย่างเรียบเรื่อย
“ฉันสงสัยว่า
ฝูงมดมีปีกเหล่านี้จะรู้หรือไม่
ว่าปีใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว”
จากบทกวีบทนี้ทำให้เห็นว่ามนุษย์เป็นผู้ที่ทำทุกอย่างให้ซับซ้อนขึ้นมาเองทั้งๆ ที่บางอย่างก็อาจจะไม่ได้จำเป็นเลยสำหรับการมีชีวิตอยู่
อีกประการหนึ่งที่สำคัญสำหรับหนังสือกวีนิพนธ์เล่มนี้นั่นก็คือการพูดถึงมนุษย์ ว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มีความเชื่อมโยงกับธรรมชาติเพราะเกิดจากธรรมชาติ มนุษย์จึงมีเนื้อแท้ที่อ่อนโยน นอกเหนือจากนี้แล้วในตัวบทก็ยังได้มีการกล่าวถึงดวงใจที่ไร้เดียงสาของเด็ก ในบทกวีบางบทผู้เขียนได้เอ่ยถึงเด็กว่าเป็นผู้ที่มีดวงใจอันพร้อมสำหรับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และความคิดสร้างสรรค์ เด็กคือมนุษย์ที่เป็นธรรมชาติ ปราศจากการปรุงแต่งหรือการหล่อหลอมบุคลิกภาพบางอย่างที่ทำให้ความคิดที่จะสนใจใฝ่รู้ และแสวงหาลดลง
อีกหนึ่งข้อสำคัญนอกเหนือจากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดแล้วยังจะสามารถเห็นได้ว่าในตัวบทมีการกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นในเชิงเปรียบเทียบอยู่ตลอด เช่นในหน้า ๓๗
“ขึ้นปกคลุมรั้วลวดหนาม
ดอกผักบุ้งฝรั่ง
เบ่งบานเต็มรั้ว”
เป็นบทกวีที่พูดถึงต้นผักบุ้งฝรั่งที่เลื้อยขึ้นไปปกคลุมรั้วลวดหนาม โดยคำบรรยายท้ายบทกวีดังกล่าวได้ให้คำอธิบายเอาไว้ว่ารั้วลวดหนาวสื่อถึงอำนาจเผด็จการ และความไม่ชอบธรรม ในขณะที่ผู้เขียนเลือกที่จะให้ความหมายของต้นผักบุ้งฝรั่งเอาไว้ว่าหมายถึงความหวัง ซึ่งให้ภาพความแตกต่างกันอย่างชัดเจน และสุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นเองได้ตามธรรมชาติก็เป็นฝ่ายชนะ คือสามารถเลื้อยขึ้นไปปกคลุมรั้วลวดหนามได้ และในอีกตอนหนึ่งได้มีการกล่าวถึงภาพความวุ่นวายความเหน็ดเหนื่อยของผู้คนในสังคมเมือง ซึ่งเป็นภาพที่ขัดแย้งกับการดำเนินชีวิตไปตามธรรมชาติอีกด้วย
ในที่สุดแล้วจะเห็นได้ว่าความเรียบง่าย ธรรมดา และไหลเรื่อยไปตามธรรมชาติอันเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปร นั่นก็คือสัจธรรมของชีวิต ในขณะที่มนุษย์พยายามทำทุกวิถีทางที่จะต่อต้านและว่ายทวนกระแสแห่งธรรมชาติอันหมายถึงการสร้างเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวก สร้างวิทยาการทางการแพทย์ขึ้นมาเพื่อชะลอกับร่วงโรยของชีวิต ทำให้มนุษย์อาจหลงลืมไปว่ารากเหง้า หรือธรรมชาติที่แท้จริงของชีวิตมนุษย์คืออะไร ดังนั้นบทกวีบางบทใน “ขลุ่ยไม้ไผ่” จึงได้ทำหน้าที่ย้ำเตือนให้เราเห็นว่าสรรพสิ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่มีวิถีในการเคลื่อนไหวไปตามทิศทางของมัน และวิถีชีวิตของมนุษย์ก็เช่นกัน มันมีทางที่เหมาะที่ควรอยู่แล้วตามธรรมชาติซึ่งมิอาจฝืนได้เฉกเช่นเดียวกับใบไม้ที่ต้องหล่นลงจากต้น และดอกไม้ที่ต้องมีวันเหี่ยวเฉา การไม่พอใจในวิถีแห่งธรรมชาติก่อให้เกิดความทุกข์ การที่มนุษย์ถือดีว่าตนเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่เหนือสุดของห่วงโซ่อาหารก็ทำให้เกิดความทุกข์ มนุษย์คิดว่าตนเองมีอารยธรรมมากกว่าสัตว์อื่นจึงสร้างแนวความคิดที่สลับซับซ้อนขึ้นมาบนโลกอย่างมากมาย ในที่สุดกรอบความคิดเหล่านั้นก็ได้กลายมาเป็นกฎเกณฑ์ที่จำกัดอิสรภาพของมนุษย์ให้แคบเข้าๆ เรื่อยๆ ดังนั้นความเรียบง่ายธรรมดาจึงเป็นวิถีทางที่ดีที่สุด
จากประเด็นต่างๆ ที่ได้กล่าวมาจึงสะท้อนให้เห็นแนวคิดในทางปรัชญาเกี่ยวกับแก่นแท้ของมนุษย์ว่าต่างก็ล้วนมีที่มาจากธรรมชาติ และนอกเหนือจากนี้ยังได้มีการสะท้อนให้เห็นถึงสภาวะการดำเนินไปอันไม่มีที่สิ้นสุดของโลกและจักรวาลอีกด้วย โดยผู้เขียนได้นำเสนอทัศนะอันเปรียบเสมือนต่อต้านการพัฒนาที่จะทำให้ชีวิตของมนุษย์ยิ่งยุ่งเหยิงซับซ้อนมากขึ้นอยู่กลายๆ ผ่านรูปแบบอันเรียบง่ายของหนังสือที่พิมพ์ด้วยฟ้อนท์ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับลายมือเขียน นอกเหนือจากนี้ในเล่มก็ยังมีการสอดแทรกรูปภาพมากมาย ลักษณะคล้ายกับการเขียนบันทึกที่ผู้เขียนเริ่มเขียนไปแล้วก็วาดภาพประกอบลงไปด้วยจึงทำให้เป็นหนังสือที่น่าอ่านยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโลกของเราในปัจจุบันจะพัฒนามาจากความเรียบง่ายไปสู่ความสลับซับซ้อนมากมายขนาดไหน ธรรมชาติก็ยังคงเป็นรากฐานของทุกๆ อย่างอยู่ดี ภายใต้สังคมที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง บางครั้งเราอาจเกิดความรู้สึกเหมือนอยากที่จะกลับมาฟังเสียงของธรรมชาติบ้างก็เป็นได้ ดังนั้นเมื่อท่านได้ลองฟังเสียงขับขานที่เกิดขึ้นจากการสอดประสานอันลงตัวของการเคลื่อนไหวทุกๆ ชีวิตในธรรมชาติ เมื่อนั้น... ท่านอาจรู้สึกเหมือนว่ากำลังสดับฟังเสียงเพลงอันไพเราะจาก “ขลุ่ยไม้ไผ่” อยู่กับเป็นได้
นางสาว บุษกร ไชยราช