อาคันตุกะ เป็นงานเขียนเชิงสารคดีของ ธีรภาพ โลหิตกุล ที่กล่าวถึงการตระหนักให้ผู้ที่มาท่องเที่ยว หรือมาชมสัตว์ป่า และธรรมชาติ เคารพกฎระเบียบข้อบังคับของอุทยานแห่งชาติ โดยการนำประสบการณ์ ความรู้ของตนมาถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ โดยพูดถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ การออกมาเดินนวยนาดของกวางป่าในสนามกอล์ฟเขาใหญ่ การพูดถึงเมืองเว้ในประเทศเวียดนามที่มีการสร้างบ้านแบบที่เรียกว่า “หย่าเวือน” ซึ่งเป็นต้นแบบของธรรมเนียมการต้อนรับแขกผู้มาเยือนของชาวเวียดนาม การพูดถึงการให้ อาหารสัตว์ป่าในแบบที่ทำคุณบูชาโทษ การยกตัวอย่างของเหตุการณ์การกระทำผิดต่อสัตว์ป่าของนักท่องเที่ยว ผู้มาเยือนวิจารณ์ตามโครงสร้าง
1. ชื่อเรื่อง
การตั้งชื่อเรื่องถือว่าผู้เขียนตั้งชื่อเรื่องได้น่าสนใจ หากมองผิวเผิน และยังไม่ได้อ่านในส่วนของตัวเรื่อง ก็คงคาดเดาได้ว่าเป็นคำที่น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระ หรือพุทธศานา เมื่อผู้วิจารณ์ได้หาความหมายของ อาคันตุกะ ก็ได้ความว่า แขกผู้มาเยือน หรือแขกผู้มาหา ซึ่งคำนี้เป็นภาษาบาลี และภาษาสันสกฤต ซึ่งจะมีอีกหนึ่งคำที่มีความหมายเหมือนกันคือ อาคันตุกะ การตั้งชื่อเรื่องที่ใช้คำไม่เป็นที่นิยมของคน ทำให้ต้องหาความหมาย แต่ถ้าตั้งชื่อเรื่องโดยใช้คำที่ไม่ต้องหาความหมาย หรือเกิดข้อสงสัย จะทำให้ผู้อ่านอาจจะคาดเดา ตัวเรื่องได้ และจะไม่เกิดแรงกระตุ้น หรือแรงจูงใจ เมื่อเมื่อทราบความหมายของชื่อเรื่องแล้ว ทำให้ฉุกคิดต่อไปว่าแขกผู้มาเยือน คือใคร ทำอะไร เรื่องเกี่ยวกับอะไร ใช่สิ่งที่ผู้วิจารณ์คาดเดาไว้ในตอนแรกหรือไม่ สิ่งนี้จึงเป็น เสมือนแรงดึงดูดชวนให้ผู้อ่านได้สนใจ หรือเกิดการตั้งคำถาม และเปิดอ่านต่อไป
2. เปิดเรื่อง
เป็นการเปิดเรื่องโดยการยกคำพูดของ เอส.อีเลียต แมคคลัวร์ มากล่าวนำเพื่อเป็นการชูรสเรื่อง ของการตระหนักถึงผู้ที่เป็นอาคันตุกะ(แขกผู้มาเยือน)อุทยานแห่งชาติให้เคารพปฏิบัติตามกฎระเบียบของ อุทยาน รวมไปถึงเคารพเจ้าบ้าน (สัตว์ป่า และพืชพรรณไม้) และยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ ต่อไปว่าการเคารพต่อเจ้าบ้านมีผลดี และผลเสียอย่างไร ฉุกให้เกิดความอยากอ่านในส่วนของตัวเรื่องต่อไป
3. ตัวเรื่อง
ในส่วนนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 หัวข้อที่เป็นมีการสลับไปมาในตัวเรื่อง อาจจะเป็นการจงใจของ ธีรภาพ โลหิตกุล ที่ต้องการชี้ให้ผู้อ่านได้เห็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
3.1 ประสบการณ์ของผู้เขียน
ผู้เขียนได้นำประสบการณ์ของตนที่ได้พบเจอมาถ่ายทอดให้เห็นถึงธรรมชาติของสัตว์ป่า ที่มีการดำรงชีวิตใกล้ชิดสนิทกับคน เมื่อเกิดการใกล้ชิดของสัตว์และคน ผู้เขียนชี้ให้เห็นถึงการที่คนต้องเคารพกับสัตว์ป่า คนด้วยกันเอง และข้อบังคับของอุทยานแห่งชาติที่มีหน้าที่ดูแลธรรมชาติสิ่งมีชีวิตในป่า เพราะตนเป็นผู้มาเยือนบ้าน(ป่า หรืออุทยาน)ของสัตว์ และยังชี้ให้เห็นถึงผู้ที่ไม่เคารพต่อสัตว์ป่า และกฎข้อบังคับ จนนำไปสู่การผลเสียที่ตามมา เช่น กวางถูกรถชนไส้แตกเพราะผู้มาเยือนใช้ความชำนาญของตนในการขับขี่แต่ไม่เคารพเจ้าบ้าน(สัตว์ป่า) การทำให้นิสัยของสัตว์ป่าไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ด้วยการให้อาหารตามข้างถนน ซึ่งสัตว์ก็จะสูญเสียความเป็นสัตว์ในการดำรงชีวิต และยัง เป็นการทำลายธรรมชาติด้วยการทิ้งเศษขยะทิ้งไว้ “…ที่เห็นบ่อย ๆ คืออาการกล้า ๆ กลัว ๆ ของ ผู้หญิงและเด็ก ๆ ในยามหยิบยื่นอาหารให้ลิง พอลิงมารับแล้วก็รีบหดมือ พร้อมกับทิ้งถุงกระดาษหรือ พลาสติกห่ออาหารไปเลย บางคนก็โยนอาหารให้ลิงทั้งถุงดื้อ ๆ” รวมไปถึงประสบการณ์ที่ผู้เขียน ยกตัวอย่างของการกระทำผิดต่อสัตว์ ในกรณีของจุ๋มจิ๋มกระทิงป่าที่นักท่องเที่ยวให้อาหารโดยผิดวิธี จนทำให้จุ๋มจิ๋มตายเพราะกระเพาะอาหารอุดตัน มีเศษอาหารที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ในท้อง
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผู้เขียนใช้ประสบการณของตนเป็นผู้ชี้ให้เห็นถึงโทษ หรือผลเสียต่อสัตว์ และ ธรรมชาติ ซึ่งเกิดมาจากการไม่เคารพกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ของอุทยาน และการไม่เคารพต่อสิ่งมีชีวิตร่วมโลก หรือถ้าหากเรียกในภาษาชาวบ้านก็คงกล่าวได้ว่า “เสียมารยาทในบ้านของผู้อื่น” ซึ่งถือว่า ธีรภาพ โลหิตกุล นั้น ถ่ายทอดและชี้ให้ผู้อ่านได้เห็นอย่างชัดเจนไม่ต้องพินิจพิเคราะห์อะไรมากมาย
3.2 ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ
ในส่วนนี้ถึงแม้จะมีไม่มากนักในงานเขียนชิ้นนี้ แต่ถือได้ว่าเป็นการนำข้อมูลที่มีความสอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เขียนถ่ายทอดได้ดี โดยเป็นการกล่าวถึงเมืองเว้ในประเทศเวียดนามที่สร้างบ้าน แบบที่เรียกว่า “หย่าเวือน” หรือบ้านสวน เป็นลักษณะของบ้านที่ซ่อนอยู่ในพรรณไม้ต่าง ๆ และก่อน ถึงชั้นในของบ้านจะปลูกไม้ดอกไม้ประดับมากมายเป็นฉากกั้นประตู เรียกว่า “ลับแล” ซึ่งในส่วนนี้ เสมือนเป็นที่คัดกรองแขกผู้มาเยือน เพราะระหว่างทางถึงชั้นในบ้านต้องได้ชมความงามของแมกไม้ ทำให้เจ้าบ้านสามารถเห็น และเตรียมตัวต้อนรับทันการณ์ หากไม่พึงประสงค์ต้อนรับก็จะเป็นการให้ คนใช้ในบ้านบอกแขกมาเยือนมาเจ้าบ้านไม่อยู่ ซึ่งผู้เขียนได้นำข้อมูลนี้มาเปรียบเทียบกับป่าเบญจพรรณสองข้างทางถนนที่ตัดผ่านเขาใหญ่ โดยเปรียบเสมือนเหมือนลับแล(หน้าบ้าน) ของสัตว์ที่ใช้เป็นจุดคัดกรองนักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยือน หากคนเหล่านี้มาด้วยความสงบ ประสงค์ดี สัตว์เจ้าบ้านต่างก็พร้อมที่จะออกมาต้อนรับ ยกเว้นแต่ “ลิงกัง” ซึ่งไม่มีการคัดกรองผู้มาเยือน จะเห็นได้ง่ายตามข้างถนนสองข้างทาง และจะพบเห็น นักท่องเที่ยวให้อาหารต่าง ๆ กับลิงกัง ซึ่งลักษณะนิสัยของลิงกังนี้จึงเป็นเหตุผลที่ ธีรภาพ โลหิตกุล ได้ถ่ายทอดเพื่อชี้ให้ผู้อ่านเห็นความสำคัญของการเคารพสัตว์ และกฎต่าง ๆ ของอุทยาน เพื่อไม่เป็น ผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตร่วมโลกดั่งที่กล่าวมาในหัวข้อ 3.1
หากมองอีกด้านถือได้ว่าเป็นการนำข้อมูลเพื่อมาคั่นกลางของตัวเรื่อง เป็นการผ่อนคลายแก่ ผู้อ่าน ก่อนที่จะโยงความสอดคล้องเข้าสู่ตัวเรื่องอีกครั้ง และยังเป็นการสอดแทรกให้ความรู้กับผู้อ่านไปในตัว
3.3 สร้างการฉุกคิด
ในส่วนนี้ถึงแม้จะมีเพียงสามบรรทัด แต่เป็นสามบรรทัดที่สามารถทำให้ผู้อ่านได้ฉุกคิด ถึงพฤติกรรมของตนเองต่อสัตว์ และธรรมชาติ และเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจ และผลลัพธ์ของการไม่ เคารพต่อสิ่งมีชีวิตร่วมโลก เป็นอนุสรณ์และสัญลักษณ์อย่างหนึ่งทางใจ ที่ช่วยให้ผู้อ่านได้เข้าใจในสิ่งที่ ผู้เขียนกล่าวมาทั้งหมดทั้งมวล “ปัจจุบัน ร่างกายของจุ๋มจิ๋มถูกสตัฟฟ์ และเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ ธรรมชาติของอุทยาน เพื่อเป็นอุทาหรณ์เตือนใจความรักใคร่เอ็นดูอย่างรู้ไม่เท่าถึงการณ์ของ นักท่องเที่ยวที่มีต่อสัตว์ทุกคน ค่าบทเรียนนี้ช่างแพงเหลือคณานับ!”
4. ปิดเรื่อง
ในส่วนนี้ ธีรภาพ โลหิตกุล ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ของนักท่องเที่ยวหรือผู้คนที่ยังปฏิบัติคงเดิมต่อสัตว์ และธรรมชาติ แม้จะมีตัวอย่างความผิดพลาดมากมายให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วก็ตาม และอาจกล่าวได้ว่าเป็น การย้ำต่อผู้อ่านให้ตระหนักการเคารพต่อสัตว์ป่า และธรรมชาติอีกครั้ง นอกจากนี้ยังนำคำพูดของ ดร.แมคคลัวร์ ที่กล่าวไปในตอนเปิดเรื่องมาย้ำอีกรอบ “…ท่านเป็นอาคันตุกะ จึงควรปฏิบัติตนอย่างอาคันตุกะ ผู้หนึ่งเท่านั้น” หรือหากพูดเป็นภาษาปากผู้วิจารณ์คงอนุมานได้ว่า “มึงเป็นแขกของบ้านเขา มึงต้องทำตัวให้ สมกับเป็นแขกบ้างซี เคารพ เคารพ เคารพ คนอื่นน่ะทำเป็นไหม” เพื่ออรรถรสในการอ่านงานวิจารณ์ ผู้วิจารณ์จึงใคร่ขออภัยหากใช้คำไม่สุภาพ(ยิ้ม)
ถือได้ว่าในส่วนปิดเรื่อง ธีรภาพ โลหิตกุล ไม่ได้สรุปเรื่องทั้งหมด แต่เป็นการทิ้งท้ายให้ผู้อ่านได้ ตระหนักคิดกับตนเอง
องค์ประกอบ อาคันตุกะ
กลวิธีการเล่าเรื่อง ในงานเขียนสารคดีชิ้นนี้มีกลวิธีการเล่าเรื่องผ่านสรรพนามบุรุษที่ 2 โดยใช้ “ข้าพเจ้า” แทนตัวของผู้เขียนในการเล่าเรื่อง เพราะเป็นการนำประสบการณ์ ความรู้ ของผู้เขียนมาถ่ายทอดสู่ ผู้อ่าน เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้สึกใกล้ชิดเสมือนผู้เขียนเองมาเล่าให้ผู้อ่านได้ฟัง
ข้อมูล
ข้อเท็จจริง ผู้เขียนได้นำข้อเท็จจริงจากประสบการณ์ตรงของตนมาถ่ายทอดเป็นส่วนใหญ่ ตลอดทั้งทั้งเรื่อง และยังมีการศึกษาหาข้อมูลในการสอดคล้องเรื่องมาสนับสนุนประสบการณ์ของตน
ข้อคิดเห็น มีการใส่ข้อคิดเห็นของตน เพื่อเป็นการเสริมให้ผู้อ่านได้คิดตระหนักยิ่งขึ้น “แต่ไม่มีเจ้าบ้านคนไหน ที่อยากออกมาพบกับอาคันตุกะที่เอะอะโวยวายจนไม่แน่ใจว่ามาร้ายหรือมาดี” ในตัวบทข้างต้นจะเห็นได้ว่าเป็นการสนับสนุนสารของตนที่ต้องการจะส่งให้ผู้อ่าน
อ้างอิง มีการนำคำพูดของบุคคลอื่นมากล่าวเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้สาร และทัศนะของตน “… ท่านเป็นอาคันตุกะ จึงควรปฏิบัติตนอย่างอาคันตุกะผู้หนึ่งเท่านั้น” ซึ่งตัวบทข้างต้นเป็นของ ดร. แมคคลัวร์
วรรณศิลป์
มีการใช้ภาษาได้สละสลวย เพื่อให้ผู้อ่านได้เกิดอรรถรสในการอ่าน และเกิดการคล้อยตาม เห็นภาพผ่านตัวอักษรของผู้เขียน “…กวางเผลอไผลออกมาเดินนวยนาดอยู่บนถนน…” ตัวบทข้างต้นนี้สังเกต ได้มามีการเล่นกับสัมผัสพยัญชนะเพื่อให้เกิดความไพเราะ และมีการใช้ความเรียกสัตว์ที่มีลักษณะคล้ายเหมือน ชื่อคน “จุ๋มจิ๋ม” และ “…กวางหลายครอบครัว…” ดังที่ยกมานี้จะเห็นได้ว่าเป็นลักษณะที่มีการใช้คำเหมือนคน ใช้ในชีวิตประจำวัน การยกให้กวางอยู่เป็นครอบครัว การให้ชื่อ “จุ๋มจิ๋ม” ลักษณะเหล่านี้ผู้เขียนต้องการให้ ผู้อ่านเห็นคุณค่าของสิ่งมีชีวิตที่มีเท่ากับคน ซึ่งคนกับสัตว์ก็เป็นเพียงสิ่งมีชีวิต ไม่มีใครต่ำหรือสูงกว่า มีแต่เท่ากัน เพื่อเป็นการสนับสนุนสารของตนที่ต้องการจะส่งให้ผู้ให้ได้เข้าใจในตัวเรื่อง
อาคันตุกะ: เครื่องมือทรงพลัง ฝังจิตสำนึก ระลึกอนุรักษ์ ฟูมฟักเพื่อน(ธรรมชาติ)ร่วมโลก
อาคันตุกะ ชื่อเรื่องงานเขียนเชิงสารคดีของ ธีรภาพ โลหิตกุล ซึ่งหากมองภาพรวมคงกล่าวได้ว่าเป็น งานเขียนสารคดีทั่วไป ไม่มีนัยแอบแฝงแต่อย่างใด ซึ่งในหัวข้อนี้ผู้วิจารณ์จะชี้ให้เห็นว่านอกจากเป็นงานสารคดี ทั่วไปแล้ว อาคันตุกะ ยังสามารถเป็นเครื่องจรรโลงผู้คน และเป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ธรรมชาติ และ สัตว์ป่า ได้อีกด้วย
หากมองให้ดีเสียแล้วจะเห็นได้ว่า ผู้เขียนพยายามสร้างจิตสำนึก หรือปลูกฝังจิตสำนึกกับผู้คนที่ไปเที่ยวชมธรรมชาติ และสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็นเขาใหญ่ที่ถูกอ้างในงานเรื่องนี้ หรือที่ไหน ๆ ก็ตามแต่ ผู้เขียน พยายามยกตัวอย่างลักษณะของผู้คนที่มีพฤติกรรมไม่ดีต่อสัตว์ ธรรมชาติ ให้ผู้อ่านได้เห็น และมาชี้ให้เห็นต่อ ว่าเมื่อกระทำพฤติกรรมนี้แล้ว จะส่งผลเสียต่อสัตว์ป่า และธรรมชาติมากเพียงใด ความเสียหายที่ตามมาทีหลัง จะเป็นเช่นใด ดั่งนี้ ผู้เขียนจึงมักจะย้ำให้ผู้อ่านให้เห็นว่าต้อง เคารพ เคารพ เคารพ ต่อสิ่งมีชีวิตร่วมโลก และ ธรรมชาติ เพราะพวกเราผู้อ่านคือผู้ไปเยือนบ้านของสิ่งเหล่านี้ สิ่งที่ผู้เป็นแขกต้องปฏิบัติจะต้องเป็นเช่นไร หากกล่าวให้ผู้อ่านบทวิจารณ์ให้เห็นภาพคือ ให้นึกถึงว่าตัวเราเองเป็นแขกผู้ไปเยี่ยมบ้านของใครก็ตามแต่เราในฐานะที่เป็นมนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ฉลาดที่สุดในโลกนี้ จะปฏิบัติต่อเจ้าบ้านอย่างไร เมื่ออยู่ในบ้านของเขา เสียแล้ว จะต้องวางตัว หรือปฏิบัติเช่นใด สิ่งเหล่านี้ถือเป็นพื้นฐานมารยาททางสังคมของมนุษย์ที่พึงจะมีในการ อยู่ในสังคม ดั่งนี้ หากเข้าใจในการปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ย่อมเข้าใจการปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตร่วมโลก เช่นกัน ถึงจะเป็นคนละสายพันธุ์ หากมองให้ดีมนุษย์ก็คือสิ่งมีชีวิตในโลกเดียวกันกับสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น เพียงแต่เป็นสายพันธุ์ที่ฉลาดที่สุดในโลก แต่จะยกให้สูงส่งหรือมีคุณค่ามากกว่าสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นมิได้ ฉะนั้น การเคารพต่อกัน ถือเป็นเรื่องที่พึงจะทำที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะเป็นสิ่งที่ ธีรภาพ โลหิตกุล ได้แฝงให้ผู้อ่าน ตระหนักคิด เมื่อเข้าใจในสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อสาร ผู้อ่านจึงเสมือนถูกปลูกฝังไปในตัว ดังที่ได้นำคำพูดของ ดร.แมคคลัวร์มากล่าวเพื่อสนับสนุนสาร ความคิด ทัศนะ และเรื่องเล่าของตน “…ท่านเป็นอาคันตุกะ จึงควร ปฏิบัติตนอย่างอาคันตุกะผู้หนึ่งเท่านั้น”
นอกจากนี้แล้ว อาคันตุกะ ยังเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ กล่าวคือในตัวเรื่องมีการ กล่าวถึงพฤติกรรมของคนที่ชอบให้อาหารสัตว์ป่าตามข้างถนน “…ที่เห็นบ่อย ๆ คืออาการกล้า ๆ กลัว ๆ ของ ผู้หญิงและเด็ก ๆ ในยามหยิบยื่นอาหารให้ลิง พอลิงมารับแล้วก็รีบหดมือ พร้อมกับทิ้งถุงกระดาษหรือพลาสติก ห่ออาหารไปเลย บางคนก็โยนอาหารให้ลิงทั้งถุงดื้อ ๆ” พฤติกรรมเหล่านี้ของคนมักจะก่อให้เกิดขยะ หลากหลายชนิดที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ตามมา ซึ่งจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศน์ของสัตว์ และธรรมชาติ โดย ขยะเหล่านี้สามารถส่งผลให้เกิดมลพิษทางน้ำ มลพิษทางดิน มลพิษทางอากาศได้ หรือหากเป็นขยะจำพวก กระป๋อง โลหะต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อระบบนิเวศน์ในดินมาก เพราะเมื่อมีการไหลของน้ำผ่านดินสู่แหล่งน้ำ ก็จะทำให้เกิดการตกค้างของพวกสารพิษต่าง ๆ เช่น ปรอท ซึ่งสิ่งที่ตามมาคือการเน่าเสียของน้ำ เมื่อน้ำเน่าเสีย กลิ่นเหม็นที่คลุ้งไปตามอากาศก็จะเป็นผลเสียต่อสิ่งมีชีวิต ทำให้สิ่งมีชีวิตล้มตายได้ และยังเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสัตว์ป่าได้ ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่าอาจจะเป็นสิ่งที่ ธีรภาพ โลหิตกุล ได้แอบแฝงไว้ในงานเขียนสารคดี เมื่อชี้ให้เห็นดังนี้แล้ว ผู้คนที่ได้อ่านจะได้ตระหนักถึงตนเอง และเตือนเพื่อนร่วมสังคมด้วยกัน ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสัตว์ และธรรมชาติเสียใหม่ เมื่อมีการปรับเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้ที่ อาคันตุกะ ได้ถ่ายทอดก็จะไม่เกิด
เมื่อเห็นดังนี้แล้วถือได้ว่า อาคันตุกะ คือเครื่องมือที่ทรงพลังทางจิตใจของคน เมื่อบำบัดจิตใจและ พฤติกรรมของคนเสียใหม่แล้ว ก็จะส่งผลดีต่อสัตว์ป่าและธรรมชาติตามมา ถือเป็นเครื่องมือที่เชิงอนุรักษ์ธรรม ที่ทรงพลังผ่านตัวอักษรเลยก็เป็นได้
บทวิจารณ์ อาคันตุกะ
บทวิจารณ์โดย ฉัตรชัย สิทธิจรรยากุล
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 6