โนเบลแห่งความลับ : โนเบลแห่งความลับ...ยิ่งใหญ่อย่างไร้(การ)ฆ่า

โนเบลแห่งความลับ

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มนุษย์เราได้ใช้วิธีต่างๆมากมายมาห้ำหั่นซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะด้วยคมดาบ กลยุทธ์ หรือแม้แต่การค้นพบที่ยิ่งใหญ่ของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังที่ใครๆต่างรู้จักอย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ยังถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือสังหารชาวญี่ปุ่นนับล้าน พวกเราคงได้แต่ร้องถามอยู่ในใจว่าจะมีใครสักคนไหมที่ลุกขึ้นมาปกป้องสังคมจากการฆ่า?

นวนิยายปกสีนำเงินฉูดฉาดเล่มหนึ่งคงตอบคำถามนี้ได้... “โนเบลแห่งความลับ” นวนิยายแฟนตาซีปนไซไฟฝีมือปลายปากกานักเขียนไทย วรางคณา รูปเจริญ หรือนามปากกา THINX เรื่องราวแฟนตาซีในโลกใหม่ของพวกเรา ตัวละครเอกอย่าง “ฮอรัส” คือหนึ่งในวิทยาอารักษ์ มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้สิ่งประดิษฐ์สำคัญรางวัลโนเบลแห่งความลับถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดและปกป้องคนดี เรียกง่ายๆได้ว่าปกป้องโลกนั่นเอง

เรื่องราวเริ่มต้นด้วยการตายของด็อกเตอร์คนหนึ่งซึ่งนำไปสู่การตามหารางวัลโนเบลแห่งความลับหมายเลข 37 ดำเนินเรื่องผ่านฮอรัสและตัวละครอื่นๆ เช่น “ออตโต้” หุ่นจักรกลเสมือนมนุษย์และ “ออโรร่า” สาวงามผู้เก่งกาจ เรื่องราวทวีความเข้มข้นขึ้นเมื่อชายหนุ่มค้นพบว่า รางวัลชิ้นนั้นถูกขโมยไป แถมผู้ที่วางแผนร้ายก็เป็นคนที่เขาคาดไม่ถึง

ผู้เขียนได้แสดงถึงแนวคิดเรื่องคุณค่าของสิ่งของขึ้นอยู่กับผู้ใช้ผ่านตัวละครฝ่ายดี และฝ่ายร้ายอย่างชัดเจน ในขณะที่หุ่นยนต์สว่านเจาะยักษ์อย่าง “กิลกาเมซ” สำหรับตัวละครดีเป็นเพียงหุ่นสำหรับขุดห้องทดลองใต้ดิน ทว่า สำหรับฝ่ายร้ายเห็นเป็นอาวุธที่จะนำไปทอดขายตลาดมืดและใช้ต่อสู้กับตัวเอก

นอกจากเรื่องคุณค่าแล้ว ผู้เขียนยังสอดแทรกแนวคิดเรื่องคนเราดูแต่ภายนอกไม่ได้หลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะนักบวชท่าทางใจบุญซึ่งแท้จริงเป็นคนละโมบปลอมตัวมา หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตตัวน้อยๆเช่น แมวดำ แท้จริงก็ยังมีความลับซุกซ่อนมากมายกว่านั้น

แต่ถึงแม้งานของตัวเอกของเราจะยิ่งใหญ่มากแค่ไหน ฮอรัสเองก็เป็นมนุษย์คนๆหนึ่ง ที่ต้องหยุดพักผ่อนและชอบความสนุกสนาน เมื่อเพื่อนสมัยเรียนจากอีกซีกมุมโลกมาหาพร้อมภารกิจสุดท้าย ฮฮรัสจึงตบปากรับคำทำอย่างเต็มที่ และ ณ จุดๆนี้เองที่มีฉากเกี่ยวกับเทศกาลคริสมาสต์ ซึ่งผู้เขียนได้เน้นย้ำกับพวกเราอีกทีหนึ่งว่าแม้ว่าโลกบลูไกอานี้จะแฟนตาซี ไซไฟขนาดไหน ก็คือโลกของเรานี้เอง

ตัวละครที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้คงจะไม่พ้นใครอื่น นอกจาก “ฮอรัส” แม้ว่าจะเปิดเรื่องด้วยความไม่พอใจของเขาต่อความเชื่องช้าของสำนักไปรษณีย์ ทว่าชายหนุ่มกลับพิสูจน์ให้เราเห็นต่อมาว่าเป็นคนรับผิดชอบต่อหน้าที่และมีจิตใจดีงามสมกับที่ครอบครองอาวุธสำคัญอย่าง "ดวงตาแห่งฮอรัส" สัญลักษณ์อียิปแห่งการปกป้องคุ้มครอง การสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับโลกที่ไม่มีความมั่นคงและแก้ไขสิ่งที่ไม่เที่ยงธรรม

อีกหนึ่งตัวละครที่น่าสนใจ เพราะความย้อนแย้งในตัว คือ “ออตโต้” หุ่นจักรกลเสมือนมนุษย์ที่มีตำหนิ คือการมีหัวใจและความอ่อนไหวเหมือนมนุษย์ เครื่องจักรสงครามตัวนี้กลับมีความคิดไม่สมหุ่นจักรกล อย่าง “ไม่เห็นอยากเป็นเลยนะ มนุษย์...เป็นอย่างที่เราเป็นทุกวันนี้น่ะ ดีมากแล้ว

ถึงกระนั้นก็ตามตัวละครในเรื่องนี้กลับไม่มีการเติบโตไปตามเรื่องราว เพราะเหตุการณ์ต่างๆในเรื่องนี้ไม่ใช่บททดสอบให้พวกเขาเอาชนะตนเอง แต่เป็นเอาชนะผู้ร้ายและตัวละครทุกตัวต่างมีบุคลิกชัดเจน ฝั่งดีคือฝั่งดี ฝั่งร้ายคือฝั่งร้าย สิ่งนี้ทำให้เห็นภาพของแนวคิด “ธรรมชนะอธรรม” ได้อย่างชัดเจน ทว่ากลับเป็นดาบสองคมทำให้ตัวละครแบน และไม่สมจริง

นอกจากนี้แล้วเรื่องนี้มีตัวละครมากมายหลายตัว แต่กลับมีการแบ่งบทไม่สมดุล เมื่ออ่านจากหลังปกและเนื้อเรื่องช่วงแรกจะคาดคะเนว่าตัวละครเด่นมี 3 ตัว คือ ฮอรัส ออตโต้และออโรร่า ทว่าหลังจากนั้น บทบาทของสองตัวละครหลังกลับน้อยลงมากจนน่าใจหาย แม้แต่ฉากต่อสู้ไคลแม็กซ์ยังไม่ได้มีอิทธิพลอะไร จึงเป็นปัญหาให้ผู้อ่านสับสน ไม่รู้จะเอาความสนใจไปวางไว้กับตัวละครไหนดี

หากเปรียบว่าหนังสือแต่ละเล่มล้วนมีท่วงทำนองของตนเอง โนเบลแห่งความลับคงมีท่วงทำนองที่ประหลาดแตกต่างนิยายแฟนตาซีไซไฟอื่นๆ เพราะการดำเนินเรื่องที่แบ่งเป็นตอนสั้นๆถึง 27 บท ทำให้ขาดความต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉากต่อสู้ซึ่งเริ่มต้นด้วยการเปิดโปงความลับลากจนถึงการต่อสู้จบถึงบท 7 ทำให้เยิ่นเย้อและกินเนื้อที่ช่วงกลางเล่ม ส่วนท้ายเล่มซึ่งตามปกติจะเป็นจุดไคลแม็กซ์กลับถูกคั่นด้วยฉากสงบสุขสักครู่แล้วเปิดประเด็นใหม่ให้ตัวละครตามแก้ ทำให้โนเบลแห่งความลับมีลักษณะคล้ายการ์ตูนตอนหนึ่งในชุดซีรี่ย์ยาวมากกว่านวนิยาย หนึ่งเล่ม ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้แต่งนอกจากจะเป็นนักเขียนแล้ว ยังเป็นนักวาดการ์ตูน

ยังมีความไม่สมเหตุสมผลเล็กน้อย เช่น ความลับของไม้กางเขนที่สามารถทำลายกระจกห้องควบคุมทั้งๆที่สร้างจากอุกกาบาตที่แข็งแรงเกินกว่าหมัดของหุ่นยนต์ยักษ์จะทำลายได้กลับสามารถสลักเป็นไม้กางเกนได้ ช่างฝีมือเก่งจริงๆ?!?

แม้กระนั้นก็ยังมีการหักมุมให้เราแปลกใจได้ครั้งสองครั้ง และสำหรับนักเขียนผู้หญิงรางวัลชมนาด ฉากต่อสู้ด้วยหุ่นยนต์จึงเป็นสิ่งแปลกใหม่น่าตื่นตาตื่นใจ

ในด้านภาษาผู้เขียนสามารถถ่ายทอดได้ชัดเจน ตรงไปตรงมา ทว่าคงต้องฝากคุณบรรณาธิการและฝ่ายพิสูจน์อักษรช่วยตรวจดูคำผิดอีกสักรอบ ให้สมกับหนังสือได้รับรางวัล เพราะมีคำผิดมากถึง 30 จุด ไม่ว่าจะผิดกันได้อย่างคำว่า “ผุดลุกผุดนั่ง” เป็น “ผลุดลุกผุดนั่ง” หรือผิดทั้งที่รู้เท่าถึงการณ์อย่างสะกดชื่อตัวละครไม่เคยเหมือนเดิมหรือสลับคำเช่น “ไม่มีใครในอาณาจักรนี้จะที่...” คงต้องเป็น “ไม่มีใครในอาณาจักรนี้ที่จะ...” ใช่ไหม?

หากให้คะแนนเป็นดาวน้อยๆ 5 ดวง คงต้องขอให้โนเบลแห่งความลับไป 2 ดวง เมื่อเทียบกับนิยายแฟนตาซีไซไฟเรื่องอื่นๆแล้วยังราบเรียบเกินไปและไม่สามารถจับคนอ่านได้อยู่หมัด ทว่าเมื่อตัดข้อบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ ออกไป จะเห็นได้ว่าโนเบลแห่งความลับกำลังกู่ร้องบอกสิ่งสำคัญเราอยู่...คนที่จะลุกขึ้นปกป้องสังคมให้ปราศจากการฆ่าจะไม่มีวันไร้คุณค่า แต่คงบอกไม่ได้ว่า หรือจะมีแต่ในนิยาย

 

ณิชา เวชพานิช

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ