ความซื่อสัตย์ ชาตินิยม และ ทุนนิยม : บทวิจารณ์โดย นางสาวธุวพร มีโพธิ์

ความซื่อสัตย์ ชาตินิยม และ ทุนนิยม

             “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่” เป็นหนึ่งในเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ที่บอกเล่าประสบการณ์ของผู้เขียนซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกรีไทร์ออกจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความพลิกผันของชีวิตทำให้เขาได้ก้าวเข้ามาสัมผัส คลุกคลี และ คุ้นเคยกับการเป็นแรงงานคนหนึ่งในเหมืองแร่ทางภาคใต้ จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านจากมหาวิทยาลัยแห่งความรู้สู่การก้าวเข้ามารู้จักกับมหาวิทยาลัยแห่งชีวิตของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ได้นำเสนอแง่มุมที่น่าสนใจแก่ผู้อ่านผ่านภาษาที่เรียงร้อยออกมาอย่างมีเอกลักษณ์และลื่นไหลจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่รวมเรื่องสั้นชุดนี้จะได้รับการยกย่องว่าควรค่าแก่การอ่าน

             สำหรับเรื่องสั้นความรักชาติของชาวเหมืองแร่นั้นแสดงให้เราเห็นความรักชาติของชาวเหมืองแร่ในหลาย ๆ แง่มุมสุดแท้แต่จะตีความสำหรับผู้วิจารณ์นั้นสาระสำคัญของเรื่องสั้นความรักชาติของชาวเหมืองแร่ คือความรักและซื่อสัตย์ต่ออาชีพของตนโดยมีประเด็นขัดแย้งระหว่างทุนนิยมและชาตินิยมเป็นองค์ประกอบ

            โดยความรักและความซื่อสัตย์ดังกล่าวปรากฏให้เห็นผ่านตัวละคร “อาจินต์” แรงงานหนุ่มที่ถูกลองใจจากนายฝรั่ง เมื่อพิจารณาจากการใช้ภาษาของผู้เขียนพบว่าอาจินต์เป็นตัวละครที่มีความเข้าใจในอาชีพของตนเอง เขารักและผูกพันกับเพื่อนร่วมอาชีพของตนเองเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากการซ้ำคำในข้อความต่อไปนี้ที่ชี้ให้เห็นถึงความเข้าใจในงานที่ตนรับผิดชอบและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นผูกพันระหว่างอาจินต์และคนงานในเหมือง เช่น “นี่คืองานเหมืองแร่ งานที่ไม่มีชั่วโมงหยุด งานของเหล็ก งานของดิน งานของไฟ งานของน้้ามันขี้โล้...” และ “เรารักใคร่กลมเกลียวกันประดุจทหารหลงแนว เรากินเหล้าด้วยกัน เล่นโปด้วยกัน ยกพวกไปงานวัดด้วยกันและเมื่อมีงานด่วนเราช่วยกันแบกของหนักคนละมุม เราอดนอนด้วยกัน เอาหัวหนุนนอนกันเอง เราดำน้ำลงไปงมสิ่งของด้วยกันแต่ขณะนี้ข้าพเจ้ากลายเป็นไอ้คนนอกฝูง...” ดังนั้น เมื่ออาจินต์เป็นตัวละครที่รักในงานและเพื่อนร่วมงานจึงไม่แปลกที่เขาจะมีความซื่อสัตย์ต่ออาชีพของตน

             เหตุผลที่ตัวละครอาจินต์เป็นตัวละครมีลักษณะนิสัยเช่นนี้ ส่วนหนึ่งอาจเพราะพื้นเพของตัวละครที่มีภูมิหลังเป็นคนมีความรู้มีการศึกษา ความคิดของ อาจินต์จึงมีความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า ซึ่งแตกต่างจากความคิดของแรงงานทั่วไป อย่างไรก็ดีดังที่กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่าความรักของชาวเหมืองแร่มีสาระสำคัญอยู่ที่การรักและซื่อสัตย์ต่ออาชีพของตนแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องราวในบางช่วงบางตอนของเรื่องสั้นเรื่องนี้มีประเด็นขัดแย้งระหว่างความเป็นชาตินิยมและทุนนิยมปรากฏอยู่

             ก้อง เหล็กกล้า คือตัวละครที่แสดงให้เห็นถึงประเด็นขัดแย้งข้างต้น นายก้องเป็นหัวหน้างานในเหมืองแร่ อายุราว ๆ ๔๐ ปี ฉากที่ก้องต้องตบตาอาจินต์ว่าตนเป็นคนขโมยแร่นั้น ผู้แต่งแสดงให้เห็นความคิดเกี่ยวกับทุนนิยมและชาตินิยมผ่านตัวละครตัวนี้อย่างชัดเจน ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นความคิดชาตินิยมผ่านตัวละครก้องที่เด่นชัด เช่น “ชาติมาก่อนคน แร่นี้เป็นของชาติไทย ใต้ตีนที่คุณเหยียบอยู่นี้คือแผ่นดินไทย แร่ที่อยู่ใต้ดินเป็นของคนไทย” “มันเป็นแร่ของแผ่นดินไทย แร่ของคนไทย แร่ของปู่ย่าตายาย แร่ของผม หลีกไปเถอะอย่าขวาง” และ “งั้นคุณก็ลืมชาติเสียแล้ว เห็นเขาให้ที่พักที่อยู่ให้เงินเดือนกินก็หลงสวามิภักดิ์เขาเสียจนเกินการณ์...” จากประโยคที่ยกมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าตัวละครนายก้องอ้างความเป็นชาตินิยมเพื่อกระทำความผิดในขณะที่อาจินต์พยายามจะใช้หลักของเหตุผลและศีลธรรมโต้แย้งกับแนวคิดดังกล่าว เช่น “ไม่เข้าใจขโมยแร่กับเรื่องชาติไม่เข้าใจ แต่ขโมยแร่กับศาสนาละก็ผิดแน่” และ “ก็ที่เรือขุดนั่นเครื่องมือนั่นทุนรอนนั่นเป็นของใคร เป็นของฝรั่งเขามาลงทุนใช่ไหม เงินเดือน เบี้ยเลี้ยงที่ฟาดกันอยู่ทุกวัน ทุกชั่วโมงน่ะของใคร ของฝรั่ง ฝรั่งเขาจ้างใช่ไหม” เมื่อพิจารณาจะพบว่าแนวคิดที่อาจินต์ยกมาโต้แย้งกับนายก้องไม่ได้อ้างถึงแนวคิดที่สนับสนุนความเป็นชาตินิยมเสียทีเดียว เพียงแต่ใช้หลักเหตุและผลในการอธิบายเท่านั้น จะเห็นได้ว่าเมื่ออาจินต์ไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าทางเลือกใดถูกต้องที่สุดระหว่างชาตินิยมและทุนนิยมเขาก็ตัดสินใจที่จะอยู่เหนือการควบคุมของสองขั้วอำนาจโดยการตัดสินใจลาออก ดังจะเห็นได้จากข้อความ ที่ว่า “อ๋อ เรื่องนั้นไม่ต้องห่วงพอฉันบอกนายแล้วฉันก็จะลาออกเหมือนกัน” เพราะฉะนั้นตัวละครอาจินต์จึงไม่ได้เป็นตัวแทนที่สื่อถึงการถูกกดทับด้วยระบอบทุนนิยม ตรงกันข้ามกับตัวละครนายก้องที่แสดงให้เห็นความขัดแย้งระหว่างความเป็นชาตินิยมและทุนนิยมในตนเอง เพราะถึงแม้ว่าคำพูดของนายก้องจะสนับสนุนความเป็นชาตินิยมแต่เขาก็ยังเป็นหนึ่งในแรงงานที่ขับเคลื่อนระบอบทุนนิยมให้ดำเนินต่อไป

             สัญลักษณ์หนึ่งที่ผู้แต่งซ่อนไว้ในเรื่องอย่างน่าสนใจคือ “ทาก” ซึ่งปรากฏตัวขึ้นหลังจากเหตุการณ์ที่อาจินต์ตัดสินใจลาออกและเดินทางกลับบ้านพักโดยระหว่างทางก็ถูกทากพวกนี้ดูดเลือดไปด้วย หากจะตีความทากก็คือสัตว์ชนชั้นปรสิตชนิดหนึ่งที่หาประโยชน์จากการดูดเลือดของมนุษย์ ในบริบทนี้ผู้วิจารณ์มองว่าผู้เขียนให้อิสระทางการตีความแก่ผู้อ่าน มุมมองในการตีความของผู้อ่านแต่ละคนที่มีต่อสัตว์ชนิดนี้ย่อมแตกต่างกัน บ้างมองว่าทากคือสัญลักษณ์ของระบอบทุนนิยมที่เข้ามาดูดเอาทรัพยากรอันล้ำค่าที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่าง “แร่” ไปสร้างประโยชน์ต่อในประเทศของตนเอง บ้างก็อาจตีความว่าทากคือความเห็นแก่ตัวของคนบางกลุ่มที่อ้างความเป็นชาตินิยมไปกระทำการทุจริต ดังจะเห็นได้จากกรณีของก้อง เหล็กกล้า ที่ใช้วิธีดังกล่าวเป็นเหตุผลในการขโมยแร่ของนายฝรั่ง แม้เรื่องที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียงเหตุการณ์สมมติแต่ก็แสดงให้เห็นถึงชุดความคิดที่อาจจะเกิดขึ้นของกลุ่มกรรมกรข้างต้น

               “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่” สะท้อนให้เห็นความน่าสนใจในหลากหลายแง่มุมผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้น ไม่ว่าจะเป็นแง่มุมที่สะท้อนให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ที่อาจินต์มีต่ออาชีพของตน ความขัดแย้งระหว่างระบอบทุนนิยมและความเป็นชาตินิยมที่ปรากฏผ่านตัวละครก้อง เหล็กกล้า ตลอดจนความลงตัวของการใช้ภาษาที่เด่นชัดในเรื่องของการสร้างจินตภาพ การย้ำความหมาย การย้ำความสำคัญของเนื้อเรื่องรวมถึงการแฝงการตีความที่น่าสนใจ เรื่องสั้นเรื่องนี้จึงเปี่ยมไปด้วยคุณค่าด้านเนื้อหาและวรรณศิลป์


ความซื่อสัตย์ ชาตินิยม และ ทุนนิยม
บทวิจารณ์โดย นางสาวธุวพร มีโพธิ์
โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 7

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ