ความรักชาติของชาวเหมืองแร่: อํานาจของชาตินิยมของคนในชาติพันธุ์ : บทวิจารณ์โดย นายนิติ กล่อมสังข์

ความรักชาติของชาวเหมืองแร่: อํานาจของชาตินิยมของคนในชาติพันธุ์

          “ผมถือกฎหมายคลุกกับข้าวสุก” ถ้อยคำชวนขบคิดจากผู้เขียนเรื่องสั้น “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่” ในหนังสือรวมเรื่องสั้น “เสียงเรียกจากเหมืองแร่”  ของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ผ่านการเล่าเรื่องโดยใช้ฉากเหมืองแร่ โดยดำเนินเรื่องและเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เผยให้เห็นถึงอำนาจบํางอย่าง อำนาจที่ปกคลุมความเป็นมนุษย์ อำนาจของชาตินิยมที่ผนึกกำลังด้วยระบบทุนนิยมผ่านชีวิตของผู้คนในเหมืองแร่ ฉายภาพความจำยอมบางอย่างบนหนทางของความอยู่รอด ที่ต้องยอมจำนนอย่างหลีกเลี่ยงมิได้


          “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่” เปิดเรื่องด้วยการฉายสภาพชีวิตของชนชั้นกรรมาชีพ กับการต่อสู้บนหนทางของการหาเลี้ยงครอบครัว จึงทำให้กลุ่มชนชั้นแรงงานที่ไม่สามารถต่อกรกับความลำบากได้ต้องพลิกลู่ทางหันมาขโมยแร่เพื่อเพิ่มรํายได้ให้กับตนและพวกพ้อง แต่ในอีกฟากของผู้เล่าเรื่องกลับยืนกรานเสียงแข็งว่าสิ่งที่กลุ่มชนชั้นแรงงานกระทำนั้นคือความผิด


           แม้การขโมยแร่จะทำให้พวกชนชั้นกรรมมาชีพได้ค่าตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ก็ผลักให้ผู้เล่าเรื่องตกอยู่ท่ามกลางความยากลำบากด้วยอำนาจของชาตินิยม และการถูกทำให้แปลกแยกจากผู้คนในสังคม เพราะความเห็นต่างกัน บทวิจารณ์นี้มุ่งจะชี้ให้เห็นว่า “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่” มิใช่เพียงแค่เรื่องรําวที่ถ่ายทอดชีวิตของชนชั้นกรรมาชีพในเหมืองแร่ แต่เป็นการตีแผ่อีกด้านของอำนาจชาตินิยมระหว่างชนชั้นแรงงานด้วยกัน และระหว่างชนชั้นแรงงานกับชนชั้นนายทุนที่มีแรงผลักดันสำคัญจากสังคมทุนนิยม โดยขับเคลื่อนด้วยอำนาจเศรษฐกิจที่แปรเปลี่ยนความเป็นชนชั้นแรงงานให้กลายเป็นสินค้า เพื่อลดทอนบทบาทของความเป็นมนุษย์ ก่อนที่เปิดโปงให้เห็นถึงระบบทุนนิยมที่ชนชั้นนายทุนเป็นผู้ครอบงำ อันเป็นการร้องทุกข์ว่า แท้จริงแล้วพวกเขาก็มีคุณค่าความเป็นคนไม่ต่างกัน ดังนี้
อํานาจของชาตินิยม : กระบวนการปิดกั้นผู้เห็นต่างในสังคม

 

           “ชาตินิยม” (Nationalism) ศาสตราจารย์ดิเรก ชัยนาม ได้ให้คำนิยามไว้ว่า “เป็นความสำนึกหรือความรู้สึกทางจงรักภักดีต่อหมู่ชนซึ่งตนถือเป็นชาติพันธุ์ (Ethnic) เดียวกัน และเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมอย่างเดียวกัน” ซึ่งความเป็นชาตินิยมถือเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของคนในสังคม เนื่องมาจากพันธะสำคัญบางอย่างที่มีร่วมกัน เช่น ภาษาในการสื่อสาร หรือประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งล้วนแต่เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวและเหนียวแน่น ถึงกระนั้นการสร้างความเป็นชาตินิยมให้เกิดขึ้นในสังคม ส่งผลให้การควบคุมผู้คนในสังคมและการควบคุมกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในประเทศเป็นไปได้เรียบง่ายและเป็นหนึ่งเดียวมากยิ่งขึ้น แต่ทว่าหากพิจารณาผลที่ตามมาของการสร้างความเป็นชาตินิยมให้ลึกลงไป จะพบว่าสิ่งที่ตามมา คือ การปิดโอกาสให้ผู้คนไร้ซึ่งสิทธิและ  เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เพราะเมื่อแปลกแยกก็ถูกควบคุมโดยผู้มีอำนาจทัดทานไว้


             โดยนัยนี้ “ความเป็นชาตินิยม” ในเรื่อง “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่” ถูกถ่ายทอดผ่านตัวละคร “ก้อง” ที่มองการกระทำของตนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ผิด เพราะคิดว่าสิ่งนั้นเป็นของตน ดังข้อควํามที่ว่า“เห็นดีมาแล้วตั้งแต่ทำเหมือง ผมก็ลักมันเรื่อยมาเอาไปฆ่าให้ตายผมก็ต้องลัก มันเป็นแร่ของแผ่นดินไทย แร่ของคนไทย แร่ของปู่ย่าตายาย แร่ของผม หลีกไปเถอะ อย่างขวาง เดี๋ยวเกิดเรื่อง”


              ผู้วิจารณ์เห็นว่าผู้เขียนเลือกใช้มุมมองผู้เล่าเรื่องแบบสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ผ่านตัวละครก้องที่กำลังถ่ายทอดชุดความคิดผ่านมุมมองของตนเองให้เห็นถึงการกระทำของตนว่าเป็นสิ่งที่ไม่ทำให้เกิดผลเสียต่อผู้ใด และแร่ที่ตนกำลังขนย้ายนั้นถือเป็นสมบัติของคนในชาติอย่างตน ซึ่งการเลือกใช้วิธีการเล่าเรื่องลักษณะนี้ เป็นการถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้เห็นถึงประสบการณ์และชุดความคิดความเป็นชาตินิยมไปพร้อมกับตัวละคร อีกทั้งทำให้ได้ยินเสียงของตัวละครที่กำลังแสดงถึง  การอ้างถึงอำนาจความเป็นชาตินิยม เพราะตนคือผู้คนในชาตินั้น เพื่อให้ผู้อ่านเข้าอกเข้าใจมุมของการกระทำของตัวละครนี้มากยิ่งขึ้นและสนับสนุนการกระทำของตัวละครดังกล่าว


             แต่ทว่าอีกลักษณะกลับพบว่าตัวละครที่เป็นผู้เล่าเรื่องผ่านการใช้สรรพนามอย่าง “ข้าพเจ้า” ที่เป็นผู้เห็นต่างหรือฝ่ายปฏิปักษ์ทางด้านชุดความคิดกับตัวละครก้องกลับถูกมองว่าเป็นกลุ่มของคนที่ไม่จงรักภักดีต่อชาติเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป ซึ่งตัวละครดังกล่าวก็ถือเป็นผู้คนในชนชั้นเดียวกับตัวละครก้อง ดังข้อความที่ว่า “ก้องร้องดัง “ใครมันจะใหญ่กว่าใครให้มันรู้ไปทีเถอะน่า”และ “พี่ก้องน่ะใหญ่กว่าฉันแน่ แต่ว่านี่เป็นคำสั่งจากนายฝรั่งนายฝรั่งกับพี่ก้องน่ะใครใหญ่กว่ากัน”จะแสดงให้เห็นว่าแม้แต่ผู้คนในระดับเดียวกันก็ยังพบการแบ่งแยกชนชั้นโดยการใช้อำนาจหน้าที่เข้ามามีส่วนในการกลบหรือปิดบังความผิดของตน แล้วกล่าวร้ายผู้ที่มีความเห็นต่าง ดังข้อความที่ว่า “งั้นคุณก็ลืมชาติเสียแล้ว เห็นเขาให้ที่พักที่อยู่ให้เงินเดือนกินก็หลงสวามิภักดิ์เขาเสียจนเกินการณ์คุณก็อยู่ส่วนคุณเถอะน่า อย่ามายุ่งกับพวกผม”


            ท้ายที่สุดกล่าวได้ว่า “ความรักชาติของชาวเหมืองแร่” นำเสนอภาพของชีวิตชนชั้นกรรมาชีพที่ซ่อนเร้นไปด้วยการลดทอนของความเป็นมนุษย์ ผ่านการใช้อำนาจของความเป็นชาตินิยมเข้ามากดทับผู้มีความคิดเห็นต่าง วรรณกรรมเรื่องนี้จึงเปรียบเสมือนคันฉ่องที่ “อาจินต์ ปัญจพรรค์” ถ่ายทอดเรื่องราวการดิ้นรนของชีวิตผู้คนในเหมืองแร่ ผ่านการเล่าเรื่องอย่างแยบยล ตีแผ่ถึงโครงสร้างการกดขี่ผู้มีความเห็นแตกต่างภายใต้อำนาจชาตินิยม และการขับเคลื่อนด้วยทุนนิยม คุณค่าของวรรณกรรมเรื่องนี้จึงอาจมิได้เชื้อเชิญใครให้มาร่วมชะตากรรม แต่กลับกัน คือ การตีแผ่เรื่องราวของพวกชีวิตผู้คนในเหมืองแร่เหล่านั้นให้ได้ถึง “อำนาจของชาตินิยมที่ปะปนคนในชาติพันธุ์”

 

เอกสารอ้างอิง:
ดิเรก ชัยนาม, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, พิมพ์ครั้งที่ 1, พระนคร: โรงพิมพ์สังคมศาสตร์, 2509.

 

ความรักชาติของชาวเหมืองแร่: อํานาจของชาตินิยมของคนในชาติพันธุ์

บทวิจารณ์โดย นายนิติ กล่อมสังข์

โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์ ปีที่ 7

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ