กล่อมช้าง บทไว้อาลัยจากมนุษย์ถึงช้าง : บทวิจารณ์โดย ธรรมรัตน์ หรั่งเจริญ

กล่อมช้าง บทไว้อาลัยจากมนุษย์ถึงช้าง

 

     ช่วงกลางปี 2567 ประเทศไทยเกิดภาวะอุทกภัย ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะทาง ภาคเหนือซึ่งมีน้ำท่วมสูงในระดับที่ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนอย่างเดียว แต่ยังกระทบมาถึงช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่มีขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปางช้างแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ก็ได้รับความเสียหาย อย่างรุนแรงในช่วงเดือนตุลาคม 2567 มีช้างที่ลอยอยู่เหนือน้ำและพยายามเอาชีวิตรอด แม้จะมีเจ้าหน้าที่จาก หน่วยงานราชการเข้ามาช่วยเหลือ แต่ก็มิอาจที่จะช่วยเหลือให้ปลอดภัยได้ทั้งหมด จึงมีช้างที่ต้องล้ม (ตาย) กลายเป็นศพลอยน้ำ ข่าวนี้ทำให้เกิดความรู้สึกสงสารและสะเทือนใจที่ช้างเหล่านั้นต้องล้มไปอย่างทรมาน

 

     ด้วยเหตุนี้ คุณธัญญา สังขพันธานนท์ หรือที่รู้จักกันในนาม “ไพฑูรย์ ธัญญา” จึงได้ประพันธ์กวีนิพนธ์ บทนี้เพื่อไว้อาลัยให้กับช้างป่าที่ล้มไปจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากของปางช้างแม่แตง โดยได้รับแรงบันดาลใจ จาก “คำฉันท์กล่อมช้าง” อันเป็นวรรณคดียุคกรุงศรีอยุธยา สังเกตได้จากผู้แต่งได้ใช้คำประพันธ์เป็น อินทรวิเชียรฉันท์ 11 และกาพย์ฉบัง 16 ลักษณะคล้ายคำฉันท์ และมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับช้าง จึงนำชื่อวรรณคดี มาตั้งเป็นชื่อ “กล่อมช้าง”

 

     เนื้อหาภายในเรื่อง แบ่งเป็นสองส่วนตามลักษณะคำประพันธ์ ในส่วนอินทรวิเชียรฉันท์ 11 เป็นการบรรยายให้เห็นภาพของช้างพลาย (ช้างตัวผู้) ช้างพัง (ช้างตัวเมีย) ที่ถูกน้ำป่าพัดพาไปพร้อมกับโคลน และกองขยะที่ลอยเป็นศพจำนวนมาก และในส่วนกาพย์ฉบัง 16 เป็นการขยายความจากส่วนแรก และกล่าวไว้อาลัย ขอให้ช้างที่ล้มนั้นไปสู่ภพภูมิที่ดี ไม่เกิดมาเป็นช้างอีก ไม่มีความทุกข์เสียใจ และทิ้งท้ายด้วย ความทุกข์ระทมว่าโลกนี้มีแต่ความวุ่นวาย หมดสิ้นความเป็นธรรม ประหนึ่งจะใกล้ถึงกาลอวสาน

 

      หลังจากได้อ่านบทกวีนิพนธ์ “กล่อมช้าง” แล้ว ทำให้ได้เห็นลักษณะทางวรรณศิลป์ของผู้เขียนที่มี ความน่าสนใจ โดยยกขึ้นมากล่าวพอให้เห็นเป็นตัวอย่างได้ ดังนี้

ประการแรก การประพันธ์เนื้อเรื่องให้มีความขัดล้อกัน

                  ผู้เขียนได้ประพันธ์กาพย์ฉบัง 16 ในสามบทแรกปรากฏการใช้คำซ้ำซ้ำจากส่วนที่เป็นอินทรวิเชียรฉันท์ 11 เพื่อให้มีเนื้อความที่ขัดล้อกันกับส่วนแรก และเน้นย้ำความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เช่น ตัวอย่างที่ 1

(อินทรวิเชียรฉันท์)    "อ้าพ่อคชาชาติ   สละชีพ ณ กลางธาร

                            สายน้ำมหาศาล   ชลเชี่ยวและเกลียวกรง

                                  อ้าแม่กริณี    ทุรยุคยังอยู่ยง

                               วิบัติวินาศลง    อุทกังประดังโถม"

(กาพย์ฉบัง)   “น้ำป่าผาดโผนโคลนดิน   ท่วมบ่าธานินนทร์
                    ถึงกาลทุรยุคทุกข์เข็ญ”

ตัวอย่างที่ 2


(อินทรวิเชียรฉันท์)     “อ้าพ่อจะพี่งใคร     มหภัยคระครึกโครม
                              อ้าแม่ก็จะโทรม     พละสิ้นจะต้านไหว
                            โคลนคล่ำขยะพา    สวะบ้า ณ ราวไพร
                              ท่วมทับมิเห็นใด    ทะเลโคลนก็กลืนกิน”

(กาพย์ฉบัง)       “ผีป่าสำแดงแผลงเป็น    นรกเยียบเย็น
                   กลืนกินส่ำสัตว์พลัดหาย
                     อ้าพ่อ อ้าแม่ พังพลาย     เท้งเต้งลอยตาย
                 กลางโคลนสำลักปลักตม”

ประการที่สอง การแสดงอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ที่มีต่อช้าง

ผู้เขียนถ่ายทอดความรู้สึกเสียใจ ไว้อาลัยต่อช้างโดยอธิษฐานขอให้ไปสู่สุคติภูมิ และใช้คำเรียก แทนช้างพลายว่าพ่อ เรียกช้างพังว่าแม่ เช่นเดียวกับการไว้อาลัยแก่มนุษย์ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องการ เวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ทั้งปวง และแสดงให้เห็นถึงความรัก ความผูกพันของมนุษย์ที่มีต่อช้าง

เช่น               “อ้าพ่ออย่าเลยลันทม     ชีพลับดับจม
     จงสู่ห้วงหาวหัตถี
                      อ้าแม่เยาวยอดกริณี      อย่าเลยโศกี
 ไปสู่ดวงดาวพราวพรรณ”


นอกจากนี้ ผู้เขียนได้ถ่ายทอดความรู้สึกสงสารต่อช้างที่ต้องล้มเป็นจำนวนมาก จึงอธิษฐาน ว่าหากชาติหน้ามีจริงก็ขออย่าได้เกิดเป็นช้างอีก ดังจะเห็นได้จากบทที่ว่า

                     “ไปแม่ จงไปลำพัง      โลกหน้าถ้ายัง
อย่าได้เกิดเป็นกุญชร”

 

ประการที่สาม การกล่าวเกินจริง ผู้เขียนได้พรรณนาภาพอธิพจน์ (การกล่าวเกินจริง) เพื่อช่วยสร้าง อารมณ์ให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกร่วมกันและเกิดจินตภาพ

เช่น                   “น้ำป่าผาดโผนโคลนดิน      ท่วมบ่าธานินทร์
             ถึงกาลทุรยุคทุกข์เข็ญ           

                          ผีป่าสำแดงมาเป็น            นรกเยียบเย็น
       กลืนกินส่ำสัตว์พลัดหาย       

                                อ้าพ่อ อ้าแม่ พังพลาย      เท้งเต้งลอยตาย
 กลางโคลนสำลักปลักตม”

จากบทเหล่านี้ ผู้เขียนได้บรรายให้เห็นถึงภาพความอันตรายของน้ำป่าไหลหลากที่เป็นเหมือน นรกคอยกลืนกินสรรพสัตว์ทั้งหลายแม้กระทั่งช้างที่เป็นสัตว์ใหญ่ ก็คร่าชีวิตจนลอยเป็นศพเหนือผิวน้ำเช่นกัน

                     “ไปเถิดไปพ่องามงอน          โลกหน้าสั่นคลอน

ทุรยศคดโกงโหงพราย
                   สิ้นธรรมสิ้นทางทุกภาย           อย่าเลยเสียดาย
โลกาวสานใกล้มา”


       จากบทนี้ ผู้เขียนได้แสดงความรู้สึกสิ้นหวังที่มีต่อโลกมนุษย์ว่ามีแต่ความวุ่นวาย ไม่มีความ เป็นธรรม ประหนึ่งโลกจะใกล้ถึงกาลสิ้นสุด

       จากลักษณะวรรณศิลป์ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าผู้เขียนถ่ายทอดความรู้สึกสงสารและเสียใจอย่าง แรงกล้าแทนผู้คนในสังคมประกอบกับการใช้คำกล่าวเกินจริงที่ก่อให้เกิดจินตภาพ ทำให้ผู้อ่านเกิดความสลด สังเวชและสงสารที่สัตว์ร่วมโลกร่วมมนุษย์อย่างช้างต้องมาล้มเป็นจำนวนมาก

       ผลงานเรื่อง “กล่อมช้าง” จึงเป็นผลงานตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความรัก ความผูกพันของช้างที่มีต่อ ผู้คนในสังคม เนื่องจากผู้คนในสังคมยกย่องช้าง ในฐานะสัตว์คู่บ้านคู่เมือง คู่พระบารมีของพระมหากษัตริย์ และได้รับเกียรติอย่างสูงในระดับที่มีการประพันธ์กวีนิพนธ์เพื่อไว้อาลัยเช่นเดียวกับการเขียนคำไว้อาลัยแก่ มนุษย์ จึงเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่า ช้างมีความสำคัญต่อคนไทยเป็นอย่างยิ่ง เมื่อเกิดเหตุภัยต่อ ชีวิตของช้าง จึงรู้สีกเสียใจและเสียดายที่มีการสูญเสียสัตว์คู่บ้านคู่เมืองเป็นจำนวนมากเช่นนี้

 

บทวิจารณ์โดย ธรรมรัตน์ หรั่งเจริญ

โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่ งานวิจารณ์ ปีที่ 10

 

Writer

The Reader by Praphansarn