ชั่วชีวิตนี้เริ่มจากเกิดจบลงที่ตาย หากจะให้มนุษย์ได้เลือกระหว่างสองคำนี้ ทุกคนคงพร้อมใจเลือกแต่ด้านที่น่ายินดีอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ยังมีผู้หญิงคนหนึ่งที่น้อมรับความตายที่มาถึงเธอ เพราะมันมาพร้อมกับสิ่งมีค่ายิ่งกว่าของขวัญ นี่เป็นเรื่องจริงจากปลายปากกาของชัญวลี ศรีสุโข หมอสูตินรีเวชที่เขียนถึงแม่คนพิเศษที่เธอได้เจอ
บุคคลใดอยากรู้จักและคลุกคลีกับความเจ็บป่วยและความตาย นอกจากบวชเป็นพระแล้วก็ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งคือมาเป็นหมอ แต่สิ่งที่เห็นว่าจะเพิ่มความสดใสให้ชีวิตหมอออยู่บ้างคงเป็นช่วงที่ได้เห็นเด็กแรกเกิด หมอสูตินรีเวชคือหมอที่ได้เอกสิทธิ์นั้น แต่ก็ใช่ว่างานนี้จะเป็นงานที่สนุกสดใสเสียอย่างเดียว ขึ้นชื่อว่าเป็นหมอความรับผิดชอบที่ตามมาก็เป็นดังโซ่ตรวนขาข้างหนึ่งไว้กับคุก หมอประเภทหมอสูติฯ นั้นจัดได้ว่าเป็นหมอที่ได้รับความเสี่ยงมากที่สุดสาขาหนึ่งในวงการแพทย์ เพราะเหตุว่าคนที่มาหาหมอสูติฯ นั้นไม่ใช่คนไข้ การตั้งครรภ์ไม่ใช่ตัวโรคหากเป็นความเสี่ยงชนิดหนึ่ง ดังนั้นหน้าที่หลักๆ ของหมอสูติฯ คือการดูแลคนหนึ่งคนครึ่งจนกลายเป็นสองคน ความชำนาญของหมอสูติฯ นั้นเกิดขึ้นจากการพบเห็นและได้รักษาคนไข้ ผู้เขียนของเราถือว่าเป็นหมอทำคลอดชำนาญการผู้หนึ่งที่ได้พบกับเรื่องราวของแม่ต้นไผ่ แม่ผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ของเรา หนึ่งในเรื่องราวจากหนังสือพฤกษามาตา
แม่ต้นไผ่เป็นผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 24 ปี มาโรงพยาบาลด้วยอาการเบื่ออาหาร อาเจียน ท้องเสียบ่อย บางครั้งก็ท้องผูก น้ำหนักลด ขณะที่เธอมาหาหมอเธอกำลังตั้งครรภ์ลูกคนแรกได้ 5 เดือนเศษ แม่ต้นไผ่มีประวัติพยายามมีลูกมา 5 ปี สามารถกล่าวได้ว่าเธอและสามีเป็นคู่สามีภรรยาที่มีลูกยาก ในเรื่องจะเห็นได้ว่าแม่ยายของแม่ต้นไผ่นั้นสนิทกับเธอและสามีมากพอสมควร เมื่อซักประวัติเสร็จคุณหมอได้ทำการตรวจร่างกายด้วยการคลำท้องและอัลตราซาวนด์ ปรากฏว่าเด็กในท้องปกติดีแต่พบความผิดปกติเป็นก้อนขรุขระด้านซ้ายของมดลูกแม่ต้นไผ่ คุณหมอจึงทำการตรวจทางทวารหนัก ซึ่งในการตรวจหมอจะใส่ถุงมือป้ายน้ำยาหล่อลื่นและเอานิ้วชี้ล้วงเข้าไปทางทวารหนักคนไข้ การตรวจวิธีนี้เป็นวิธีการตรวจง่ายๆ ที่สามารถใช้วินิจฉัยได้หลายโรค ในทางศัลยกรรมจึงมีมุกตลกที่แซวการตรวจนี้ว่ามีข้อห้ามทำอยู่แค่ 2 อย่าง คือคนไข้ไม่มีรูทวารหรือหมอไม่มีนิ้ว
เพราะฉะนั้นหากใครไปพบแพทย์ด้วยอาการท้องผูกหรือถ่ายเป็นเลือดแล้วล่ะก็...เตรียมใจโดนตรวจทางรูทวารได้เลย คุณหมอคลำเจอก้อนในผนังรูทวารของแม่ต้นไผ่ ในหนังสือคุณหมอได้อธิบายว่ามีลักษณะเป็น “rectal shelf” เป็นลักษณะที่บ่งบอกถึงพยาธิสภาพว่าก้อนเนื้องอกที่พบนั้นเป็นเนื้อร้าย ประกอบกับว่าเนื้อร้ายในระบบทางเดินอาหารส่วนใหญ่มักจะอยู่บริเวณใกล้กับทวารหนัก บางตำราบอกว่าไม่สามารถคลำเจอได้โดยการตรวจทางทวารหนัก แต่ยังมีหมอหลายคนที่สามารถคลำและตรวจพบก้อนเนื้องอกนี้ได้ ดังนั้นก้อนเนื้องอกที่คุณหมอผู้เขียนคลำพบในแม่ต้นไผ่จึงมีโอกาสเป็นเนื้อร้ายสูงมาก คุณหมอจึงส่งตรวจชิ้นเนื้อเพื่อทำการยืนยันผลการวินิจฉัย
แต่เมื่อพบเนื้องอกนี้ทีมการรักษาจึงต้องเร่งหาวิธีรักษาแม่ต้นไผ่อย่างรวดเร็ว คุณหมอส่งตัวแม่ต้นไผ่ให้เป็นคนไข้ในความดูแลของศัลยแพทย์ เพราะเนื้องอกในระบบทางเดินอาหารอยู่ในความดูแลของหมอผ่าตัด แม่ต้นไผ่จึงกลายเป็นคนไข้จริงๆ คนไข้ที่เป็นโรคและโชคร้าย...เป็นโรคมะเร็ง หากจะขยายความความโชคร้ายของแม่ต้นไผ่ว่ามะเร็งนี้มีที่มาได้อย่างไร ทางการแพทย์ยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงว่ามะเร็งในระบบทางเดินอาหารนั้นเกิดจากอะไร ในหนังสือไม่มีข้อมูลว่าแท้จริงแล้วแม่ต้นไผ่เป็นมะเร็งชนิดไหนกันแน่ แต่จากการสันนิษฐานตามที่ผู้วิจารณ์ได้เรียนมาน่าจะเป็นมะเร็งบริเวณ Sigmoid colon ซึ่งมีผู้ให้ความเห็นว่าสาเหตุการเกิดอาจเกิดจากการที่ท้องผูกและได้รับการเสียดสีจากอุจจาระ ทำให้ลำไส้บริเวณนี้มีการตายและแบ่งตัวมากจนเป็นมะเร็งได้ หากลองย้อนกลับไปอ่านย่อหน้าที่สามของบทวิจารณ์นี้ จะเห็นได้ว่าแม่ต้นไผ่มีประวิติท้องผูกบ้าง แต่นี่อาจเกิดหลังจากแม่ต้นไผ่เป็นมะเร็งแล้วและทำให้อุดตันทางเดินอาหารได้
ผลการตรวจชิ้นเนื้อออกมาว่าแม่ต้นไผ่เป็นมะเร็ง ในหนังสือคุณหมอไม่ได้บอกว่าเป็นมะเร็งระยะใด แต่จากอาการของแม่ต้นไผ่แล้วน่าจะเป็นมะเร็งระยะท้ายๆ ต้องทำการผ่าตัดรักษา จากนั้นต้องให้ยาเคมีบำบัดตามสูตร แน่นอนว่าการผ่าตัดต้องส่งผลถึงลูกในท้องร้ายแรงที่สุดก็แท้งลูก และถึงผ่านมาได้ก็ต้องให้คีโมซึ่งอาจทำให้เด็กในท้องพิการหรือผิดปกติ เนื่องจากคีโมคือยาที่ไปหยุดการแบ่งเซลล์ อวัยวะเด็กที่กำลังเจริญเติบโตในครรภ์ต้องโดนกระทบอย่างไม่ต้องสงสัย (ในทางการแพทย์จะมีช่วง Critical period ในช่วง 2 เดือนแรก จะเป็นการสร้างอวัยวะ หลังจากสองเดือนแรกจะเป็นช่วงที่ให้อวัยวะที่ถูกสร้างเจริญเติบโตจนสมบูรณ์)
ในกรณีของแม่ต้นไผ่นั้นทางการแพทย์มักจะมีความเห็นว่าอาจให้รักษาด้วยการผ่าตัดและคีโมได้ เพราะมองในมุมว่าต้องช่วยรักษาชีวิตของผู้เป็นแม่เป็นหลัก แต่หากมองในมุมกลับกันถ้าหากมะเร็งที่แม่ต้นไผ่เป็นเป็นมะเร็งระยะท้ายๆ โอกาสที่แม่ต้นไผ่จะรับการรักษาและมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก 5 ปีจะมีประมาณ 50-80% (คิดจากมะเร็งระยะที่ 3) ซึ่งอาจไม่ถึงวันที่แม่ต้นไผ่จะสามารถมีลูกคนใหม่ได้ คงมีคำถามเกิดขึ้นในใจแม่ต้นไผ่มากมาย เธอจะเลือกรับการรักษามะเร็งดีไหม หากเธอเลือกรักษามะเร็งแล้วแท้งลูกคนนี้มีโอกาสสูงมากที่เธอจะไม่มีลูกอีก แทบจะกลายเป็นว่าเธอจะเลือกลูกคนนี้ หรือเลือกต่อชีวิตออกไปอีกประมาณ 5-10 ปี
สำหรับฉัน...ฉันมองว่าเด็กคนนี้เป็นของขวัญ เด็กคนนี้ไม่ใช่ความผิดที่ทำให้แม่ต้นไผ่ต้องตาย เด็กคนนี้เป็นชีวิตที่เหลืออยู่ คือชีวิตที่จะอยู่ต่อไปได้อีกสิบๆ ปี แม่ต้นไผ่อาจต้องเสียชีวิตอยู่แล้วจากมะเร็งไม่วันใดก็วันหนึ่ง เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่ชีวิตของลูกคนนี้กับชีวิตแม่ต้นไผ่ แต่เป็นชีวิตของลูกคนนี้กับชีวิตอีก 5-10 ปีพร้อมกับมะเร็งที่รักษาไม่หาย เผลอจะเป็นเพียงไม่ถึง 5 ปีเสียด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามแม่ต้นไผ่ตัดสินใจเลือกลูก ฉันไม่คิดว่ามันเป็นทางเลือกที่ถูกต้องที่สุด แต่ถ้าเป็นฉัน ฉันก็คงทำคล้ายๆ อย่างนี้
เรื่องของแม่ต้นไผ่จบลงด้วยความตายของแม่และชีวิตที่เริ่มนับหนึ่งของลูก เรื่องความตายแม้เป็นเรื่องธรรมชาติมันก็สะเทือนใจทุกคนที่ได้ยิน แต่ถ้ามองดีๆ แล้ว การตายของแม่ต้นไผ่เป็นการตายที่บรรลุจุดประสงค์ของการมีชีวิตอยู่ ตามธรรมชาตินั้นข้อสำคัญของสิ่งมีชีวิตคือการเคลื่อนไหว การเผาผลาญอาหารได้และการสืบพันธุ์ ซึ่งแม่ต้นไผ่ก็ได้ให้กำเนิดลูกตามที่เธอต้องทำในฐานะสิ่งมีชีวิตแล้ว แต่ถ้าในความเป็นมนุษย์ หากเราอ้างอิงจากลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (maslow's hierarchy of needs) ในขั้นสุดท้ายซึ่งเป็นขั้นความสมบูรณ์ของชีวิต (self-actualization) มาสโลว์กล่าวสรุปไว้ว่า “อะไรที่บุคคลเป็นได้ เขาต้องเป็น” หรือพูดอีกแง่หนึ่งคือการไปถึงจุดสูงสุดของศักยภาพ แม้ว่าปัจจุบันความเท่าเทียมทางเพศจะทำให้ผู้หญิงสามารถทำอะไรที่หลากหลายได้กว่าเก่า ทำอาชีพได้ทัดเทียมผู้ชาย แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงยังคงต้องการคือการมีลูก มีครอบครัวเป็นของตนเอง
การเป็นแม่เป็นอย่างเดียวที่ผู้หญิงเท่านั้นที่เป็นได้ 9 เดือนที่ลูกอยู่ในท้องของแม่เป็นสายใยที่พิเศษที่สุดรูปแบบหนึ่ง มันคือสัญลักษณ์ของการให้ ให้โดยที่ไม่ต้องการสิ่งตอบแทน ฉันคิดว่าหลังจากคลอดแล้วแม่ก็ยังคงให้ลูกโดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทนใดๆ แต่ก็มีแม่บางคนที่ไม่ได้รักลูกและทอดทิ้งลูกไปในภายหลัง แต่การตั้งท้องนี้เป็นการให้โดยธรรมชาติ ไม่ว่าแม่คนนั้นต้องการหรือไม่ต้องการลูก ร่างกายก็จะสร้างเด็กจนครบกำหนดคลอดออกมา
ผู้เขียนจบเรื่องแม่ต้นไผ่ลงด้วยคำพูดว่า “ต้นไผ่ต้นไหนก็คงไม่หลีกเลี่ยงที่จะออกดอก แม้รู้ว่าความตายกำลังจะมาถึง ทั้งอาจยินดีต้อนรับกับลมหายใจสุดท้ายของชีวิต ที่มาพร้อมกับการแพร่พันธุ์ไปทั่วผืนแผ่นดิน” ฉันว่านั่นแหละคือสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษยชาติ คือการมีชีวิตอยู่ต่อและต่อไป จากหนึ่งรุ่นสู่ร้อยพันรุ่นต่อมา “พฤกษามาตา เรื่องแม่ต้นไผ่” ของ ชัญวลี ศรีสุโข โดย น.ส.มุทิตา งามละมัย ปี 4 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย