“คำพิพากษา” นวนิยาย ที่บอกเล่าเรื่องราวของการพิพากษาของมนุษย์ด้วยกัน ผลงานอันทรงคุณค่าของ “ชาติ กอบจิตติ” ที่ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือรางวัลซีไรต์ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๕ การนำเสนอที่เอาจิตใจของมนุษย์ในมุมลึก มาอธิบายที่สื่อถึงอารมณ์ประกอบการดำเนินเรื่อง ในการปฏิบัติของมนุษย์ต่อเหตุการณ์อันเกี่ยวข้องกับศีลธรรม
ผู้เขียนได้สร้างเรื่องราวโดยใช้สังคมชนบทเป็นบรรยากาศในการเดินเรื่อง นำเสนอชีวิตคนชนชั้นล่าง ที่แฝงวัตถุประสงค์ให้ทุกคนได้เข้าถึงความรู้สึก เหมือนการได้อ่านคำพิพากษาสักหนึ่งเรื่อง ผ่านการถ่ายทอดชีวิตของภารโรงที่ชื่อ “ฟัก” จำเลยของเรื่อง ที่เป็นตัวละครหลัก ผู้มีความเชื่อมั่นในความดีงาม ของการทำหน้าที่ในสังคม ความปรารถนาของเขาก็เหมือนมนุษย์ทั่วไปที่ต้องการมีชีวิตอยู่ปกติ อย่างสงบสุข การเปิดตัวด้านความหลังของฟัก ที่ผู้เขียนเชื่อมโยงให้เห็นภาพว่า ชาวบ้านมีการยกย่องว่าฟักเป็นคนดี ในการมาดูแลพ่อ เพื่อเป็นลูกกตัญญู ที่เรารู้กันว่าคือค่านิยมของสังคมไทย ก่อนหน้าหน้านี้พ่อของฟักได้รับอคติจากชาวบ้าน ว่าได้เอาสมทรงผู้หญิงสติไม่สมประกอบมาเป็นเมีย แต่แท้จริงแล้วพ่อของฟักต้องการจะดูแลสมทรง เพื่อไม่ต้องให้เธอออกไปเร่รอน จนเมื่อพ่อของฟักได้มาเสียชีวิต เขาจึงต้องรับชะตากรรม โดยการถูกชาวบ้านได้พิพากษาว่าเอาสมทรงเมียพ่อ เป็นเมียของตัวเอง ที่หากมองด้านความเป็นจริงฟักมีทางเลือกที่จะทิ้งสมทรงไป แต่ฟักกลับไม่เลือกทำเช่นนั้น เขาเลือกจะดูแลสมทรงต่อไป เพื่อการทำหน้าที่ของลูกและความเป็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ตัวละคร “สมทรง” จำเลยนอกสายตาของผู้พิพากษา ที่เธอเปรียบเสมือนเป็นนางเอกของเรื่อง เป็นการข้ามกฎเกณฑ์ของการเป็นนางเอกเหมือนในนวนิยายเรื่องอื่น ด้วยการวางให้บทบาทของ สมทรง เป็นหญิงสาวสติไม่สมประกอบ มีพฤติกรรมผิดแปลกไปจากจารีตของสังคม การดำเนินในเรื่องราวในนวนิยายที่ผู้เขียนพยายามถ่ายทอดให้ตัวละครสมทรง มีความเป็นอิสระของตัวตน มีพฤติกรรมที่ต่างไปจากจารีตประเพณีของชาวบ้าน ทั้งการแต่งกาย การพูด และพฤติกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะการโชว์ของลับ จนทำให้เธอถูกทำให้เป็นคนอื่นในสายตาชาวบ้าน ตั้งแต่เริ่มต้น กลับกันเธอผู้นี้มีความซื่อสัตย์ คอยดูแลฟักในยามที่ฟักต้องถูกทารุณ แสดงถึงความรัก ความผูกพันธ์ของสมทรงที่มีต่อฟัก แม้จุดจบของสมทรงที่ผู้เขียนอาจจะลืม หรือตั้งใจ ที่ตอนจบของนวนิยาย เธอก็ไม่ต่างอะไรกับการถูกลืมให้หายไป ของการตัดจบที่ชาวบ้านนำตัวเธอพาส่งโรงพยาบาล
ชนวนโศกนาฎกรรมคดีนี้ที่ผู้เขียนผูกเรื่อง มาจาก “ความไม่รู้ถึงความจริง” ด้วยความหวังดีของฟัก ที่ใส่เสื้อให้สมทรง เนื่องจากเธอได้ถอดเสื้อออกมา แล้วมีคนพบเห็นพอดี ทำให้คิดว่าฟักและสมทรงได้มีอะไรกัน ทั้งที่ความจริงแล้ว ไม่ได้เป็นเช่นนั้น ฟักพยายามบอกถึงความจริง แต่ก็กลับไม่มีผู้ใดเชื่อ ชาวบ้านได้ตัดสินจากสิ่งที่เห็นไปแล้ว ความไม่รู้นำไปสู่การเล่าปากต่อปากของชาวบ้าน โดยไม่มีใครในหมู่บ้านได้รู้หรือเห็นว่าฟักได้เสียกับสมทรงผู้เป็นแม่เลี้ยงจริงหรือไม่ แต่ทุกคนก็พร้อมที่จะปักใจเชื่อตามคำพูดที่เล่าต่อๆ กัน ดังประโยคที่ว่า
“พวกคอสุราคุยกันเสียงหัวเราะเฮครืนๆ ยิ่งเมาก็ยิ่งมัน คุยกันไม่พ้นเรื่องอย่างว่าของฟักกับม่ายสมทรง ส่วนพวกผู้หญิงที่ขัดถูหม้อไหอยู่ในครัว ที่เป็นสาวรุ่นได้ยินเข้าก็แก้มแดงด้วยความอายทำทีเป็นไม่ได้ยินกับเสียงที่ดังออกมา ส่วนสาวใหญ่ใจถึงมีลูกผัวเคยผ่าน ฟังแล้วก็ชอบอกชอบใจมองตายิ้มแย้มอย่างรู้กัน” (น. ๕๖)
เรื่องของฟักและสมทรงได้กลายเป็นเรื่องที่ชาวบ้านนำมาคุยไปในทางเสียหายของเรื่องเพศ ที่ทัศนคติของชาวบ้านเองที่แต่ละคนต่างมองเรื่องเพศของฟักและสมทรงเป็นเรื่องตลก สนุกสนานในการนำมาพูดคุย จึงเป็นการยัดเหยียดเรื่องเสียหายให้แก่ทั้งคูนำเสนอให้เห็นมิติการให้คุณค่าของสังคมที่ร่วมกันในการใส่ความคิดเห็นตัวเองลงไปเพื่อความสนุกสานในการนำมาพูดคุยต่อกัน โดยที่ความจริงได้ถูกประกอบสร้างขึ้นโดยการให้ความหมายจากผู้คนในสังคม ทำให้ฟักต้องรับชะตากรรมกับสิ่งที่ตนเองไม่ได้ก่อขึ้น จากลมปากของชาวบ้าน ดังประโยคที่ว่า
“เขาไม่อยากจะเชื่อ แต่เชื่อเพียงสิ่งเดียวว่า ความชั่วร้ายที่ต้องเผชิญอยู่ขณะนี้นั้นทั้งหมดมันเป็นสิ่งที่มาจากคนอื่นทั้งสิ้น” (น. ๕๗)
ภาวะอารมณ์ฟักที่ต้องเผชิญกับความโหดร้าย จากคำนินทาของชาวบ้าน ความดีในอดีตที่ผ่านมาของเขาได้กลายเป็นสิ่งไร้ค่า ทำให้เขานั้นต้องรับเคราะห์กรรมกลายเป็นจำเลยอย่างไม่ทันตั้งตัว โดยต้องถูกเหยียบย่ำด้วยคำพูด สายตา และกิริยาท่าทาง การแทรกแนวคิดของผู้เขียนที่สื่อถึงอารมณ์ของฟัก ในความสับสนต่างๆ ด้วยภาพของสังคม การที่แม้จะทำดีมาสักแค่ไหน หากทำผิดครั้งเดียว ความผิดพลาดนี้จะเป็นสิ่งที่ทุกคนจะจดจำได้เป็นอย่างดี ด้วยหากเปรียบเทียบก็เหมือนกับ จุดสีดำ ในพื้นหลังสีขาว สีดำมักจะเด่นกว่าสีขาวเสมอ เพราะคนเราจะจำเรื่องไม่ดีได้มากกว่าเรื่องดี ทำให้ฟักมองย้อนความดีของภาพอดีตตัวเอง ดังประโยคว่า
“ได้นั่งคิดทบทวนถึงการกระทำที่ผ่านๆ มา ขณะนั้นเองความดีก็เข้ามาพร่ำบอกเขาว่า ตัวเองกลายเป็นคนชั่ว คนเลว คนขี้เหล้าเมายาไปแล้ว และเมื่อคิดถึงสิ่งดีงาม ก็ดูเหมือนเขายิ่งห่างไกลกับมันมากขึ้น” (น. ๑๗๖)
ความสับสนทำให้ฟักหันไปกินเหล้า แท้จริงแล้วฟักไม่ได้ต้องการเลือกในเส้นทางนี้ การหันไปหาเหล้าก็เพื่อหนทางการปัญหาชีวิต แสดงให้เห็นถึงจุดการที่มนุษย์เลือกทำอะไรไปสักอย่างย่อมมีเหตุผลในตัวเอง มนุษย์ต้องเลือกในสิ่งที่เห็นว่าได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ เพราะความสับสน ไม่มีทางไป ฟักต้องการอิสรภาพในการปลดปล่อยความทุกข์ การกินเหล้าของฟักจึงเป็นการที่ถูกสภาพแวดล้อมบีบบังคับ แต่มันยิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงไปกว่าเดิม ฟักกลายเป็นคนขี้เหล้าในสายตาของชาวบ้าน
ความโหดร้ายไม่หยุดแค่นั้น ผู้เขียนโยงเรื่องให้เป็นโศกนาฎกรรมอย่างถึงที่สุด ด้วย “ครูใหญ่” ผู้เขียนได้วางให้ตัวละครครูใหญ่ เป็นหลักฐานสำคัญ ในการพิพากษาฟัก ที่ในสายตาชาวบ้านเคารพนับถือและไว้วางใจ รวมไปถึงตัวฟักที่ไว้ใจครูใหญ่ยอมทำงานตามที่ครูใหญ่สั่งเพื่อการประกอบสร้างในสิ่งที่ครูใหญ่ปรารถนาให้ตัวเองดูดีในฐานะทางสังคม ของคนเป็นผู้มีอำนาจนิยม ด้วยสภาพค่านิยมทางสังคมในการแบ่งชนชั้นวรรณะ ยกย่องผู้มีหน้าตาในสังคม ให้อยู่สูง ตัวครูใหญ่นี้ได้โกงเงินของฟัก หาว่าฟักนำเงินไปซื้อเหล้ากินหมด การนำเสนอว่าเป็นสิ่งที่อันตรายไม่แพ้อคติของมนุษย์ นั้นก็คือ “ความโลภ” ที่ทำให้จิตใจมนุษย์หิวโหย เป็นต้นเหตุให้ทำผิดศีลธรรม แล้วการเรียกร้องของฟัก เหมือนกับตอกย้ำความเป็นคนเลวในสายตาของชาวบ้าน โอกาสจึงเข้าทางครูใหญ่ ที่แสดงบทบาทของการไม่ติดใจความผิดฟัก ทั้งที่มันคือความจริงทั้งหมด ดังประโยคที่ว่า
“สายตาทุกคู่ของชาวบ้านที่มองมายังภาพของครูใหญ่ซึ่งยืนให้อภัยฟักอยู่นี้ เหมือนกับได้มองภาพพุทธประวัติที่แขวนอยู่ที่วัด ตอนพระพุทธองค์เทศนาโปรด องคุลีมาลย์ บางคนหันเข้าซุบซิบกันถึงความดีของครูใหญ่ที่มีใจเมตตาราวกับพระไม่นึกโกรธไอ้ฟักทั้งๆ ที่มันกล่าวหาให้เสียชื่อเสียง” (น. ๒๗๖)
ไม่มีใครสนใจกับสิ่งที่ฟักเป็นคนกล่าวหา มันยิ่งเพิ่มพูนถึงความเกลียดชังที่พวกเขาเหล่านี้มีต่อฟัก และเพิ่มการให้คุณค่าด้านบวกที่ยิ่งขึ้นแก่ครูใหญ่ ผู้เขียนที่นำเอาหลักธรรมของศาสนามาเปรียบเทียบถึงสภาพสังคมว่า “ศีลธรรม” เป็นสิ่งที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือยกย่อง แต่ในทางกลับกันชาวบ้านกลับไม่ถึงเคารพศักดิ์ศรีของตัวฟัก ชาวบ้านร่วมมือในการรุมทารุณฟักอย่างพร้อมใจกัน ทั้งที่ว่าเป็นสิ่งผิดหลักศีลธรรมในการทำร้าย จุดเปรียบเทียบนี้จึงมองเห็นชัดว่าเป็นการเสียดสีของความย้อนแย้งในศีลธรรมของคนในสังคม
เมื่อนำตัวละครหลักทั้ง ๓ คน มาแยกให้เห็นภาพ คือ สมทรง ในสายตาชาวบ้านเธอคือคนอื่น เป็นคนนอกสายตา ฟัก ที่ชาวบ้านเห็นว่าอยู่เอาแม่เลี้ยงเป็นเมีย และไม่ว่าฟักจะทำอะไร มันก็จะกลายเป็นเรื่องที่ผิดในสายตาชาวบ้าน และครูใหญ่ คนที่ทุกคนยกย่องในสังคม ภาพลักษณ์ของชาวบ้านเป็นคนมีเกียรติ เป็นคนดี ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะถูก และได้รับการยกย่องเสมอในสายตาชาวบ้าน
จุดจบของนวนิยาย คือ ความตายของฟัก ที่ได้ตายไปพร้อมกับความจริงทั้งหมด โดยเขาไม่มีโอกาสได้อธิบาย หรือได้แก้ต่างความผิดของตัว เป็นบทสรุปของโศกนาฎกรรม ที่ว่า “โศกนาฏกรรมสามัญ ที่มนุษย์กระทำและถูกกระทำอย่างเยือกเย็นในภาวะปกติ ” ที่เป็นถ่ายทอดความเยือกเย็นของมนุษย์ ของการสร้างความชอบธรรม เพื่อให้สมกับสิ่งที่ฟักควรจะได้รับ เป็นความเชื่อของสังคม ที่กลายมาเป็นเรื่องอยู่เหนือเหตุผล ในการร่วมกันลงมือกระทำ
“ชาวบ้าน” เปรียบเสมือนโจทก์ที่กล่าวหา และเป็นทั้งตุลาการ คอยพิพากษาตัดสินของเรื่อง เป็นกลุ่มตัวละคร ผู้เขียนแสดงให้เห็นถึงมิติของขบวนการทางสังคม อย่างที่ชาวบ้านร่วมกันมีอคติต่อฟักและสมทรง แม้คนอื่นที่ไม่ได้รับรู้ ก็เห็นตามไปด้วย โดยการกระตุ้นความตื่นตัวและปรับเปลี่ยนโลกทัศน์ในโครงสร้างสังคม กลายเป็นกระแสสังคมที่ทุกคนจับตามองและร่วมกันกระทำ และ“สัปเหร่อไข่” พยานคนเดียวที่จะช่วยเหลือฟักได้ เพราะคือผู้รู้เห็นทุกอย่าง แต่ก็ไม่กล้าจะออกตัวช่วยเหลือฟัก เขาต้องยอมรับรู้เหตุการณ์ทั้งหมด และทำเป็นไม่ยินดี หรือยินร้ายอะไร (ปัจจุบันคงเรียกว่าอยู่เป็น) ด้วยเหตุผล คือ อิทธิพลของขบวนการทางสังคมที่คอยปิดกั้น จนทำให้เขาทำได้แต่มองเหตุการณ์ทั้งหมดด้วยความสงสารฟัก ตั้งแต่ต้นไปจนกระทั่งฟักตาย การวางตัวละครของสัปเหร่อไข่ ทำให้นวนิยามมีความลงตัวอย่างที่สุดของผู้เขียนที่ต้องการนำเสนอของความโหดร้าย
คุณค่าทางอรรถรสของนวนิยายเรื่องนี้ ถือเป็นมิติใหม่ของงานวรรณกรรมที่มีความกระชับของคำในการเดินเรื่อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงสภาพทางสังคมศาสตร์ ของคนในสังคมที่จะทรงอิทธิพลต่อการดำเนิน เรื่องใด เรื่องหนึ่งออกมา และจะมีความนิยมใหม่เกิดขึ้นมาเสมอ จากสภาพของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นความทันสมัยของนวนิยาย ที่อธิบายว่า ไม่ว่าอย่างไร สังคมก็เป็นเช่นนี้ต่อไป
การเน้นตีแผ่ในแง่มุมของจิตใจมนุษย์ แม้จะเป็นการที่ดูโหดร้าย ไม่ได้นำเสนอมุมสวยงาม อย่างเช่นเรื่องอื่น แต่นั้นทำให้ผู้อ่านรู้ว่ามันเป็นเรื่องจริง ทำให้ได้มาทบทวนตัวเองว่าได้เคยกระทำ และถูกกระทำเช่นนี้ หรือไม่ จึงไม่น่าแปลกใจว่าจะสามารถดึงดูดอารมณ์ของผู้อ่าน เหมือนได้มาอ่านคำพิพากษาชีวิตจริง และรับรู้ว่าการเหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ถือเป็นเรื่องปกติที่เราต้องพบเจอ ทั้งคำพูด และการกระทำต่างๆ
และความตั้งใจการถ่ายทอดให้เข้าถึงค่านิยมของสังคม ว่าการเชิดชูคนที่เราคิดว่าเป็นคนดี เราแน่ใจแล้วหรือว่าเขา คือคนดี หรือการประณามว่าคนนั้นเป็นคนไม่ดี คนเลว เรามองเขาจากอะไรกันแน่ เพราะทุกอย่างที่เรารับรู้กัน มันอาจไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด เพราะในสังคมที่จะมองว่าคนนั้นเป็นคนดี คนนี้เป็นคนเลว ก็มองตามบรรทัดฐานของสังคม ที่ทุกคนหลงคิดไปว่า นั้นคือมาตรฐานการวัดค่าคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ที่ตกลงแล้ว เราสร้างบรรทัดฐานกันขึ้นมาเพื่อต้องการอยู่ร่วมกัน หรือสร้างมันขึ้นมาเพื่อให้เกิดการแบ่งแยกกันกันแน่
ดังนั้นข้อคิดสำหรับนวนิยายเรื่องนี้คงให้แง่ที่ดีว่า เราควรต้องกลั่นกรองและใช้วิจารณาญาณถึงทุกเรื่องราวในสังคมที่แปรเปลี่ยนไป ให้ดีอย่างที่สุด อย่าให้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผลของการใช้วิจารณาญาณ ที่มันอาจทำให้เราได้ไปหลงพิพากษาตัดสินใครอย่างเยือกเย็นด้วยอคติที่เรามี โดยแทบจะไม่รู้ถึงความจริงทั้งหมด การเห็นอาจเป็นเพียงแค่แง่มุมเดียวที่ได้รับรู้ แล้วมันจะก่อให้เกิด “อคติ” ที่จะมาบดบัง ปิดกั้น ถึงมโนธรรมของศักดิ์ความเป็นมนุษย์ออกจากกัน เพราะในจุดต่ำที่สุดแล้วนั้น มันจะส่งผลกระทบที่รุนแรงเกินกว่าจะคาดการณ์ได้ถึงชีวิตของคนหนึ่งคน ที่ต้องกลายมาเป็นจำเลยของสังคมอย่างที่ไม่ได้ตั้งใจ.
บทวิจารณ์โดย นายศิริชัย แสวงทรัพย์