พันธุ์หมาบ้า : พันธุ์หมาบ้า “ความจริงของวัยรุ่น”

พันธุ์หมาบ้า

มีหมาพันธุ์หนึ่งอาศัยอยู่กันเป็นฝูง มันต้องการเพื่อนเพื่อพึ่งพากัน บางทีมันเห่าหอน บางทีมันไล่กัดเพื่อเพื่อน เพราะเพื่อนเป็นหัวใจสำคัญของมัน แม้บางเวลาที่หิวโซมันจะกัดกันบ้าง แต่มันไม่เคยทิ้งกัน พวกมันล้วนเข้าใจกันดีว่า หมาทุกตัวในฝูงต่างแหว่งวิ่น เพราะมีบาดแผลจากอดีต และเคว้งคว้างไขว่คว้าสู่อนาคตอันไม่อาจคาดเดา มันคือหมาพันธุ์ดุที่เรียกว่า “พันธุ์หมาบ้า”

หมาพันธุ์ที่ผมกล่าวถึงนั้นไม่ใช่หมาสี่ขาจริง ๆ แต่มันคือ นวนิยายเรื่องหนึ่งที่มีชื่อว่า “พันธุ์หมาบ้า” ของนักเขียนนาม ชาติ กอบจิตติ ที่มีความยาวเกือบเจ็ดร้อยหน้า ซึ่งพูดถึงการใช้ชีวิตของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในวัยคะนอง

พันธุ์หมาบ้า เล่าเรื่องโดยการนำตัวละคร “ชวนชั่ว” เข้าไปบันทึกเรื่องราวตัวละครที่เป็นเพื่อนและเหตุการณ์ต่าง ๆ ในฐานะนักเขียน ผสมกับการใช้เรื่องเล่าซ้อนเรื่องเล่า เพื่อบรรยายลักษณะและเรื่องราวของตัวละครอื่นๆ เช่น ฉากที่อ๊อตโต้นั่งคุยกับชวนชั่วในวงเล่า ถึงเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนาน เพราะอยากรู้ว่าแต่ละคนมีความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง (บทที่๑ เหล้า- เล่า หน้า ๒๑-๔๓ ) โดยเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวเชื่อมโยงกันในความเป็นเพื่อน นั่นเองทำให้ภาษาที่ใช้ในเรื่องมีความหยาบคาย สมกับเป็นการพูดคุยกันของเพื่อนผู้ชาย สิ่งที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกสนุก คือการเล่นและหลีกกับคำหยาบ โดยใช้คำที่ออกเสียงใกล้เคียงกัน หรือเขียนให้เพื้ยนไปเช่น แม่ง , หัวกล้วย เป็นต้น

แม้จะมีคำหยาบในบทสนทนาเพื่อความสมจริงของตัวละคร แต่การใช้ภาษาบรรยายฉากและบรรยากาศนั้น งดงามและมีความเป็นบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ เพราะมีความละเอียดลออ และมีความหมายที่ลึกซึ้ง สื่อถึงสัญลักษณ์ที่เป็นสาระบางอย่างของเรื่อง ฉากที่ผมประทับใจในบทบรรยายบรรยากาศก็คือ บทนำร่อง ที่ว่า

“ ทะเลยามนี้สีดำมะเมื่อมราวกับสีของความมืด ท้องฟ้าเบื้องบนขุ่นคลั่กด้วยมวลเมฆมรสุม แรงลมโหมกระชั้นกระชากมาไม่ขาดสาย หอบฝนคลื่นเคลื่อนเข้าหาฝั่ง ทัพคลื่นทะมึนเนื่องหนุนมาไม่หยุดหย่อน เมื่อใกล้ฝั่งก็ม้วนตัวเป็นเกลียวลงกระแทกกับพื้นน้ำ เสียงครึนครืนสนั่น คลื่นแล้วคลื่นเล่า ครืน – ครืนไม่ขาดเสียง ไล่เรียงเข้าหาหาด ถาโถมเข้ามาดั่งจะผลักไสให้ชายหาดร่นหนี แต่หาดทรายยังยืนหยัดสงบนิ่งไม่เคลื่อนถอย มีแต่ผลักดันน้ำทะเลกลับลงห้วงแห่งเดิม คลื่นลูกแล้วลูกเล่าต้องไหลเลียดลงทะเลด้วยลีลา

ของผู้แพ้ เหลือเพียงฟองขาวเล็ก ๆ ไล้กับชายหาด คล้ายเป็นร่องรอยความพ่ายแพ้หลงเหลืออยู่ แต่คลื่นลูกใหม่ยังฮึกเหิมเข้าหาอย่างไม่รู้เข็ดหลาบ” (นำร่อง หน้า๑๓)

บทบรรยายข้างต้น แฝงความหมายและแก่นสารของนวนิยายเล่มนี้ไว้ได้อย่างครอบคลุมในย่อหน้าเดียว คือ คลื่นทะเลที่เปรียบดั่งวัยรุ่น ซึ่งเต็มไปด้วยความอยากรู้อยากลอง ความคะนองที่เจอกับเหตุการณ์ที่กระทบจากภายนอก และจิตใจดิ้นรนฝ่าฟันอย่างทุลักทุเลนั้น ถูกนำมาเปรียบกับลมแรงอันก่อให้เกิดเกลียวคลื่น ซึ่งในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับความจริงของชีวิต ที่เปรียบกับหาดทรายที่ยืนหยัดสงบนิ่ง และคลื่นลูกใหม่ยังฮึกเหิมอย่างไม่รู้เข็ดหลาบหมายความว่า ไม่ว่าเวลาและยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน ในความเป็นวัยรุ่นก็ยังคงคึกคะนอง และแสวงหาเช่นนี้เสมอ ๆ

ดังเช่น เรื่องราวต่าง ๆ ที่แหว่งวิ่น ของตัวละคร ทัย และอ๊อตโต้ การมาเจอกันของพวกเขาทำให้เกิดความเข้าใจกัน และเป็นสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น โดยความสมจริงของตัวบทที่ใช้เรื่องจริงผสมเรื่องเล่า และถ่ายทอดออกมาคล้ายการหวนลำรึกถึงอดีตแห่งวัยรุ่นที่มีรสชาติรุนแรง และความรักเพื่อน การบรรยายถึงวงเหล้า การเสพยา การรวมกลุ่มของวัยรุ่น ที่หนีจากความเลวร้าย หรือปัญหาบางอย่าง สู่การแสวงหาการยอมรับและความเข้าใจด้วยใจจริง ซึ่งเพื่อนคือคำตอบนั้น สิ่งนี้สะท้อนสังคมวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี

การเกิดปัญหาที่นำไปสู่ปมในใจของวัยรุ่นนั้น เกิดจากพื้นฐานของครอบครัว เช่น ทัย ที่เกิดในครอบครัวเชื้อสายจีน ที่มีพ่อเป็นใหญ่ที่สุดในบ้าน ต้องการให้ลูกทำอาชีพค้าขาย แต่ทัยกลับอยากเป็นนักดนตรี แม้ทัยไม่ได้ต่อต้านและแสดงให้เห็นว่าตนค้าขายอย่างที่พ่ออยากให้เป็นได้ แต่เมื่อทัยนำรายได้จากการค้าขายของตนไปซื้อกีตาร์ที่อยากได้ ฉากสะเทือนใจก็เกิดขึ้น ทันทีที่พ่อรู้ พ่อก็ทุบกีตาร์ทิ้ง การที่ทัยพยายามประนีประนอมเดินคนละครึ่งทางระหว่างสิ่งที่พ่ออยากให้ทำ กับสิ่งที่ตนอยากทำนั้น สุดท้ายหัวใจของเขาก็แตกสลายไปพร้อมกับกีตาร์ตัวโปรด

จะเห็นได้ว่าการกระทำของตัวละครนั้นไม่ได้ต่อต้านอย่างสุดโต่ง แต่เมื่อยอมถอยก้าวหนึ่งแล้ว ยังถูกกดดัน แรงกดดันนั้นเองทำให้เกิดการระเบิดออกของความอดทน จากนั้นทัยก็เข้าต่อสู้กับพ่อ และหนีออกจากบ้าน เพื่อแสวงหาและเยียวยาตนเอง ผ่านการทำงานค้าขายซึ่งเป็นวิชาติดตัวที่พ่อสอน โดนโกง ผ่านความยากจน จนเจอเพื่อนฝูงที่ยอมรับและช่วยเหลือ เขาบำเรอตนด้วยกัญชา เพราะมันคือการหาความสุขที่ง่ายที่สุดให้ตนเอง

ตัวละคร ทัย จึงแสดงปัญหาของครอบครัวที่กดดันลูกมากเกินไป แต่กลับกันในครอบครัวที่อบอุ่นเป็นปรกติสุขดีอย่างครอบครัวของ อ๊อตโต้ ความเป็นปรกติสุขนั้นก็ไม่ใช่สิ่งยืนยันว่า ลูกชายวัยรุ่นของครอบครัวนี้จะไม่มีปัญหา เมื่อความรักเพื่อนเป็นเหตุที่ทำให้เขาพลั้งมือไปฆ่าคน ความรู้สึกผิดในใจก่อตัวขึ้น เขานึกถึงครอบครัวที่เขารักและไม่อยากให้ครอบครัวลำบาก เขาตัดสินใจหนีออกจากบ้านด้วยความผิดที่ติดตัวเขาไปชั่วชีวิต

การเกิดขึ้นของปัญหาในใจวัยรุ่นที่แสดงในพันธุ์หมาบ้า จึงไม่ใช่แค่ในครอบครัว แต่อาจเป็นเศษเสี้ยววินาทีอันผิดพลาดที่ร้ายแรงพอจะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดการ นั้นคือปัญหาในระดับสังคม ดังนั้น การยอมรับตัวตนในความเป็นเพื่อนจึงสำคัญมากเพราะทำให้เขาไม่รู้สึกแปลกแยกและโดดเดียว วัยรุ่นจะมีคำถามกับปัญหามากมายในชีวิต ดังนั้น ความไว้ใจ ความจริงใจ และความเชื่อใจ คือคุณค่าที่สังคมเพื่อนในนวนิยายเรื่องนี้ยึดถือ เพราะทุกคนต่างเข้าใจความเจ็บปวดจากอดีตของกันและกันดี

แม้เวลาของพันธุ์หมาบ้าในโลกวรรณกรรมจะล่วงเลยมากว่ายี่สิบแปดปีแล้วก็ตาม ความเป็นตัวตน ปัญหา รสชาติอันร้อนแรงของชีวิตวัยรุ่นแบเดิม ๆ ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ต่างจากระลอกคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง หากใครรู้สึกว่า นวนิยายเรื่องนี้ใช้คำหยาบคาย และแสดงการกระทำอันหยาบกระด้าง ผมกล้าพูดว่าในชีวิตจริงของวัยรุ่น ไม่ได้หยาบน้อยไปกว่านี้ อาจจะมากกว่านี้เสียด้วยซ้ำ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายของนวนิยายเรื่องนี้คือ มีแต่เรื่องของวัยรุ่นผู้ชาย หากจะบอกเล่า หรือเปิดเปลือยความจริงในชีวิตวัยรุ่นหญิงบ้าง ก็น่าสนใจไม่ใช่น้อย แต่ก็พอเข้าใจได้เพราะนักเขียนเป็นผู้ชาย ที่มีเพื่อนผู้ชาย และตัวละครในเรื่องก็ล้วนแต่เป็นเพื่อนของเขาจริง ๆ

ถึงแม้วัยรุ่นจะเป็นวัยคะนอง และอยากรู้อยากลอง แต่ก็เปราะบาง แหว่งวิ่น พวกเขาจึงมีเพื่อนเป็นส่วนใหญ่ของชีวิต เป็นพันธุ์เดียวกัน เป็นอย่างที่พันธุ์หมาบ้าเล่าไม่เกินจริงเลย

 

 

นายอินทัช เกตุสิงห์

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ