เกินเอ่ยออกโอษฐ์อ้า: เมื่อความรักไม่ใช่คำตอบ : บทวิจารณ์โดยจิดาภา ทูลประโคน โครงการ อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์วรรณกรรม ปีที่ 8

เกินเอ่ยออกโอษฐ์อ้า: เมื่อความรักไม่ใช่คำตอบ

            ความรักนั้นเป็นส่วนที่สำคัญเพียงอย่างเดียวของครอบครัวหรือ?

           ความจริงที่ว่าความรักนั้นเป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นครอบครัวนั้นชัดแจ้งเสมอมา หากแต่มันไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถเป็นกาวประสานคนในครอบครัวได้เสมอไป ความเครียด ความกดดันจากค่านิยม ภาระที่รัฐผลักให้ การปฏิเสธปัญหา ล้วนเป็นสิ่งที่สามารถชักนำให้ เกิดปัญหาในสายสัมพันธ์ได้ สิ่งเหล่านี้ถูกบอกเล่าผ่านเรื่องราวของ “สมิทธิ์” ชายคนหนึ่งที่ ต้องแบกรับภาระการดูแลบิดาซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ต้องการความดูแลใกล้ชิด โดยที่นอกจากจะต้อง ประสบเหตุการณ์บีบคั้นในชีวิต อย่างการตกงาน การเลิกรากับคนรักแล้ว ยังต้องคอยหาทาง รับมืออารมณ์ที่แปรปรวนของผู้ป่วยอีกด้วย

          ความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้เป็นบุตร

          ในสังคมปัจจุบัน ผู้คนได้สร้างมาตรฐานความคาดหวังมากมายให้ผู้เป็นบุตรต้องแบก รับ ต้องประสบความสำเร็จทางการงาน ต้องมีสถานะการเงินที่มั่นคง ต้องเป็นคู่ชีวิตที่ดี เป็นผู้ ปกครองที่ดี เป็นลูกที่ดี หากขาดความสำเร็จในด้านใดด้านหนึ่งไป ก็จะเป็นบุคคลที่ล้มเหลว เมื่อไม่สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังเหล่านั้นได้ย่อมนำมาซึ่งความผิดหวังและด้อยค่า ในตนเอง ดังเช่นที่สมิทธิ์สับสนว่าตนควรจะรับภาระดูแลพ่อหรือเป็น “ลูกอกตัญญู” และผิดหวัง กับการที่เขาไม่สามารถรับบทบาท “ผัวแห่งชาติ” และ “พ่อแห่งชาติ” ไปพร้อมๆ กันได้ ความ รู้สึกผิดของเขาแสดงให้เห็นชัดอีกครั้งในหลังพ่อเสีย สมิทธิ์รู้สึกว่าเขาทำหน้าที่ไม่ดีพอ เขา รู้สึกไร้คุณค่า คิดว่า “ถ้าผมตายไปเลยบนเตียงนี้ก็ดีเหมือนกัน เพราะชีวิตผมก็ไม่มีความ จำเป็นต้องอยู่แล้วนี่…” และยังด่าตนเอง “ผมมันไอ้คนล้มเหลว ไอ้นรกแตก”

            ความล้มเหลวของระบบสาธารณสุขและภาระของผู้ดูแล

          สืบเนื่องจากค่านิยมไทยที่ผู้เป็นบุตรธิดามีหน้าที่ดูแลบุพการีในยามแก่เฒ่า ทำให้คน ส่วนใหญ่มีความเห็นว่าผู้ที่ไม่สามารถปรนนิบัติพ่อแม่ได้ถือเป็นผู้ที่มีความบกพร่องในหน้าที่ ของลูก สมิทธิ์เองก็เป็นหนึ่งในคนที่ต้องการเป็น “ลูกที่ดี” ตามที่สังคมต้องการ เขาสูญเสียงาน ช่วงที่มาดูแลพ่อ สูญเสียความสัมพันธ์กับคนรัก สูญเสียสุขภาพจิตที่ดีเมื่อต้องคอยรองรับอา รมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ของผู้ป่วย สละทั้งหมดเพื่ออยู่บ้านดูแลพ่อตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง หน้าที่ที่ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจนี้ถูกโยนให้สมิทธิ์เนื่องจากพี่สาวน้องสาว ลูกๆ ที่เหลือ ไม่สามารถรับมือกิริยาและอารมณ์ที่รุนแรงของพ่อได้ และแต่ละคนยังมีปัญหาชีวิตส่วนตัวที่ ต้องจัดการ ไม่ว่าจะเป็นพี่สาวคนโตที่ต้องดูแลแม่ที่ป่วยอยู่แล้ว พี่สาวคนรองที่มีสามีอารมณ์ ร้อนและลูกที่ต้องเลี้ยงดู หรือจะน้องสาวคนเล็กที่เพิ่งเริ่มทำงาน ทุกคนล้วนไม่สามารถแบกรับ ภาระเพิ่มได้ เป็นประเด็นที่น่าตั้งคำถามขึ้นมาว่า หน้าที่การดูแลผู้ป่วยสูงอายุนี้ควรตกมาเป็น ของผู้เป็นทายาทอย่างเดียวเช่นนั้นหรือ? รัฐบาลในประเทศตะวันตก โดยเฉพาะประเทศในยุโรปจะมอบสวัสดิการให้แก่ผู้สูงอายุ หน้าที่การดูแลจัดหาบ้านพักให้ผู้สูงวัยจะเป็นความรับผิดชอบของรัฐ ดำเนินการโดยใช้ภาษีที่ หักไว้ตลอดการทำงานก่อนเกษียณอายุ เอื้อให้ผู้เป็นบุตรสามารถมุ่งมั่นใช้ชีวิตของตนเอง โดยปราศจากความกังวลได้ การที่ประเทศไทยไม่ได้มีนโยบายที่คำนึงถึงผู้สูงอายุแบบนี้นั้น บางทีอาจเป็นการบีบบังคับให้เยาวชน คนวัยทำงานที่กำลังก่อร่างสร้างตัว ต้องเสียสละช่วง เวลาชีวิตที่มีค่า มาจมจ่อมอยู่กับการดูแลผู้ป่วย และเป็นกระโถนรองรับอารมณ์ที่ไม่อาจรู้สึก โกรธโต้ตอบได้

         การยึดติดกับอดีตและปฏิเสธปัญหา

          เรื่องราวของสมิทธิ์ถูกถ่ายทอดออกมาในมุมมองบุคคลที่หนึ่ง สมิทธิ์เป็นผู้เล่าเรื่องราว ของเขา จากความคิด ความรู้สึกของเขา การที่เนื้อเรื่องบางตอนนั้นตัดสลับไปมาอาจแสดงให้ เห็นว่าสมิทธิ์มีสภาพจิตใจที่ไม่มั่นคง แกว่งไหวจากการที่ต้องดูแลผู้ป่วยติดบ้านเป็นเวลานาน นอกจากนั้นแล้ว เขายังมีลักษณะเหมือนคนที่ไม่ยอมปล่อยมือจากอดีต ทุกครั้งที่พ่อปฏิบัติตัวดี กับเขา ร้องเพลง I love you more than I can say ไปด้วยกันกับเขา ก็ทำให้จิตใจของเขา ย้อนกลับไปยังวันวานที่ยังมีครอบครัว วันวานที่ยังคงมี “พ่อคนเก่า” ของเขาอยู่ สมิทธิ์ไม่เคยยอมรับโดยตรงว่าสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่เป็นปัญหา ในตอนที่โดนตีที่ ศีรษะ เขาบรรยายเพียงตนได้ยินเสียงโพละแล้วหมดสติไป ไม่ได้ลงรายละเอียดว่ามันเกิดจาก อะไร หรือใคร จนกระทั่งไปพบแพทย์ก็ยังไม่ยอมรับว่าเป็นแผลจากการโดนตีหัว เหมือนจิตใจ ต่อต้านความจริงที่ว่าพ่อเป็นคนตีหัวเขา นอกจากนี้สมิทธิ์ยังมีความคิดเดิมซ้ำๆ ว่าพ่อรักเขา ทุกคนบอกว่าพ่อรักเขา แม่และพี่สาวไม่แจ้งความเพราะทุกคนรักพ่อ คล้ายพยายามรักษาภาพ ของครอบครัวที่อบอุ่นในอดีตไว้ ปฏิเสธความจริงที่ว่า แม้ที่ผ่านมาทุกคนจะเคยรักพ่อหรือยัง รักอยู่ ความรักนั้นก็ไม่มากพอจะรักษาสถานภาพความเป็นครอบครัวไว้ได้อีกแล้ว

          ความเครียดสะสมทำร้ายคนที่รัก

          เมื่อมีความเครียดจากปัญหาต่างๆ รุมเร้าจนถึงจุดหนึ่ง อารมณ์ความรู้สึกที่กักเก็บไว้ ย่อมต้องหลุดทะลักออกมา การดูแลผู้ป่วยสูงอายุในระยะยาวไม่ใช่เรื่องง่าย หลังจากอดทน ดูแลพ่อ รองรับอารมณ์ที่ฉุนเฉียวมานาน สมิทธิ์ก็เริ่มหาความชอบธรรมในการ “ทำให้พ่อเจ็บ บ้างเล็กๆ น้อยๆ เป็นการแก้แค้น” เริ่มจากไม่ให้ยาพ่อ นานวันเข้าเขาก็ลามไปรู้สึกดีเมื่อได้ ปราบพ่อด้วยการใส่ชุดรปภ. โดยไม่รู้ตัวว่านั่นเป็นการสะกิดอาการป่วยทางจิตจากเหตุการณ์ รุนแรงในอดีต (Post-Traumatic Stress Disorder - PTSD) ทำร้ายผู้เป็นพ่ออย่างมหันต์ ท้ายที่สุดแล้ว “เกินเอ่ยออกโอษฐ์อ้า” เป็นเรื่องสั้นที่เล่าเรื่องราวครอบครัวที่บอบช้ำ ผ่านคนที่บอบช้ำเอง ผู้เขียนได้มอบโอกาสให้นักอ่านสัมผัสถึงตัวตน ความรู้สึกนึกคิด ได้มอง โลกผ่านมุมมองของผู้ชายที่อาจจะไม่ได้ดีพร้อมคนหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็แฝงประเด็นทาง สังคม ค่านิยมต่างๆ ไว้ชวนให้ฉุกคิด ทำให้ผู้อ่านได้เปิดใจ ลองทำความเข้าใจว่า ความรัก เพียงอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอให้คนคนหนึ่ง อดทน เสียสละ เผชิญหน้าปัญหาเพื่อคงไว้ซึ่ง สายใยระหว่างกัน

 

บทวิจารณ์โดย จิดาภา ทูลประโคน

โครงการ จากค่าย อ่าน เขียน เรียนรู้ สู่งานวิจารณ์วรรณกรรม ปีที่ 8

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ