ตัวเลขของผู้สูงอายุที่สูงขึ้นในปัจจุบันทำให้เราต้องกลับมาอ่าน “เวลา” ของ ชาติ กอบจิตติ กันใหม่
เมื่ออ่านจบ สิ่งที่เรามองเห็นใน “เวลา” นวนิยายรางวัลซีไรท์ประจำปี 2537 และถือเป็นเล่มที่สองของชาติ กอบจิตติ ที่ได้รับรางวัลนี้ คือการสะท้อนภาพสังคม อารมณ์และความรู้สึกของคนแก่และความนึกคิดของคนหนุ่มสาวที่ต้องดูแลคนแก่ แต่นั่นก็ทำให้เราเกือบหลงติดกับดักของวรรณกรรม คิดไปว่าเรื่องราวทั้งหมดเป็นความจริง การสะท้อนสังคมในงานเขียนของชาติก็เหมือนกับงานเขียนที่นักเขียนทั่วไปนิยมเขียน อาจจะแตกต่างกันที่กลวิธีการแต่ง แต่มักมีใจความที่คล้ายกัน เทียบวรรณกรรมเป็นแกงหม้อหนึ่ง ความจริงนั้นอาจเป็นเนื้อเพียงส่วนหนึ่ง รสปรุงแต่งที่เหลือคือจินตนาการของนักเขียนที่ทำให้แกงหม้อนั้นมีรสชาติอร่อยกลมกล่อม
ปฏิเสธไม่ได้ว่า “เวลา” เป็นนวนิยายที่มีคุณค่าในแง่ของการจรรโลงสังคม การที่นักเขียนอย่างชาติ ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกภายในของคนแก่และของคนหนุ่มสาวออกมาในสำนวนภาษาเรียบง่าย แต่มีกลวิธีการนำเสนอที่แปลกออกไป นั่นคือการแทรกรูปแบบการเขียนบทภาพยนตร์ลงในเรื่อง ทำให้มีความน่าสนใจและดูโดดเด่นมากโดยเฉพาะเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ปัจจุบันจำนวนครั้งที่พิมพ์กว่ายี่สิบครั้งนั้นยืนยันได้ว่านวนิยายของชาติอร่อยกลมกล่อมอย่างไม่มีข้อสงสัย
แต่อะไรล่ะ ที่ทำให้ต้องย้อนกลับมาอ่าน “เวลา” กันใหม่ ?
นวนิยาย “เวลา” เล่าถึงผู้กำกับชายวัยหกสิบสามที่สนใจดูละครเวทีเรื่องความรู้สึกภายในของคนแก่เพราะสะดุดใจในอายุของผู้จัดทำละครที่พึ่งจะยี่สิบกว่า ๆ เท่านั้น แต่ดันประกาศว่าจะทำเรื่องเกี่ยวกับคนแก่ แม้นักวิจารณ์จะพร้อมใจกันสรุปไว้สั้น ๆว่า “...เป็นละครที่น่าเบื่อในรอบปี...” (หน้า 15) แต่นั่นก็เป็นเหตุผลที่เขาตัดสินใจมาดูละครเวทีเรื่องนี้
เปิดม่านโรงละครฉากแรก นักแสดงเริ่มแสดงไปตามบทบาทของตน ชีวิตในบ้านพักคนชราเริ่มต้นขึ้น แต่ทว่าแนบเนียนกว่านั้นเพราะชาติทำให้ผู้อ่านรู้สึกไปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องราวของคนจริง ๆ แม้จะมีส่วนคล้ายกับชีวิตใครสักคน อย่างที่บอกว่าความจริงกับจินตนาการนั้นเหลื่อมล้ำกัน ตัวละครที่เป็นนักแสดงต่างเป็นภาพแทนของกลุ่มคนในสังคม เช่น ยายอยู่หญิงชราที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แทนกลุ่มคนที่ป่วยรอให้ชีวิตในบั้นปลายสิ้นสุดลง ยายบุญเรือนผู้ดีเก่ากับยายจันทร์หญิงบ้านนอกเป็นคู่ตรงข้ามกันระหว่างคนมีกับคนจนที่อาศัยอยู่ในห้วงวัฏจักรเดียวกัน ยายนวลแทนภาพแม่ผู้เสียสละทำเพื่อลูกและหลาน ยายสอนแทนผู้คนที่อยากเป็นอิสระจากทาสความชรา ยายเอิบแทนกลุ่มคนที่ยังคงมีความหวัง (ความมั่งคั่งและชีวิตอิสระ) ส่วนยายทับทิมแทนแม่ที่รักลูกโดยปราศจากเงื่อนไข ไม่ว่าลูกจะเป็นอะไรก็ตาม แม้แต่อุบล แม่บ้านสาว ลำเจียก และตัวละครอื่น ๆ ก็คือเสี้ยวส่วนหนึ่งในโรงละครแห่งชีวิต ดูเหมือนชาติจะตั้งใจถ่ายชีวิตในบ้านพักคนชราไว้ในโรงละครเล็ก ๆ และให้แสดงอย่างไม่หวือหวา ไม่เรียกจุดสนใจ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกเบื่อตามตัวละครผู้กำกับ จนถึงขั้นอยากจะกำกับเสียเอง ด้วยการจำลองมุมกล้อง บทสนทนาของนักแสดง เขารวบรัดตัดตอนใหม่ทั้งหมด จุดเล็ก ๆ นี้เองที่ทำให้ผู้อ่านทราบถึงเจตนาของผู้เขียนว่า แม้จะเป็นถึงผู้กำกับก็ไม่อาจหยุดเวลาได้ ไม่อาจเลือกให้ใครอยู่หรือไปได้ ทุกอย่างมี “เวลา” เป็นของตัวเอง เขาสามารถกำกับภาพยนตร์ของเขาให้มีจุดจบอย่างไรก็ได้ แต่ไม่สามารถยื้อหยุดชีวิตลูกกับเมียของเขาได้ ชาติพยายามนำเสนอเรื่องราวที่มีใจความที่เป็นสัจจธรรม คือทุกชีวิตเกิดมาล้วนต้องตาย
ตัวละครอย่าง “อุบล” ก็เป็นสิ่งที่สังคมต้องการ อาจกล่าวได้ว่า “อุบล” หญิงแม่บ้าน คือภาพแทนของคนในสังคมอุดมคติ ทำหน้าที่เสมือนตัวแทนสวัสดิการของรัฐ ทั้งมีลักษณะที่เพียบพร้อม มีความเมตตา และจิตใจประเสริฐ ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุเป็นอย่างดี อุบลได้รับอิทธิพลความคาดหวังจากสังคมมากพอสมควร เพราะเธอดันไปพ้องกับคุณลักษณะที่คล้าย ปุ๋ย ภรทิพย์ นาคหิรัญทรัพย์ นางสาวไทยและนางงามจักรวาลคนที่ 37 เมื่อปี 2531 ส่งผลมาถึงภาพจำและบางตอนของเนื้อเรื่องที่กล่าวถึงปุ๋ย ภรทิพย์ นางงามจักรวาลก่อนจะนำไปสู่บทสนทนาแง่ชนชั้นของสองยาย แม้ชาติจะมิได้บรรยายถึงลักษณะของอุบล แต่ด้วยจริยวัตรที่งามพร้อม ทำให้แม่บ้านสาวจึงสวยในสายตาของนักอ่าน ทั้ง ๆ ที่อุบลอาจเป็นหญิงสาวหน้าตาธรรมดา ๆ ก็ได้ ถึงตอนนี้ย่อมกล่าวได้ว่ามีคนแบบอุบลในสังคมอยู่มาก หมายถึง “คนที่คิดว่า” มีคนในอุดมคคติอย่างอุบลต่างหากที่มาก สรุปได้ว่าวรรณกรรมเล่มนี้มีลักษณะความเป็นสากล ใช้แนวคิดสัจจนิยมและฉาบทาด้วยแนวคิดสตรีนิยม
คิดในหลักเหตุผล หากสังคมมีคนอย่างอุบลหรือลำเจียกจริง ๆ นั้นคือเครื่องบอกว่าเครื่องมือทางสังคมที่เรียกว่าจริยธรรมยังคงทำงานอยู่ ท้ายที่สุดแล้ว คนแก่ก็ไม่ต้องตกมาเป็นปัญหาหรือภาระรับเลี้ยงของสังคม หากแต่มิได้จับผิดการกระทำของอุบลที่ทั้งอยากอยู่แต่ในใจอยากไปจึงดูสวนทางกับความเป็นจริง
แม้ในตอนท้ายยายอยู่จะตาย ซึ่งน่าจะสร้างความโศกเศร้าให้กับผู้อ่านได้บ้าง แต่กลับรู้สึกปีติยินดีที่ยายอยู่ได้เป็นอิสระจากสังขาร ไปสู่ชีวิตที่เหนือกาลเวลา ในหลักความเชื่อทางพุทธปรัชญาหรือคนที่เรียนทางด้านจักรวาลวิยาเชื่อว่าเหนือกว่า “เวลา” คือความเป็นปรมาตมัน ยายสอนที่ดูจะตกใจในตอนแรกแต่ช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ทำใจได้และสอนผู้อ่านผ่านความนึกคิด เป็นกลวิธีแสนง่ายที่ผู้อ่านจะได้ข้อควรคิดนั้น คือสอนโดยไม่ให้รู้สึกว่ากำลังถูกสั่งสอน ซึ่งเป็นวิธีการที่พบได้ในซีไรท์เล่มอื่น ห้องลูกกรงกับเสียงปริศนา “ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรจริง ๆ” ที่เหมือนเป็นจุดสนใจเดียวที่นำให้ผู้อ่านตามอ่านจนถึงตอนสุดท้าย ก็ถูกเฉลยว่าไม่มีอะไรอยู่เลยตั้งแต่แรก
“ไม่มีอะไร ไม่มีอะไรจริง ๆ” ไม่มีหญิง ไม่มีชาย โลกนี้มีแต่ความว่างเปล่า
พิจารณางานเขียนของ ชาติ กอบจิตติ ดูเผิน ๆ เป็นนวนิยายสอนข้อคิดธรรมดา ๆ ไม่ซับซ้อน หากแต่เมื่อพิจารณาลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว เราพบสัญลักษณ์และความซับซ้อนอยู่หลายตำแหน่งแห่งที่ ทั้งนาฬิกาที่แทนชีวิตของสรรพสิ่ง ดอกบัวแทนความงอกงามทางปัญญาและเงาดอกบัวที่ทั้งคนและสัตว์รุมทึ้งกัดแก่งแย่งชิงนั้นตีความได้ว่าคือกิเลส กระทั่งยั่วล้ออารมณ์ผู้อ่านให้คล้อยตามความรู้สึกของตัวละคร ทั้งจะด้วยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม เมื่ออ่านจบสิ่งแรกที่ผู้อ่านรู้สึกไปพร้อม ๆ กันคืออารมณ์สะเทือนใจ แม้จะเป็นเรื่องแต่งแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดต่อผู้คนรอบข้างและตัวเราเองให้หันกลับมามองมุมใหม่ วรรณกรรมได้ทำหน้าที่ของตัวมันเองแล้ว
ย้อนกลับไปอ่านคำล่าวสุนทรพจน์เมื่อครั้งที่ชาติ กอบจิตติ ได้รับรางวัลซีไรท์ อีกครั้ง
“...เมื่อข้าพเจ้ายังอยู่ในวัยหนุ่ม ข้าพเจ้าเคยคิดว่า...โลกนี้ไม่สวยงาม-ไม่น่าอยู่
และข้าพเจ้ามิปรารถนาที่จะอยู่
แต่ในวันนี้ ข้าพเจ้าเริ่มคิดได้ว่า มีคนฆ่าตัวตายหลายต่อหลายคน
พวกเขาเหล่านั้นต่างทิ้งโลกไปด้วยเหตุผลเดียวกันคือ-โลกนี้ไม่น่าอยู่
และพวกเขามิปรารถนาที่จะอยู่
แต่โลกนี้ยังคงอยู่ โลกอยู่ให้พวกเราทุกคนได้อยู่ร่วมกัน-โลกรักเรา
แน่นอนล่ะ เราไม่อาจคาดคะเนได้ว่าโลกนี้จะอยู่อีกนานเท่าใด
แต่ในห้วงเวลานี้ เวลาในปัจจุบันนี้ ทำไม-ทำไมเราไม่ช่วยกันทำให้โลกน่าอยู่?
อย่างน้อยก็เพื่อมาร่วมกันขอบคุณโลก
ที่โลกกรุณาช่วยให้เราทุกคนมีชีวิตอยู่บนโลก-ไม่ว่าเราจะอยู่วัยใดก็ตาม...” (หน้า 7)
แท้จริงแล้วใจความของนวนิยายเรื่อง “เวลา” ของ ชาติ กอบจิตติ นั้นอยู่ในคำกล่าวสุนทรพจน์ในวันรับรางวัลซีไรท์ ประจำปี 2537 ชาติมองเห็นสังคมในขณะนั้น สังคมที่พึ่งผ่านยุคสมัยเหตุการณ์ทางการเมือง และเขามองเห็นปัญหา แม้จะเขียนออกมาให้ดีอย่างไร ก็ไม่อาจปักใจเชื่อได้ว่าชาติเข้าใจความรู้สึกภายในของคนแก่ได้ทั้งหมด แม้เขาจะเรียกตัวเอง ณ ขณะหนึ่งว่าเขาเคยอยู่ในวัยหนุ่มถึงขณะที่รับรางวัลนั้นตรงกับปีที่ 40 ของประสบการณ์ที่ชาติมี เราตัดสินความอ่อนแก่ของคนกันที่อายุเหมือนวงปีไม้ไม่ได้ หากแต่คือความคิดต่างหาก ในมุมมองของผู้อ่าน มองเห็นชาติในงานเขียนของเขาเอง เขาไม่ใช่ผู้กำกับวัยหกสิบสามในเรื่อง หากแต่คือหนึ่งในคณะละครวัยรุ่นที่กำลังแสดงละครที่เข้าถึงความรู้สึกภายในของคนแก่
อ่าน “เวลา” ในปัจจุบัน เหมือนเรามิได้อ่านเพื่อมองเห็นแค่อดีต หากแต่กำลังมองเห็นอนาคตด้วย แม้นวนิยายเรื่องนี้จะถูกเขียนขึ้นกว่ายี่สิบปีมาแล้ว และตีพิมพ์ซ้ำกว่ายี่สิบครั้ง ก็ไม่ได้ทำให้แนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุในอีกยี่สิบปีข้างหน้าลดลง จำนวนเหล่านี้มิได้เป็นปัญหา แต่ปัญหาคือหากสภาพปัญหาจริงเกิดจากจริยธรรมในสังคมที่ลดลง คนฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้นเพราะให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็นเปลือกนอกมากกว่าที่จะดำรงชีวิตอย่างมีแก่นสาระ สังคมจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร หรือชาติกำลังบอกอะไรกับรัฐ และถ้ารัฐมองเห็นผู้สูงอายุเป็นภาระก็ย่อมเป็นปัญหาที่สังคมต้องรับผิดชอบ กลับกันหากมองผู้สูงอายุอีกแง่มุมในฐานะผู้มีพระคุณต่อชาติที่ทำงานหนักมาตลอดครึ่งชีวิต จะยังคงเป็นปัญหาอีกหรือไม่ เป็นโจทย์สำคัญสำหรับนักอ่านรุ่นใหม่ที่จะคิดแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต
“เวลา” ทำให้อดคิดถึงยายย่าของตัวเองไม่ได้ โชคดีที่เราไม่ได้มองเห็นย่ายายตัวเองเป็นภาระ ทุกวันนี้มีผู้สูงอายุหลายคนทำงานหนัก นั่นเป็นเพราะสิ่งสำคัญนอกจากชีวิตจะแวดล้อมไปด้วยลูกหลานที่รักแล้ว คือการทำตัวให้มีคุณค่า ผู้สูงอายุที่ทำงานหนักจนตัวตายอาจจะไม่ได้ทำเพื่อเลี้ยงปากท้องเพียงอย่างเดียว แต่ความสุขที่สุดนั้นคือการที่สังคมยอมรับและเห็นคุณค่าแม้วันที่ทำหน้าที่ไม่ได้แล้ว
เราเรียนรู้หลายอย่างจากวรรณกรรม ทั้งด้านเนื้อหา และบริบทของผู้เขียน การอ่านซ้ำ ๆ ทำให้เราได้มองเห็นมุมใหม่ เห็นเจตนาที่ผู้เขียนอาจจะไม่ตั้งใจ แม้จะสรุปไม่ได้ทั้งหมดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นใน “เวลา” เป็นเรื่องจริง สัจธรรมที่แท้จริงมีเพียงสิ่งเดียวคือความตาย แต่ก่อนตายจะทำให้ชีวิตมีค่าในโลกนี้ได้อย่างไร
“...อย่างน้อยก็เพื่อมาร่วมกันขอบคุณโลก
ที่โลกกรุณาช่วยให้เราทุกคนมีชีวิตอยู่บนโลก-ไม่ว่าเราจะอยู่วัยใดก็ตาม...” (หน้า 7)
บทวิจารณ์โดย นายชนาธิป ทองจันทร์