กฤษณา อโศกสิน : นักประพันธ์สตรีที่นับได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในด้านการประพันธ์นวนิยาย

กฤษณา อโศกสิน

กฤษณา อโศกสิน นามปากกาที่แพร่หลายมากที่สุดของ สุกัญญา ชลศึกษ์ นักประพันธ์สตรีที่นับได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในด้านการประพันธ์นวนิยาย จนสามารถเรียกได้ว่าเธอคือ ราชินีนักเขียนนวนิยาย ก็คงจะไม่มีผู้ใดกล้าคัดค้าน เธอได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนท่านหนึ่งที่พัฒนางานเขียนของตนเองอยู่ตลอดเวลา เนื้อหาของผลงานจะปรับเปลี่ยนไปตามสภาพสังคม จากจุดเริ่มต้นของงานเขียนในแนวรักใคร่ พัฒนามาสู่การหยิบยกปัญหาต่าง ๆ ในสังคมมาเขียนมากขึ้น จวบจนระยะเวลากว่า 50 ปีแล้วที่เธอได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างต่อเนื่อง และยังคงก้าวตามความฝันต่อไปอย่างไม่ยอมหยุดยั้ง… จนมีผู้กล่าวไว้ว่าเส้นทางฝันของ กฤษณา อโศกสิน เพียงแค่จุดที่ยืนอยู่ในปัจจุบัน นักเขียนน้อยคนนักก็ยากที่จะก้าวมาถึงได้…

ช่วงนี้คุณอามีงานเขียนลงที่ไหนเป็นประจำบ้างคะ
มีนวนิยาย 4 เรื่องค่ะ ลงในสกุลไทย 2 เรื่องคือ "หนึ่งฟ้าดินเดียว" กับ "ตะเกียงแก้ว" ใช้นามปากกา กฤษณา อโศกสิน และ กัญญ์ชลา ส่วนในพลอยแกมเพชร ก็มีเรื่อง "ฝนกลางฝุ่น" และขวัญเรือนอีก 1 เรื่องคือ "น้ำค้างยามเช้า" แบ่งเวลาในการทำงานอย่างไรคะในแต่ละวัน 9 โมงเช้าก็ลงมาทำงานเหมือนกับเปิดออฟฟิศเลยค่ะ จนกระทั่งบางวันอาจจะเขียนจนถึง 6 โมงเย็นจึงจะเลิกงาน พอขึ้นข้างบนแล้วก็ต้องทำงานต่อ โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้นะคะ เพราะมีงานเพิ่มขึ้นมา แต่ไม่ใช่งานเขียนนวนิยาย แต่จะเป็นงานตรวจต้นฉบับ พอดีมีสนพ.มาซื้อเรื่องรวมเล่มก็เลยต้องช่วยตรวจต้นฉบับให้ ก็จะดีทั้งสนพ.และดีสำหรับตัวเราเองด้วย ความผิดพลาดจะได้น้อยลง การเว้นวรรคตอนซึ่งส่วนใหญ่แล้วเหมือนกับว่าบางทีวรรคตอนไม่ค่อยถูกก็จะแก้ไขได้ จะเป็นนวนิยายที่เพิ่งเขียนช่วงแรก ๆ คือราว ๆ พ.ศ. 2501 ที่กฤษณา อโศกสินเพิ่งเริ่มเขียนในสตรีสาร อย่าง "วิหคที่หลงทาง" ถือเป็นเรื่องแรกของนามปากกานี้ ก็จะมีสำนวนที่เราต้องแก้ไขมาก เพราะฉะนั้นช่วงนี้จะทำงานหนักมากทั้งกลางวันและกลางคืน กลางวันจะเขียนนวนิยายสำหรับลงนิตยสาร ส่วนกลางคืนจะเป็นงานตรวจต้นฉบับรวมเล่มค่ะ

ตั้งแต่เริ่มเขียนหนังสือมีช่วงไหนบ้างคะ ที่ต้องเขียนงานส่งมากเป็นพิเศษ
ประมาณ พ.ศ. 2510 - 2520 ช่วง 10 ปีนั้นจะทำงานมาก เขียนหลายแห่ง ตอนนั้นส่วนมากจะเป็นรายสัปดาห์เช่น แม่ศรีเรือน, นพเก้า, ศรีสยาม, ดวงดาว เป็นรายสัปดาห์ทั้งนั้น จะเขียนวันละหนึ่งเรื่องเท่านั้นไม่เอามาปนกัน วันละหนึ่งตอนต่อหนึ่งเรื่อง

เห็นว่านักเขียนนวนิยายส่วนมากมักจะมีคู่มือการตั้งชื่อไว้ใช้ประกอบ แล้วคุณอามีบ้างหรือเปล่าคะ
ไม่มีค่ะ ไม่มีเลย จะหาเอาตามพจนานุกรม ส่วนใหญ่แล้วเดี๋ยวนี้จะใช้คำไทยที่เอามาผสมกันหรือไม่ก็อาจจะเป็นคำอะไรง่าย ๆ ที่มีในพจนานุกรม จะใช้คำพวกนั้น จะหาจากพจนานุกรมเท่านั้นค่ะ

มีผลงานเรื่องไหนบ้างที่นำไปสร้างละครแล้วรู้สึกว่าคัดเลือกผู้เล่นได้ถูกใจมาก ๆ
มีหลายเรื่องอยู่เหมือนกัน ส่วนใหญ่จะเป็นละครสมัยก่อนไม่ใช่ละครสมัยนี้นะคะ สมัยนี้ที่ถูกใจก็มี "ข้ามสีทันดร" "หน้าต่างบานแรก" "คาวน้ำค้าง" คือเขาทำอยู่ในเกณฑ์ดีทีเดียว เลือกตัวแสดงได้เหมาะสม และก็เป็นเรื่องซึ่งไม่ได้คาดหวังเลยว่าจะออกมาดัง เพราะเป็นเรื่องหนักที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ปัญหาวัยรุ่น การข่มขืน เพราะฉะนั้นในการสร้างจะต้องละเอียดพิถีพิถันมาก ผู้เขียนบทโทรทัศน์ ผู้กำกับ และตัวละครต้องมีฝีมือ เนื่องจากเป็นละครชีวิตที่หนัก บทบาทการแสดงต้องชั้นหนึ่ง และบทโทรทัศน์ก็ต้องชั้นหนึ่งด้วย

แต่ว่าสมัยก่อนจะมีผู้สร้างถูกใจมากกว่าสมัยนี้ สมัยก่อนมีเรื่อง "เนื้อนาง" "ลายหงส์" "ปีกทอง" และก็เรื่อง "ปูนปิดทอง" สมัยที่นิรุตติ์กับเดือนเต็มแสดงจะดีมาก เรื่อง "ห้องที่จัดไม่เสร็จ" ก็ดีค่ะ และมีอีกหลายเรื่องที่ดีมาก ๆ ยังประทับใจอยู่จนถึงทุกวันนี้ และก็ชื่นชมนักแสดงที่แสดงได้ดีถึงขีดที่เราต้องยกนิ้ว

คุณอามีเคล็ดลับอะไรหรือเปล่าคะ ในการเขียนเรื่องยาว ๆ ให้จบลงแบบสมบูรณ์ได้
ไม่มีเลยค่ะ มีอย่างเดียวคือความรักในงานนี้และก็มีจุดยืนที่มั่นคงว่าจะเขียนอะไร เมื่อเรานั่งลงที่โต๊ะแล้วเริ่มลงมือเขียน ก็เหมือนกับว่าวิญญาณของเราผูกติดอยู่กับงานเขียน เพราะฉะนั้นก็จะเริ่มเขียนอย่างมีความสุข อย่างสดชื่นรื่นรมย์โดยที่เราไม่รู้สึกเบื่อ เพราะฉะนั้นเวลาเรานั่งโต๊ะทุกวันจะเหมือนกับเรามีชีวิตชีวา เหมือนเราดิ่งเข้าไปในโลกของตัวละครได้ทันที เหมือนเขารอเราอยู่แล้ว ไม่มีความรู้สึกว่าเบื่อหน่ายเลยค่ะ

และอีกอย่างหนึ่งประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักเขียน คือเราผ่านอะไรมาก็สั่งสมไว้โดยที่เราไม่รู้สึกและไม่ได้ตั้งใจว่าจะเอาประสบการณ์นั้นมาเขียน แต่ว่ามันซึมอยู่ในตัวเราแล้วเรานำมาค้นคว้าต่อ คือเราคิดเอาเองฝันเอาเองส่วนหนึ่ง กับอีกส่วนหนึ่งใช้ความจริงเป็นหลัก เป็นความจริงที่ถ่องแท้ ที่จริงนักเขียนก็คือนักค้นคว้า นักวิทยาศาสตร์ นักทดลอง เหมือนกัน เราสามารถที่จะทดลองทำอะไรก็ได้ งานเขียนคืองานทดลอง สามารถทดลองเขียนหลาย ๆ แนวได้ การเป็นนักเขียนไม่มีอับจน เราสามารถใช้ประสบการณ์และใช้ความสามารถในการวิเคราะห์ วิจารณ์และวิจัยของเรา ทำงานนี้ให้หลากหลาย ให้แปลกแยกออกไป เพื่อสานงานใหม่ขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างที่แปลกออกไปจากเดิม

เคยคิดบ้างหรือเปล่าคะว่าจะวางปากกาเมื่อไหร่
ช่วงนี้ยังไม่ได้คิดเลยเพราะว่าสุขภาพยังดีอยู่ สุขภาพนี่สำคัญสำหรับงานเขียนหนังสือนะคะ โดยเฉพาะถ้าเราไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ถ้าเรารู้สึกร่างกายสดชื่นก็จะทำให้สมองปลอดโปร่งแจ่มใสคิดงานออกทุกวัน พอเรานั่งโต๊ะสมองก็เริ่มทำงานเหมือนกับประจุไฟฟ้า แต่ถ้าเราไม่สบายปั๊บจะคิดอะไรไม่ออกเลย แม้แต่ง่วงก็ไม่ได้แล้ว การเขียนหนังสือนี่ง่วงก็ไม่ได้ ถ้าเรานอนไม่พอร่างกายเรียกร้องให้เรานอน ต้องนอนก่อน อาไม่เคยฝืนใจตัวเองเลยนะ ต้องนอนแล้วหลับ หลับแล้วตื่นขึ้นมาจะรู้สึกสดชื่นจึงจะเขียนหนังสือได้ และเขียนได้ดี ถ้าวันไหนสมองไม่แล่นก็ไม่ฝืนใจทำ จะไปทำอย่างอื่นก่อน อ่านหนังสือ หรือว่าออกไปข้างนอกหรือนอน ไม่ได้กำหนดหรอกค่ะขึ้นอยู่กับสุขภาพ ถ้ายังไหวก็เขียนไปเรื่อย ๆ

อยากให้คุณอาช่วยให้กำลังใจหลาน ๆ ที่มีความฝันอยากจะเป็นนักเขียนด้วยค่ะ
ช่วงนี้จะมีคนอยากเป็นนักเขียนเยอะมาก ก็อยากให้เข้ามาเพื่อช่วยให้วงวรรณกรรมคึกคักและมีแนวใหม่ ๆ มีนักเขียนรุ่นใหม่เข้ามาแทนนักเขียนรุ่นเก่า นักเขียนรุ่นใหม่อาจจะแปลกแยกแตกต่างกันออกไปซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เป็นสีสันของวงวรรณกรรมและทำให้วงวรรณกรรมเจริญรุ่งเรืองขึ้น การเกิดของนักเขียนก็ขึ้นอยู่กับไฟในตัวของแต่ละคนด้วยนะคะ คือถ้าเขามีไฟก็จะเกิดเอง ไม่ต้องมีใครมาผลักดัน ถ้าคนไหนต้องเข็นให้เขียน คืออยากเขียนแต่ว่าเขียนไม่ออกแล้วก็ทิ้งร้างไป ไม่ได้เขียนสักที ก็คงจะเป็นนักเขียนไม่ได้ คนที่จะเป็นนักเขียนได้คือเขียนทันที เขียนออกไป ถ้ายังไม่ดีก็ไม่เป็นไร เพราะว่าบางคนก็ไม่ได้เขียนดีมาตั้งแต่ต้น แต่ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมา ระยะทางที่เราจะพัฒนาตัวเองมีหลายสิบปี เราไม่ต้องกลัว เขียนออกมาได้เลย เขียนออกมาก่อน ดีหรือไม่ดีค่อยว่ากันทีหลัง พอมีนักเขียนเกิดมาก ๆ ก็จะมีการแข่งขันกัน จะแข่งกันโดยแนวหรือโดยทักษะส่วนบุคคลก็ได้ทั้งสิ้น ไม่เกี่ยงเลย เพราะว่างานเขียนเป็นงานที่กว้างใหญ่ไพศาล ไม่ได้เกี่ยงว่าต้องเขียนเมื่อไหร่ วัยใด และความรู้แค่ไหน ไม่มีข้อกำหนด นักเขียนไม่ต้องมีปริญญาก็เขียนได้ ถ้ามีความรอบรู้สูง…

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ