ศิริพงษ์ จันทน์หอม : คอลัมนิสต์ และบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ, เส้นทางเศรษฐกิจ, เมืองไทยวันนี้

ศิริพงษ์ จันทน์หอม

บัณฑิตคณะวารสารศาสตร์ จากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในชมรมพระจันทร์เสี้ยวยุคก่อตั้ง ศิริพงษ์ จันทน์หอม ผู้เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าข่าว คอลัมนิสต์ และบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ, เส้นทางเศรษฐกิจ, เมืองไทยวันนี้, สยามโพสต์, ไทยแลนด์ไทม์, วัฏจักรการเมืองและรายวัน ผ่านงานผู้จัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ รวมถึงเป็นกรรมการตัดสินรางวัลมากมาย อาทิ รางวัลตุ๊กตาทอง, เมขลา และโทรทัศน์ทองคำ ในด้านงานเขียน มีผลงานเรื่องสั้นมาแล้วกว่า 100 เรื่อง บทกวีกว่า 1,000 ชิ้น และงานเขียนอีกหลากหลายแนวจำนวนมาก

ด้วยความเป็นเด็กที่รักการอ่าน จึงเป็นแรงผลักดันให้มีใจรักในงานเขียนไปด้วย
ผมเริ่มเขียนหนังสือเพราะมีแรงบันดาลใจมาจากการอ่านหนังสือ ในยุคก่อนไม่มีหนังไม่มีละครให้เราดู ทีวีก็ยังไม่มี เพราะฉะนั้นเวลาที่จะหาความสุขพักผ่อนอยู่กับตัวเองก็คือการอ่านหนังสือ ประกอบกับพ่อผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือก็เลยชอบตามไปด้วย ส่วนใหญ่หนังสือที่อ่านจะเป็นหนังสือพิมพ์และหนังสือตำรวจที่ได้รับมา ในสมัยก่อนมีหนังสือตำรวจออกมาเป็นแมกาซีนที่ดีมากทีเดียว มีความหลากหลาย พูดตรง ๆ ว่าปัจจุบันนี้ที่ชอบเขียนในแนวสืบสวนสอบสวน ก็คงเป็นเพราะมีคุณพ่อเป็นตำรวจและใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับพ่อ พ่อไปเข้าเวรก็จะตามไปด้วย จึงมีโอกาสได้พบเห็นการทำงานของตำรวจมามาก และนำมาใช้ในงานเขียนได้

พอได้อ่านมาก ๆ ก็จะมีความรู้สึกอยากเขียน
ผมเขียนหนังสือมาตั้งแต่เด็ก เริ่มแรกเขียนบทกวีส่งเข้าประกวดตอนที่อายุประมาณ 15 ปี ได้รางวัลที่ 2 ได้เงินมา 50 บาท ช่วงที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ผมก็เขียนกลอนส่ง จะได้ลงตามไทยรัฐ สยามรัฐ อยู่เรื่อย ๆ

พูดถึงการทำงานเขียนผมเกิดจากการเป็นนักหนังสือพิมพ์ก็เลยได้รับข้อมูลจากข่าวที่ทำ ในการที่ได้ออกไปทำข่าวทำให้เราได้วัตถุดิบหลายด้าน ได้รู้จักผู้คนในสังคม ทั้งด้านกีฬา การเมือง เราจึงสามารถเขียนงานได้หลากหลาย

มีการยึดใครเป็นแบบอย่างหรือศึกษาและชื่นชอบงานของนักเขียนท่านใดเป็นพิเศษบ้างหรือเปล่าในการเขียนงานที่หลากหลายแบบนี้
ชีวิตเราเป็นคนยากจนอยู่ในชนบท จึงชอบชีวิตที่ต่อสู้ งานของสด กูรมะโรหิต จึงอยู่ในหัวใจตั้งแต่เริ่มแรก แต่พอเริ่มเป็นหนุ่มขึ้นก็เริ่มชื่นชอบ รงค์ วงษ์สวรรค์ เพราะว่ามีสำนวนที่ท้าทาย และที่จะลืมเสียไม่ได้เลยสำหรับนักเขียนในดวงใจอีกคนหนึ่งก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อาจพูดได้ว่าที่ผมมาอยู่ตรงนี้ได้เพราะเกิดมาจากคน 3 คน คนแรกที่ทำให้ผมเกิดคือ ธนู ปิยะรัตน์ หรือที่ใช้นามปากกา แทน ทฤษฏี บก.แสนสุข เป็นคนที่เปิดโอกาสให้ผม แต่คนที่ทำให้ผมโต คือ รงค์ วงษ์สวรรค์ และคนที่ทำให้ผมเพียบพร้อมทุกอย่างก็คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นอกจากนั้นก็ยังมีนักเขียนอีกหลายท่านที่มีความชื่นชอบในผลงานอย่าง อุชเชนี, วิลาศ มณีวัตร, ศรีรัตน์ สถาปนวัตร

เขียนงานมามากมายแบบนี้ระบุได้ไหมว่าถนัดและชอบเขียนงานประเภทใดมากที่สุด
ถ้าพูดถึง ณ วันนี้ แนวธรรมชาติชีวิตคงจะเป็นแนวที่ถนัดและชอบที่สุดนั่งตรงไหนก็สามารถเขียนได้ อาจ เพราะว่าเราตกผลึกแล้ว ขอยืมสำนวนคุณสกุล บุณยทัต มาใช้ แต่ถ้าถามว่าเขียนเรื่องอะไรแล้วสบายใจมากกว่าระหว่างเรื่องสั้นกับเรื่องยาว ผมว่าเรื่องยาวสนุกกว่าเพราะถ้าสังเกตดูดี ๆ จะเห็นว่าตัวละครเขาเล่นกับเราได้ เขามีชีวิต สั่งให้เราทำได้ เหมือนเขามีจิตวิญญาณและจะจูงมือกันมา ทำให้เกิดจินตนาการโต้ตอบกับตัวละครเหล่านี้ จนรู้สึกสนุกกับงานเขียนมากขึ้น

มองแวดวงงานเขียนในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
พูดถึงแวดวงคนเขียน เราพัฒนาไปมากโดยเฉพาะประเภทเรื่องสั้น พัฒนาไปไกลจนกระทั่งบางครั้งจับต้องไม่ได้ จับไม่ถูกว่าไปทางไหน จนบางเรื่องแทบจะไม่เป็นเรื่องสั้นแล้ว คือออกไปนอกทฤษฏี ผมเรียนการประพันธ์มาก่อนพอเอาทฤษฏีมาจับมันก็หลุดไปแล้ว เช่นมีการนำบทความ บทกวี มาใส่เข้าในเรื่องสั้นหรือนวนิยาย อย่างที่มีนักเขียนหลายท่านในปัจจุบันทำกัน มันเป็นสิ่งที่ดีถ้าเราไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ แต่บางคนอาจจะยังไม่คุ้นเท่านั้น ก็ต้องถือว่าเป็นวิวัฒนาการ จริง ๆ แล้วผมมีความเชื่อว่า เมื่อไหร่ที่คุณตกผลึก คุณก็จะรู้ว่าถนนทุกสายมันจะมาที่สนามหลวงเหมือนกัน ไม่ว่าจะโดยวิธีการใดก็ตาม

ทุกวันนี้คุณศิริพงษ์ ยังเขียนหนังสืออยู่ตลอดเวลา
เร็ว ๆ นี้เพิ่งหันกลับไปทำงานข่าวอีกครั้ง และก็ยังเขียนหนังสืออยู่ตลอด งานตรงนี้เรานั่งเขียนของเราอยู่คนเดียว ทำไปได้เรื่อย ๆ จนผมมีความคิดว่า การทำงานก็คือการพักผ่อน การได้เขียนเรื่องในแนวธรรมชาติชีวิต ผมไม่อยากพูดว่าปรัชญานะ เพราะคงยังไม่ถึงตรงนั้น การเขียนในแนวธรรมชาติชีวิตมีความสุขเหมือนกับการพักผ่อน แต่ถ้าพูดถึงการพักผ่อนที่ชอบที่สุดก็คือชอบมองเวลาไปไหนมาไหนก็จะชอบมองชีวิตของผู้คน วัตถุสิ่งของที่ผ่านสายตาเราไป นั่นเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่ง

ถ้าอยากเขียนหนังสือเก่ง ๆ บ้าง
ต้องถามตัวเองก่อนว่ารักการอ่านไหม ถ้าคุณรักการอ่านคุณจะรู้จักถ้อยคำ ประโยค รู้ตัวอักษร รู้จักเลือกใช้คำให้เป็นให้ถูก ถ้าเรารู้จักคำแล้วเราก็จะเขียนหนังสือได้สละสลวยขึ้น วิธีการที่จะเขียนหนังสือให้ดีที่สุด คือพวกผมมักจะเริ่มต้นมาจากบทกวี เราเป็นนักกลอนมาก่อนจะเห็นได้เลยว่าคนที่เขียนกวีมาก่อน พอมาเขียนนวนิยายเขียนเรื่องสั้นจะมีความสละสลวยความละเมียดละไมของภาษาดีกว่าทั่วไป บทกวีจะสอนให้คุณรู้จักการใช้คำให้กระชับรัดกุมขึ้น จากนั้นคุณต้องถามตัวเองต่อว่าคุณมีจินตนาการไหม คนที่จะเป็นนักเขียนได้จะต้องมีจินตนาการที่ละเอียดและแม่นยำ ต้องมีจินตนาการที่มีรูปทรงมากกว่าคนอื่น และสิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือประสบการณ์นั่นแหละ

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ