Qualy แบรนด์สินค้าไทยที่เปลี่ยนขยะเป็นของใช้ดีไซน์เก๋ : สร้างมูลค่าใหม่ให้ของถูกทิ้ง ช่วยลดขยะและสร้างความยั่งยืนให้โลก

Qualy แบรนด์สินค้าไทยที่เปลี่ยนขยะเป็นของใช้ดีไซน์เก๋

      จากความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากทำธุรกิจแบบสร้างสรรค์และยั่งยืน ทำให้ คุณไจ๋ ธีรชัย ศุภเมธีกูลวัฒน์ เจ้าของแบรนด์ Qualy ตัดสินใจปรับรูปแบบธุรกิจที่เดิมใช้พลาสติกเป็นวัตถุดิบหลัก เปลี่ยนเป็นนำเอาขยะอย่างขวดพลาสติก ถุงพลาสติก หรือเศษแหอวนที่ถูกทิ้งตามริมน้ำมาเป็นวัตถุดิบในการดีไซน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มฟังก์ชั่นตอบโจทย์คนใช้ สร้างรูปลักษณ์ดีไซน์ให้ถูกใจคนซื้อ จนได้รับรางวัลการออกแบบผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมจากระดับโลก สร้างชื่อเสียงให้สินค้าแบรนด์ไทยกลายเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ

 

       “เดิมทีเราเป็นธุรกิจครอบครัวครับ รับจ้างผลิตสินค้าชิ้นส่วนพลาสติก เป็น OEM ในส่วนของผมเรียนจบด้านออกแบบผลิตภัณฑ์มา เราก็อยากจะมีผลิตภัณฑ์เป็นของตัวเองตั้งนานแล้ว เพราะเราเห็นที่คนอื่นเขาขายเทียบกับราคาที่เขาจ้างเราผลิตมันต่างกันมาก เราอยากสร้างมูลค่า เราก็มาออกแบบสินค้าทำแบรนด์ของเราเอง ก็จะมีน้องชายของผมที่เรียนจบเรื่องธุรกิจมาช่วยขาย ส่วนผมเป็นคนออกแบบ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของ Qualy ครับ”

 

ออกงานครั้งแรกก็แจ้งเกิด

       “ตอนแรกไม่รู้อะไรเลย ไม่เคยขายอะไรกันมาก่อนเลยทั้งครอบครัว เพราะเราเป็นธุรกิจ OEM มาตลอด ตอนแรกเราตั้งเป้าว่าอยากให้ของได้ไปวางขายในห้าง อยากไปอยู่ตรงนั้นให้ได้ก่อน ไม่ได้คิดไปไกลถึงเรื่องส่งออกหรอกครับ โปรดักส์ล็อตแรกที่เราทำออกมาก็เป็นพวกเหยือก ถาด แก้ว เพราะคิดว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทุกบ้านต้องใช้ แต่เราใส่เรื่องของฟังก์ชั่นเข้าไปด้วย ก็คือเวลาที่เราเทน้ำเย็นใส่แก้วปกติมันจะมีไอน้ำเกาะที่แก้วใช่ไหมครับ เราก็ออกแบบให้มันไม่มีไอน้ำมาจับ ซึ่งงานแรกที่เราไปออกคือ Bangkok International Gift Fair พอไปออกก็ได้รับการตอบรับที่ดีเลย เพราะว่าเราไปอยู่ในโซนของดีไซน์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีงานดีไซน์ที่เป็นพลาสติกแบบนี้ ส่วนมากงานดีไซน์ในช่วงนั้นจะเป็นไม้ เป็นเซรามิคซะมากกว่า พอของเราเป็นพลาสติกมันเลยเป็นที่สนใจ ก็เลยมีพวกห้างร้านที่เขาเห็นก็เข้ามาติดต่อเพื่อเอาไปวางขายครับ”

 

 

ดีไซน์เก๋โดนใจ ออเดอร์ไกลถึงต่างแดน

“โปรดักส์ซีรี่ส์แรกที่ออกมามันเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันครับ แต่พอซีรี่ส์สองก็เริ่มกระโดดออกจากคอมฟอร์ตโซน จะเริ่มเป็นของที่มีดีไซน์ที่เป็นเอกลักษณ์มากขึ้น ตัวอย่างเช่นที่คั้นน้ำผลไม้แล้วก็แอปเปิ้ลใส่ของ อย่างแอปเปิ้ลตัวนี้มันก็มาจากเรื่องของกล่องเก็บของ ปกติกล่องเก็บของมันจะมีทรงสี่เหลี่ยมไม่ก็ทรงกลม จะถูกเก็บไว้ในที่สำหรับเก็บของ เวลาจะใช้ถึงค่อยหยิบออกมา เราคิดว่านี่มันคือ pain คือความไม่สะดวก เราก็ตั้งใจดีไซน์ให้มันเป็นกล่องเก็บของที่ใช้ประดับตกแต่งห้องได้ด้วย ซึ่งเราคิดว่าแอปเปิ้ลเป็นรูปทรงไอคอนิคอันหนึ่งที่มันอยู่ได้ทั่ว และเป็นรูปทรงที่มีความเป็นสากลทุกคนรู้จัก ก็เลยทำออกมาเป็นแอปเปิ้ลเก็บของครับ พอเอาไปเปิดตัวที่งานแฟร์ครั้งที่สองก็มีออเดอร์เลย เป็นลูกค้าต่างประเทศ สั่งของเราไปขายที่สเปน อันนี้เป็นการส่งออกครั้งแรกเลย ซึ่งปัจจุบันนอกจากวางขายตามห้างร้านในประเทศแล้ว เราก็มีส่งออกไปเกือบ 50 ประเทศทั่วโลกด้วยครับ”

 

 

หยุดผลิตพลาสติกใหม่แล้วนำขยะกลับมาเป็นทรัพยากรหมุนเวียน

       “ตอนนั้นผ่านมาหลายปีทั่วโลกเริ่มมีปัญหาเรื่องขยะ เริ่มเป็นยุคที่พลาสติกเป็นผู้ร้าย ในฐานะที่เราเป็นคนผลิตพลาสติกจำนวนมากมันก็ส่งผลมาถึงความคิดของเรา ส่งผลมาถึงธุรกิจของเรา เราถูกมองแบบนั้นทั้งๆ ที่เราเองก็อาจจะไม่ได้ทำซิงเกิ้ลยูสแบบใช้แล้วทิ้งนะ แต่พอมาประเมินแล้วมันก็มองได้ว่าทุกๆ ธุรกิจที่ใช้ทรัพยากรมีส่วนหมดในการเป็นคนที่อยู่ในฝั่งของการทำลายโลก ใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติแล้วในที่สุดก็กลายไปเป็นขยะ มันก็เลยต้องมาทบทวนว่าเรามีบทบาทฝั่งสร้างสรรค์หรือทำลายกันแน่ ซึ่งเราเองอยากจะอยู่ในฝั่งสร้างสรรค์ เพราะว่าเราก็ภูมิใจกับการออกแบบการสร้างสรรค์ของเรามาตลอด แต่พอวันหนึ่งมาพบว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการทำลาย เราก็รู้สึกว่าเราคงต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นว่าเราจะหยุดใช้พลาสติกที่มันเป็นทรัพยากรใหม่ แล้วก็เอาของที่ใช้แล้วที่มันจะไปเป็นขยะกลับมาเป็นทรัพยากรหมุนเวียน”

 

 

เปลี่ยนขยะเป็นงานดีไซน์...ยากแต่ทำได้จริง

“ครั้งแรกสุดเราโนไอเดียมากๆ ว่าจะไปเอาขยะพลาสติกจากไหน แต่ว่าเราอยากทำ เราก็เลยไปร่วมมือกับแบรนด์ที่เขาทำเครื่องดื่ม พวกแบรนด์เครื่องดื่มเขาจะมีขวดที่เสียจากการบรรจุเต็มไปหมด และเขาไม่สามารถเอามารีไซเคิลได้ เพราะว่ามันเป็นอุตสาหกรรมอาหาร เขาจะไม่ใช้รีไซเคิล เราก็เลยไปเอาขวดเสียพวกนั้นมาออกแบบสินค้า พอเราเริ่มทำหลังจากนั้นก็เริ่มมีองค์กรมาติดต่อให้เอาขยะของเขามาใช้ ก็เริ่มมีพลาสติก มีแหอวนเข้ามา เราก็เริ่มมี category ที่เป็นวัสดุอีกแบบหนึ่งนอกจากขวด PET แต่ความยากของมันก็คือวิธีการผลิตที่มันซับซ้อนขึ้น มีขั้นตอนมากขึ้น ถ้าเป็นวัตถุดิบปกติเรานำมาใส่เครื่องผลิตแล้วจบเลย นำมาใช้ได้เลย แต่วัตถุดิบที่เป็นขยะเราต้องเอามาคัดแยกก่อน อย่างขวดเราไม่สามารถเอาเข้าเครื่องผลิตได้เลย ต้องเอามาแปลงให้มันเป็นรูปร่างที่เหมาะสมที่จะเข้าเครื่องก่อน หรืออย่างแก้วที่มันพิมพ์โลโก้มาแล้ว หรือฝาขวดหลากสี เวลาไปบดมันก็จะเป็นสีแบบหนึ่ง การออกแบบมันก็ต้องไปตามสิ่งที่มันเป็น มันก็ออกแบบยากขึ้น และก็มีคอสที่เพิ่มขึ้นด้วยครับ”

 

 

ธุรกิจโตได้ ชุมชนโตด้วย

“ตอนนี้เราพยายามจะเชื่อมโยงให้ผู้ที่รับผลประโยชน์จากธุรกิจของเรามันมีมากขึ้น เราพยายามที่จะเชื่อมโยงว่าในสังคมมีคนที่เสียเปรียบ มีความเหลื่อมล้ำเยอะ เราจึงอยากจะผูกโยงให้ผู้ซื้อส่งเงินผ่านเราไปสู่คนพวกนี้ได้ อย่างเมื่อก่อนเราซื้อวัตถุดิบจากบริษัท แต่ตอนนี้เราซื้อจากชาวบ้าน เราซื้อขยะแหอวนจากชาวบ้านเอามาทำงาน เงินที่เราเคยจ่ายให้บริษัทใหญ่เราก็ไปจ่ายให้ชุมชนแทน เราอยากให้ธุรกิจของเรามันโตไปพร้อมๆ กับชุมชนได้ อยากให้ธุรกิจของเราไปอุดหนุนโครงการที่เขาพยายามจะร่วมมือกับคนที่เขาพยายามจะดูแลสิ่งแวดล้อม ให้เงินมันไปตรงนั้น กระจายรายได้ไปสู่คนอื่นๆ ที่ด้อยกว่า เพราะบางทีเราไม่สามารถผลิตของในปริมาณมากได้ เราก็เลยต้องเน้นไปที่การสร้างมูลค่า คือเราพยายามทำให้เห็นด้วยว่าธุรกิจแบบนี้มันรันได้จริง หลายปีก่อนคำว่าเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy มันเป็นเหมือนทฤษฎี หรือว่าเรื่องของ SDG ความยั่งยืนมันก็ออกแนวทฤษฎีเป็นนโยบาย มันดูห่างไกลจากความเป็นธุรกิจที่ practical ทำได้ ขายได้ มีคนซื้อ มีคนชอบ เป็นแบบอย่างให้คนอื่นมาทำตามได้ มันเลยเหมือนเราต้องเป็นคนทดลอง เพราะตอนนั้นมันไม่มีเลย ไม่มีเจ้าไหนให้เราไปเรียนรู้จากเขา ซึ่งเรามองว่าอันนี้มันคือความท้าทาย เป็นความสนุก และมันก็มีความหมายในการทุ่มเทเวลากับความพยายามลงไป เพราะเรารู้ว่ามันพาไปสู่อะไรครับ”

 

 

 

 

Writer

Au Thitima

Content Creator ผู้รักในการอ่าน ชอบในการเขียน และคลั่งไคล้สัตว์สี่ขาที่เรียกว่าแมว