เปิดตัวหนังสือ : หัวข้อเสวนา "โรงงานเทวดา : บริษัทโคลนนิงมนุษย์"

เปิดตัวหนังสือ

โรงงานเทวดา

 

จำเนียร : ก่อนอื่นผมขอแนะนำอาจารย์วันเพ็ญ บงกชสถิตย์ ท่านจบการศึกษาจาก Rice University Texas ประเทศอเมริกา และศิลปศาสตรบัณฑิต เอกวรรณคดีอังกฤษ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยเป็นผู้สอน ภาษาไทยประจำให้กับองค์การสหประชาชาติประจำภูมิภาค แปลบทความประจำวารสารคูริเยร์ขององค์การยูเนสโก นอกจากนั้นยังแปลงานอื่น ๆ อีกเช่นชีวิตและความคิดของนักปรัชญา จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ งานวรรณกรรมเช่น เจนนี่ที่รัก ของ พอล กาลิโก จัดพิมพ์โดยสนพ.กอไผ่ เมื่อปี 26 วิมานมายา ของคาวาตะ ไฮดี้และล่าสุดที่ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ เรื่อง อ่าวมรณะปี 2543 ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาถึงตรงนี้คงอยากจะให้อาจารย์ได้ช่วยเล่าบรรยากาศในการอ่านเรียนในวัยเด็กให้เราได้ฟังหน่อย ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าคนที่จะก้าวมาเป็นนักเขียนคงจะต้องเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก่อนเลยอยากให้ช่วยเล่าประสบการณ์ให้เราฟังหน่อยครับ

วันเพ็ญ : เมื่อช่วงที่เป็นเด็กตอนนั้นไม่มีสิ่งที่ยึดดูดที่ทำให้ไขว้เขวมากเท่ากับปัจจุบัน ซึ่งเด็กในสมัยนี้นะคะ มีสิ่งดึงดูดมากกว่าที่ไม่อาจจะทำให้เขาปักหลักทำอะไรได้นาน อย่างช่วงวัยเด็กที่เติบโตขึ้นมานั้นคิดว่าผู้ฟังหลายท่านที่นั่งอยู่ตรงนี้ขอเรียกว่าผู้ฟังร่วมสมัยที่คงจะคุ้นชินกับการไปโรงเรียนแล้วก็กลับบ้าน ไม่ได้ไปเที่ยวตามศูนย์กลางค้า ยิ่งเป็นคนที่ไม่ค่อยจะมีเพื่อนมากนักจึงทำให้ต้องอยู่บ้าน เพราะฉะนั้นโลกของเราที่จะทำให้เพลิดเพลินได้จึงมีแต่หนังสือ

จำเนียร : อาจารย์เป็นคนธนบุรีใช่ไหมครับ

วันเพ็ญ : เป็นคนอยุธยาค่ะ แต่ไม่มีโอกาสได้เติบโตที่นั่น คือพ่อแม่ย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เล็กเป็นลูกคนเดียวแถมยังเป็นผู้หญิงอีก จึงทำให้ถูกพ่อ แม่ ขีดวงจำกัดอยู่แต่ในบ้าน เราก็จะอ่านหนังสือซะเป็นส่วนใหญ่ จำพวกหนังสือพิมพ์ และนิยายประโลมโลก ซึ่งผู้ใหญ่จะห้ามเราไม่ใช้อ่านเราก็ต้องแอบอ่านและก็ได้อ่านงานแปลพอสมควร และก็มีงานแปลที่ประทับใจอยู่เล่มหนึ่ง คือ บ้านเล็กในบ้านใหญ่ ที่แปลได้ดีมากเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากอ่านหนังสือมากขึ้น คนแปลคือคุณสุคนธรส ท่านแปลได้ดีมาก พอเราได้มีโอกาสสอบได้ทุนไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ จึงตามไปหาหนังสือเล่มนี้ว่าต้นฉบับเล่มนี้เป็นอย่างไรบ้าง พออ่านแล้วพบว่าสู้ฉบับภาษาไทยไม่ได้ ไม่เหมือนฉบับแปลที่จะนุ่มนวลละไม ส่วนต้นฉบับเดิมจะแข็งไม่ทำให้เรารู้สึกคล้อยตามเพียงแต่ได้ข้อเท็จจริงเหมือนกับเล่าประวัติชีวิตของผู้เขียนตรง ๆ ซึ่งตรงนั้นเป็นงานแปลเล่มแรกที่เราอ่าน

จำเนียร : ตอนนั้นเลยทำให้เราอยากจะแปลหรือเป็นผู้ถ่ายทอดหรือเปล่าครับ วันเพ็ญ ตอนนั้นยังไม่ถึงขั้นนั้นอาจจะเป็นเพราะยังไม่กล้าหรือคิดว่าวิทยายุทธยังไม่แข็ง จนเรียนจบกลับมาแล้วบังเอิญไปพบกับหนังสือเล่มหนึ่ง ผู้ประพันธ์คิดว่าหลายคนคงเคยได้จริง เข้าใจว่าคงเป็นหนังสือนอกเวลาเรียนของบ้างโรงเรียนเสียด้วยซ้ำ คือพอล กาลิโก หนังสือที่ทำให้เขามีชื่อเสียงคือ ดอกไม้จากมิสซิลแฮร์ริส (Flowers for Mrs. Harris) แต่อาจจะมีกลิ่นน้ำเน่านิด แต่พอได้อ่านบทประพันธ์อีกเล่มหนึ่งของคนพอล กาลิโก ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับแมว โดยส่วนตัวแล้วเราจะถูกเลี้ยงมาแบบไม่ให้ชอบแมว ผู้ใหญ่ขู่ว่าอยากไปเล่นกับมันนะเพราะมันจะทำให้เป็นโรคต่างๆ บาง จึงทำให้เราไม่ชอบแมว แล้วเมื่อมาได้อ่านบทประพันธ์ชิ้นนี้ก็ทำให้เรารักแมวขึ้นมา จึงเกิดแนวความคิดอยากจะให้คนที่ไม่ชอบแมวอย่างเราได้อ่านบ้าง จึงลงเมื่อแปลด้วยความชอบอย่างเดียว โดยไม่คิดว่าเราจะเผยแพร่อย่างไร ก็แปลทิ้งไว้ทีเดียวนานแล้วก็ได้เล่าให้เพื่อนฟัง เพื่อนก็บอกน่าเสนอเรื่องให้สำนักพิมพ์แปลติดต่อไปที่เคล็ดไทยเขาสนใจก็เลยได้แปล แต่เราก็ไม่ได้ใช้ชีวิตเป็นนักแปล อาจจะเป็นเพราะว่าถ้าหนังสือเล่มใดที่เราอ่านแล้วไม่สนุกก็จะไม่อยากแปลเราจะไม่สนุกกับงานเกิดความรู้สึกไม่คุ้นชินแปลไม่ได้มันฝืด จะแข็งกระด้างแต่ถ้าเล่มไหนเราชอบแค่ลงนั่งก็จะไปได้เอง เหมือนเล่านิทานให้ตัวเราฟัง แต่หนังสือบางเล่มเหมือนอ่านแล้วไม่เหมือนว่าเขาเล่าให้เราฟังอ่านเมื่ออ่านแล้วจึงไม่คิดอยากจะเล่าให้ใครฟังต่อ

จำเนียร : ตรงนี้จึงว่าเป็นจุดเริ่มแรกจากนักอ่านแล้วพอได้หนังสือแล้วเกิดประทับใจ ก็เลยยากจะถ่ายทอดหนังสือเจนนี่จึงเป็นงานแปลเล่มแรก

วันเพ็ญ : ค่ะ…เป็นงานแปลเล่มแรก

จำเนียร : หลังจากกลับจากเรียนต่อที่เมืองนอกแล้วอาจารย์มาทำอะไรครับ

วันเพ็ญ : เป็นอาจารย์สอนแล้วก็แปลงานให้กับองค์ยูเนสโก ซึ่งจะแตกต่างจากงานแปลที่ไม่ได้แปลอย่างต่อเนื่องเพราะในความคิดเรารู้สึกว่าการแปลหนังสือแต่ละเรื่องมิใช่จะแปลให้อ่านสนุกเท่านั้น แต่มันน่าจะมีอะไรติดค้างให้ผู้อ่านบ้าง ซึ่งงานแปลให้กับยูเนสโกเป็นการแปลความรู้ซึ่งทำให้เราได้ความรู้ใหม่ ๆ เลยทำงานนี้อย่างต่อเนื่อง หลายเรื่องแล้วโดยปกติเราก็จะไม่ได้เห็นในข่าวหนังสือพิมพ์ เช่นเรื่องหนึ่งที่แปล เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับผู้หญิงในอัฟกานิสถาน เป็นบทความที่ส่งคนไปศึกษาอย่างจริงจังนำมาถ่ายทอดอย่างเป็นประสบการณ์ ซึ่งเราไม่มีทางรู้เพราะในประเทศนี้ส่วนหนึ่งเป็นประเทศต้องห้าม นอกจากความรู้ที่เราได้จากอ่านแล้วเราก็ยังต้องค้นค่ะ การที่จะแปลอะไรสักอย่างไม่ว่าจะเป็นงานนิยาย ถ้าเขาพูดถึงยุคสมัยหนึ่งเราก็ต้องค้นคว้าเพื่อที่จะเข้าใจถึงสิ่งที่เขาพูดถึง แล้วเราก็ได้ความรู้จากที่เราค้นลึกไปเรื่อย ๆ เพราะเวลาที่เราแปลจะต้องมีความสนิทแนบแน่นกับมันไม่เช่นนั้นเราถอดไม่ได้ ฉะนั้นงานแปลจึงเป็นสิ่งที่พาเราไม่สู่โลกใหม่ ในขณะเดียวกันแต่เราก็ได้การเรียนรู้จากการค้นคว้ามันเปิดโลกให้เรารับรู้กับสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งในปัจจุบันเราอาจจะไม่ได้รับรู้สิ่งเหล่านี้เลย แต่พอเราแปลเราก็เกิดการเรียนรู้มิฉะนั้นมันจะทำถ่ายทอดไม่ได้ คือไม่ใช่แค่ตัวหนังสือ หรือตัวละคร แต่การที่จะเข้าใจตัวละครและถ่ายทอดตัวละครสักตัวหนึ่ง เราจะต้องเข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดอย่างนี้ วัฒนธรรมของเขาเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ

จำเนียร : นั่นเป็นประโยชน์ของงานแปลที่สามารถเชื่อมความเข้าใจถึงสองส่วน ซึ่งจะทำให้ผู้ที่ไม่เก่งภาษาต่างประเทศให้ได้อ่านบทความดี ๆ แต่จริง ๆ แล้วก็แปลหนังสือก็มิใช่จะแปลให้ตรงภาษาอย่างเดียวใช่ไหมครับอาจารย์ มันมีผู้แปลเองคำศัพท์บางคำที่เราจะต้องแปลและขยายความบางอย่าง

วันเพ็ญ : ค่ะ ในบางครั้งการที่เราจะต้องแปล อาจจะไม่ได้เชื่อในทฤษฎี ซึ่งทฤษฎีในการแปลมี 2 แนวหลัก แถวหนึ่งคือการจะต้องแปลให้ถูกต้องตามต้นฉบับทุกอย่าง จะต้องวางรูปประโยคให้ถูกต้องเราจะต้องทำตามนั้นหมด กับอีกทฤษฎีซึ่งเป็นทฤษฎีของฝรั่งเศสให้เราอ่านให้จบย่อหน้าแล้วหลับตานึกภาพให้ออกว่าเนื้อเรื่องเป็นอย่างไร แล้วถ่ายทอด โดยส่วนเวลาแปลบทความอย่างของคูริเยร์ก็จะปรับปรุง เรียบเรียงเพื่อไม่ให้มันมีกินนมกินเนยหรือให้เหลือน้อยที่สุด เพราะจะมีการถามหนึ่งก่อนจะเริ่มงานแปลว่าการที่เราจะสื่อให้คนที่ยังขาดเครื่องมือ หรือเครื่องมือตรงนี้ยังไม่เฉียบคมพอ ให้เข้าใจโดยที่ไม่ต้องแปลจากภาษาไทยเป็นไทยอีกรอบหนึ่ง จึงอย่างจะหลีกเลี่ยงตรงนี้ ดังนั้นจึงทำให้เราทำงานแปลไม่ต่ำกว่าครั้งหรือสองครั้ง ซึ่งคราวแรกที่เราถ่ายทอดออกมาก็ยังมีอะไรสะดุดอยู่อย่างเช่นความไม่ต่อเนื่อง เพราะบางทีในโครงสร้างของภาษาอังกฤษมันอาจจะวางโครงสร้างประโยคเป็นประโยค ลักษณะของข้อความในประโยคอาจจะละคำเชื่อมในประโยค ซึ่งบางครั้งในภาษาอังกฤษจะสื่อความหมายสมบูรณ์อยู่แล้วแต่เมื่อเราถ่ายทอดเป็นภาษาไทยเราไม่สามารถที่จะถ่ายทอดออกมาแบบนั้นได้เราต้องอาศัยพวกคำเชื่อมให้ต่อเนื่องกันเป็นกระแสความคิด เพราะวิธีการที่เขียนแบบภาษาไทยเท่าที่สังเกตเราจะไม่ซ้อนจะเปิดหมดค่ะ แต่ในภาษาอังกฤษเขาจะทิ้งให้คนอ่านได้คิดเอง

จำเนียร : คำถามนี้อาจจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่อยากจะเป็นนักแปลนะครับ ว่าถ้าเรามีหนังสือเล่มหนึ่งแล้วอยากจะแปลเราจะทำอย่างไรครับ

วันเพ็ญ : เราต้องอ่านทั้งหมดเพื่อจะทิศทางประเด็นของเรื่อง และอารมณ์ความรู้สึกของผู้เขียนถึงจะลงมือแปล โดยข้อความแบบเดียวกันสมมุติว่าเป็นนวนิยายหรือพวกเรื่องสั้นอะไรก็ตามเราจะต้องจับอารมณ์ให้ได้ อย่างภาษาอังกฤษอาจจะใช้ประโยคง่าย ๆ ประโยคเดียวที่ว่าฉันชอบเรื่องนี้ แปลเป็นภาษาไทยสิ่งแรกที่จะต้องพิจารณาคือสรรพนามที่มีมากมาย แล้วสรรพนามจะบอกถึงความใกล้ชิดถึงกลุ่มคนซึ่งเราต้องบอกสิ่งเหล่านี

จำเนียร : ด้านแรกของนักแปลส่วนใหญ่ที่เคยคุยกันก็จะพูดถึงความยุ่งยากของฝรั่งเองก็จะมี I กับYOU เท่านั้นเอง อย่างที่ผมเคยอ่านงานแปลของครูประมูล นักแปลฝีมือเยี่ยมคนหนึ่งท่านจะชอบแปลงานคาวบอยแล้วคำศัพท์ที่ใช้จะเป็นข้ากับเอง ก็ดูไม่เข้ากันท่านจึงให้คำว่า ไก มาถึงตรงนี้ผมจึงอยากจะทราบว่านักแปลต้องบัญญัติศัพท์เองแล้วมีเชิงอรรถเพื่อช่วยผู้อ่านหรือเปล่า

วันเพ็ญ : คงต้องเป็นอย่างนั้นหรือไม่ก็ถ่ายทอดในลักษณะเรียบเรียงใช้สำนวนที่แตกต่างกัน เราก็ต้องถอดให้เป็นไทย อย่างเช่นเห็นหญ้าที่บ้านคนอื่นเขาเขียวกว่าบ้านเรา จะถอดมาให้ตรงตัวอย่างนั้นก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นเราต้องมาดูว่าสำนวนเปรียบเทียบที่ใช้กันบ้านเรามันเป็นอย่างไร มาเทียบเคียงให้ใกล้กันที่สุดให้คนอ่านได้เข้าใจที่สุด โดยเฉพาะนวนิยาย วรรณกรรม เป็นสิ่งเพลินเพลิดอ่านแล้วต้องไม่สะดุด ยิ่งเป็นงานวรรณกรรมเอกของโลก เรายิ่งไม่กล้าแปลเพราะคิดว่าฝีมือยังไม่ถึงที่ใช้ภาษาได้อย่างที่ตรงฉบับ เพราะงานประเภทนี้บางทีศัพท์คำเดียวเขาจะใช้หลายความหมายซ้อนอยู่ แล้วบางทีเราหาคำตรงไหนไม่ได้ หรือบางครั้งที่เขาให้น้ำเสียงเรียบมากแต่มีนัยยะซ้อนดูแล้วตรงนี้เราจะถ่ายทอดออกมาได้อย่างไร อย่างที่อยากจะยกตัวอย่างงานเรื่องสิทธารถะ ที่เคยมีผู้แปลอย่างน้อยสองฉบับ คือคุณสดใสฉบับหนึ่ง คุณสีมน ฉบับหนึ่ง ได้อ่านหนังสือเล่มนี้หลายรอบอาจจะเป็นเพราะเราได้สอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วพบว่าเมื่อเราอ่านแล้วมีบางอย่างที่เราไม่สามารถแปลออกมาได้ เช่น ลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนเขียนบรรยายอะไร 3 ครั้ง การเรียบเรียงหรือการบรรยายอากัปกิริยาอะไรเป็น 3 ครั้งซึ่งตรงนี้เราก็มาสะดุดแล้วว่าคงไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญแต่ไปสอดคล้องกับทฤษฎีตรีมูรติ ซึ่งเป็นภูมิหลังของหนังสือเล่มนี้ ที่เขาต้องการนำเสนอปรัชญาตะวันออกที่เราก็ไม่สามารถถ่ายทอดได้ ซึ่งภาษาตรงนี้มันจะคลาย ๆ กลอน ซึ่งไม่อาจจะหาคำแล้วถ่ายทอดภาษาให้ลงท่วงทำนอง ซึ่งถ้าจะถ่ายทอดเนื้อหาก็สามารถถ่ายทอดได้แต่ถ้าจะถ่ายทอดเสน่ห์ตรงนี้ไม่สามารถจะถ่ายทอดได้จึงมีความรู้สึกว่าไม่กล้าแตะ

จำเนียร : ตามที่อาจารย์เล่ามาดูจะเป็นคนที่ถ่อมตัวไปนิดหนึ่ง อย่างผมก็เคยเห็นอาจารย์แปลงานของ คาวาตะ เรื่องวิมานมายา ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เยี่ยมเรื่องหนึ่ง

วันเพ็ญ : คือตอนนั้นเราได้อ่านและติดตามงานของคาวาตะมามากพอสมควร ทำให้เรารู้จักตัวเขา เข้าใจงานเขียนของเขา รับรู้ถึงความรู้สึกของเขาจนคาวาตะฆ่าตัวตาย

จำเนียร : ซึ่งตอนนั้นอาจารย์ได้แปลงานของคาวาตะโดยจากหยิบงานแปลภาษาอังกฤษที่นำมาแปลจากภาษาญี่ปุ่นเพื่อเอามาแปลเป็นภาษาไทย

วันเพ็ญ : ตอนที่แปลงานของคาวาตะเราไม่รู้สึกแปลกปลอมมากนัก เพราะเราเป็นคนตะวันออกเหมือนกันกับให้เราเข้าใจคาวาตะได้ง่ายขึ้นเพราะอย่างน้อยเขาก็มีแนวความคิดแบบพุทธถึงแม้จะเป็นความคิดแบบญี่ปุ่นจึงทำให้เราเข้าใจแนวความคิดหลัก ๆ ได้

จำเนียร : สำหรับเวลาที่อาจารย์แปลงานก็ต้องมีคู่มืออย่างเช่นดิกชันนารี

วันเพ็ญ : ค่ะ…ดิกชันนารี นี้สำคัญมาก พอแปลหนังสือเล่มหนึ่งก็ต้องซื้อทีหนึ่ง บางทีเราต้องใช้บางทีเราหาคำภาษาไทยไม่ได้ก็ต้องไปเปิดดิกชันนารี พอเปิดหลาย ๆ เล่ม แล้วจะพบว่าจะแปลคำภาษาไทยไม่เหมือนกัน หรือในบางครั้งก็อาจจะต้องขึ้นคำขึ้นมาเองเพราะไม่ตรงกับที่เราใช้

จำเนียร : มาพูดถึงงานแปลเล่มล่าสุดคือโรงงานเทวดา เป็นแนววรรณกรรมเยาวชนแนวแฟนตาซีนิด ๆ แต่ผมว่ามันก็ซ่อนนัยยะอะไรบ้างอย่าง ซึ่งเป็นแนวที่อาจารย์สนใจอยู่ อยากจะให้อาจารย์เล่าถึงโครงเรื่องคร่าว ๆ พอทางสำนักพิมพ์ติดต่อแล้วอาจารย์ก็เอาไปอ่านเกิดชอบจึงแปลอย่างจะให้อาจารย์เล่าถึงหนังสือเล่มนี้หน่อยครับ

วันเพ็ญ : พอได้หนังสือเล่มนี้มาแล้วมีจุดสนใจอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องแนวความคิดที่ต้องการความสมบูรณ์แบบ มนุษย์ทุกคนอยากที่จะเก่งที่สุด อยากที่จะสวยที่สุด เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรก็ได้ที่ทำให้เราสวยที่สุด เมื่อมีลูกเราก็พยายามสร้างลูกให้สมบูรณ์แบบที่สุด แข่งกับคนอื่นเราจะได้ไปคุยกับชาวบ้านได้ว่าลูกเราสมบูรณ์แบบแต่ในขณะที่หนังสือเล่มนี้เดินสวนทางกัน หนังสือเล่มนี้สวนกับการแสวงหาความสมบูรณ์แบบเพราะหนังสือเล่มนี้ ตัวละครจะมีพ่อแม่เป็นเทวดาที่ลงมาสร้างโลกให้สมบูรณ์แบบขึ้นเป็นโลกของเทวดาแต่ตัวละครตัวนี้เลือกที่จะเป็นมนุษย์ธรรมดาที่ไม่สมบูรณ์แบบ ขาด ๆ เกินๆ มีความสุขแบบขาดๆ เกิน ๆ เพราะเขาไม่ต้องการมีความสุขแบบสมบูรณ์แบบ มันน่าเบื่อ แล้วที่โดนใจมากที่สุดคือในท้ายที่สุดเทวดาก็ต้องล้าทัพ เทวดาก็ถูกล้างสมองให้มีชีวิตจากขาด ๆ เกิน ๆ สุขบ้างทุกบ้างเพราะฉะนั้นมันเป็นความคิดที่แปลกเพราะมันทวนกระแสกับความต้องการที่จะไปให้ถึงจึงอยากจะแปลหนังสือเล่มนี้

จำเนียร : ในช่วงที่อาจารย์ทำงานแปลเกิดปัญหาในการแปลอย่างไรบ้างครับ

วันเพ็ญ : ค่ะ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นแนววิทยาศาสตร์โดยพื้นฐานจะไม่มีความรู้ด้านนี้มากเราก็ต้องไปศึกษาอย่างเรื่องคอมพิวเตอร์ เราก็ต้องไปศึกษาว่ารายละเอียดมันมีอะไรบ้างรวมทั้งแนวคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงโลกเป็นอย่างไรบ้างที่เรื่องคำว่าภควาเป็นสิ่งสูงสุดไม่เรียกว่าเป็นพระเจ้าก็เพราะจากคำบรรยาย อีกอย่างหนึ่งเราไม่อยากจะไปแตะความเชื่อเกี่ยวกับศาสนาใดเพราะเวลาที่เราแปลงานก็ต้องคำนึกถึงสิ่งพวกนี้ที่ไม่ให้ไปคาบเกี่ยวกับจารีตประเพณีเข้า ก็เลือกใช้ศัพท์คำนี้ที่แปลว่าสิ่งสูงสุด แต่ก็ไม่ได้ถูกใจซะทีเดียว

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ