เสวนาหนังสือ : งานเปิดตัววรรณกรรมเยาวชนเสวนาหนังสือ "ม้าน้อยสีขาว"

เสวนาหนังสือ

วันที่ 13 ธันวาคม 2545 ณ ร้านหนังสือ B2S

ผู้ร่วมเสวนา : วิภาดา กิตติโกวิท และสุกัญญา มิเกล

ดำเนินรายการโดย บก.จำเนียร พลสวัสดิ์

 

 

 

จำเนียร : "ม้าน้อยสีขาว" เป็นวรรณกรรมเยาวชนซึ่งแปลมาจากภาษาอังกฤษ เรื่อง The Little White Horse บทประพันธ์ของนักเขียนสตรี Elizabeth Goudge เรื่องนี้ได้รับรางวัลเหรียญคาร์เนกี้ (Carnegie Medal Winner) ประจำปี 1946 ซึ่งเป็นรางวัลที่ทางสมาคมหอสมุดแห่งชาติที่ประเทศอังกฤษได้จัดขึ้นมา เป็นรางวัลยอดเยี่ยมของแต่ละปี หนังสือเรื่องนี้ เจ.เค.โรว์ลิ่ง ผู้เขียน "แฮร์รี่ พอตเตอร์" กล่าวขวัญและชื่นชมไว้ในนิตยสาร "เดอะบุ๊ค เซลล์เลอร์" ว่าเธอรักและชื่นชมวรรณกรรมเรื่องม้าน้อยสีขาวเป็นอันมาก เพราะโครงเรื่องเต็มไปด้วยความอ่อนหวานและงดงาม ซึ่งวันนี้เราจะมาคุยกันว่าเป็นอย่างนั้นจริงไหม ในทัศนะของนักแปลและนักอ่านว่าเป็นอย่างไร ขอแนะนำผู้แปลสักเล็กน้อย คุณวิภาดา กิตติโกวิท เรียนจบคณะครุศาสตร์ ที่จุฬาฯ พอจบก็ได้ไปทำงานที่องค์กรพัฒนาเอกชนอยู่หลายแห่ง เริ่มจากสภาวัฒนธรรมเอเซีย, องค์กรสิทธิมนุษยชน เช่น เอเซียแปซิฟิค ปัจจุบันก็ยังทำงานอยู่กับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งทำงานเพื่อชาวสลัม สำหรับการทำงานแปลที่ผ่านมาคุณวิภาดา จะมีงานแปลในเชิงแนวความคิดเป็นส่วนใหญ่ ในระยะหลังจึงหันมาจับงานแปลวรรณกรรมเยาวชน สำหรับงานแปลที่วางอยู่ตรงนี้ ก็มีงานแปลของคุณปองพล และฟลีแบ๊ค และอีกเล่มหนึ่งคือ ม้าน้อยสีขาว ที่เราจะมาพูดถึงวันนี้ อีกท่านหนึ่งคือคุณสุกัญญา มิเกล เริ่มต้นเป็นนักแสดง นักร้อง จนสุดท้ายมาเป็นนักเขียน ทำงานเพลงได้รางวัลอยู่เสมอ เช่นรางวัลสีสันอะวอร์ด เริ่มต้นการเขียนหนังสือโดยการเขียนเบื้องหลังโฆษณาของพาราโนนิค ชุดแห่นางแมว และเขียนเรื่องสั้นลงนิตยสารชีวิตต้องสู้ มีผลงานรวมเล่มมาแล้วสองเล่ม คือเรื่อง"จังหวะชีวิต" และ "ครั้งหนึ่งในชีวิต" และกำลังจะออกอีกเล่มคือ "มายาชีวิต" ตอนนี้ก็ยังเขียนหนังสืออยู่เรื่อย ๆ

มิเกล : ยังคงเขียนอยู่เรื่อย ๆ แต่ไม่มีความสามารถในการแปล เพราะการแปลจะต้องเอาสำนวนมาให้ได้ความหมายเดียวกัน และยังคงให้ผู้อ่านเข้าใจซึ่งยากกว่าการเขียนเอง

จำเนียร : สำหรับเรื่องนี้ที่มีคนกล่าวขานว่ามีการผสมผสานระหว่างจินตนาการและความจริง มีภาษางดงามตามบทกวี ก็เลยอยากจะถามถึงช่วงทำงานในหนังสือเล่มนี้ว่าคุณวิภาดามีความประทับใจอะไรบ้าง

วิภาดา : เรื่องม้าน้อยสีขาวนี้ประทับใจครั้งแรกคือความสวย ความงดงามของภาพ เมื่ออ่านแล้วมองเห็นภาพ เห็น ภูเขาสีเงิน เห็นละอองหมอก ที่ผู้เขียนบรรยายได้สวยงามมาก ในภาษาอังกฤษนั้น พอถอดความเราก็รู้สึกหนักใจเหมือนกันที่จะถอดออกมาให้สวยงามดังเช่นภาษาอังกฤษ ซึ่งตัวเองก็ไม่ได้เป็นกวีด้วย ถ้าเป็นกวีก็คงจะถอดได้ง่ายขึ้น ทำให้ช่วงนั้นต้องหาบทกวีมาอ่าน เพราะเราต้องการซึมซับเรื่องภาษา เพื่อให้เราสามารถบรรยายได้งดงาม

จำเนียร : คงต้องมาถามผู้อ่านถึงเรื่องการพรรณนาโวหารว่าเป็นอย่างไร

มิเกล : พูดง่าย ๆ คืออ่านแล้วต้องเข้าใจง่าย จากที่อ่าน ๆ มา ถ้าเจอแบบนี้จะเบื่อไปเลย แต่เรื่องนี้เท่าที่อ่านผ่านมายังไม่เบื่อเลย เราสามารถนึกภาพได้ตามเรื่อง ทั้งน้ำ และภูเขา

จำเนียร : พอพูดถึงตรงนี้ก็อยากให้คุณวิภาดาเล่าถึงโครงเรื่องคร่าว ๆ สำหรับผู้ฟังที่ยังไม่ได้อ่านจะได้พอเข้าใจเรื่องตามไปด้วยว่าเป็นอย่างไร

วิภาดา : โครงเรื่องก็เป็นเรื่องของเด็กกำพร้าคนหนึ่ง ชื่อมาเรีย เมอร์รี่เวเธ่อร์ เป็นเด็กหญิงกำพร้าอายุสิบสาม ที่มาจากลอนดอน พ่อเป็นทหารอยู่อินเดียและเสียชีวิต แม่ก็เสียชีวิต อยู่กับครูคือมิสเฮลิโอโทรป ที่เลี้ยงเขามา ยุคนั้นเป็น ยุควิตอเรียที่ผู้หญิงถูกบังคับให้ต้องเป็นกุลสตรี

จำเนียร : ฉากนี้เป็นฉากที่อยู่ในกรุงลอนดอนที่ปี ค.ศ.1846 ประมาณนั้น เป็นยุคสมัยพระเจ้าวิคตอเรีย ถ้าจะเปรียบกับบ้านเราก็ประมาณ รัตนโกสินทร์ ตอนต้น สมัย ร. 4 ผู้ฟังจะได้จินตนาการตามไปด้วย ต่อไปเป็นอย่างไรครับ

วิภาดา : ต่อมา มาเรียก็ไปอยู่ที่หุบเขาซึ่งเป็นที่สวยงาม แต่ว่าเป็นหุบเขาต้องคำสาป เพราะว่าตระกูลเมอรี่เวเธ่อร์ มีสงครามสู้รบกับตระกูลค็อกค์ เดอ นัวร์ ซึ่งเป็นอีกตระกูลหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องในอดีตที่เจ้าหญิงจันทราที่เป็นตัวเอกในอดีตหนีหายไป หุบเขาแห่งนั้นก็ไม่สงบสุขมาตลอด จนมาถึงยุคของมาเรียก็พยายามจะอดกลั้น ซึ่งในนั้นก็จะมีจินตนาการเป็นแฟนตาซีที่เชื่อว่าทุกรุ่นจะมีเจ้าหญิงจันทราหนึ่งคน จะต้องมาเพื่อที่จะแก้สาปในแต่ละรุ่น ซึ่งเจ้าหญิงจันทราในแต่ละรุ่นไม่สามารถแก้คำสาปได้เพราะเขาจะหยิ่งผยองและทรนง จนมาถึงยุคของมาเรียที่มีความตั้งใจว่าจะแก้คำสาปของที่นี้เพื่อให้แผ่นดินสงบสุขอีกครั้ง ซึ่งคนที่จะทำตรงนี้ได้คือจะต้องลดความผยองลง มีความอ่อนอ้อมถ่อมตัว และต้องได้รับความร่วมมือจากคนทั่วไป จึงจะแก้คำสาปนี้ได้ อันนี้ช่วงเริ่มต้น ต่อมามาเรียก็ไปเจอเด็กเลี้ยงแกะที่ชื่อโรบิ้น เป็นเด็กรักสนุก ซึ่งสองคนนี้ ได้บุกเข้าไปในป่าดำที่ค็อกด์ เดอ นัวร์ ที่ช่วยแก้คำสาปในการเอาหุบเขาไปคืนกับเจ้าของและเอาทรัพย์สินให้คืนกับเจ้าของไป

จำเนียร : โครงเรื่องจะเป็นนิยายคลาสสิก ซึ่งในเรื่องก็จะมีสัตว์ต่าง ๆ ทั้งสุนัข สิงโต กระต่าย เป็นต้น

มิเกล : คือมิเกลสงสัยว่า ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นมาเรีย สุนัข สิงโต หรือกระต่าย ทำไมถึงชื่อม้าน้อยสีขาวได้

วิภาดา : ม้าน้อยสีขาว เป็นตัวสุดท้ายที่ทำให้ไปเจอคำสาปทั้งหมด

มิเกล : เป็นเหมือนกุญแจ

จำเนียร : จริง ๆ แล้วตัวม้าน้อยสีขาวเป็นสัญลักษณ์ ถ้าผมพูดไม่ครบล้วนอย่างไร คุณวิภาดา ช่วยเสริมด้วยนะครับ คือฉากเริ่มต้นที่มาเรียเดินทางมาถึงหุบเขา เขาจะรู้สึกเหมือนเห็นม้าน้อยสีขาวตัวหนึ่งปรากฎให้เธอเห็นในช่วงกลางคืน แต่ปรากฏว่าเธอหันไปพูดคุยกับคุณครูที่มาด้วยกัน ครูบอกว่าเธอไม่เห็น ม้าน้อยสีขาวเป็นเหมือนจินตนาการที่จะเข้ามาในช่วงที่เธอรู้สึกไม่สบายใจ ตอนท้าย ๆ ม้าน้อยสีขาวก็จะไปปรากฏตอนที่เธอไปพบกับทายาทของวิลเลี่ยมดำ

มิเกล : แสดงว่าม้าน้อยนี่เหมือนกับอยู่ในจิตใต้สำนึกของเขาอยู่แล้วใช่ไหม?

วิภาดา : ตอนรุ่งสางของทุกวันจะมีม้าจากทะเลวิ่งขึ้นบนแผ่นดินจนแผ่นดินสะเทือน สมัยของเจ้าหญิงจันทราคนแรกนี้ก็มีม้าตัวหนึ่งมาติดอยู่ ไม่สามารถจะกลับลงทะเลไปได้ ตะวันขึ้นปุ๊บม้าจะกลับลงทะเลแต่มีม้าตัวนี้ติดอยู่เพราะมีเขา คือยูนิคอร์น

จำเนียร : ยูนิคอร์นเป็นม้าในตำนานของฝรั่ง

วิภาดา : ติดอยู่ก็ไม่สามารถกลับลงทะเลได้ บรรบุรุษของมาเรียไปได้มาตัวนี้มาและก็เอามาตัวนี้ไปให้เจ้าสาวของเขาในวันแต่งงาน เขาไปแต่งงานกับเจ้าสาวของวิลเลี่ยมดำ เพื่อหวังที่จะได้ที่ดิน ตอนแรกการแต่งงานมันเริ่มจากความปรารถนาที่จะครอบครองที่ดินของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ว่าเนื่องจากเจ้าหญิงจันทราสวยงามมากก็เลยเป็นความรัก ม้าน้อย สีขาวจึงเป็นของขวัญวันแต่งงานคู่กับสุนัขสีชา ซึ่งเป็นสิงห์โตนี่แหละ สิงห์โตกับม้าจะทำให้ตระกูลของเขารุ่งเรือง นี่เป็นสัญลักษณ์ แต่ตอนหลังเจ้าหญิงจันทราโกรธ เพราะรู้ว่าโกหกเขาเพราะตอนแรกมาเพื่อหวังสมบัติ ก็เลยหนีไปกับม้าน้อยสีขาว ม้าน้อยสีขาวหายไปแต่มาเรียมาเจออีกครั้ง และในตอนสุดท้ายเขาต้องการให้ทายาทของวิลเลี่ยมดำยอมรับ คือให้อดีตมันลืมเลือนกันไปและมาสร้างกันใหม่ ก็ได้ม้าน้อยสีขาวมายืนยันว่าวิลเลี่ยมดำไม่ได้ถูกเซอร์โรล์ฟฆ่าตาย เพราะทายาทของวิลเลี่ยมดำชื่อว่าเซอร์โรล์ฟฆ่าวิลเลี่ยมดำ

มิเกล : ต้องขอโทษจริง ๆ มิเกลไม่มีเวลาอ่าน หนังสือประเภทนี้ถ้าอ่านโดยไม่มีสมาธิ อ่านไปก็เปล่าประโยชน์ ก็ต้องใช้สมาธิแต่เราก็ไม่ค่อยมีเวลาว่าง แต่แน่นอนกลับไปต้องลุยอ่านก่อนนอนทุกวัน

วิภาดา : ลูกสาวบอกว่าชอบหนังสือเล่มนี้มาก เป็นหนังสือเล่มที่ชอบมากที่สุดในหนังสือทั้งหลาย

มิเกล : แน่นอนค่ะ เพราะว่าผู้ใหญ่ขนาดมิเกลยังสามารถจินตนาการได้เลยค่ะ ช่วงแรกที่อธิบายถึงตัวมาเรีย เสื้อผ้าเขา แค่นั้นเราก็สามารถนึกได้ว่าหน้าตาเขาประมาณไหน เสื้อสีอะไร อะไรอยู่ตรงนั้น

จำเนียร : ฉากที่บรรยายเขาจะเก็บรายละเอียดมาก พูดถึงแม้แต่ต้นเฟิร์น แสงเงินที่ต้องน้ำวิบวับ ๆ แต่ละฉากที่ดำเนินเรื่องไปดูเหมือนจะรุนแรงแต่ไม่มีฉากที่โหดร้าย ภาษาของผู้เขียนก็ทำให้มันดูเรียบ แต่น่าสนใจ

มิเกล : หนังสืออย่างนี้มิเกลว่าอ่านให้เด็กฟังจะเป็นหนังสือที่ดีมาก ๆ เด็กเขาจะได้เริ่มใช้จินตนาการตั้งแต่เล็ก ๆ เลย

วิภาดา : เด็กอ่านแล้วชอบเพราะว่ามันตื่นเต้น มันลึกลับแต่มันไม่น่ากลัว

จำเนียร : ช่วงที่มาเรียไปถึงปราสาทแห่งนั้น มีหลาย ๆ สิ่งที่เธอสงสัยอยู่มาก ไปถึงที่นั่นก็จะมีคุณอา ซึ่งเป็นคนที่ค่อนข้างจะเก็บตัว รู้สึกจะเป็นผู้พิพากษาด้วย ก็ไม่ค่อยสนใจใคร ปราสาทนั้นก็แทบจะไม่มีใครอยู่เลย มีคนทำอาหาร คนครัว แม่บ้าน ซึ่งเธอมาทราบในภายหลังว่าเป็นคุณน้าของเธอคนหนึ่งเหมือนกัน มาเรียจะเป็นคนช่างซักช่างถาม นอกจากเป็นเด็กที่อ่อนน้อมถ่อมตัว อยากรู้อยากเห็น เรื่องนี้ผมว่า สำคัญเหมือนกันสำหรับวรรณกรรม และปลูกฝังให้เด็กกล้าคิด เรื่องนี้อยากให้พี่วิช่วยมองในมุมที่ต่างหรือเหมือน ระหว่างวรรณกรรมไทยกับวรรณกรรมของต่างประเทศ ความเป็นตัวละครของมาเรียมันจะเหมาะสมกับตัวละครของบ้านเราหรือเปล่า

วิภาดา : คิดว่าตัวละครของวรรณกรรมเยาวชนเป็นสากล เป็นสากลหมายความว่า ไม่ว่าประเทศใดจะมีความอยากรู้อยากเห็น มีจินตนาการ ซึ่งถ้าหากว่าสามารถที่จะใส่เนื้อหาตรงนี้เข้าไปให้เขาได้ เขาจะคิดเป็น อันนี้จากประสบการณ์ที่เลี้ยงลูกมาเห็นว่าเขาอ่านหนังสือเยอะแล้วเขาคิดได้ เขาสามารถที่จะคิดอะไรของเขาได้ ผิดกับหลานที่ไม่อานหนังสืออะไรเลย มันจะต่างกัน ระหว่างเด็กที่อ่านหนังสือกับไม่อ่านหนังสือเห็นความแตกต่างกันชัดเจนว่า เขาจะคิดเป็น จะรู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร รู้ผิดชอบชั่วดี

มิเกล : อย่างนี้ถ้าพ่อแม่ซื้อหนังสือเล่มนี้ไป ก็ต้องเล่าเป็นไกด์ให้ฟังเหมือนที่พี่เล่าให้มิเกลฟัง

จำเนียร : แต่อ่าน ๆ ไปมันก็จะมีความละเมียดละไม

มิเกล : แต่ปัญหาตอนนี้คือเด็กบ้านเราไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ เรากำลังปลูกฝังกันอยู่ให้เด็กบ้านเรารักการอ่าน แต่ก่อนอ่านก็ต้องมีไกด์ไลน์ให้ก่อน ผู้ใหญ่ต้องอ่านก่อน

จำเนียร : นอกจากเรื่องการบรรยายฉาก สิ่งที่ประทับใจในช่วงทำงานยังมีอะไรอีกไหมครับ

วิภาดา : หนักใจมากกว่า ไม่รู้ว่าจะทำให้มันดียังไง เพราะรู้ว่าเขาทำไว้ดี แล้วไม่ต้องการที่จะทำให้มันไม่ดี อ่านพจนานุกรมทั้งเล่มเลย เพราะเราต้องการภาษา ต้องการคำ ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของการแปล คือ คำ ต้องมีคำเยอะ ๆ อยู่ในใจ เราจะใช้คำไหนที่เหมาะสม เข้ากับโครงเรื่องทั้งหมดยังไง เข้ากับบรรยากาศยังไง ภาษาไทยที่แปลยากคือสรรพนาม ภาษาอังกฤษก็ใช้ I กับ You ใช้กันทุกเพศทุกวัย แต่ภาษาไทยไม่ใช่ พ่อแม่กับลูก ญาติผู้ใหญ่กับลูกหลาน เพื่อน พี่น้อง คนรับใช้ แต่ละสรรพนามมันต้องรู้ว่าอันไหนควรจะเหมาะแค่ไหน อย่างมาเรีย เขาเป็นเด็กเขาจะพูดกับครูเขายังไง อย่างเขาเรียกครูว่า He จะใช้ว่าคุณมันก็ไม่เหมาะสม

จำเนียร : หนังสือเรื่องนี้ตัวละครไม่ค่อยเยอะ แต่ก็มีจุดเด่นของเขาที่เกี่ยวพันกันไปหมด ตัวละครชื่อมาเรียไปอาศัยอยู่กับคุณน้าชื่อมีแนตต์ ซึ่งตอนหลังมาทราบว่าเป็นน้องของพ่อ

วิภาดา : ตอนแรกเขาไม่ต้องการให้เปิดเผยตัวเอง เหมือนผู้ใหญ่พูดกับเด็กก็จะเรียกตัวเองว่าน้า มาเรียก็เรียกเลิฟเดย์ว่าน้า เลิฟเดย์ก็เรียกตัวเองว่าน้า สำหรับคนไทยเราก็ใช้คำว่าน้า พอเล่าเรื่องไปตอนหลังทราบว่าเขามีศักดิ์เป็นอา คือเราต้องเข้าใจโครงเรื่องทั้งหมดแล้วเปลี่ยนไปตามเนื้อเรื่อง

จำเนียร : ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกันสำหรับนักแปลที่จะเอาวรรณกรรมดี ๆ ที่มีความงดงามมาแปล ก็ต้องขอบคุณ นักแปลเหมือนกันที่ทำให้เราได้เสพวรรณกรรมดี ๆ หนังสือเล่มนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นคลาสสิก บางครั้งก็พูดยากเหมือนกันว่าทำไมคลาสสิก อยากให้พี่วิพูดให้ฟังสักหน่อย

วิภาดา : เรียก Modern classic คลาสสิกสมัยใหม่

จำเนียร : เจ.เค. ยังรู้สึกว่า

วิภาดา : เจ.เค. เขาได้จากเล่มนี้มาก เรื่องภาษา ที่เอาไปจากเล่มนี้เลยคืออาหารการกิน จะมีอาหารสารพัดเลยที่บรรยาย ใน "แฮร์รี่ พอตเตอร์" ในโรงเรียนฮอกวอร์คก็จะมีอาหารสารพัดเหมือนในม้าน้อยสีขาว

มิเกล : ถ้าเราอ่านแล้วเราจะกลายเป็นคนเขียนหนังสือแล้วขายดีเหมือนเขาบ้างไหม ถ้าเด็กอ่านน่าจะได้เรียนรู้เรื่องของภาษาไทยมากขึ้น

วิภาดา : ถ้าเป็นเด็กผู้หญิง เขาจะบอกว่าเด็กผู้หญิงสอดรู้สอดเห็น

จำเนียร : หนังสือเล่มนี้เลยมีตัวละครเป็นผู้หญิง ที่จะได้ไปรู้เรื่องราว เที่ยวไปซักถามคนเฒ่าคนแก่ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นความลับที่เก็บมายาวนานจนมาเรียเข้าไปถามกับท่านอธิการ ๆ ก็เลยเล่าความเป็นมาของเรื่องนี้ให้ฟัง

วิภาดา : เขาสอนอีกว่าต้องเป็นคนตรงไปตรงมา และอย่าสอดรู้สอดเห็น อย่าบันดาลโทสะ คือการที่มาเรีย แก้ปัญหาได้เพราะว่าจะต้องไม่บันดาลโทสะ ถึงต้องสงบ ต้องนิ่ง ต้องใจเย็น ไม่เอาแต่ใจตัวเอง

จำเนียร : อันนี้คือที่แฝงอยู่ในหนังสือ วรรณกรรมเยาวชนเราบอกว่าเป็นวรรณกรรมสำหรับเด็ก จะว่าไปแล้วมันก็เหมาะกับผู้ใหญ่ที่จะอ่านแล้วเข้าใจเด็ก คือวรรณกรรมทั่ว ๆ ไปที่เราเห็นบางครั้งเราจะนึกว่าเพื่อให้เด็กอ่าน มันก็ใช่ส่วนหนึ่ง เพราะบางทีทั้งโครงเรื่องและภาษาก็จะทำให้มันนุ่มนวล จะไม่มีเรื่องความรุนแรงหรืออารมณ์ที่เกินกว่าที่เด็กจะรับรู้ แต่ผมว่าหนังสือวรรณกรรมหลาย ๆ เล่มสำหรับผู้ใหญ่ อย่างเล่มนี้ผู้ใหญ่ก็ควรจะอ่าน

มิเกล : หนังสือที่สามารถอธิบายได้จนกระทั่งเด็กหรือผู้ใหญ่สักคนจะจินตนาการตามได้ มันจะช่วยปลูกฝังเรื่องการรักการอ่านได้ มันทำให้รู้สึกอยากอ่านเพิ่มขึ้น นอกจากเล่มนี้แล้วก็มีเล่มต่อไป เพราะสนุกกับการอ่านแล้วได้จินตนาการเห็นภาพ ภาพที่เห็นจากการอ่านกับภาพที่เราได้เห็นจากทีวี การดูทีวีมันโดนบล็อกนะ อย่างเช่นเรื่องนี้ ภูเขาของมิเกลอีกแบบหนึ่ง ภูเขาของพี่อีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราสร้างเป็นภาพในทีวีขึ้นมาปุ๊บกลายเป็นภูเขาของผู้กำกับ เราต้องไปดูภูเขาของเขาทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องเดียวกัน มิเกลว่าหนังสือสวยงามมาก

วิภาดา : หนังสือจะสร้างจินตนาการได้มากกว่า ภูเขาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่พอดูหนังปุ๊บก็คือเหมือนกัน ถ้าดูหนังก่อนอ่านหนังสือ พอเราอ่านหนังสือก็จะเห็นภาพภูเขาทันที เพราะฉะนั้นควรอ่านหนังสือก่อนดูหนัง

จำเนียร : ตกลงว่าเราควรจะอ่านหนังสือก่อนไปดูหนัง เพราะเราจะได้จินตนาการ

มิเกล : อันนี้มีโอกาสที่จะนำมาทำเป็นภาพยนตร์หรือไม่ ?

วิภาดา : คงไม่

จำเนียร : แต่โครงเรื่องของหนังสือเล่มนี้ถ้าจะเทียบกับวรรณกรรมหรือนิยายพาฝันบ้านเรา จะมีลักษณะเหมือนผู้หญิงที่สูงศักดิ์ต้องเขาไปอยู่ในปราสาทหรือในบ้านเพื่อแก้ไขปัญหา ซึ่งก็มีโครงเรื่องคล้าย ๆ กัน อาจจะไม่มีตัวอิจฉาที่มากรี๊ด ๆ อย่างมาเรียที่เข้าไปในหุบเขา บรรพบุรุษของเธอจริง ๆ แล้วก็ทำความผิดที่ไปลุกลานเอาที่ของพระมาเป็นที่ของตัวเอง ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็มีอาณาจักรมากพออยู่แล้ว ช่วงที่ไปขอแต่งงานกับลูกสาวของวิลเลี่ยมดำ ตอนแรกก็ไม่ได้รักเธอ เขาต้องการที่ดิน ต้องการอาณาจักร จนมาสุดท้ายวิลเลี่ยมดำก็ยอมยกให้ แล้วเขาก็เผอิญไปมีบุตรอีกคน ทำให้ทั้งสองตระกูลบาดหมางกัน ผมว่าเค้าโครงมัน

วิภาดา : ไม่แน่ใจ ที่ผ่านมาในอดีตจะให้ความสำคัญน้อยกว่าในการที่จะเขียนหนังสือให้เด็กอ่าน พอจะเขียนหนังสือให้เด็กอ่าน ถ้าจะพูดให้ตรงที่สุดก็คือมือไม่ถึง

จำเนียร : เพราะว่าวรรณกรรมเยาวชนแปลเหมือนกับคั้นเอาหัวกะทิมาแล้ว บางครั้งก็ได้รับการยอมรับหรือรองรับชื่นชมอยู่ค่อนข้างมาก พอมาเทียบมันก็อาจจะยากอยู่เหมือนกัน

วิภาดา : มันคนละวัฒนธรรม วัฒนธรรมต่างประเทศส่วนมากเป็นวัฒนธรรมการอ่าน แล้วเขาสะสมวัฒนธรรมการอ่านการแปลการเขียน ทุก ๆ ด้านไว้เยอะ ในขณะที่ของไทยคือมุขปาทะ เล่าต่อ ๆ กันมาเป็นนิทาน ไม่ได้ออกมาเป็นตัวหนังสือ

มิเกล : คนบ้านเราจะชอบฟังมากกว่า พอเป็นการเล่าความละเอียดมันจะลดลง มันจะเหลือแต่แกนหลัก ๆ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ