วรรณกรรมสำหรับเด็ก คือ งานเขียนที่เขียนขึ้นเพื่อให้เด็กอ่านโครงเรื่องเรียบง่ายไม่ซับซ้อน มีตัวละครหลักไม่มาก ซึ่งตัวละครมักเป็นเด็กหรือมีความคิดและทัศนคติแบบเด็ก ซึ่งความหมายในมุมกว้างของวรรณกรรมสำหรับเด็กนั้น รวมถึงนิทานภาพสำหรับเด็ก (Picture Book) ของเด็กวัยเตาะแตะจนกระทั่งวรรณกรรมเยาวชน (Young Adult Fiction) สำหรับผู้อ่านคือเด็กที่โตแล้วจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นด้วย
อย่างไรก็ดีถึงแม้จะเป็นวรรณกรรมที่เขียนให้เด็กอ่าน แต่วรรณกรรมสำหรับเด็กบางเล่มหรือบางประเภทนั้นสามารถนำมาวิเคราะห์ ตีความ วิจารณ์ในแง่ต่าง ๆ ได้ เช่น สังคมวิทยา จิตวิทยา ปรัชญา และแนวทางอื่น ๆ นอกจากนี้วรรณกรรมสำหรับเด็กยังครอบคลุมถึงสื่อ ของเล่น และการแสดงต่าง ๆ ที่ทำขึ้นสำหรับเด็กด้วย
สำหรับหนังสือนิทานสามารถช่วยเสริมสร้างให้เด็กเล็กๆ ที่อ่านซึมซับสิ่งที่ดีดีจากนิทานที่ดีด้วย เนื้อหาและภาพของหนังสือนิทาน เป็นการส่งเสริมการศึกษา สร้างสรรค์กระบวนการอ่าน ผ่านการเล่านิทาน ให้เด็กได้เรียนรู้ พร้อมเติบโตเป็นผู้ใหญ่และผู้นำที่ดีของสังคมด้วยการพัฒนา I.Q. (ความฉลาดทางด้านเหตุผลและการคิดคำนวณ) ควบคู่ไปกับ E.Q (ความฉลาดหนักแน่นทางด้านอารมณ์และเชาว์ปัญญา)
สิ่งที่น่าจับตามองสำหรับโครงการนี้คือ การแสดงละครเวทีเรื่อง 'หนังสือที่คุ้นเคย' (การสาธิตการเล่านิทาน 3 ช่วงวัย 5 เทคนิค) ซึ่งเป็นการสังเคราะห์เทคนิคการเล่านิทาน 5 อย่าง กับช่วงวัยของผู้เข้าฟังนิทานหรือผู้อ่านหนังสือเล่มแรก จนเกิดเป็นการเล่านิทาน 3 ช่วงวัย 5 เทคนิค
หนังสือเป็นนิทานสองภาษา คือ ภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่เหมาะสมกับ 3 ช่วงวัย คือ กลุ่มอายุ 0-9 เดือน, กลุ่มอายุ 9 เดือน-3 ปี และกลุ่มอายุ 3-5 ปี (อนุบาล 1-3) กว่า 24 ชื่อเรื่อง ซึ่งบริษัท สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น จำกัด ได้นำเข้าลิขสิทธิ์นิทานสองภาษา จากสำนักพิมพ์ Yeowonจากเกาหลีใต้ โดยนำเสนอผ่านเทคนิค 5 เทคนิคที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของแต่ละวัยคือ เล่าปากเปล่า เล่าโดยใช้อุปกรณ์ใกล้ตัว เล่าโดยใช้หนังสือประกอบการเล่า เล่าโดยใช้ภาพประกอบ เล่าโดยใช้ศิลปะเข้าช่วยเช่น การวาดรูป การพับกระดาษ เป็นต้น
การสาธิตและอบรมการเล่านิทานสองภาษาในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง กิจกรรมการอ่านหนังสือเสริมประจำโรงเรียน (School Reading Camp) และกิจกรรมการอ่านประจำครอบครัว (Family Reading Camp) เป้าหมายนำร่องโครงการหนังสือชุด ‘อมยิ้มกับนิทานสองภาษา Tan Tan Start and Rhythm Books’ ซึ่งจัดขึ้นโดย
ใช้งบประมาณไปกว่า 8 ล้านบาทสำหรับจัดทำนิทาน 2 ภาษาที่เหมาะแก่เด็กทุกช่วงวัยนั้น มอบให้แก่โรงเรียนในสังกัดสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร 437 แห่ง และห้องสมุดประชาชนในกรุงเทพมหานคร 37 แห่ง โดยผู้ใหญ่ใจดีจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แต่ที่น่าสนใจที่สุดก็คือ ละครเวทีในสไตล์นิทานเล่า-ละครเพลง (The Musical Story-Telling) จากนักเล่านิทานที่มีประสบการณ์สูง จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร
นิทานเล่า-ละครเพลงในเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับแนวคิดการอ่านหนังสือเล่มแรก (Start Book)ให้กับเด็กฟัง โดยสามารถเริ่มได้ตั้งแต่อายุน้อยๆ ซึ่งจะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้ที่ดี ตลอดจนลดโอกาสในการพบเห็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมกับวัย และรู้จักมองโลกในแง่ดี ที่สำคัญเป็นการสร้างพื้นฐานรักการอ่านและสานสัมพันธ์ในครอบครัว โดยพ่อแม่ลูกมีความสุขร่วมกันในโลกของหนังสือ ถือว่าเป็นการวางรากฐานสำคัญให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ในช่วง 1-2 ทศวรรษข้างหน้า
ในมุมมองทางศิลปะที่บอกว่า ศิลปะต่างส่องทางกันและกัน โดยเฉพาะศิลปะวรรณกรรมเยาวชนที่ถูกแผลงจำแลงสู่ศิลปะของละครเวทีและการเล่าเรื่องในแนวเอดดูเทนเมนท์(Edutainment) เมื่อมาดูศาสตร์และศิลป์ของละครเวที (play หรือ stageplay) สันนิษฐานว่า ละครเวทีมีมาตั้งแต่สมัยกรีก อริสโตเติลบันทึกไว้ว่าละครของกรีก เริ่มต้นขึ้นจากการกล่าวคำบูชาเทพเจ้าไดโอนีซุส เทพเจ้าแห่งไวน์และความอุดมสมบูรณ์
องค์ประกอบของละครเวที คือ การแสดงสดบนเวที ที่มีฉาก แสง เสียง ประกอบ และบทละคร คือ ส่วนที่สำคัญที่สุดในการทำละครทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งละครเวที เพราะมันคือ ตัวกำหนดองค์ประกอบอื่นๆ ทุกอย่างในละคร ไม่ว่าจะเป็น โครงของเรื่อง, สีสันของแสง ของฉาก ของเสื้อผ้า และรวมไปถึงการแสดง (acting) ของนักแสดงด้วย
จุดเด่นของละครเวที คือ การสื่อสารระหว่างผู้ชมกับนักแสดง และระหว่างนักแสดงกับผู้ชม เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน ดัง วอลเตอร์ เคอร์ นักวิจารณ์ชาวอเมริกันพูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างคนดูกับนักแสดงเช่นนี้ไม่มีในภาพยนตร์ เพราะภาพยนตร์เป็นสิ่งที่สร้างมาสำเร็จรูปแล้ว มันไม่สามารถตอบสนองเราได้ เพราะนักแสดงในภาพยนตร์ไม่สามารถได้ยินเรา รู้สึกถึงตัวตนของเราและไม่ว่าเราจะมีปฏิกิริยาอย่างไรก็ไม่มีผลใดๆ" เมื่อละครเวทีได้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมสำหรับเด็ก ก็จะกลายเป็น เอ็ดดูเทนเมนท์ (Edutainment) หรือ เอ็ดดูเคชันแนล เอ็นเตอร์เทนเมนท์ (educational entertainment) หรือ เอ็นเตอร์เทนเมนท์-เอ็ดดูเคชัน (entertainment-education) ซึ่งเป็นรูปแบบทางการบันเทิงที่ออกแบบสำหรับการสาธิตด้านการศึกษา ตลอดจนเป็นการทำให้เป็นที่ชอบใจสำหรับผู้เรียน
เอดดูเทนเมนท์เกิดจากการสนธิคำศัพท์ 2 คำด้วยกัน คือ คำว่า Education ‘การให้ความรู้’ กับคำว่า Entertainment ‘ความบันเทิง’ เกิดเป็นคำศัพท์ใหม่ว่า Edutainment ซึ่งมีความหมายว่าการได้รับสาระความรู้ด้วยรูปแบบความบันเทิง เพราะการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้แนวคิดสนุกและสร้างสรรค์ คำว่า เอ็ดดูเทนเมนท์ ในลักษณะของคำนาม เป็นการบัญญัติศัพท์ได้ใช้โดยโรเบิร์ต เฮย์แมน ในปี 2516 เมื่อได้ผลิตภาพยนตร์สารคดีสำหรับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก แต่ก็ได้มีการถกเถียงกันว่าเอ็ดดูเทนเมนท์เป็นคำศัพท์ที่มีมานานนับพันปีในรูปแบบของนิยายเปรียบเทียบและนิทานที่ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
การใช้สื่อเอดดูเทนเมนท์ เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการเรียนรู้ที่ช่วยกระตุ้นพัฒนาการด้านต่าง ๆ สำหรับลูกน้อย ทั้งยังเป็นช่วงเวลาดี ๆ ของความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก เรียกว่าเป็นของแถมที่มาพร้อมกับการเรียนรู้ด้วยสื่อเอดดูเทนเมนท์ การเลือกสื่อเอดดูเทนเมนท์ให้เหมาะกับเด็กๆ ก็คือ เลือกให้เหมาะกับวัย สื่อการเรียนการสอนมีเนื้อหาสาระและวิธีการนำเสนอที่จะเหมาะสม สำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย วิธีเลือกเบื้องต้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่คือ ดูข้างกล่อง หรือที่เล่ม ซึ่งจะระบุวัยที่เหมาะสมกับเด็ก
เนื้อหามีประโยชน์ นอกจากการดูคำอธิบายและวิธีการใช้งานที่บอกอย่างละเอียดแล้ว ลองวิเคราะห์ถึงสิ่งที่ลูกจะได้รับจากสื่อชนิดนั้น ๆ อย่างละเอียดด้วย เช่น หากเป็นลักษณะของการ์ตูนประเภทวีซีดี ควรมีเนื้อเรื่องที่เหมาะสม แฝงด้วยคุณธรรม มีวิธีคิดและวิธีที่แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เหมาะกับวัยของลูก นอกจากนั้นตัวละครที่น่ารัก เป็นมิตร หรือหากตัวละครจะมีความสามารถพิเศษเป็นฮีโร่ ก็ควรจะเป็นฮีโร่ที่ช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากจะทำสิ่งดี ๆ และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในสื่อเอดดูเทนเมนท์ไม่น้อยก็คือ มีเทคนิคช่วยจำ เป็นวัยที่กำลังเก็บสะสมคลังคำให้แก่ตัวเอง เพราะฉะนั้นการเลือกสื่อ เอดดูเทนเมนท์ ควรปลอดภัยทั้งเนื้อหาและวัสดุ
เริ่มตั้งแต่เนื้อหาที่เด็กจะได้รับนั้น ต้องไม่สื่อและแฝงไปด้วยเรื่องที่ไม่สร้างสรรค์ เรื่องเพศ และความรุนแรง ที่จะทำลายความไร้เดียงสาของเด็กเร็วเกินไป รวมไปถึงวัสดุของสื่อ ประเภทเกมกระตุ้นพัฒนาการหรือของเล่นที่เด็กสัมผัสโดยตรงต้องปลอดภัย ตัวอย่างของการนำรูปแบบการใช้สื่อเอดดูเทนเมนท์ มาประยุกต์ใช้ที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง คือ ศูนย์การศึกษาเชิงหรรษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สนองตอบรูปแบบเอดดูเทนเมนท์ ได้เป็นอย่างดี และเป็นระบบที่ค่อนข้างครบวงจรแห่งหนึ่ง โดยอาศัยแนวคิดแบบบูรณาการโดยเปรียบกับแหวน 4 วง ดังนี้
แหวนวงที่ 1 P – ring (Personality) เป็นการสร้างรากฐานของการรู้จักตนเอง พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และบุคลิกภาพ
แหวนวงที่ 2 I – ring (ICT) เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกล ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม และใช้ ICT เป็นสื่อนำความรู้ด้วยตัวเอง
แหวนวงที่ 3 E - ring (English) เป็นการพัฒนาสู่สากล
แหวนวงที่ 4 R - ring (Research) สามารถสืบเสาะ แสวงหาคำตอบที่สงสัยได้อย่างเป็นระบบและเชื่อถือได้
โดยนิยามเชิงปฏิบัติการของสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ หมายถึง การนำหลักการศึกษาบันเทิง (Edutainment) และทฤษฎีเล่นปนเรียน (Play & Learn) มาใช้ร่วมกับกิจกรรม (Activity) เพื่อทำให้ผู้เรียนได้รับความรู้พร้อมด้วยความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยมีศูนย์ศึกษาบันเทิง (Edutainment Center) หมายถึงสถานที่ที่มีการออกแบบและจัดวางอุปกรณ์ต่างๆ ให้มีความสวยงาม ดึงดูดใจ เพราะฉะนั้น การแสดงละครเวทีเรื่อง 'หนังสือที่คุ้นเคย' (การสาธิตการเล่านิทาน 3 ช่วงวัย 5 เทคนิค) โครงการหนังสือชุด ‘อมยิ้มกับนิทานสองภาษา Tan Tan Start and Rhythm Books’ ซึ่งได้นักแสดงจากผู้ศึกษาวิชาเอกวรรณกรรมสำหรับเด็ก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มาผลิตสื่อเอดดูเทนเมนท์ชุดนี้ขึ้น จะเห็นถึงความเจนจัดในศาสตร์และศิลป์ของศิลปะ 2 แขนงคือ วรรณกรรมสำหรับเด็กและการแสดงละครเวทีเพื่อการศึกษาเรียนรู้ที่หลอมรวมกันอย่างกลมกลืนลงตัว
เนื่องจากบุคลากรที่เป็นนักแสดงล้วนเน้นการทำงานที่เกี่ยวกับหนังสือ สื่อ บันเทิงคดี การเล่านิทานที่เกี่ยวกับเด็ก และที่สำคัญ เปิดสอนเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒเท่านั้น นี่ถือเป็นสื่อตัวอย่างของสื่อเอดดูเทนเมนท์ที่ดีและสมบูรณ์อีกชิ้นหนึ่งของวงการหนังสือสำหรับเด็กในเมืองไทย ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าไปชมได้ที่ www.praphansarn.com