ประมูลกล้อง Leica เพื่อการกุศล
"ไทยเบฟ" เปิดประมูลกล้อง Leica M 10-P รุ่นบรมราชาภิเษก เพื่อ 22 องค์กรการกุศล
โดย นันทพร ไวศยะสุวรรณ์
เพื่อเป็นการสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคม และประเทศชาติ ล่าสุด 22 มูลนิธิ และองค์กรการกุศลหลักของประเทศ จับมือรวมพลังกันจัดโครงการประมูลกล้องถ่ายภาพชุดพิเศษ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 (เพื่อ 22 องค์กรการกุศล)
เกี่ยวกับรายละเอียดของโครงการดังกล่าว นายฐาปน สิริวัฒนภักดี ในฐานะประธานกรรมการอำนวยการจัดงาน และอดีตนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์กล่าวว่า
“เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ขอร่วมเทิดพระเกียรติ และร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคลนี้ด้วยการจัดสร้างกล้องถ่ายภาพ Leica รุ่นM 10-P Limited Edition ขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีและด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้"
นายฐาปน ยังกล่าวถึงอ้างอิงถึง ท่านศาสตราจารย์กิตติคุณศักดา ศิริพันธุ์ ราชบัณฑิต ที่ได้เขียนข้อความไว้ในคำนำหนังสือ “กษัตริย์กับกล้อง” ที่ท่านเป็นผู้ประพันธ์ ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 2547 มีใจความตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้าได้ตั้งชื่อหนังสือนี้ว่า “กษัตริย์กับกล้อง” เพราะว่าพระมหากษัตริย์ไทย ทรงสนพระราชหฤทัยเรื่องการฉายภาพอย่างมาก และเพื่อเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงวางรากฐาน สนพระราชหฤทัย ทรงพัฒนา ทรงอนุรักษ์ และทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการถ่ายภาพอย่างต่อเนื่องตลอดมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 147 ปีแล้ว”
ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวนับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้บริษัทฯ ตัดสินใจเลือกการจัดทำกล้องถ่ายภาพ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ.2562 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติในโอกาสอันเป็นมหามงคลยิ่งนี้
สำหรับกล้องถ่ายภาพ Leica เป็นกล้องถ่ายภาพจากเยอรมนีที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 100 ปี และได้รับการการยกย่องว่าเป็นกล้องถ่ายภาพที่สร้างด้วยความประณีต ละเอียดอ่อนประหนึ่งงานศิลปะ ให้คุณภาพของภาพที่คมชัดมีความคงทน มีรูปแบบที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำแบบใคร นับเป็นยอดปรารถนาของคนที่รักการถ่ายภาพอย่างยิ่ง และเป็นที่นิยมของนานาประเทศ ที่จะจัดสร้างกล้องถ่ายภาพ Leica รุ่นพิเศษเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสที่สำคัญที่สุด อาทิ วาระครบรอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ประเทศต่างๆ หรือโอกาสพิเศษต่างๆ ซึ่งมักจะจัดทำในจำนวนที่จำกัดเพื่อให้เป็นของที่ทรงคุณค่า และจารึกไว้ให้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่สำคัญของโลกที่นักสะสมต่างแสวงหามาครอบครอง
อนึ่ง การจัดทำกล้องถ่ายภาพรุ่นพิเศษนี้ บริษัทไทยเบฟฯ ได้รับอนุญาตจากคณะอนุกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการ ขอใช้ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในคณะกรรมการฝ่ายโครงการ และกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ให้เชิญตราสัญลักษณ์ไปประดับบนกล้องได้
การจัดทำกล้องถ่ายภาพในวาระพิเศษนี้ มีสองรูปแบบคือชุดสีเหลือง จำนวน 10 ชุด และชุดสีเขียว จำนวน 20 ชุด เพื่อนำส่วนหนึ่งขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์ตามลำดับ และอีกส่วนหนึ่งนำออกจำหน่ายเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยกำหนดราคาชุดสีเหลืองชุดละ 1,500,000 และชุดสีเขียวชุดละ 1,000,000 บาท
และเพื่อเป็นการสร้างประโยชน์อันสูงสุดให้แก่สังคมไทย และน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามพระราชปณิธานในการ สืบสาน รักษา ต่อยอด บริษัทฯ จึงได้ซื้อกล้องถ่ายภาพทั้งหมดและได้นำเงินรายได้จากการนี้ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะนำกล้องถ่ายภาพจำนวน 22 ชุด มอบให้กับองค์กรการกุศล 22 องค์กร อันประกอบด้วย มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ รวมไปถึง
ไตรโครงการ ที่ประกอบด้วย 3 มูลนิธิคือ มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิภูบดินทร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ มูลนิธิราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และยังพร้อมด้วย มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า มูลนิธิจุฬาภรณ์ มูลนิธิ TO BE NUMBER ONE ศิริราชมูลนิธิ มูลนิธิรามาธิบดี มูลนิธิสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ มูลนิธิคณะแพทย์ศาสตร์จุฬาฯ มูลนิธิโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มูลนิธิรัฐบุรุษพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) สถาบันโรคไตแห่งประเทศสิงคโปร์ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
โดยทั้งหมดจะร่วมกันจัดการประมูลขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันศุกร์ที่ 30 กันยายน 2565 เพื่อนำรายได้จากการประมูล มอบให้แต่ละองค์กร เพื่อนำไปสร้างสรรค์ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละองค์กรต่อไป
"ในฐานะตัวแทนองค์กรของคนไทย และประชาชนคนไทยคนหนึ่ง มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมกับทั้ง 22 องค์กรการกุศล เพื่อร่วมพลังกันสร้างสรรค์ประโยชน์เพื่อความสุขของสังคมโดยรวมและประเทศชาติที่ยั่งยืนสืบไป”
ด้านนายนิติกร กรัยวิเชียร เลขาธิการมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ และอดีตนายกสมาคมถ่ายภาพนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลว่า จากปณิธานของคุณฐาปน สิริวัฒนภักดี มีความประสงค์ที่อยากจัดทำโครงการพิเศษเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งระยะเวลานั้นได้คิดว่าการจัดทำกล้องถ่ายภาพ Leica รุ่น M 10-P Limited Edition เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสมหามงคล
พร้อมกับกล่าวต่อว่า ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2539 ในครั้งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปีได้เคยมีการจัดทำกล้อง Leica M6 รุ่นกาญจนาภิเษกขึ้นแล้ว โดยความร่วมมือกันระหว่างสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับธนาคารกสิกรไทย จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการครั้งนี้ ซึ่งในช่วงนั้นยังไม่ได้มีการกำหนดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่าจะมีขึ้นเมื่อไหร่ จึงทำให้ต้องรอเรื่องตราสัญลักษณ์ ที่จะออกมารวมไปถึงเรื่องของการขออนุญาตในการจัดทำ
"ในระหว่างนั้นคุณฐาปน ได้ส่งให้ผมเดินทางไปที่บริษัท Leica ประเทศเยอรมันนี เพื่อไปปรึกษาและหาช่องทางในความเป็นไปได้ในการจัดทำกล้องรุ่นพิเศษนี้ ซึ่งเป็นการเตรียมการไว้ก่อน ต่อมาในปี 2562 ได้มีการกำหนดเรื่องของงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นในวันที่ 4พฤษภาคม 2562ซึ่งทางรัฐบาลได้มีการออกแบบตราสัญลักษณ์เรียบร้อยแล้ว และจัดตั้งคณะอนุกรรมการขึ้น เพื่อพิจารณาว่าจะใช้
ตราสัญลักษณ์อย่างไร ซึ่งทางไทยเบฟ ได้ทำการขออนุญาตคณะกรรมการฝ่ายกลั่นกรองการขอใช้ตราสัญลักษณ์ฯ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่เราได้รับอนุญาตนำตราสัญลักษณ์มาประดิษฐสถานบนตัวกล้องได้"
ต่อมาในภายหลัง ได้มีการเริ่มต้นที่จะประสานกับบริษัท Leica ในเรื่องของรูปแบบของกล้องที่ต้องการ วัสดุที่ต้องการใช้ รวมไปถึงรายละเอียดต่างๆ และได้เริ่มดำเนินการดังกล่าว แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้งานโครงการนี้ล่าช้าอย่างมาก เพราะทั้งเรื่องของการผลิตต่างๆ และเรื่องของมาตรการของรัฐบาลของประเทศเยอรมนีที่ปิดโรงงานผลิต ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ และพอสถานการณ์เริ่มคลี่คลายก็ยังประสบปัญหาเรื่องวัสดุชิ้นส่วนต่างๆ ที่ผลิตมาจากหลายมุมโลกก็ยังส่งออกไม่ได้ ยิ่งทำให้เกิดความล่าช้า เพราะการผลิตด้วยการชุบทองคำแท้ เป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนและยากมาก
"ซึ่งกว่าจะผลิตสำเร็จเวลาก็ลุล่วงมาจนถึงปี 2565 และเราก็ได้รับกล้องมา และดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ จนกระทั่งมาถึงปัจจุบัน โดยผู้สนใจร่วมการประมูลสามารถติดต่อและแสดงความเจตจำนงเข้าร่วมได้ที่มูลนิธิทั้ง 22 มูลนิธิ หรือขอ Catalog จาก Christies และกรอกแบบฟอร์ม Written BidForm ไว้ก่อน พร้อมแจ้งเจตุจำนงเข้าร่วมงานประมูลในวันที่ 30 กันยายน ทางทีมงานที่เกี่ยวข้องจะติดต่อท่าน เพื่อเชิญเข้าร่วมการประมูลต่อไป"
ส่วนนายตุลย์ หิรัญญลาวัลย์ นายกสมาคมถ่ายภาพ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติ และความพิเศษของกล้อง Leica รุ่น M10-PLimited Editionที่นำมาประมูลในโครงการครั้งนี้ว่า
“สำหรับกล้อง Leica M10-P รุ่นบรมราชาภิเษก จัดสร้างทั้งหมดสองแบบ คือ ชุดสองเลนส์ ประกอบด้วย กล้องดิจิตัลLeica M10-P ชุบทองคำ หุ้มด้วยหนังจระเข้สีเหลือง พร้อมเลนส์ APO Summicron-M 1:2/50 ASPH และเลนส์ Summilux M1:1.4/35 ASPH ผลิตทั้งสิ้น 10 ชุด และอีกชุดคือ ชุดหนึ่งเลนส์ ประกอบด้วย กล้องดิจิตัลLeica M10-P ชุบทองคำ หุ้มด้วยหนังจระเข้สีเขียว พร้อมเลนส์ Summilux M1:1.4/35 ASPH ผลิตทั้งสิ้น 20 ชุด ส่วนความพิเศษของกล้องLeica M10-P รุ่นบรมราชาภิเษกนี้คือ เป็นสีทองคำแท้แบบไม่มันวาว ทั้งชุด กล้อง และเลนส์ทุกตัวมีหมายเลขกำกับ 1/10 ถึงลำดับหมายเลข 10/10และ1/20 ถึงลำดับหมายเลข 20/20 ทำให้กล้องชุดนี้มีคุณค่าในเชิงสะสมเนื่องจากมีเพียง 30 ชุดในโลกเท่านั้น เป็นหนังจระเข้ ทำให้แต่ละกล้องมีลวดลายไม่เหมือนกัน มีความเฉพาะตัวสูง รวมถึงสายสะพายกล้องด้วย ซึ่งไม่เคยมีทำจากโรงงานมาก่อน เลนส์ apo 50 ซึ่งทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นเลนส์ 50มิลที่ดีที่สุดในโลก แต่อยู่ในเปลือกเลนส์แบบวินเทจ หรือที่เรียกกันว่าเวอร์ชั่น1 (v1) มะเฟือง ซึ่งไม่เคยมีการผลิตมาก่อน และเป็นรุ่นm10p การใช้รหัสpจะทำให้กล้องไม่มีโลโก้สีแดง ที่หน้ากล้องซึ่งจะเป็นความชื่นชอบของผู้ที่รักและสะสมกล้องไลก้า”
เรียกว่าเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของ 22 มูลนิธิ และองค์กรการกุศล ที่เชิญชวนผู้สนใจ และวงการนักสะสมกล้องมาร่วมกันสร้างสรรค์ และแบ่งปันคุณค่า ร่วมกันทำความดี เพื่อสร้างประโยชน์สุขเพื่อสังคม และประเทศชาติให้ยั่งยืนสืบไป