เปิดสำนักพิมพ์ไม่ยากอย่างที่คิด : เปิดสำนักพิมพ์ไม่ยากอย่างที่คิด

เปิดสำนักพิมพ์ไม่ยากอย่างที่คิด

คุณวรพันธ์ : สวัสดีครับท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน วันนี้ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ขอเปิดการอบรมในเรื่อง “บริหารสำนักพิมพ์อย่างไรให้รวย (ให้รอด)” ซึ่งประกอบไปด้วยหัวข้อย่อยต่างๆได้แก่

1.เปิดสำนักพิมพ์ไม่ยากอย่างที่คิด

2.ทำสำนักพิมพ์อย่างไรให้ไปโลด

3.การหานักเขียนและต้นฉบับ การคัดสรรต้นฉบับและค่าลิขสิทธิ์

4.ลิขสิทธิ์ต่างประเทศซื้อขายอย่างไร

ก่อนอื่น ขอสรุปสถานการณ์ของธุรกิจสำนักพิมพ์ให้ฟังกันคร่าวๆนะครับ จากการสำรวจจำนวนสำนักพิมพ์ในช่วงปี 2546 ถึง กลางปี 2548 ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ปรากฏว่า ในบ้านเรามีจำนวนสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่ 5% ขนาดกลาง 15% ที่เหลือเป็นขนาดเล็ก ข้อมูลนี้ทำให้เราทราบว่ามีผู้ประกอบการธุรกิจสำนักพิมพ์ขนาดเล็กเป็นจำนวนมากที่สุด เมื่อเทียบกับขนาดกลางและขนาดใหญ่ นอกจากนั้น จากการที่ทางสมาคมฯได้ทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นแรงผลักดันให้มีประชาชนมางานมหกรรมหนังสือกันอย่างล้นหลามนั้น ผลปรากฏว่า ปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุด คือ การเป็นศูนย์รวมของหนังสือที่หลากหลาย สิ่งนี้ช่วยให้ธุรกิจหนังสือยังคงอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลสรุปอัตราการซื้อหนังสือของคนไทยในช่วงปี 2547 เป็นต้นมา พบว่า คนไทยซื้อหนังสือในแต่ละครั้ง เฉลี่ยคนละ 247 บาท ซึ่งราคาหนังสือต่อเล่มส่วนใหญ่มีราคาเฉลี่ย 140 บาท หมายความว่า คนไทยซื้อหนังสือเฉลี่ยคนละประมาณเล่มครึ่ง เราน่าจะกระตุ้นให้คนไทยซื้อหนังสือเพิ่มขึ้นจากเล่มครึ่งเป็นสองเล่ม โดยสำนักพิมพ์ต้องเป็นตัวหลักที่มุ่งผลิตหนังสือที่มีเนื้อหาที่หลากหลาย และมีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนไทยหันมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น แต่ไม่อยากให้มองว่าธุรกิจสำนักพิมพ์คือการแข่งขัน ทางที่ดีเราน่าจะช่วยกันกระตุ้นให้ภาพรวมของธุรกิจสำนักพิมพ์มีทั้งเนื้อหาที่หลากหลายและสร้างสรรค์สังคมด้วย

ณ เวลานี้ ผมขอเปิดการอบรมในหัวข้อแรก “เปิดสำนักพิมพ์ไม่ยากอย่างที่คิด” โดยวิทยากรบรรยายคือ อาจารย์วิสิทธิ์ โรจน์พจนรัตน์ ในปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการสำนักพิมพ์พัฒนศึกษา ท่านจบการศึกษาปริญญาตรีจากวิทยาลัยการศึกษา มศว.ประสานมิตร ก่อนหน้านี้ท่านเคยดำรงตำแหน่งครูใหญ่ จากโรงเรียนวัดไทรห้วย จังหวัดพิจิตร ผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่โรงเรียนธนกิจพณิชยการ กรุงเทพฯ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ บริษัท Esso Standard ประเทศไทย จำกัด เจ้าหน้าที่สินเชื่อธนาคารกรุงเทพ สาขาพลับพลาไชย ยังไม่จบนะครับ นอกจากนี้ ท่านยังดำรงตำแหน่งทางด้านงานสังคมอีกหลายตำแหน่ง เช่น เป็นสมาชิกชมรมสายส่งหนังสือสมาชิกชมรมศิษย์เก่า มศว.ประสานมิตร ที่ปรึกษาสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ท่านมีปรัชญาชีวิตอยู่ว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้” การให้เป็นคุณธรรมอันสูงสุดของมนุษยชาติ ผู้รับก็ได้ ผู้ให้ก็ได้ผู้รับได้รับความช่วยเหลือ ผู้ให้ได้รับความสุขใจ ในโอกาสนี้ขอเรียนเชิญท่านวิทยากรครับ

อาจารย์วิสิทธิ์ : ผมรู้สึกดีใจที่ทางสมาคมฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรในวงการหนังสือ รวมทั้งผู้ที่กำลังจะก้าวเข้ามาสู่วงการนี้ ก่อนหน้านี้ ผมได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากรบรรยายหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช AIA มติชน สำนักพิมพ์จุฬา เป็นต้น เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังให้การสนับสนุนSMEs ซึ่งสำนักพิมพ์ในบ้านเราส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจแบบ SMEs ด้วย โดยส่วนตัว ผมก็เริ่มต้นทำธุรกิจแบบครอบครัว หรือ SMEs มาก่อน ผมทำมาจนถึงทุกวันนี้รวมเป็นระยะเวลาประมาณ 30 ปี โดยเริ่มจากการกวดวิชาก่อน ต่อจากนั้นก็ลงมือเป็นนักเขียนเอง แล้วจึงมาเปิดธุรกิจสำนักพิมพ์ สำหรับผู้ที่ดำเนินรอยตามผม คือ อาจารย์นรินทร์ สอนกวดวิชาอยู่ที่ “ฟิสิกเซ็นเตอร์” เป็นต้น ส่วนใหญ่เจ้าของสำนักพิมพ์จะเคยทำงานอยู่ในแวดวงหนังสือ เช่น โรงพิมพ์ องค์กรที่ทำนิตยสาร วารสารต่างๆ เขาสามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาทำ Pocket book ได้ แต่ก็มิได้หมายความว่าไม่ได้อยู่ในแวดวงนี้แล้วจะเปิดสำนักพิมพ์ไม่ได้ ถ้าใครมีความสามารถในการบริหารธุรกิจได้ มีเงินทุน ก็ทำธุรกิจสำนักพิมพ์ได้ โดยปกติแล้ว ภาพรวมของงานสำนักพิมพ์เป็นลักษณะงานที่ทำไม่ยาก ยิ่งในสมัยปัจจุบันนี้ สิ่งอำนวยความสะดวกมีมากขึ้น ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยก่อน ถือว่างานสำนักพิมพ์ทำง่ายกว่ามาก สมัยก่อน ผมเคยทำหนังสือ “คู่มือสอบเข้าประสานมิตร วิชาเอกภาษาไทย” ใครจะทำหนังสือเมื่อก่อนต้องไปวางขายที่สนามหลวงเป็นแห่งแรก ผมต้องหิ้วหนังสือขึ้นรถเมล์ไปส่งที่นั่นตลอด

ประสบการณ์การทำธุรกิจของอ.วิสิทธิ์ ผมทำธุรกิจมาตั้งแต่วัยเด็ก เริ่มจากทำไข่ต้มและมะม่วงดองขาย การบริหารธุรกิจเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเรียนรู้ในการทำธุรกิจ ก่อนจะเปิดสำนักพิมพ์ เราต้องมีการเตรียมพร้อมเรื่องต่างๆ ได้แก่ สถานที่ เบอร์ติดต่อ วัตถุดิบ(ต้นฉบับ) เงินทุน ผมจะเล่าความยากลำบากในการทำธุรกิจหนังสือของผม เมื่อก่อนในช่วงปี 2513-2514 ผมเคยลงทุนทำหนังสือกวดวิชาไป 6,000-7,000 บาท ต้องไปส่งหนังสือเองตามบ้าน แต่ปัจจุบันนี้มีสายส่งให้ นอกจากนั้น ในเรื่องการทำธุรกิจ เราจะต้องหาความรู้จากหนังสือเกี่ยวกับธุรกิจบ้าง อย่างเช่น ฐานเศรษฐกิจ ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะมีทั้งแปลมาจากต่างประเทศและเขียนเองโดยคนไทย

ก่อนหน้าที่ผมจะมาทำหนังสือ อาจารย์ปิ่น มณีฉาย (เพื่อนของผมที่ในปัจจุบันเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ภูมิบัณฑิต) ชวนผมขายเครื่องเขียน แรงจูงใจในการขายเครื่องเขียนมาจากการที่อาจารย์ปิ่นได้มีโอกาสผ่านไปเห็นเครื่องเขียนดีๆจากอิตาลี เยอรมัน (ระหว่างเดินทางกลับจากไปเรียนที่ประเทศอเมริกา) จึงเกิดความคิดว่าน่าจะซื้อมาขายที่เมืองไทย ผมกับเพื่อนอีก 4 คน (รวมทั้งอาจารย์ปิ่น) จึงมาตั้งบริษัทขายเครื่องเขียน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากผมไม่ชำนาญด้านนี้ ผมจึงตัดสินใจเปลี่ยนมาทำธุรกิจสำนักพิมพ์ โดยยืมเงินจากพี่สาวของภรรยามาจำนวน 1ล้านบาท รวมทั้งยืมเงินจากเพื่อนมาอีก 2แสนบาท เขาบอกว่าถ้าผมทำธุรกิจสำนักพิมพ์ประสบความสำเร็จ ให้นำเงินไปคืนเขาโดยเขาไม่คิดดอกเบี้ย ผมจึงรีบรับข้อเสนอ ผลปรากฏว่าผมทำธุรกิจสำนักพิมพ์สำเร็จ จึงนำเงินไปคืนพี่สาวของภรรยาและเพื่อนที่ให้ยืมมา แต่กว่าจะถึงจุดนี้ได้ ผมต้องฝ่าฟันอุปสรรคมามากมาย เพราะการทำธุรกิจหนังสือไม่เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ กว่าจะได้เงินมาต้องนำหนังสือไปวางตลาด โดยเฉพาะถ้าเป็นการฝากขาย ก็จะได้เงินช้า ผมเริ่มต้นจากการผลิต “วารสารนักเรียน” จนมีสมาชิกรวมกว่า 4,000 คน แต่สุดท้ายก็ต้องยกเลิกไป ส่วนเรื่องการวางจำหน่ายหนังสือ ผมขอแนะนำว่าผู้ที่เพิ่งเริ่มเปิดสำนักพิมพ์ ควรจ้างสายส่งไปวางขายตามร้านหนังสือ เพราะบางครั้งร้านไม่รับวาง นอกจากนั้น ยังต้องมีบุคลากร สมัยนี้องค์กรต่างๆต้องการ freelance มากขึ้น เนื่องจากไม่จำเป็นต้องหาอุปกรณ์เครื่องใช้มากมายให้ นอกจากนั้นยังสามารถให้เขาช่วยออกเงินค่าใช้จ่ายอุปกรณ์บางอย่างที่เขาต้องใช้เองด้วย

ก่อนจะเปิดสำนักพิมพ์ เราต้องเรียนรู้วิธีหานักเขียนและต้นฉบับ เราสามารถเป็นนักเขียนเองก็ได้ หรือหานักเขียนจากข้างนอกก็ได้ ระยะเวลาเขียนเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะเรื่องแรก จะค่อนข้างนาน ยิ่งมีข้อมูลสถิติหรือตัวเลข ก็ยิ่งต้องใช้เวลาค้นคว้า การผลิตหนังสือแต่ละเล่ม ถ้าอยากให้ขายดีในระยะเวลาอันรวดเร็ว ต้องจับกระแสของสังคมในยุคนั้นๆให้ได้ว่าผู้คนกำลังนิยมอ่านหนังสือแนวใด ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัด คือสำนักพิมพ์แจ่มใส เปิดได้ไม่กี่ปีก็ขายดีนำหน้าสำนักพิมพ์อื่นๆ แต่อย่างไรก็ตาม การทำหนังสือกระแสก็ถือเป็นดาบสองคมเช่นกัน เพราะความนิยมของคนเรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้น เราจึงต้องพยายามผลิตหนังสือประเภทนี้เป็นรายแรก ซึ่งจะทำให้ไม่ค่อยมีคุณภาพนัก เนื่องจากใช้เวลาน้อยกว่ารายหลังๆ แต่รายที่พิมพ์ช้ากว่า ถึงแม้จะมีคุณภาพมากกว่า ก็ขายไม่ดีเท่ารายแรกเพราะกระแสความนิยมลดลงแล้ว จำไว้ว่าหนังสือกระแส รวมทั้งหนังสือแปลต่างๆ ต้องรีบผลิตให้เป็นรายแรกให้ได้

ในเรื่องของ ชนิดของกระดาษ ทางสำนักพิมพ์ของผมส่วนใหญ่ใช้สีดำสีเดียว เนื่องจากเป็นหนังสือวิชาการ หนังสือประกอบการเรียน ราคาจึงไม่แพง ชนิดที่นิยมใช้กันมี 3 ประเภท

1.กระดาษปรู๊ฟดั้งเดิม หรือกระดาษหนังสือพิมพ์

2.กระดาษปอนด์ (สีขาว)

3.กระดาษถนอมสายตา (สีเหลือง) นิยมกันมากสำหรับงานหนังสือ pocket book

ผมมีคู่แข่งผลิตหนังสือประกอบการเรียนอยู่ประมาณ 100 ราย (มีรายใหญ่ 4-5 แห่ง) ซึ่งพวกเขาจะพิมพ์หนังสือด้วยกระดาษปรู๊ฟทั้งหมด ผมเป็นผู้บุกเบิกใช้กระดาษปอนด์คนแรก แรงจูงใจที่ทำให้ผมเปลี่ยนมาใช้กระดาษปอนด์ เนื่องมาจากการที่ได้ไปชมงานมหกรรมหนังสือที่ประเทศสิงคโปร์ แล้วพบว่าหนังสือของเขาผลิตด้วยกระดาษปอนด์ทั้งหมด มีแต่หนังสือพิมพ์ที่เป็นกระดาษปรู๊ฟ ผมจึงคิดว่า ถ้าสำนักพิมพ์ของผมใช้กระดาษปอนด์บ้าง ราคาหนังสือต้องเพิ่มขึ้น 20% เพราะกระดาษปอนด์แพงกว่ากระดาษปรู๊ฟ ส่วนฐาน

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ