บทสรุปสุดพึงพอใจและเหนือคาดหมาย : งานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 42 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 12

บทสรุปสุดพึงพอใจและเหนือคาดหมาย

งานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 42 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 12 (42nd National Book Fair & 12th Bangkok International Book Fair 2014) ประจำปี 2557 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ผ่านพ้นไปอย่างน่าพอใจและเหนือความคาดหมาย ด้วยจำนวนคนเข้าชมงานที่แน่นขนัด ยอดขายสะพัดอย่างน่าชื่นใจ วันปิดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ สำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยคุณวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ บอกว่า ได้มาเปิดแถลงผลการสํารวจการอ่านหนังสือของประชากร ซึ่งเก็บรวบรวมข้อมูลในระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ปี 2556 จากจำนวนครัวเรือนตัวอย่าง 55,920 ครัวเรือน

 

งานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 42

 

ผลการสำรวจพบว่า ประชากรอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป มีอัตราการอ่านหนังสือนอกเวลาเรียน/นอกเวลาทำงาน ร้อยละ 81.8 ผู้ชายมีอัตราการอ่านหนังสือร้อยละ 82.8 สูงกว่าผู้หญิงร้อยละ 2 และเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในปี 2554 พบว่ามีการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ทั้งในกลุ่มผู้ชายและผู้หญิง กลุ่มวัยเด็กมีอัตราการอ่านหนังสือสูงสุดถึง ร้อยละ 95.1 รองลงมาคือ กลุ่มเยาวชน (ร้อยละ 90.1) กลุ่มวัยทำงาน (ร้อยละ 83.1) และต่ำสุด คือ กลุ่มวัยสูงอายุ (ร้อยละ 57.8)

ขณะที่หนังสือพิมพ์เป็นหนังสือประเภทที่มีการอ่านมากสุด ร้อยละ 73.7 รองลงมาคือ วารสาร/เอกสารประเภทที่ออกเป็นประจำ (ร้อยละ 55.1) ตำรา/หนังสือ/เอกสารที่ให้ความรู้ (ร้อยละ 49.2) นิตยสาร (ร้อยละ 45.6) สำหรับนวนิยาย/การ์ตูน/หนังสืออ่านเล่น และแบบเรียน/ตำราเรียนตามหลักสูตรมีผู้อ่านน้อยกว่าร้อยละ 40.0 (ร้อยละ 38.5 และ 29.5 ตามลำดับ) ขณะที่เนื้อหาประเภทข่าว มีผู้ชอบอ่านมากที่สุด (ร้อยละ 54.3) รองลงมา คือ สารคดี/ความรู้ทั่วไป (ร้อยละ 36.4) บันเทิง (ร้อยละ 32.2) ความรู้วิชาการ (ร้อยละ 23.2) และคำสอนทางศาสนา (ร้อยละ 13.4)

สำหรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับวิธีการรณรงค์ให้คนรักการอ่านหนังสือ 5 อันดับแรก คือ ร้อยละ 39 เห็นว่า หนังสือควรมีราคาถูกลง ร้อยละ 26.3 ต้องปลูกฝังให้รักการอ่านผ่านพ่อ แม่/ครอบครัว ร้อยละ 25.2 ต้องให้สถานศึกษารณรงค์ส่งเสริมการอ่าน และส่งเสริมให้มีห้องสมุด/ห้องสมุดเคลื่อนที่/มุมอ่านหนังสือในชุมชน/พื้นที่สาธารณะ อีกร้อยละ 23.2 เห็นว่าต้องทำรูปเล่ม/เนื้อหาน่าสนใจหรือใช้ภาษาง่าย ๆ พฤติกรรมนี้ แสดงให้เห็นว่า คนไทยอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น 10%

การมาแถลงถึงผลสำรวจการอ่านหนังสือของประชากร ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 42 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 12 ถือเป็นความร่วมมือที่เป็นมิติใหม่ที่น่าชื่นชม สำหรับงานแสดงหนังสือใหญ่ระดับประเทศและระดับนานาชาติของเมืองไทยงานนี้ นอกจากที่มีจุดเด่นสีสันใหม่ของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ผ่านมา คือนิทรรศการเปิดโลกการอ่านที่ไม่รู้จบ ด้วย ภายใต้แนวคิด ‘โลกคือนิยาย’ (The World Is a Novel) มีถนนสายหนังสือหลากสไตล์ที่ครบถ้วนทุกความต้องการของนักอ่าน และสนุกกับ Book Wonderland จินตนาการไร้ขีดจำกัดแห่งโลกการอ่าน โดยมี 432 สำนักพิมพ์ รวมทั้งสิ้น 921 บูธ และเป็นปีแรกที่กล่าวได้ว่ามีสำนักพิมพ์ขนาดเล็กหรือระดับเอสเอ็มอีเข้าร่วมงานมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ ที่ผ่านมา โดยประมาณ 10% จากผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดเป็นระดับเอสเอ็มอี พร้อมกันนั้นยังได้รับเกียรติจากสำนักพิมพ์จากต่างประเทศ อาทิ เกาหลี ฝรั่งเศส เยอรมัน อิหร่าน ไต้หวัน สิงคโปร์ มาร่วมงานถึง 37 สำนักพิมพ์ เป็นจำนวนรวม 40 บูธ

 

งานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 42

 

คุณจรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ สรุปว่า ปิดฉากงานหนังสือปี 2557 ยอดทะลุ 1.9 ล้านคน เงินสะพัด 700 ล้านบาท ถือว่าสูงที่สุดเท่าที่มีการจัดงานลักษณะนี้ในเมืองไทย “ถือว่าประสบความสำเร็จเกินกว่าความคาดหมาย โดยมีผู้เข้าร่วมชมงานและยอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้นจากงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 41 ที่ผ่านมาในเดือนเมษายน ปี 2556 ประมาณ 20 % ซึ่งนับว่าเกินคาดมากในสภาวะที่บ้านเมืองกำลังอยู่ในสถานการณ์อ่อนไหวและเศรษฐกิจอยู่ระหว่างชะลอตัว

นอกจากนี้ คุณจรัญ ยังเผยว่า จากความสำเร็จครั้งนี้ คงยังไม่สามารถทำให้ตัวเลขภาพรวมในไตรมาสแรกของธุรกิจหนังสือเติบโตขึ้นได้อย่างชัดเจน เพราะเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว ซึ่งทุกสำนักพิมพ์ก็จะต้องพยายามกันอย่างหนักต่อไป แต่อย่างน้อยความสำเร็จในครั้งนี้ก็จะเป็นกำลังใจสำคัญให้แก่คนทำหนังสือ และการที่ได้เห็นเด็กๆ อ่านหนังสือมากขึ้นก็เป็นความหวังของชาติได้ในอนาคต

หากย้อนกลับไปดูตัวเลขของงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ และสัปดาห์หนังสือนานาชาติในปี 2554 ทำยอดรวมประมาณ 400 ล้านบาท พอมาในปี 2555 จากที่ประเมินไว้ว่าน่าจะมีผู้เข้างานประมาณ 1.5 ล้านคน แต่เมื่อสรุปผลในวันสุดท้ายปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมงานถึง 1.7 ล้านคน สูงกว่าที่คาดไว้ประมาณ 15% ส่วนยอดขายโดยรวมในปีนั้นอยู่ที่ประมาณ 400 ล้านบาท

ส่วนเมื่อปีที่แล้ว 2556 สรุปจำนวนผู้เข้าชมงานอยู่ที่ 1.7 ล้านคน แต่น้อยกว่าการจัดงานในช่วงเดือนตุลาคม 2555 (มหกรรมหนังสือแห่งชาติ) ที่มีคนร่วมงานมากถึง 1.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 3 แสนคน ส่วนยอดขายอยู่ที่ 600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2554 และ 2555 ถึง 200 ล้านบาท สำหรับการใช้จ่ายของผู้บริโภคเฉลี่ยในการซื้อหนังสืออยู่ที่ 400 กว่าบาทต่อคนซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเล็กน้อย สิ่งที่น่าสนใจสำหรับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปีนี้ คุณจรัญชี้ว่า ‘งบประมาณด้านหนังสือจากโรงเรียน’ หายไปมาก ไม่มีการนำมาใช้กับงานในปีนี้ จากปีที่ผ่านมายังพบว่ามีการใช้งบประมาณโครงการนี้อยู่บ้าง เนื่องมาจากในช่วงนี้รัฐบาลอยู่ในภาวะรักษาการและยังมีปัญหาวุ่นวายอยู่จึงทำให้งบโรงเรียนสะดุดไปก็เป็นได้

แนวโน้มที่น่าชื่นใจอีกอย่างในปีนี้ จากสถิติผู้เข้าชมงานจะพบว่า มีวัยรุ่นมาร่วมงานมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา และแนวหนังสือในปีนี้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ

1. หนังสือแนววัยรุ่น

2. หนังสือแนวการ์ตูนลายเส้น

3. หนังสือแนวนิยายต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็สอดคล้องกับกลุ่มที่มาเข้าร่วมงานในปีนี้ที่ว่ามีวัยรุ่นเข้ามามาก ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าประชากรไทยวัยรุ่นหันมาให้ความสำคัญต่อการอ่านหนังสือมากขึ้น แม้ว่าทุกวันนี้โลกโซเชียลมีเดียจะมีบทบาทมากขึ้นก็ตาม

นอกจากนั้น ในแง่ของเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่คาดกันว่าจะเป็นสิ่งที่เข้ามาทำลายตลาดหนังสือนั้น คุณจรัญให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาวงการหนังสือเคยกลัวว่าโซเชียลมีเดียจะทำให้คนอ่านหนังสือลดน้อยลง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้จากหลายสำนักพิมพ์สามารถพิสูจน์ได้ว่าโซเชียลมีเดียและหนังสือสามารถส่งเสริมกันได้ในแง่ของการเผยแพร่ข่าวสารและสร้างความรู้สึกอยากอ่านให้แก่ผู้อ่าน วิธีการสื่อสารระหว่างสำนักพิมพ์กับผู้อ่านด้วยโซเชียลมีเดียถือว่าได้ผลอย่างยิ่งในกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้งวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งตลาดหนังสือกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าสนใจมากและมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับงานสัปดาห์หนังสือในปี 2557 นี้ ในโลกโซเชียลมีเดีย ก็ถือเป็นจุดหนึ่งที่สร้างความสนใจในตัวงาน และตัวของหนังสือที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ระดมกำลังประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์หรือในแฟนเพจเฟซบุ๊กเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ทำให้คนมาชมงานมากขึ้น และประสบผลสำเร็จโดยรวม ซึ่งมีเทรนด์ใหม่หรือแนวโน้มของสำนักพิมพ์เล็กๆ พบว่า ไม่ส่งวางขายตามร้านหนังสือขนาดใหญ่แล้ว เนื่องจากสู้ต้นทุนไม่ไหว เพราะต้องพิมพ์จำนวนมากเพื่อกระจายไปตามสาขา แต่เมื่อขายไม่ได้ เสียค่าจัดจำหน่ายก็แพง หนทางที่จะอยู่รอดของสำนักพิมพ์เล็กๆ จึงต้องมาพิมพ์ขายวางในงานหนังสือแบบนี้ในลักษณะขายตรงซึ่งได้กำไรเยอะ เนื่องจากไม่ต้องพิมพ์มาก เพราะข้อดีของงานนี้คือ ซื้อหนังสือได้ถูกกว่าตามร้าน และหนังสือจำนวนมากก็หาไม่ได้ตามร้านเลยด้ว ความพิเศษอีกอย่างคือ มีของแถม มีนักเขียนแจกลายเซ็น รวมถึงเวทีสนทนาประเด็นต่างๆ ตามแต่สำนักพิมพ์จะจัด

ว่าไปแล้ว สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็งทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เป็นที่ยอมรับนับถือของสมาคมสิ่งพิมพ์ทั่วโลก งานงานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 42 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 12 ก็เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือกับบุคคล นิติบุคคล องค์กร และสถาบันที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมการผลิตและจำหน่ายหนังสือให้มี คุณภาพหนังสือให้มีคุณภาพสูงและกว้างขวางยิ่งขึ้น

รวมทั้งให้ผู้จัดพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย และผู้จำหน่ายหนังสือ ได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด ประสบการณ์ ศึกษาหาความรู้และช่วยกันขจัดปัญหาข้อขัดข้อง อันจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการจัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือที่ดีให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เป็นไปในทางส่งเสริมพัฒนาการของผู้อ่านและสังคม ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานงานและติดต่อกับสมาคม องค์กร หรือสถาบันที่เกี่ยวกับการพิมพ์และจำหน่ายหนังสือทั้งในและนอกประเทศ

ภาพที่น่าชื่นใจในอีกมมุมก็คือ การส่งเสริมความสามัคคีอันดีให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์โดยชอบธรรมในระหว่างสมาชิกสมาคมผู้จัดพิมพ์ ผู้จัดจำหน่าย และผู้จำหน่ายหนังสือในประเทศไทย เป็นศูนย์ดำเนินกิจกรรมอันมีคุณประโยชน์ทางวิชาชีพแก่สมาชิกในทางวิชาการและอื่นๆ ให้คำแนะนำปรึกษาทางธุรกิจด้านการซื้อขายลิขสิทธิ์และจำหน่ายหนังสือกับต่างประเทศให้แก่สมาชิก ซึ่งสอดคล้องกับการมุ่งสร้างสรรค์สังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมรักการอ่านในสังคมไทย

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ