เสาร์สราญ ชีวิตนักอ่าน ประสบการณ์นักเขียน : เขียนหนังสืออย่างไรให้คนไทยและคนต่างประเทศนิยม

เสาร์สราญ ชีวิตนักอ่าน ประสบการณ์นักเขียน

หัวข้อเสวนา เขียนหนังสืออย่างไรให้คนไทยและคนต่างประเทศนิยม

วิทยากรโดย คุณปองพล อดิเรกสาร

ดำเนินการเสวนาโดย รศ. ดร. รื่นฤทัย สัจจพันธุ์

 

การเสวนาเกี่ยวกับหนังสือและแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือของคุณปองพล อดิเรกสาร นั้นได้มีการพูดถึงกันมาหลายครั้งทั้งจากผู้เขียนและสื่อมวลชนต่าง ๆ สำหรับวิธีการเขียนนั้นอาจมีแทรกอยู่บ้างเหมือนกัน ซึ่งหลายท่านก็ให้ความสนใจใฝ่รู้ อยากทราบถึงวิธีการทำงานเขียน วันนี้จึงมีการเสวนาที่เกี่ยวกับเรื่องการเขียนเป็นหัวข้อหลัก เพื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจและรักงานเขียน โดยมีรศ. ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์เป็นผู้ร่วมดำเนินการเสวนา โดยมีประเด็นอื่นที่เกี่ยวเนื่องเช่น การดำเนินการสร้างภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์ และเรื่องหนังสือที่กำลังได้รับการแปลเป็นภาษาอื่น

รื่นฤทัย : ท่านเขียนหนังสือมาแล้วเป็นภาษาอังกฤษในตอนแรก 4 เล่ม ก็คือ เรื่องแรกโจรสลัดแห่งตะรุเตา เรื่องที่สองแม่โขง เรื่องที่สามตราบจนสิ้นกรรม และเรื่องที่สี่คือพิษหอยมรณะ สี่เรื่องในตอนแรกเขียนเป็นภาษาอังกฤษและก็แปลเป็นภาษาไทยทีหลัง ด้านผลสำเร็จในยอดขาย ฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษก็พิมพ์หลายครั้งฉบับที่เป็นภาษาไทยก็พิมพ์หลายครั้ง ท่านมีเทคนิคอย่างไรที่สามารถผูกเรื่อง เขียนเรื่องให้จูงใจคนอ่านทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างประเทศได้ กรุณาบอกเรื่องเทคนิควิธีการเขียน

ปองพล : คือต้องเริ่มว่าผมเองนั้นเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ก็อ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก อ่านหนังสือแนวผจญภัย แนวต่อสู้ แนวลึกลับก็ชอบ รื่นฤทัย: อ่านภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ปองพล: ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ หลักการเขียนหนังสือก็คือ ต้องเขียนในเรื่องที่เรารู้ดีที่สุด เมื่อเราชอบทางไหน เราเขียนไปในแนวนั้นความรู้สึกมันก็ถ่ายทอดออกมาดี ผมจึงเขียนเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เรื่องผจญภัย เรื่องตื่นเต้น การเดินทาง เรื่องลึกลับ เรื่องโจรกรรมต่าง ๆ หลักข้อที่สองในการเขียนหนังสือก็คือว่า เราเขียนเกี่ยวกับคน เขียนเกี่ยวกับมนุษย์ ตัวละครของเราเขาก็มีอาชีพเหมือนกัน มีชีวิตเหมือนกับพวกเราทุกคน และที่สำคัญคือเขาต้องมีอาชีพ คืออาชีพของตัวละครจะมีส่วนช่วยในการเดินเรื่องและเรียกความสนใจ ถ้าเป็นเรื่องโจรกรรมตัวละครมีอาชีพขายข้าวแกงหรือขายขนมปังเรื่องมันก็ไม่น่าสนใจ มันต้องมีอาชีพนี่เป็นเรื่องที่สำคัญ

รื่นฤทัย : แปลว่าการเลือกอาชีพของตัวละครเพื่อจะดึงโยงให้ตัวละครนั้นมีบทบาทและก็คนอ่านอยากจะติดตามด้วย

ปองพล : ใช่เพราะเรื่องของผมทั้งหมด ผมเขียนด้วยสาระ ผมเอาสาระเป็นตัวเดินเรื่อง ไม่ใช่เอาสำนวนหรือโวหาร เมื่อมีสาระมันก็ต้องเกี่ยวกับเรื่องอาชีพของตัวละครเป็นเรื่องที่สำคัญ

รื่นฤทัย : ลองยกตัวอย่างเป็นตัวละครสักตัวได้ไหม

ปองพล : อย่างเรื่องหอยที่มีพิษนี่มันอยู่ในทะเลก็แน่นอนว่านางเอกต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่ไปค้นคว้าจึงได้ไปเจอหอยเตาปูน ถ้าเผื่อนางเอกมีอาชีพอื่นที่ไม่เกี่ยวกับทางทะเลมันก็ไม่เข้าเรื่อง ในเรื่องแม่โขงเป็นเรื่องการค้นคว้าเกี่ยวกับเผ่าผู้คนที่ลี้ลับที่เมื่องลับแลต่าง ๆ นางเอกก็ต้องเป็นนักมนุษยวิทยามันถึงจะเข้าเรื่อง ถ้านางเอกมีอาชีพอื่น ขายเครื่องสำอางอยู่ห้างสรรพสินค้า ก็คงไม่ไปแสวงหาเมืองลี้ลับอย่างนี้ มันต้องเข้าเรื่องด้วย ถึงจะเรียกความสนใจ

รื่นฤทัย : การผูกเรื่องที่มีตัวละครทั้งคนไทยและคนต่างประเทศเป็นอีกจุดหนึ่งหรือเปล่าที่จะทำให้งานเขียนสามารถที่จะแพร่ไปได้ทั้งในแง่ของตะวันตกและในแง่ของคนไทยที่จะอ่าน

ปองพล : เนื่องจากผมเขียนเป็นภาษาอังกฤษก็แน่นอนเพื่อจะเรียกความสนใจ ตัวละครผมมีทั้งต่างชาติทั้งคนไทยผสมผสานกัน นางเอกผมทุกเรื่องจะเป็นลูกครึ่งเพื่อความสะดวกในการที่จะใช้ภาษาด้วย สามารถพูดทั้งภาษาไทยได้และก็ภาษาต่างชาติได้เรียกความสนใจ แต่ตัวหลักตัวเอกจะเป็นต่างชาติ และเรื่องมักจะโยงเกี่ยวกับต่างชาติด้วย

รื่นฤทัย : ในตอนแรกจริง ๆ ท่านตั้งใจว่าเขียนหนังสือสำหรับฝรั่งที่จะมาอ่านเพื่อจะรู้เกี่ยวกับเรื่องเมืองไทยหรือเปล่า ไม่ได้ตั้งใจในแง่ที่ว่าจะให้คนไทยได้อ่านหนังสือ

ปองพล : วัตถุประสงค์ที่ผมเขียนเป็นภาษาอังกฤษก็ต้องการเผยแพร่ประเทศไทยให้ชาวโลกได้รู้จัก ก็เลยเขียนเป็นภาษาอังกฤษเพราะเป็นภาษาที่คนทั่วโลกใช้มากที่สุด เพราะฉะนั้นในเรื่องของผมทุกเรื่องผมจะแทรกในเรื่องของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยเข้าไปเพื่อให้ต่างชาติได้เข้าใจ บางคนอ่านบอกว่ามันก็เหมือนกับ มันไม่ใช่หนังสือนำเที่ยวแต่ว่ามันมีเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองไทย ในหนังสือผมผมก็แทรกฉากต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นตามโรงแรมก็มี ตามอุทยาน ห้างสรรพสินค้า สถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวก็เป็นฉากอยู่ในหนังสือของผม เมื่อคนอ่านแล้วเขาก็อยากจะมา เหมือนผมอ่านหนังสือของต่างชาติเขาเอ่ยถึงฉากในหนังสือ เราสนใจก็อยากจะไปเที่ยวดูซิว่ามันเป็นอย่างที่เขาพูดหรือเปล่า

รื่นฤทัย : ได้ทราบว่าหนังสือที่เป็นภาษาอังกฤษของท่าน มีวางในโรงแรมที่เป็นสถานที่ ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาพักบางแห่งด้วย

ปองพล : มีครับ อย่างโรงแรมเชอราตันที่ภูเก็ตที่ผมเอาเป็นฉากในเรื่องพิษหอยมรณะ เป็นฉากที่มีการลอบสังหารประธานาธิบดีสหรัฐที่นั่น ผู้จัดการโรงแรมอ่านแล้วถูกใจมาก ถึงกับลงทุนซื้อหนังสือผมแล้วก็แจกกรรมการของโรงแรมทุกคนเลย และก็วางไว้ที่ลอบบี้ให้แขกอ่านด้วย

รื่นฤทัย : โรงแรมก็คงดีใจที่ท่านเอาโรงแรมของเขาไปเป็นฉากในเรื่องของท่าน ถ้าอย่างนั้นในเรื่องโจรสลัดแห่งตะรุเตาน่าจะมีเอาไปวางไว้ที่วนอุทยานด้วย

ปองพล : ยังไม่ทราบว่าเขาเอาไปวางหรือเปล่า

รื่นฤทัย : จากที่เขียนเรื่องที่เป็นภาษาอังกฤษมาแล้ว 4 เรื่อง เลยเริ่มเขียนเรื่องที่เป็นภาษาไทย ซึ่งเรื่องที่โด่งดังก็คือเรื่อง "พ่อ" ทำไมถึงได้เปลี่ยนแนวจากการที่เขียนเรื่องเป็นภาษาอังกฤษมากลายเป็นภาษาไทย

ปองพล : เพราะมันเป็นนิสัยของมนุษย์ ทำอะไรไม่ค่อยอยากจะซ้ำซาก จำเจ อยากจะค้นหาเรื่องใหม่ ๆ สิ่งใหม่ ๆ มาทำ ผมเขียนภาษาอังกฤษมาแล้ว 4 เรื่อง ก็เลยลองเขียนภาษาไทยดูซิว่าจะทำได้ใหม เพราะว่าภาษาไทยผมจบแค่มัธยม 6 แล้วก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ

รื่นฤทัย : ทราบว่าค้นคว้าจากตำนาน เอกสารทางประวัติศาสตร์เยอะมากเลย

ปองพล : คือผมเป็นคนชอบประวัติศาสตร์อยู่แล้ว เวลาอ่านอะไรมักจะเกิดความสงสัยขึ้นมาก็เลยผูกเป็นเรื่อง อย่างเรื่องพ่อมันเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสมัยสี่ร้อยปีที่แล้ว สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ความจริงชื่อ "พ่อ" ผมเขียนพระราชประวัติของพระมหาธรรมราชา พระราชบิดาของพระนเรศวร สิ่งที่จุดประกายทำให้ผมเขียนเรื่องนี้คือผมไปอ่านประวัติของพระนเรศวร อ่านไปถึงตอนที่ท่านประกาศอิสรภาพจากกรุงหงสาวดี ผมก็ฉุกใจคิดว่า ตอนนั้นพระนเรศวรยังไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์เลย เป็นแค่รัชทายาทเท่านั้น พระมหากษัตริย์ยังเป็นพระมหาธรรมราชาอยู่ และการที่ท่านไปประกาศตัดไมตรีกับกรุงหงสาวดีซึ่งถือว่ามีแสนยานุภาพมากที่สุด ดังนั้นมันเป็นการเสี่ยงในการชักศึกเข้าบ้านทำไมท่านถึงทำ ทั้ง ๆ ที่ท่านเป็นแค่รัชทายาทยังไม่ได้เป็นพระมหากษัตริย์เลย ผมก็เกิดความสงสัยเลยไปค้นประวัติอ่านละเอียดอีกที ก็เลยเห็นว่าเรื่องทั้งหมดมันเป็นการวางแผนที่แยบยลและลึกซึ้งของพระมหาธรรมราชาที่วางแผนตั้งแต่ต้นที่ส่งพระนเรศวรไปอยู่กับบุเรงนอง คือไปเรียนกับผู้ชนะสิบทิศที่รบเก่งที่สุดในขณะนั้น ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรนับว่าเป็นศิษย์เอกของบุเรงนองเลย เป็นการวางแผนทั้งหมด และผมคิดว่าท่านรู้กัน เมื่อสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพสมเด็จพระมหาธรรมราชาจึงไม่ได้คัดค้านหรือโต้แย้งอะไรเลย ผมคิดว่ามันเป็นแผนของท่านอยู่แล้วที่จะประกาศอิสรภาพหรือปลดแอกกรุงศรีอยุธยาออกจากหงสาวดี และผมก็ค้นคว้าเขียนไปเรื่อย ๆ จะเห็นว่าแผนทั้งหมด พระมหาธรรมราชาเป็นกษัตริย์ที่มีความลึกซึ้งและก็เฉลียวฉลาดเท่าเทียมกับบุเรงนองเหมือนกัน ก็เลยเท่ากับเป็นการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระมหาธรรมราชาด้วยเรื่องนี้

รื่นฤทัย : เรียกว่าเป็นการตีความประวัติศาสตร์จากเอกสารที่บันทึกไว้ซึ่งอาจจะไม่ได้บอกเราโดยชัดเจน

ปองพล : ผมอ่านหลายเรื่อง อ่านหนังสือทุกเรื่องที่เขียนเกี่ยวกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ก็เลยได้ความคิดได้ข้อมูลต่าง ๆ มา เลยนำมาถ่ายทอดเป็นนิยายขึ้นมา รื่นฤทัย : เรื่องนี้คงไม่ถูกโจมตีจากพม่าเพราะไม่เหมือนกับเรื่องบางระจัน เรื่องนี้ก็ยังยกย่องบุเรงนองเป็นกษัตริย์ที่มีความสามารถเหมือนกัน ปองพล: คือผมเขียนจากมุมมองหลายมุม ผมเขียนมุมมองจากบุเรงนอง ก็แน่นอนทุกประเทศอยากจะสร้างประเทศตัวเองให้เป็นใหญ่ และผมก็มองจากพระมหาธรรมราชาซึ่งที่จริงประวัติศาสตร์จารึกประณามท่านด้วยซ้ำไป หาว่าท่านไปเข้าข้างพม่าไปยอมพม่า แต่ถ้าเรามองจากมุมมองของพระมหาธรรมราชาซึ่งต้องการจะรักษาอาณาจักรไทยไว้ไม่ให้ล่มสลาย ท่านก็ทำถูกในมุมมองนั้น แล้วท่านก็ต้องอดทนหลายอย่าง ต่อการถูกประณามโดยคนไทยด้วยกันต่าง ๆ เพราะฉะนั้นในการเขียนนิยาย จะเห็นว่าในเรื่องของผมแต่ละเรื่องมันจะมี นอกจากโครงเรื่องใหญ่แล้วมันจะมีพล็อตเล็ก ๆ ประกอบกัน พล็อตเล็ก ๆ จะสะท้อนให้เห็นมุมมองของตัวละครของแต่ละคน แต่ละคนมองไม่เหมือนกัน นี่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนนิยมก็ได้เพราะว่าผมจะถ่ายทอดมุมมองของตัวละครหลาย ๆ ตัวออกมา

รื่นฤทัย : คงเป็นอย่างที่ท่านว่าจริง ๆ ว่า การเขียนเรื่องทำนองนี้ที่ทำให้คนอ่านติดตามสนใจก็เพราะว่ามันทำให้มองเห็นว่าแต่ละคนมีสถานการณ์ที่แวดล้อมและการตัดสินใจขึ้นอยู่กับพื้นฐานและสถานการณ์สิ่งนั้นที่บีบบังคับ คนอ่านก็ต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจด้วยในการอ่าน

ปองพล : อย่างผมเขียนเรื่องโจรสลัดแห่งตะรุเตา ตัวเอกของเรื่องคือขุนอภิพัฒน์สุรทัณฑ์ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำและก็ถือว่าเป็นข้าราชการดีเด่นของกรมราชทัณฑ์สมัยนั้นถึงถูกส่งไปอยู่ตะรุเตา แต่ที่มันเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ สมัยสงครามโลกครั้งที่สองบีบบังคับให้ขุนอภิพัฒน์ต้องร่วมมือกับโจรสลัดในที่สุด ผมเขียนให้คนอ่านคิดกับไปว่าสมมุติว่าตัวเราเป็นขุนอภิพัฒน์ ต้องดูแลนักโทษอยู่สามพันคนและก็มีสงครามโลกครั้งที่สองอยู่ด้วย ขณะเดียวกันนักโทษจากสามพันคนตายไปเก้าร้อยคนด้วยไข้มาลาเรีย ขาดแคลนทั้งอาหาร ทั้งยารักษาโรค ทุกอย่างต้องช่วยตัวเองตลอด เราจะตัดสินใจอย่างไร เราจะลงโทษนักโทษกับผู้คุมที่ออกไปปล้นเรือสินค้าใหมหรือว่าเราจะเอายากับอาหารมาเลี้ยง ในที่สุดขุนอภิพัฒน์ต้องตัดสินใจเอาความอยู่รอดก่อน เอายากับอาหารที่ไปปล้นมาให้กับนักโทษ หลายคนถึงได้รอดชีวิตจากการกระทำของขุนอภิพัฒน์ เพราะฉะนั้นนี่คือสิ่งหนึ่งที่ผมใส่ลงไปเพื่อให้ได้คิดว่า ถ้าเราอยู่ในฐานะของตัวละคร เราจะตัดสินใจอย่างไร

รื่นฤทัย : เรื่องแต่ละเรื่องที่ท่านพูดมานอกจากว่านักอ่านในเมืองไทยจะนิยมแล้วหรือว่าต้นฉบับในภาษาต่างประเทศ ก็ยังมีคนชาติอื่น ๆ นิยมอีก ได้ทราบว่ามีการแปลไปเป็นภาษาอื่น ๆ อีก

ปองพล : เรื่องแม่โขงแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นไปแล้ว และก็กำลังแปลเป็นภาษารัสเซีย เรื่องโจรสลัดแห่งเกาะตะรุเตาก็กำลังแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นอยู่

รื่นฤทัย : ได้ทราบว่าทางฝรั่งเศสก็เริ่มสนใจ

ปองพล : ครับเรื่องแม่โขงเขาอยากขอแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส

รื่นฤทัย : แล้วที่ยูนานที่ท่านไปประชุมมาก็เริ่มสนใจเรื่องแม่โขง

ปองพล : ใช่ผมไปพูดเรื่องแม่โขง ทางจีนก็เลยสนใจ อยากขอแปลเป็นภาษาจีน เพราะว่าทางมณฑลยูนานตื่นตัวเรื่องการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำโขงมาก การเสวนาเกี่ยวกับหนังสือและแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือของคุณปองพล อดิเรกสาร นั้นได้มีการพูดถึงกันมาหลายครั้งทั้งจากผู้เขียนและสื่อมวลชนต่าง ๆ สำหรับวิธีการเขียนนั้นอาจมีแทรกอยู่บ้างเหมือนกัน ซึ่งหลายท่านก็ให้ความสนใจใฝ่รู้ อยากทราบถึงวิธีการทำงานเขียน วันนี้จึงมีการเสวนาที่เกี่ยวกับเรื่องการเขียนเป็นหัวข้อหลัก เพื่อจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจและรักงานเขียน โดยมีรศ. ดร.รื่นฤทัย สัจจพันธุ์เป็นผู้ร่วมดำเนินการเสวนา โดยมีประเด็นอื่นที่เกี่ยวเนื่องเช่น การดำเนินการสร้างภาพยนตร์, ละครโทรทัศน์ และเรื่องหนังสือที่กำลังได้รับการแปลเป็นภาษาอื่น

 

เขียนหนังสืออย่างไรให้คนไทยและคนต่างประเทศนิยม

 

รื่นฤทัย : เรื่องแต่ละเรื่องที่เขียนถึงมันจะเป็นเรื่องที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียตรงนี้ ทำให้หลาย ๆ ชาติที่เป็นเพื่อนบ้านเราเองก็น่าจะสนใจติดตามหนังสือที่ท่านเขียนด้วย ปองพล: เรื่องทุกเรื่องของผมดำเนินด้วยสาระ แต่ขณะเดียวกันหลักในการเขียนนิยายผจญภัยทำอย่างไรจะให้ผู้อ่านอ่านต่อพลิกไปจนจบเพราะฉะนั้นสามสี่หน้าเนี่ยมันจะต้องมีเหตุให้ผู้อ่านพลิกอ่านต่อ หลักก็มีอยู่ว่า อย่างตัวละครพระเอกเดินทางจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ มันต้องมีเหตุเกิดขึ้นตลอดทาง เช่นตั๋วเครื่องบินเต็ม หรือเครื่องบินเกิดมีปัญหา ต้องมีเหตุที่สร้างความตื่นเต้นขึ้น และต้องมีเหตุผลด้วย อย่างที่ผมเรียนตั้งแต่ตอนต้นแล้วว่า ตัวละครในเรื่องเป็นคนเหมือนกัน ทุกคนมีอาชีพ มีรัก มีชอบ มีเกลียด มีจุดอ่อน มีจุดด้อยของตนเอง เพราะฉะนั้นเมื่อเขียนเกี่ยวกับคนมันต้องมีเหตุมีผล อย่างเรื่องที่ผมเขียนตัวละครบางตัวไม่อยากให้ตาย แต่ก็ต้องเขียนให้ตายไม่เช่นนั้นเรื่องก็จะหมดรสชาติ ถ้าเขียนตามใจเรามันจะฝืนธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ไป เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามครรลองของธรรมชาติ

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ