เปิดตัวหนังสือ : หัวข้อเสวนา "ประสบการณ์งานแปล"

เปิดตัวหนังสือ

จำเนียร : สวัสดีครับท่านนักอ่าน เชิญมาพักฟังรายการของทางสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์งานแปลของนักแปลมืออาชีพกว่า 10 ปี มีประสบการณ์หลากหลาย ทั้งบันเทิงคดีและสารคดี ปัจจุบันงานแปลก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ตั้งแต่แฮร์รี่ พอตเตอร์ ก่อนอื่นขอแนะนำผู้แปลก่อนคุณวิภาดา กิตติโกวิท จบคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันทำงานที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ทำงานเกี่ยวกับพวกชาวสลัม อาชีพปัจจุบัน NGO แต่โดยอาชีพรองซึ่งเป็นงานที่รักก็จะเป็นงานแปล คุณวิภาดามีความรู้ทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ในระยะแรกก็จะแปลงานแนวภาษาจีน , ภาษาอังกฤษ แล้วก็มาลักษณะงานแนวความคิด หรือถ้าใครเป็นคนที่ชอบงานแนวเชิงปรัชญา ที่ชอบแนวหนักๆ ซึ่งคุณวิภาดาก็แปลงานของ ฟริตจ๊อฟ คาปร้า เรื่องจุดเกิดของเต๋าแห่งฟิสิกส์ หลังจากที่แปลงานหนักๆ ก็มาถึงงานแนววรรณกรรมของคุณปองพล อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในช่วงนั้นท่านเขียนงานเป็นภาคภาษาอังกฤษ คุณวิภาดาก็นำเอาหนังสือทั้ง 4 เล่มของท่านมาแปล สักครู่เราจะถามถึงว่าระหว่างแปลงานประเภทบันเทิงคดีกับสารคดีอันไหนจะยากจะง่ายกว่ากัน และจะคุยถึงงานของคุณวิภาดาเล่มล่าสุด คือ เรื่องคำสั่งสุดท้าย แล้วก็มีงานที่ค้างอยู่ตอนนี้คือเรื่อง WAR AND PEACE ซึ่งรู้สึกว่าจะใช้เวลานานพอสมควรเหมือนกัน ก็มาเริ่มต้นคงจะถามถึงเรื่องประสบการณ์ว่าทำไมถึงได้มาชอบงานแปล เริ่มต้นจากเป็นนักอ่านมาก่อนหรือเปล่า เชิญครับ

คุณวิภาดา : สวัสดีค่ะ ที่ถามว่าเริ่มต้นเรื่องงานแปลอย่างไร คงต้องเริ่มจากพื้นเพ ก็มาจากคุณแม่เป็นครูสอนภาษาจีน ได้เรียนภาษาจีนมาตั้งแต่เด็ก แล้วตอนเด็กที่บ้านหนังสือจะเยอะมาก เป็นหนังสือภาษาจีนอย่างสามก๊ก ความฝันในหอดัง ไซอิ๋ว อ่านมาตั้งแต่ ป.3 ทำให้มีพื้นฐานของการอ่านมาจากทางครอบครัว วรรณกรรมไทยก็อ่านเหมือนกัน แต่ว่าสมัยก่อนโน้นยังมีไม่มากจะหาอ่านยากมาก ก็อ่านของภาษาจีนมันก็ปลูกฝังเรื่องการอ่านมาตลอด

จำเนียร: เริ่มต้นอ่านภาษาจีนมาก่อน

คุณวิภาดา : ใช่เพราะว่าจริงๆแล้วภาษาจีนเป็นภาษาแม่ เพราะว่าคุณแม่เป็นครูสอนภาษาจีน แล้วก็เรียนภาษาจีนกลางคู่กับภาษาไทยที่โรงเรียนจนถึงป.5ก็เริ่มเรียนภาษาอังกฤษ

จำเนียร : ในยุคปัจจุบันนี้ภาษาจีนเริ่มมามีบทบาทในสังคมไทยมากขึ้น ใครๆ ก็อยากเรียนภาษาจีน แต่ว่ามียุคหนึ่งรู้สึกว่าภาษาจีนจะเป็นภาษาต้องห้าม

คุณวิภาดา : ใช่ค่ะตอนสมัยจอมพลป. พิบูลย์สงคราม ร.ร.จีนก็ถูกปิดไปเยอะ สมัยนั้นเป็นยุครักชาติ มีความเป็นชาตินิยมสูง เรื่องของภาษาจีนก็จะถูกบีบคั้นเยอะ แต่ว่าก็เรียนมาได้

จำเนียร: ต้องเรียกว่าเป็นนักอ่านมาก่อน

คุณวิภาดา : ก็ชอบอ่านหนังสือมาตลอด จะมาอ่านเยอะก็ช่วงที่เข้ามหาลัยแล้ว หลัง 14 ต.ค.16 เป็นปีที่ 1ที่นักกิจกรรมก็อ่านหนังสือทุกชนิดทั้งแนวคิดหรือแนวทฤษฎีต่างๆ

จำเนียร : ถึงแม้ว่าจะเป็นนักแปลการใช้คำก็ต้องมีคลังคำของตัวเองเหมือนกัน

คุณวิภาดา : คือแปลหนังสือนี่ ต้องมีความรู้ 2 ภาษาเท่าๆ กัน ไม่ได้หมายความว่าถ้าเรารู้ภาษาอังกฤษดี แล้วจะแปลเป็นภาษาไทยได้ดี เพราะถ้าเราอ่านภาษาไทยน้อย หรือว่ารู้คำน้อยเราจะไม่สามารถใช้คำได้ดี หรือว่าภาษาที่เราแปลมาเป็นเนี่ยต้องรู้มากกว่า คือต้องรู้ภาษาไทยดีมากๆ ไม่งั้นจะรู้สึกว่าอับจนถ้อยคำ

จำเนียร : แล้วมาถึงช่วงไหน ที่เริ่มอยากจะแปลหนังสือที่ชอบให้เพื่อน หรือคนอื่นได้รับรู้ถึงรสของภาษา , เนื้อหาโครงเรื่อง , เนื้อหาวรรณกรรมของหนังสือเล่มนั้น

คุณวิภาดา : หลังจากเรียนจบก็ไปทำงานที่ห้องสมุดสภาพัฒนาวัฒนธรรมเอเซีย แล้วในห้องสมุดก็เป็นหนังสือเกี่ยวกับพวกทฤษฎี พวกความคิดการพัฒนาสังคมเยอะ แล้วหัวหน้าก็ให้แปลเอกสารต่างๆ ทั้งแปลจากอังกฤษเป็นภาษาไทย แล้วก็ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยเพราะต้องติดต่อกับทางต่างประเทศก็เลยได้เริ่มจากการแปลเอกสารมาก่อน ตอนนั้นทำงานอยู่ชั้น 2 ของตึก แล้วปาจารยสารอยู่ชั้นล่าง ที่ ถ.นเรศ ซึ่งตอนนั้นคุณอาทร ประพันธ์สาส์นทำงานอยู่ที่นั่น ก็ได้รู้จักกัน แล้วก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับพวกทฤษฎี ก็เลยแปลงานของ ชูเมคเกอร์ small is beautiful ซึ่งตอนนั้นก็พูดกันมาก แต่ว่าตอนนั้นก็แปลเป็นบทความลงในปาจารยสารยังไม่ได้แปลหนังสือถือเป็น

จำเนียร:จุดเริ่มต้นในการแปลจุดเริ่มต้นก็คือเริ่มแปลก็เป็นหนังสือแนวหนักๆ เลย เป็นแนววิชาการ ถ้าใครรู้จัก อี เอส ขูเมคเกอร์ ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ small is beatiful ที่โด่งดัง คุณวิภาดา : ซึ่งเป็นงานทฤษฎีทางสังคม ที่ต้องการแสวงหาสังคมที่มันน่าจะดี แปลช่วง ประมาณ 20 ปีมาแล้ว

จำเนียร : เริ่มต้นแปลจากภาษาต่างประเทศจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย ช่วงนั้นภาษาจีนก็ยังไม่ได้ใช้

คุณวิภาดา : ช่วงนั้น ก็ได้คุยกับคุณสุวดีจากสำนักพิมพ์นานมีซึ่งเป็นเพื่อนกัน เขาก็ให้แปลจากภาษาจีนเป็นภาษาไทยเรื่องภาษาอังกฤษไปนอก แล้วก็เป็นการ์ตูนชุดสัตว์โลกน่ารัก

จำเนียร : เริ่มต้นจริง ๆ ที่แปลเป็นเล่มเรื่องแรก เป็นเรื่องอะไร

คุณวิภาดา : เล่มแรกเป็นเรื่องอะไรนี่จำไม่ได้ ประมาณปี 34 เป็นช่วงลาคลอด ก็ดูแลลูก ก็ได้คุยกับคุณอาทรว่าเลี้ยงลูกอย่างเดียว รู้สึกว่ามีเวลาว่างเยอะ คุณอาทรก็ส่งเรื่องมาให้ แล้วทางดอกหญ้าก็ส่งเรื่องมาให้ ก็เป็นเรื่องจุดเกิดเต๋าแห่งฟิสิกส์ ที่จริงก็เริ่มแปลจากเฟเบียนขบวนการแสวงหาทางสังคมของอังกฤษก่อนแต่ว่าเขาพิมพ์ไม่ครบ เราแปลครบ ทั้งหมดมี 3 เล่ม เขาพิมพ์ 2 เล่ม เล่ม 3 ก็ไม่ได้พิมพ์ ต้นฉบับก็หายไปแล้ว แล้วก็มาเรื่องจุดเกิดเต๋าแห่งฟิสิกส์ แล้วก็มาของคุณอาทร หนังสือเกี่ยวกับของเล่น

จำเนียร : พอเริ่มต้นงานแปล ก็จะแปลงานแนวความคิดซะส่วนใหญ่ ทางคุณวิก็อยากจะใช้ความสามารถที่ตัวเองมีมาถ่ายทอดหนังสือ ถ่ายทอดทางความคิดจากภาษาต่างประเทศออกมาให้ออกมาเป็นเล่ม

คุณวิภาดา : ที่อยากแปลหนังสือ เพราะเราอ่านเยอะเลยรู้สึกอยากถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นรู้ด้วย แต่ไม่เคยมีความคิดอยากเป็นนักเขียน เพราะพออ่านหนังสือเยอะๆ แล้วรู้สึกว่าเขาเขียนไว้หมดแล้วของดีๆ เราคงเขียนได้ไม่ดีเท่า ก็แปลเอาดีกว่า

จำเนียร : จะมีความคิดคล้ายๆ กับนักแปลอีกท่านหนึ่ง คือคุณมนันยาเธอเป็นนักเขียนแล้วก็เขียนได้ดีซะด้วย แต่พอมาในระยะหลังๆ จะเห็นว่ามีงานแปลของคุณมนันยาเยอะ คุณมนันยาก็อาจจะคิดคล้ายๆ กับคุณวิภาดาหรือเปล่าว่า รู้สึกแปลแล้วสนุก

คุณวิภาดา : สนุกนะคะเป็นเรื่องประหลาด ถ้าคนที่ชอบเรื่องภาษา พอดีตัวเองเป็นคนชอบกวี เรื่องภาษา บางครั้งมันยากที่จะคิดคำๆนึงนี่คิดเป็นเดือนว่าจะเอาคำนี้ออกมายังไง จะแปลเป็นภาษาไทยให้มันดี พอคิดออกมาได้รู้สึกว่ามีความสุข รู้สึกโล่งอกเลย

จำเนียร : นักแปลก็ไม่ต่างจากสะพานที่เชื่อมฝั่งสองฝั่งเข้าหากัน จะทำให้คนเดินผ่านเชื่อมโลกอีกภาษาหนึ่งสู่อีกภาษาหนึ่งเชื่อมสะดวกง่ายยังไง

คุณวิภาดา : ยิ่งโลกสมัยนี้ มันโลกไร้พรมแดน ถ้าเราไม่รู้เรื่องของเขาเราก็เสียเปรียบ ก็เหมือนอย่างเยาวชนทั่วโลกเขาอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ ,ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงส์ ถ้าไม่มีคนแปลเป็นภาษาไทยมาให้ เด็กไทยจะเป็นยังไง มันเป็นสากลไปแล้วความรู้ก็เป็นสากล เพราะฉะนั้นการแปลก็เป็น สากล คือคิดว่าก็ได้สร้างคุณูปการบางส่วนให้สังคม

จำเนียร:หลังจากที่แปลงานเชิงแนวความคิดมาหลายเล่มพอสมควร มาตอนหลังทางคุณวิภาดาก็หันมาเริ่มงานแนววรรณกรรมที่เริ่มต้นจะเป็นงานของ

คุณวิภาดา : เล่มแรกก็ WAR AND PEACE คือคุยกับคุณอาทรว่าอยากทำงานวรรณกรรมจังเลย แล้วก็สงครามสันติภาพนี่ คุณหลวงยอดอาวุธนี่เคยแปลไว้ แต่ไม่ครบ ไม่สมบูรณ์ คือเขาจะเอาเฉพาะส่วนที่เป็นสงครามจะเยอะ แต่ส่วนที่เป็นปรัชญา ที่เป็นสันติภาพน้อยคืออยากให้คนไทยได้อ่านฉบับเต็ม ก็เลยคุยกันคุณอาทรบอกก็เอาสิ ก็เลยแปลเล่มนั้น พอจบก็มาเป็นชุดของคุณปองพล 4 เล่ม

จำเนียร : พูดถึงงานชุดของคุณปองพล อดิเรกสาร นักอ่านส่วนใหญ่ไม่ทราบงานเขียน 4 เล่มของท่านเป็นภาษาอังกฤษ เริ่มต้นจาก โจรสลัดแห่งแกะตะรุเตา,แม่โขง ,ตราบจนสิ้นกรรม และพิษหอยมรณะ นี่เป็นชื่อภาคภาษาไทยที่คุณวิภาดาแปลมา คุณวิภาดาเริ่มต้นแปลเล่มไหนก่อน

คุณวิภาดา : เล่มแรกก็คือ ตราบจนสิ้นกรรม พอดีตอนนั้นมีปัญหาเรื่องของพม่า คุณ ปองพลก็เลยอยากได้เรื่องนี้ก่อน

จำเนียร:ช่วยเล่าให้ฟังถึงปัญหาช่วงที่แปล เห็นว่าต้องใช้ทั้งความรู้ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ด้วย

คุณวิภาดา : คือต้องอ่านหนังสือเกี่ยวกับพม่า เนื่องจากมันมีเรื่องของสัญญา เรื่องของประวัติศาสตร์ คือเรื่องของราชวงศ์พม่า ประวัติศาสตร์พม่า เพราะอ่านภาษาอังกฤษแล้วเราไม่ทราบว่าภาษาไทยนี่จะใช้ออกมายังไง คือทางผู้เขียนต้องบอกว่าท่านทรงภูมิ เพราะว่าท่านค้นคว้าข้อมูลเยอะเนื้อหาจะแน่น ในการแปลเนื้อหาต้องนำออกมาให้ได้ แล้วต้องแปลให้ถูกต้องด้วย แล้วท่านเป็นคนไทยด้วย จะมั่วไม่ได้ ก็เลยต้องค้นคว้าเพื่อให้ข้อมูลตรงนี้มันใช้ภาษา ได้ตรงกับที่ภาษาไทยเราใช้ เพราะว่าภาษาไทยกับภาษาอังกฤษจะไม่เหมือนกัน เราเรียก "ร่างกุ้ง" ภาษาอังกฤษใช้เป็นแรงกูน หรือชื่อเมืองอื่น ๆ อีกหลายเมือง พออ่านภาษาอังกฤษแล้วต้องหาว่าภาษาไทยคืออะไร ทำให้ต้องหาที่เทียบ

จำเนียร:ถ้าจะพูดถึงลักษณะคุณสมบัติของผู้แปลก็ต้องมีความสามารถด้านทักษะการใช้ภาษา และการค้นคว้าหาข้อมูล

คุณวิภาดา : ต้องรู้ข้อมูลเยอะ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อย่างแปลเรื่องพิษหอยมรณะของคุณปองพลนี่ต้องรู้เรื่องปืนในอดีต เพราะท่านยกเรื่องปืนรุ่นนั้นรุ่นนี้ เราไม่รู้เรื่องปืนเลยต้องไปหาหนังสือเรื่องปืนมาอ่านให้มีความรู้ ถึงจะแปลออกมาได้ คืออ่านภาษาอังกฤษเข้าใจ แต่ว่าเราไม่รู้ว่าภาษาไทยนี่เรียกว่าอะไรคือมันมีศัพท์เฉพาะ คือจะต้องให้มันตรง

จำเนียร : ถ้าเทียบความต่างของงานแปลระหว่างสารคดีกับวรรณกรรม งานสารคดีอ่านคำต่อคำพอให้รู้เรื่อง แต่งานแนววรรณกรรมนี่ไม่ใช่

คุณวิภาดา: มันจะไม่ได้ทั้งสองอย่าง สารคดีก็ไม่ได้ในเรื่องของคำต่อคำ คำต่อคำเฉพาะศัพท์เทคนิค อย่างรุ่นของปืน หรืออย่างนิยายแนววิทยาศาสตร์ศัพท์เรื่องอ๊อกซิเจน ต้องอ่านเรื่องวิทยาศาสตร์และจักรวาล ของสตีเฟ่น ฮอร์กิ้น อ่านเพื่อให้รู้ให้เข้าใจเพื่อจะตอบได้จริง ๆ คือในแง่ของการแปล เราจะไม่สามารถแปลคำต่อคำได้ เพราะจะทำให้ไม่รู้เรื่อง ไม่ชัดเจนคือโดยส่วนตัว เคยอ่านหนังสือที่ผู้แปลเขาตัดทอนส่วนที่เข้าใจยากหรือแปลยากทิ้ง คือพอเรามาเทียบดูแล้วจะเข้าใจยาก มันค่อนข้างที่จะไม่เคารพต่อผู้อ่าน เพราะฉะนั้นต้องพยายามหาให้ได้ ถ้าไม่สามารถแปลเป็นภาษาไทยออกมาได้ ก็ต้องทำฟุตโน้ต ทำหมายเหตุไว้ให้

จำเนียร : จะเห็นว่าในหนังสือหลายเล่มของคุณวิภาดา ก็จะมีฟุตโน้ตอยู่พอสมควร ซึ่งถ้าใครที่พอทราบแล้ว ก็อื่นข้ามไปได้ ถือเป็นส่วนเพิ่มของทางผู้แปลที่ทำให้ผู้อ่านได้เข้าใจมากขึ้น

คุณวิภาดา : คือต้องเข้าใจโลกด้วย ไม่ใช่อ่านเพื่อความบันเทิงอย่างเดียวผู้อ่านก็ต้องได้สาระ

จำเนียร : แล้วในกรณีที่เกิดติดขัดขึ้นทำยังไง นอกจากค้นจากดิชชันนารี และพจนานุกรมแล้ว

คุณวิภาดา : คือที่บ้านนี่เป็นพิพิธภัณฑ์ได้เลยมีดิกชันนารีทุกภาษา ตั้งแต่ภาษาละติน สเปน อิตาลี สมัยนี้ง่ายขึ้นใช้อินเตอร์เน็ตช่วยได้เยอะเลย

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ