เปิดตัวหนังสือ ปั่นทวนลม : หัวข้อเสวนา "การเสวนาหัวข้อ ปั่นทวนลม : ชมหลวงพระบางสู่นครวัด"

เปิดตัวหนังสือ ปั่นทวนลม

จำเนียร : สวัสดีทุกท่าน วันนี้อาจจะเห็นแปลกตาสักนิด เพราะมีจักรยานอยู่บนเวทีด้วย นั่นก็เพราะทางสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นมีหนังสือเล่มใหม่ออกมา ชื่อว่า ปั่นทวนลม เขียนโดยคุณยรรยงค์ เจริญพงศ์ วันนี้คุณยรรยงค์ไม่ได้มาคนเดียว มีเพื่อนมาด้วยอีกหนึ่งคนคือลุงเนตร ซึ่งถือว่าเป็นนักปั่นอาชีพเช่นกัน กิจกรรมของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นเมื่อปีที่แล้ว เราเคยเชิญคุณยรรยงค์มาร่วมกิจกรรมของเราแล้วครั้งหนึ่ง คราวนั้นเป็นการเล่าประสบการณ์การปั่น ซึ่งจะเป็นการปั่นเส้นทางยุโรป วันนี้กลับมาแถวทางเอเชียนี่เอง ขออนุญาตแนะนำคุณยรรยงค์สักนิดก่อนที่จะเริ่มพูดคุยกัน คุณยรรยงค์เรียนจบบริหารธุรกิจจากประเทศออสเตรเลียเมื่อหลายสิบปีก่อน เริ่มต้นทำงานในวงการพิมพ์ได้สักระยะ ก็มาติดใจหลงรักจักรยาน ไปๆ มาๆ ตอนนี้เป็นนักปั่นอาชีพไปแล้ว ซึ่งเคยเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขันมาหลายร้อยครั้ง สะสมถ้วยรางวัลก็หลายร้อยใบ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารเสือภูเขา และเป็นอดีตผู้จัดการการแข่งขันเสือภูเขาคลาสสิก เป็นอดีตประธานชมรมจักรยานพระราม 9 เป็นคอลัมนิสต์เขียนหนังสือบางเล่ม ส่วนทางลุงเนตร ถือว่าเป็นนักปั่นมืออาชีพเช่นกัน เริ่มหันมาใช้จักรยานเพราะต้องขึ้นรถเมล์ไปทำงาน รู้สึกว่ามันเหนื่อย ก็เลยเอาจักรยานปั่นไปทำงานที่การรถไฟ ตอนนี้ก็เลยใช้จักรยานเป็นพาหนะประจำตัวไปซะแล้ว เราอยากจะย้อนกลับไปให้คุณยรรยงค์เล่าเรื่องประสบการณ์การเดินทางเลียบดานูบสักเล็กน้อย ทำไมถึงจะปั่นไปเลียบดานูบ แล้วเตรียมตัวเตรียมใจยังไง

ยรรยงค์ : คนในประเทศยุโรปขี่จักรยานมานานมาก ขี่จักรยานเป็นชีวิตประจำวัน อย่างที่เราทราบกันประเทศในทวีปยุโรปเป็นประเทศที่เจริญ มีทิวทัศน์สวยงาม มีอากาศบริสุทธิ์ มีตึกรามบ้านช่อง ปราสาทราชวัง ของพวกนี้มันหาไม่ได้ในบ้านเรา แล้วผมก็บอกว่าเราน่าจะไปขี่เที่ยวชมพวกนี้ดูบ้าง

จำเนียร : ตอนนั้นก็เริ่มต้นที่จะฝึกฝน แข่ง หรือมีพื้นฐานในการปั่นมาพอสมควรแล้ว

ยรรยงค์ : ผมเริ่มต้นจากการแข่งจักรยานเลย ซื้อจักรยานปั๊บจะหาประสบการณ์ต้องลงแข่ง เพราะมันจะเรียนรู้ได้เร็วที่สุดแล้วก็ฝึกฝนตนเองไปด้วยจำเนียร : เริ่มต้นตรงนั้นอายุเท่าไหร่ครับ

ยรรยงค์ : ต้นห้าสิบ

จำเนียร : อย่างลุงเนตรเริ่มต้นตอนนั้นเท่าไหร่ครับ จริงๆ แล้วลุงเนตรเอามาใช้ในชีวิตประจำวันก่อน

ลุงเนตร : ผมเอามาใช้เดินทางไปทำงานแทนการขึ้นรถเมล์ ก็ได้รับความสุขสะดวกสบายมากเมื่อเราใช้จักรยานไปทำงาน คือเราไม่ต้องไปเบียดกับใคร ไม่ต้องรอรถเมล์ แล้วก็ไม่ต้องเดิน ออกจากประตูบ้านก็คร่อมจักรยานขี่ไปได้เรื่อยๆ

จำเนียร : พอปั่นไปได้สักระยะ มีความฝันที่จะไปต่างประเทศหรือเปล่าครับ หรือว่าเอาใกล้ๆ บ้านก่อน

ยรรยงค์ : คือเนื่องจากจักรยานมันไม่ได้ใช้เฉพาะแข่งอย่างเดียว มันหลากหลายมาก มันเป็นพาหนะชนิดหนึ่ง หลังจากที่ผมขี่แล้วผมก็รู้ว่ามันสามารถพาเราไปได้ทุกหนแห่งจริงๆ การท่องเที่ยวด้วยจักรยานก็เป็น กิจกรรมอย่างหนึ่งของจักรยาน หลังจากที่เราขี่ไปแข่งไปมันก็มีความเบื่อหน่าย อยากจะเห็นโลกกว้างมากขึ้น อยากจะท่องเที่ยวด้วยจักรยาน ซึ่งมันเป็นรสชาติใหม่ มีการผจญภัย ซึ่งมันเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ผมแสวงหา อันนี้คือการเริ่มต้นท่องเที่ยวด้วยจักรยาน

จำเนียร: ต้องถามว่าทำไมต้องที่ดานูบ

ยรรยงค์ : หลังจากที่ตกลงกันว่าจะไปเที่ยว เราก็ต้องหาว่าจะไปที่ไหนถึงจะเหมาะกับจักรยานที่สุด หลังจากที่ศึกษาหาอ่านจากหนังสือทุกอย่างแล้ว ก็ไปเจาะเจอดานูบว่ามันมีเส้นทางเลียบแม่น้ำดานูบยาวประมาณ 500 กิโล เป็นเส้นทางจักรยานโดยเฉพาะ เลียบแม่น้ำเลย ก็ติดใจว่ายังไงก็ต้องไปให้ได้

จำเนียร : การเดินทางในต่างแดนที่เราไม่คุ้นเคยว่าจะไปยังไงมายังไงมันก็ต้องมีการวางแผน มีการหาข้อมูล ในที่สุดก็ได้มาที่ดานูบเตรียมตัวตรงนี้แล้วก็ต้องฟิตร่างกาย

ยรรยงค์: เนื่องจากผมขี่จักรยานเป็นประจำ มีพื้นฐานจากการแข่งแล้วก็ไม่ได้ทิ้ง การขี่จักรยานท่องเที่ยวร่างกายต้องมาก่อนการฟิตร่างกายต้องให้ดีพร้อมก่อนอยู่แล้ว

จำเนียร : นอกจากฟิตร่างกายแล้ว อุปกรณ์การเดินทาง รถจักรยาน ตั๋วเดินทาง สิ่งสำคัญคือพ็อกเก็ตมันนี่

ยรรยงค์ : การขี่จักรยานท่องเที่ยวมันมีอยู่สองอย่าง เวลากับเงินต้องมีพร้อม นอกจากมีร่างกาย มีรถ มีเวลา มีเงิน ทุกอย่างพร้อมไปได้เลย มีบั๊ดดี้หน่อยก็ดีครับ ไม่ไปคนเดียวมีเพื่อนไปด้วย

จำเนียร : ส่วนลุงเนตรนี่นอกจากปั่นจักรยานในชีวิตประจำวันแล้ว สำหรับการท่องเที่ยวไกลๆ นอกจากทางแถบเอเชียแล้วได้ไปต่างประเทศไกลๆมั้ยครับ

ลุงเนตร: ที่ไกลๆก็คือไปเยอรมันกับเนเธอร์แลนด์สักสองปีผ่านมาแล้ว

จำเนียร: ไปอย่างนั้นคล้ายๆไปทริปเหมือนคุณยรรยงหรือเปล่า

ลุงเนตร : คล้ายๆ กัน มีเพื่อนหนึ่งคน ไปแบบไม่รู้เหนือรู้ใต้ มีแผนที่ใบนึงก็ไปเลย ผมบินไปลงที่แฟรงค์เฟิร์ต เยอรมันตะวันตก แล้วก็มุ่งไปที่เบอร์ลิน เยอรมันตะวันออก

จำเนียร: ไปอย่างนี้เราไปซื้อในลักษณะทัวร์หรือเปล่าครับ

ลุงเนตร : ไม่ครับ เราใช้ขี่ไปเอง ขี่จักรยานไปตามแผนที่ที่เราดูแล้วว่าเราสนใจแค่ไหน การกินอยู่หลับนอนเราก็พาเต้นท์ไป พาเครื่องหุงต้มไป แล้วก็ซื้อวัตถุดิบในซุปเปอร์มาเก็ตที่เราผ่าน แต่ละวันก็ทำอาหารกินเอง นอนก็แค้มปิ้งตามข้างทางบ้าง หรือถ้าเจอแค้มปิ้งที่เขามีให้เช่าเข้าไปนอนเราก็เช่า

จำเนียร : มีคำถามหนึ่งที่ค่อนข้างจะค้างคาใจสำหรับคนที่ไม่ได้ใช้จักรยานเดินทางหรือท่องเที่ยว เรื่องความปลอดภัยครับ

ลุงเนตร:ความปลอดภัยก็ไม่มีอะไรที่ไหนที่จะร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ว่านั่งเครื่องบิน นั่งรถยนตร์หรืออะไรก็ตาม ไม่มีอะไรที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ละประเทศก็ต้องมีคนเกเรอยู่ แต่คนเกเรมันก็จะมีอยู่เศษหนึ่งของเปอร์เซนต์เท่านั้นเอง เราก็ต้องระวัง ระวังก็คือเดินทางในเวลากลางวัน การนอนก็นอนในที่ชุมชนหรือในที่แค้มปิ้ง

จำเนียร: นี่ถือว่าเป็นกฏส่วนตัวเลยหรือเปล่าสำหรับการเดินทางด้วยจักรยาน

ยรรยงค์ : ถ้ารู้ว่าตรงไหนมันมีความเสี่ยงก็ต้องเลี่ยงไว้

จำเนียร: สำหรับการเดินทางไกลๆความประทับใจในการได้เจอเพื่อนใหม่

ลุงเนตร: เพื่อนใหม่จะมีตลอดทาง

จำเนียร : มีตลอดทาง เพราะต่างประเทศได้รับความนิยมในการปั่นจักรยานเดินทางท่องเที่ยวใช่มั้ยครับ

ลุงเนตร : ในทุกๆ ประเทศเขาก็มีการขี่จักรยานกันอยู่แล้ว ทั้งใช้งานในชีวิตประจำวัน อย่างปรเทศจีน ปักกิ่งนี่ผมไปมา 15 วัน เขาขี่จักรยานกันมากมายมหาศาลเลย ส่งลูกไปโรงเรียน ข้าราชการขี่จักรยานไปทำงาน สารพัดที่จะใช้กัน

จำเนียร: บ้านเราในยุคะนึงก็ใช้จักรยานกันเยอะแต่พอมาตอนหลังความนิยมก็ซาลงไป

ลุงเนตร : ก็เนื่องจากว่ารถที่มีเครื่องยนต์นำมาใช้กันมาก จักรยานก็ต้องหลบไปอยู่ในซอกในซอย ถึงวันนี้ผมไม่หลบเขาแล้ว ผมออกมาสู้

จำเนียร : สำหรับประสบการณ์การเดินทางทางยุโรปหรือต่างประเทศของคุณยรรยงค์เองก็ได้เล่าประสบการณ์ไว้ในหนังสือ ปั่นไปเที่ยวไปตามใจฝัน ซึ่งก็ได้รับความนิยมมาพอสมควรในระดับหนึ่ง มาวันนี้มีเล่มใหม่ที่จะมาคุยมาเล่าให้ฟังกัน คือเรื่องปั่นทวนลม ซึ่งก็ใกล้เข้ามาประเทศในเอเชียสักหน่อย เผื่อนักท่องเที่ยวหรือคนอยากจะเดินทางทางจักรยานอยากจะลองใช้ดู ก็จะเริ่มต้นที่ทริปแรกคือจากเชียงใหม่ ผ่านอ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ต้องถามว่าเตรียมตัวยังไง

ยรรยงค์ : สิ่งแรกเลยเส้นทางสายเชียงใหม่ ปาย แม่ฮอ่องสอน แม่สะเรียง นอกจากจะสวยแล้วยังท้าทายมาก เพราะมันเป็นภูเขาทั้งหมด เส้นทางสมัยก่อนมันไปแม่สะเรียงอย่างเดียวแล้วก็กลับ มันยังไม่เป็นวงกลม ตอนหลังเส้นทาง 1095 ผ่าน ปายเสร็จ ตรงนั้นก็กลายเป็นวงกลมขึ้นมา เพราะฉะนั้นไม่ว่าคนขับรถยนต์ คนขี่โฟร์วิลล์ มอเตอร์ไซค์ก็ไปขี่ท้าทายความสามารถกัน เส้นทางจะขดเคั้ยวมาก โค้งมากเป็นพันๆ โค้ง เป็นเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย พวกนี้เป็นความท้าทายของนักจักรยาน หลังจากที่เราขี่กันสักพักหนึ่งก็ต้องไปพิชิตเขาพวกนี้ ใครทำตรงนี้สำเร็จก็ถือว่าใช้ได้แล้ว

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ