สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยจัดงาน “มิตรน้ำหมึก ผนึกสัมพันธ์ ๖๒ ก้าวไปด้วยกัน..ให้ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา ณ ห้องอเนกประสงค์ ชั้น ๑ หอศิลปกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนักเขียน ศิลปิน มาร่วมงานอย่างคับคั่ง นอกจากนี้ภายในงานยังมี Flash Talk ในหัวข้อ เปิดหัวใจสู่ขอบฟ้าใหม่ของวรรณกรรมไทย ซึ่งมีนักเขียนมาเปิดหัวใจถ่ายทอดความรู้สึกด้วยกันหลายท่าน
“วีรพร นิติประภา” กล่าวว่า ฟ้าไม่มีขอบแล้ว เพราะทุกวันนี้ทุกคนสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ เช่น ภาษา การอ่านหนังสือผ่านอีบุ๊ค อยู่มุมไหนของโลกก็สามารถอ่านได้ ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ไม่มีขีดจำกัด งานเขียนในอนาคตข้างหน้าจะไปทางไหน เมื่อมีข้อมูล เทคโนโลยีเข้ามาครอบงำ อาจต้องเป็นงานเขียน ที่มีการขัดเกลาความเป็นมนุษย์มากขึ้น
“คุณปราปต์” ผู้เขียนนิยายสืบสวนสอบสวนที่เขย่าวงการวรรณกรรมไทยอย่าง กาหลมหรทึก ยกตัวอย่างประสบการณ์การเขียนหนังสือที่ผ่านมา โดยมีข้อแม้ต่างๆในจิตใจเสมอ จนลองลงมือทำและประสบความสำเร็จ พร้อมกับเสริมว่า ขอบฟ้าเป็นแค่คำสมมติ เรามองแค่มองท้องฟ้าแล้วขึ้นไปให้ถึง โดยไม่มีข้อจำกัดของตัวเอง
“รอมแพง” กล่าวว่า วรรณกรรมไทยของเรา สามารถแตกแขนงออกไปเป็นงานได้หลายประเภท และในหลายประเทศทั่วโลก ด้วยเทคโนโลยี การเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสของนักเขียนไทย แต่ต้องขึ้นอยู่กับจินตนาการของนักเขียน และการพยายามทำผลงานของตนเองให้ดีที่สุด เพื่อส่งให้ผลงานไปสู่ขอบฟ้าใหม่ๆ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในประเทศไทย
“ชิตะวา มุนินโท” แสดงสดบทกวี “คำกวีจงมี” สิ่งสำคัญของบทกวีคือสิ่งที่กวีต้องการสื่อออกมา
“ศิริวร แก้วกาญ” กล่าวว่าขอบฟ้าใหม่ของการสร้างสรรค์ ไม่ได้เท่ากับการออกไปไล่ล่าค้นหาดินแดนมหัศจรรย์ซึ่งซุกซ่อนอยู่สุดหล้าฟ้าเขียวเพียงเท่านั้น ในหลายกรณี ขอบฟ้าใหม่คือดินแดนหรือระบบนิเวศเดิมๆ ที่เราใช้ชีวิตอยู่กับมันทุกวัน เพียงแต่ว่ามันอาจถูกครอบงำปิดกั้นด้วยอคติ มายาคติ หรือด้วยอำนาจและขนบบางอย่าง อยู่ที่ว่าเราจะกล้ารื้อกล้าดื้อรั้นกับมันมากน้อยแค่ไหน พูดกันถึงที่สุด การค้นหาขอบฟ้าใหม่ของการสร้างสรรค์นั้น มันไม่มีสูตรสำเร็จใดๆ เลย มีก็แต่ต้องใช้ชีวิตทั้งชีวิตเคี่ยวคั้นกลั่นเกลามันออกมา
“กุดจี่ พรชัย แสนยะมูล” ว่ากันว่า การเกิดขึ้นของดิสรัปทีฟ เทคโนโลยี(disruptive technology) ใหม่ๆ
ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างตายลงไป อาจจะรวมถึงสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า กวีและนักเขียนด้วย เมื่อประตูบานเก่า ย่อมมีประตูบานใหม่ที่เปิดขึ้น เพียงแค่เราใช้แนวทางใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน สิ่งที่สำคัญที่สุดคืองานเขียน ที่แสดงถึงความเป็นตัวเราเอง ใช้หัวใจสัมผัส แม้จะมีอุปสรรค หรือสิ่งปิดกั้น ก็ไม่อาจเปลี่ยนตัวตนของเราได้
“นายทิวา” ผู้สร้างผลงานหลากหลายรูปแบบทั้งสารคดี บทกวี และเรื่องสั้น โดยส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ตรง ในการทำหน้าที่สื่อมวลชน ถ่ายทอดเรื่องราว และแสดงทัศนะต่อสังคม อย่างตรงไปตรงมา ทุกคนล้วนมีจุดเริ่มต้น และมีปลายทางที่เราต้องการจะไปถึง ซึ่งไม่รู้ว่าปลายทางจะเป็นอย่างไร จะแปลกใหม่หรือวนกลับไปที่เก่า แต่สิ่งที่ตอบคำถามในใจเราคือเรื่องราวระหว่างทางที่ล้วนมีความหมายทั้งสิ้น
“โรสนี นูรฟารีดา” เจ้าของผลงาน ไกลกว่ารั้วบ้านของเรา กล่าวว่า ผลงานของตน สามารถพาตัวเองออกมาไกลจากรั้วบ้าน ด้วยเทคโนโลยี ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ จนกลายเป็นละครเวที บางทีเส้นขอบฟ้ามันอาจไม่มีอยู่แล้ว ทุกอย่างบนโลกมันถูกเชื่อมกันไว้หมดแล้ว
ปิดท้ายด้วย คุณกนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า งานวรรณกรรม คืองานที่ผู้เขียนถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดลงไปในเนื้อหาจนหลอมรวมกันเป็นเนื้อหา บางทีผู้เขียนมิอาจจะรู้ตัวว่า หัวใจตนเองนั้นเป็นเช่นไร แต่ตัวตนของผู้เขียนจะปรากฏออกมาให้ผู้อ่านค้นหาเสมอ