พิสูจน์ตำนานชีวิต : "ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์"

พิสูจน์ตำนานชีวิต

ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์

 

สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นจับมือกับสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยฯ จัดเสวนาหัวข้อ "ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์" ผลงานของ จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรท์ ปี 2534 งานนี้เปิดไฟเขียวให้ผู้ร่วมเสวนาที่มีทั้งสื่อมวลชนแลนักอ่านได้ซุกถามและแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ จิบกาแฟไปพร้อมฟังเรื่องราวและทัศนคติจากเจ้าของผลงานบวกกับผู้ร่วมเสวนาในบรรยากาศที่เป็นกันเอง ทำให้งานในวันั้นสนุกสนานเป็นพิเศษ ผู้นำเสวนาในวันนั้นนำทีมโดยคุณ สันติ เศวตวิมล หรือ "แม่ซ้อยนางรำ" คุณสกุล บุณยทัต เป็นผู้ดำเนินรายการ และที่จะขาดเสียมิได้ คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ซึ่งวันนั้นเธอมาร่วมฟังและตอบคำถามให้กับผู้ฟังทุกท่าน ประเดิมเริ่มแรกที่คุณสันติ เศวตวิมล พูดถึงนายหลุยส์ว่าไม่ใช่ฝรั่งนักล่าอาณานิคมหรือพวกต่างชาติที่มักจะเข้ามาหาผลประโยชน์ แต่นายหลุยส์มีชีวิตผูกพันกับประเทศไทยเกือบทั้งชีวิต

และนายหลุยส์ยังมีบทบาทสำคัญเรื่องการบุกเบิกสัมปทานป่าไม้ทางภาคเหนือด้วย "...ชีวิตของนายหลุยส์เป็นขีวิตต้งอสู้ที่แท้จริง เป็นชีวิตที่แสดงความเป็นลูกผู้ชายอย่างแท้จริง เรารู้จักฝรั่งในประวัติศาสตร์ไทยหลายท่าน...ผมว่าฝรั่งที่เราน่าจะรู้จักมากที่สุดคือนายหลุยส์ เพราะนายหลุยส์ไม่ได้เข้ามาในประทศไทยเพราะมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่นายหลุยส์เป็นคนที่ให้ ทำทุกอย่าง..." ตามด้วยคุณสกุล บุณยทัต ผู้ที่มีพื้นเพเดิมเป็นคนเชียงใหม่ จึ่งถ่ายทอดเรื่องด้วยความรู้สึกของคนเมืองที่มีต่อฝรั่งที่เข้ามาเชียงใหม่สมัยนั้นให้เราฟังอย่างลึกซึ้ง คุณสกุลให้ความเห็นว่าหนังสือเล่มนี้ไม่มีอคติ คุณจิระนันท์เขียนด้วยความเป็นกลาง และเขียนเพื่อผู้อ่านคิดในสิ่งที่ได้จากหนังสือเล่มนี้ "หนังสือเล่มนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก จุดหนึ่งที่เห็ดชัดก็คือ มีเรื่องราวของตัวละครมากมาย มากว่านายหลุยส์ และตัวละครแต่ละตัวมีปมปัญหาที่น่าสนใจ ปมปัญหาแต่ละตัวผูกโยงทั้งในแง่ชีวิต ศาสนา ประเพณีดั้งเดิมรวมทั้งเชื้อชาติด้วยซ้ำไป ตรงนี้น่าสนใจมาก" และท้ายสุดคุณพลาดิศัย สิทธิธัญกิจ ผู้ที่มีส่วนช่วยให้หนังสือสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะเป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบที่หาได้ยากสำหรับการพิมพ์ครั้งนี้ คุณพลาดิศัยยังชี้ชวนให้ผู้ที่สนใจนายหลุยส์นี้ได้เข้าถึงเรื่องราวมากยิ่งขึ้นด้วยการแนะนำให้ย้อนรอยประวัติศาสตร์ "ผมว่าน่าจะไปตามร่องรอยตรงนี้ พาไปดูเลยตรงนี้ พื้นที่ทางภาคเหนือที่มีอิทธิพลของฝรั่งเข้าไปอยู่ มีเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมและมีอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรืองการค้าไม้ ที่มีการผูกขาดการค้าไม้ มีพม่าเข้ามามีบทบาทด้วย..." งานนี้มีคุณประยอม ซองทอง อดีตนายกสมาคมนักเขียนฯ และคุณสมบูรณ์ วรพงศ์ นักเขียนอาวุโส ในฐานะเลขาธิการมูลนิธิไทยรัฐ มาช่วยเพิ่มสีสันให้บรรยากาศในงานสนุกสนานขึ้น ซึ่งคุณสมบูรณ์ วรพงศ์ ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้อย่างน่าฟัง "หนังสือเล่มนี้น่าจะเข้าตลาดหนังสือในงานที่จะเปิดโปงให้ฝรั่งรู้ว่า ฝรั่งมาแสวงหาผลประโยชน์ของเมืองไทย

ตั้งแต่ยุคราชาธิราช...เพราะฉนั้นในแง่ของนักอ่านก็น่าจะต้อนรับหนังสือนี้ด้วยความยินดี เพราะว่าอย่างน้อยก็จะได้รู้ถึงเสี้ยวหนึ่งของประวัติศาสตร์ โดยนักเขียนจากคนรุ่นใหม่ซึ่งผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม มาแล้ว" นั่นคือทัศนะอันหลากหลายจากผู้ที่ร่วมเสวนา แต่สำหนับจิระนันท์ พิตรปรีชา เจ้าของผลงานแล้ว เธอมองว่า..."ในฐานะนักประวัติศาสตร์คนหนึ่ง สาชาวิชาชีพโดยตรงคิดว่า ไม่ควรจะเอาความรู้สึกปัจจุบันมาเขียนย้อนหลังอะไรที่เกิดขึ้น อะไรที่เป็นความจริงเอา ส่วนการประเมิณถือว่าคนที่เขียนจะมีข้อสรุปอย่างไรก็ตาม คนที่อ่านต้องสรุปตัวเองอีกครั้งหนึ่งว่าคนนี้สรุปถูกหรือเปล่า ในฐานะผู้เรียบเรียงหนังสือนี้ให้เกียรติคนอ่านเต็มที่" กวีซีไรท์ กล่าวทิ้งท้ายไว้ก่อนจะจบการเสวนา สำหรับคุณที่พลาดงานเสวนาในวันนั้น คงจะสรุปไม่ได้ว่า "ลูกผู้ชายชื่อนายหลุยส์" เล่มนี้เป็นอย่างไร แต่คุณไม่ควรจะด่วนสรุปจากสิ่งที่ได้อ่านนี้เท่านั้นเพราะคุณควรจะได้สัมผัสเรื่องราวชีวิตที่เข้มข้นของนายหลุยส์ด้วยตัวคุณเอง....

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ