แลกเปลี่ยนมุมมองจากผลงานเรื่องสั้นของ ‘อัญชัน’ (ตอนที่1) : กลุ่มคุณชมัยภร แสงกระจ่าง

แลกเปลี่ยนมุมมองจากผลงานเรื่องสั้นของ ‘อัญชัน’  (ตอนที่1)

ประชุมสัมมนา “วิจัยผลงานตลอดช่วงชีวิตของ ‘อัญชัน’ อัญชลี วิวัธนชัย”

                เมื่อวันจันทร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ณ สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ได้จัดสัมมนา “วิจัยผลงานตลอดช่วงชีวิตของ ‘อัญชัน’ อัญชลี วิวัธนชัย” เพื่อนำเสนอผลงานใหม่ของ ‘อัญชัน’ จำนวน 2 เล่มด้วยกัน คือ ‘มนุษย์ครึ่งทาง’ (Till the last breath) และ ‘กาลครั้งหนึ่งในความฝัน’ (Once upon a dream) ซึ่งตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยทั้งสองเล่ม

                 ในช่วงบ่ายได้จัดกิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ แลกเปลี่ยนมุมมองจากผลงานเรื่องสั้นของ ‘อัญชัน’ โดยมีนักศึกษาจากหลากหลายมหาวิทยาลัยเข้าร่วมอภิปรายผลงานภาคภาษาอังกฤษของ ‘อัญชัน’ หลากหลายเรื่องด้วยกัน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม โดยในบทความนี้จะนำเสนอความคิดเห็นในกลุ่มแรก นำทัพโดยอาจารย์ชมัยภร แสงกระจ่าง

 

อ.ชมัยภร : คนแรกเริ่มจากน้องพลอยกับน้องอิม เรื่อง Serendipity

            เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตครอบครัวหนึ่ง คุณอัญชันเรียกตัวเองว่า I เป็นคนที่ชอบให้อาหารนกที่สวนหลังบ้าน ก็จะมีนกตัวเล็กตัวน้อยมากิน ตอนหลังๆจะมีนกกา raven คู่หนึ่งมาแย่งอาหารกิน ช่วงแรกเขามองว่ามันสร้างปัญหามากเลย มาขโมยพวกนกเล็กกิน ลูกชายคุณอัญชันไปปีนต้นไม้ ก็เอากรวดไปปาใส่หัวมัน จะไปทำลายรังมัน และช่วงสุดท้ายของเรื่องก็มีตัวหนึ่งโดนปืนบีบีกันยิง นกคู่ของมันก็มาเรียกให้ช่วย พอช่วยเสร็จ พวกมันก็บินหายไป และก็จบไปแบบนั้น

            ภาษาของเรื่องนี้พออ่านแล้วก็รู้สึกตามไปด้วย พอถึงฉากที่นกต้องแยกกันเพราะไปรักษาตัว เราก็รู้สึกเศร้าไปด้วย มีการเลียนเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงนก tweet tweet หรือ raven ก็จะเป็น กากา ทำให้อ่านลื่นไหล ชื่อเรื่องก็น่าสนใจ Serendipity คือการพบสิ่งที่ดีโดยบังเอิญ ทั้งๆที่ตอนแรกบอกว่ากาคือ evil แต่สุดท้ายก็ค้นพบว่ามันเป็นสิ่งสวยงาม ไม่เหมือนสิ่งที่คนทั่วไปคิด มีคู่เดียว ช่วยเหลือกัน และมีความฉลาดเทียบเท่าลิงชิมแปนซี จริงๆมันก็ไม่ได้สร้างปัญหา แค่พยายามเอาตัวรอดเท่านั้น

            ตามที่อาจารย์ธเนศได้บรรยายไว้ อาจารย์อัญชันจะมีการวางภาพ ส่วนตัวมองว่าการที่ใช้ raven ที่มองว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายที่เข้ามาหลังบ้าน เหมือนว่าชีวิตของคนเราอาจจะมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น แต่ว่าสิ่งไม่ดีเหล่านั้นอาจจะเหมือนกับชื่อนก ฮูกิน กับมูนิน จิตใจกับความทรงจำ พอถึงวันหนึ่งมันอาจจะกลายเป็นความทรงจำที่เราโหยหาถึงมันก็ได้

 

เป็นเรื่อง realistic ใช่ไหม

            ใช่ค่ะ เป็นการเล่าเรื่องชีวิตคนคนหนึ่งแบบสมจริง

 

ในแง่ของภาษาและการสร้างเรื่อง เป็นอย่างไร

            ส่วนตัวเป็นคนให้อาหารนกเองด้วย ก็เลยรู้สึกอิน อ่านแล้วสื่ออารมณ์ได้ดี มีการเลือกใช้คำที่เห็นภาพ อ่านแล้วสวย ขนนกปกติจะเรียกว่า feather แต่ว่าอันนี้ใช้ plumage รู้สึกว่าเลือกคำได้ดี เป็นคนที่ใช้ภาษาเก่ง

 

เคยอ่านงานอัญชันไหม

            เคยอ่าน หม้อที่ขูดไม่ออก ไม่เคยอ่านงานภาษาอังกฤษ

 

รู้สึกไหมว่ามัน link กัน

            รู้สึกว่าไม่เหมือนคนอื่น แต่ก็จับไม่ได้ว่าตรงไหน มีการใช้คำขยายที่ทำให้เห็นภาพชัดเจน

 

แลกเปลี่ยนมุมมองจากผลงานเรื่องสั้นของ ‘อัญชัน’

 

ในเรื่องที่อ่าน มีการใช้สัญลักษณ์บ้างไหม

            เหมือนว่าการใช้ raven เป็นสิ่งไม่ดี แต่ว่าจนถึงตอนสุดท้าย เขาก็รอให้มันบินกลับมา เหมือนเป็นการแทนว่ามันอาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีในชีวิต แต่ว่าถึงวันหนึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้เขานึกถึงความหลังบางอย่าง ที่มันไม่ได้อยู่ตรงนั้นแล้ว

 

ถือว่าเป็นนัย ยังไม่เป็นสัญลักษณ์ คนต่อไปค่ะ

            Madame Butterfly เขาแทนตัวว่า I ตัวละครนี้เป็นพนักงานร้านขายเสื้อผ้าในอเมริกา เริ่มต้นเรื่องว่า ถ้าคุณสนใจในตัวมนุษย์ คุณไม่จำเป็นต้องเป็น extrovert คุณสามารถทำได้ด้วยการสังเกต เหมือนกับเขาที่ทำงานเป็นพนักงานขายเสื้อผ้า เขาก็จะสังเกตลูกค้าของเขาว่าแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไรบ้าง จนกระทั่งมีลูกค้าที่โดดเด่นที่สุดคนหนี่ง เขาขนานนามให้เธอว่า Madame Butterfly ลูกค้าคนนี้เป็นหญิงแก่ รูปร่างหน้าตาคล้ายแม่มด มีผิวหนังเหี่ยวย่น แต่ลักษณะท่าทางขณะเข้ามาเลือกซื้อเหมือนกับผีเสื้อที่เริงร่าอยู่ท่ามกลางดอกไม้ เขาก็เลยรู้สึกสนใจมาดามบัตเตอร์ฟลายว่าทำไมเธอถึงมีลักษณะเช่นนี้ และความพิเศษอีกอย่างของมาดามบัตเตอร์ฟลายคือจะเป็นลูกค้ากลุ่มแรกที่มาซื้อตอนเปิดร้าน พอวันต่อมาก็จะเอาสินค้ามาคืนทันที เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกๆวัน ความพิเศษนี้ทำให้ตัวเอกสนใจและสนใจมาดามบัตเตอร์ฟลายว่าทำไมเธอจึงมีลักษณะเช่นนี้ และนอกจากนี้ ตัวเอกยังได้เจอมาดามบัตเตอร์ฟลายที่อื่นอีกด้วย หลังเลิกงานเวลาเขาไปซูเปอร์มาร์เก็ต ก็จะได้เจอมาดามบัตเตอร์ฟลายด้วย ซึ่งเธอก็ทำอย่างเดียวกัน ซื้อของสดแล้ววันถัดมาก็เอาไปคืน แม้สินค้าตอนรับคืนจะไม่สดแล้ว แต่ manager ก็ยังรับคืน และยังดุแคชเชียร์ที่ไม่รับของคืนเพราะทำตามนโยบายซูเปอร์มาร์เก็ต manager อธิบายว่าถ้าเธอมาอีก ก็ให้คืนเงินเลย ไม่ว่าจะซื้ออะไรก็ตาม ตัวเอกก็สงสัยว่าทำไมจึงเป็นแบบนี้ ไม่ว่ากับร้านไหนก็ตาม

            แล้วตัวเอกก็ได้เจอมาดามบัตเตอร์ฟลายอีกที่ป้ายรถเมล์ แล้วก็ได้นั่งรถเมล์คันเดียวกัน ตัวเอกได้ช่วยพยุงมาดามบัตเตอร์ฟลายลงจากรถเมล์ แล้วก็ได้เห็นว่าเธอมีรอยสักเป็นตัวเลขที่ตัว จึงเกิดสงสัยขึ้นมา มาดามเล่าให้ฟังว่าตัวเองเป็นลูกหลานในตระกูลร่ำรวยในโปแลนด์ และมักจะได้ใส่ชุดดีๆไปงานเลี้ยงงานเต้นรำอยู่ประจำ กระทั่งต้องไปอยู่ในค่ายกักกันที่เอาช์วิตซ์และสูญเสียครอบครัวไป แต่สุดท้ายเธอก็รอดมาได้ พอออกมาจากค่ายกักกันแล้วเธอก็ไม่สามารถจำอะไรได้เลย แม้แต่ชื่อของตัวเองก็จำไม่ได้ มีเพียงตัวเลขที่สักบนตัวเท่านั้นที่จำได้ ความทรงจำที่ผ่านมาแล้วก็ไหลผ่านไป ไม่สามารถจดจำอะไรได้เลย ก็เลยมักจะเอาของไปคืนอยู่ตลอดเวลา

            หนูคิดว่าเขาใช้ลักษณะของผีเสื้อมาอธิบายลักษณะท่าทางของมาดาม อาจะเป็นเพราะเวลาที่เธอได้ช็อปปิ้งใส่เสื้อผ้าสวยๆ เหมือนเป็นภาพความทรงจำที่สวยงามที่ได้อยู่กับครอบครัวที่ยังร่ำรวย เหมือนว่าการซื้อของคือความสุขอย่างเดียวของเธอ

 

 

เห็นความโดดเด่นของเรื่องนี้ตรงไหนบ้าง

            ผู้เขียนเปรียบผู้หญิงเป็นผีเสื้อ เหมือนว่าอยากเป็นอิสระ เพราะอดีตมีความเจ็บปวด

 

ก็เป็นเรื่อง realistic

          ใช่ค่ะ หนูรู้สึกว่าวิธีการที่เขาใช้สำนวนภาษา ทำให้มองเห็นภาพชัดเจนมาก ในช่วงแรกๆที่เขาใช้อธิบายพฤติกรรมของมาดาม คือทุกครั้งที่เขามาซื้อของ ก็จะใช้คำว่า searching picking poking and rummaging เขาเล่นภาษาว่าเธอตามหาของ รื้อจนเละเทะไปหมด ใช้คำกิริยาแสดงลำดับได้ชัดเจนมาก

 

เรื่องต่อไปค่ะ

            Life is but a dream เป็นเรื่องของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอายุประมาณ 7 ขวบ รักความสวยความงาม ชอบตุ๊กตา จะกอดไว้ตลอดเวลา เรื่องราวก็จะเล่าแบบมุมมองบุคคลที่สาม เล่าเจาะชีวิตของคนคนหนึ่ง เธอก็จะรู้สึกดีกับ pink hand lady แต่รู้สึกไม่ดีกับ pony tail girl เลย กระทั่งวันหนึ่งเธอแย่งตุ๊กตากับ pony tail girl จนตุ๊กตาหัวขาด แล้วเรื่องก็เฉลยว่า pony tail girl หันไปบอกกับ pink hand lady ว่า Mommy, I didn’t do anything to Grandma เป็นการเฉลยว่าจริงๆแล้วเธอไม่ใช่เด็ก 7 ขวบ แต่เป็นคุณยายที่เป็นอัลไซเมอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็จะมีการแทรกเรื่องว่าสภาพแวดล้อมรอบตัวก็จะมีแต่คนแก่ แล้วเรื่องก็สลับมาที่มุมมองของ pink hand lady ก็คือลูกสาวของเธอ เล่าว่าปีที่แล้ว แม่ของเธอเริ่มมีอาการหลงลืม และเริ่มอยู่กับความฝันวัยเด็กของตัวเอง ตอนแรกเป็นๆหายๆ จนกระทั่งอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ และปรึกษาหมอว่าแม่เธอจะชอบเธอ แต่ไม่ชอบหลานตัวเอง หมอก็บอกว่าปกติคนเราจะแยกฝันกับความจริงได้ แต่แม่ของเธอหลุดจากจุดนั้นไปแล้ว ได้แต่ใช้ชีวิตอยู่ในความฝันของตัวเองตลอดไป

 

 

เรื่องต่อไปค่ะ

            The portrait เป็นเรื่องเกี่ยวกับศิลปินสาวคนหนึ่ง พยายามหาความจริงเกี่ยวกับงาน abstract ของศิลปินหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเริ่มเกริ่นเรื่องว่าวิทยาศาสตร์มีพลังทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ขณะที่ศิลปะทำให้สิ่งที่ชัดเจนดูคลุมเครือ ดูลึกลับ ซึ่งเป็นคอนเซปต์หลักของเรื่องนี้ เรื่องก็คือศิลปินสาวคนนี้ไปงาน art fair ก็ได้ไปเจอศิลปินหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้จัดงานที่โซน contemporary art แต่เป็นศิลปินอินดี้ พอเดินผ่าน ศิลปินหนุ่มก็เชิญชวนจะวาดรูป portrait ให้ เธอก็ตกลง ชายหนุ่มก็พยายามวาดผู้หญิงให้ พอวาดเสร็จ เขาก็ขยำรูปทิ้ง ผู้หญิงตกใจว่าขยำทิ้งทำไม เขาบอกว่านั่นไม่ใช่รูปคุณ เขาจะวาดให้ใหม่ดีกว่า พอวาดเสร็จก็ยื่นรูปให้ ปรากฏว่าเป็นรูปเส้นโค้งเส้นเดียว หญิงสาวก็ไม่เข้าใจว่านี่จะเป็นภาพเธอได้อย่างไร แค่เส้นโค้งเส้นเดียว แต่ภาพเก่าที่ขยำทิ้งไปกลับเป็นภาพ portrait ปกติ ซึ่งวาดออกมาสวย ชายหนุ่มเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเหมือนตู้เย็น ที่เวลาจะวาดรูปใคร เขาก็ freeze ความงาม ความเยาว์วัยคนอื่นไว้ เขารู้สึกไม่ชอบ รู้สึกว่างานเหล่านั้นดู fake และเป็น commercial มากเกินไป

            แล้วก็จะคุยกันถึงสมองซีกซ้ายและสมองซีกขวา ที่สมองซีกขวาก็จะเป็นเรื่องของ creative และ imagination ซีกซ้ายก็จะเป็นเรื่องของ logic คนที่สมองซีกขวาทำงานได้ดีกว่า ก็จะถนัดซ้าย ซึ่งศิลปินคนนี้ถนัดซ้าย ผู้หญิงก็สงสัยว่าทำไมถึงเลือกเธอ เธอแตกต่างจากคนอื่นตรงไหน ทำไมถึงเลือกที่จะวาดเธอเป็นเส้นโค้งเส้นเดียว ศิลปินหนุ่มก็บอกว่าเขามองไปที่ข้อมือขวาของเธอ เพราะเธอใส่นาฬิกาที่มือขวา คนที่ถนัดขวาเขาไม่ใส่นาฬิกาที่ข้อมือด้านขวากัน เป็นคนถนัดซ้ายเหมือนกัน พอคุยกันถูกคอ ศิลปินหนุ่มก็วาดรูปให้เธอก่อนกลับ พอวาดเสร็จแล้วก็ยื่นให้ และบอกว่าเมื่อเธอกลับถึงบ้านแล้ว ค่อยเปิดดู พอเธอกลับถึงบ้านแล้วก็เปิดดู ปรากฏว่าภาพนั้นคือกระดาษที่ว่างเปล่า แล้วเธอก็เอากระดาษนั้นใส่กรอบเก็บไว้ที่สตูดิโอของเธอ

 

อุ๋ม : ตอนหลังเธอก็กลับไปตามหาผู้ชายคนนั้น แต่ก็ไม่เจอ ที่ชอบเรื่องนี้เพราะคุณอัญชันเขียนได้เหมือนกับคนที่เข้าใจงานศิลปะ และเปรียบเทียบความรุนแรงของศิลปินผู้ชายในการวาดภาพ เหมือนเขากำลังต่อสู้กับอะไรสักอย่าง บรรยายว่าเหมือนน้ำแข็งที่ละลายลงในความร้อน เห็นความขัดแย้งในตัวเองที่จะสื่อสารออกมา

            ในเรื่องก็จะมีบอกว่า ถ้าเขามีทางเลือก เขาก็ไม่อยากวาดภาพ portrait ที่ดูปลอมๆแบบนี้หรอก เหมือนกับว่าเขาไม่มีทางเลือก ไม่มีโอกาส เหมือนต้องต่อสู้กับอะไรสักอย่างอยู่

 

อ.ชมัยภร : ชอบเรื่องนี้ตรงไหน

            คงเป็นที่รูปวาดค่ะ ช็อกแรกก็คือเส้นโค้ง ช็อกที่สองก็เป็นกระดาษเปล่า คนอ่านก็ลุ้นว่าจะเป็นอะไร ตอนแรกก็ตกใจ แต่พออ่านไปก็พอเข้าใจตรรกะของเขา ตามเรื่องเขาพยายามนำเสนอ มันไม่มีอะไรที่จะนิยามภาพที่แท้จริงของเราได้ ตาหูจมูกปากมันอาจจะไม่ใช่เราจริงๆก็ได้ อาจจะรออะไรแต่งแต้มเข้าไปเพื่อแสดงความเป็นเรา

 

เป็นปรัชญาในตัวเรื่อง แต่เขาเอาไปใส่ในหมวด magical realism นะ อัญชันแบ่งหมวดของเขาเองนะ

            อาจะเป็นตอนที่ผู้หญิงเห็นภาพเป็นนางเงือกหรือเปล่าคะ คนจริงๆอาจจะมองไม่เห็นขนาดนั้น ตอนที่เขาบรรยายออกมา ก็ดูเหมือนเวทมนตร์นะ

           

ฟรองซ์ : อันนี้เป็น pattern ที่เห็นในหลายๆเรื่องสั้นที่เขารวมชุดมาเลย หลายๆเรื่องจะมีคนหนึ่งที่เป็นฝั่งวิทยาศาสตร์ และมาด้วยเหตุผล ขาดในด้านอารมณ์และจินตนาการ ขณะที่อีกคนหนึ่งก็จะ abstract ไปเลย และเข้าใจอารมณ์ เข้าใจความรัก ความรักก็เป็นอีกธีมหนึ่งที่คุณอัญชันหยิบมาพูดถึงค่อนข้างเยอะ ถามว่าทำไมถึงเป็น magical realism เมื่อเทียบกับเรื่องอื่น ส่วนตัวรู้สึกว่าอาจจะไม่มากขนาดนั้น แต่ art เป็น abstract ที่สุดเมื่อเทียบกับเรื่องอื่นที่คุณอัญชันพูดถึง

            แล้วศิลปินชายเขาหายไปด้วยตอนจบ อาจจะไม่ได้เป็นศิลปินหรือเปล่า อาจจะไม่มีจริง

 

อ.ชมัยภร : ถ้าเป็น magical ต้องหายต่อหน้า ถ้าหายไปหาไม่เจอ จะเป็น realism

 

เก๋ : เรื่องชื่อว่า Message in the box ใช้แทนตัวบุรุษที่ 1 เข้าใจว่าเป็นผู้หญิง เขาจะย้ายบ้าน และต้องผ่านบริเวณหน้าบ้านที่มีคนเอาหนังสือมาบริจาค ซึ่งเธอชอบอ่านหนังสือมากกว่าอ่าน ebook เธอก็รู้สึกเสียใจที่คนเอาหนังสือมาทิ้ง มากกว่าที่จะเอาหนังสือมาแลกกันอ่าน เมื่อดูจากสภาพหนังสือ และเธอก็เจอหนังสือเล่มหนึ่ง เป็นเรื่องแต่งที่เกี่ยวกับคนฆ่าตัวตาย แล้วก็เจอจดหมายซองหนึ่งอยู่ในหนังสือ เป็นจดหมายของผู้ชายคนหนึ่งที่ต้องการฆ่าตัวตาย ทำนองว่าเขากำลังจะฆ่าตัวตาย ถ้าใครกำลังอ่านจดหมายฉบับนี้ของผม คุณมีสิทธิ์เลือกที่จะเขียนอย่างไรก็ได้ บอกให้ผมรู้ว่ามีเหตุผลอะไรที่จะมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าคุณทำไม่สำเร็จ ผมก็คงจะลาจากโลกนี้ไป ผู้หญิงคนนี้ก็อึ้ง ช็อกว่าตัวเองจะมีผลต่อการมีชีวิตของคนคนหนึ่ง เธอก็เลยเขียนจดหมายตอบกลับไป สอดใส่หนังสือกลับไป บอกว่าฉันเขียนจดหมายหาคุณ แต่ไม่สามารถได้ว่าชีวิตนี้เป็นสิ่งสวยงามและ meaningful เพราะตัวฉันเองมีประสบการณ์ที่เลวร้าย เพราะแม่ของฉันฆ่าตัวตายตั้งแต่ตอนที่ฉันเป็นเด็ก เธอเล่าบรรยายอย่างละเอียด อ่านตรงนี้แล้วสะเทือนใจ และเหมือนกับจะให้ลูกฆ่าตัวตายตามไปด้วย ก็เลยไม่สามารถบอกได้ว่าชีวิตนี้สวยงาม แม้แต่ฉันก็ยังมีแม่ที่คิดว่าฉันไม่มีค่า และตอนท้ายก็บอกว่า แต่ให้คุณเป็นคนตัดสินใจเลือกด้วยตัวเองดีกว่า ฉันไม่สามารถ influence ชีวิตคุณได้ คุณต้องเป็นคนเลือกด้วยตัวเอง และก็จบตรงนี้ จบจดหมายก็จบเรื่อง

            วิธีการเขียนก็ดีมาก เพราะเล่าด้วยบุคคลที่ 1 และก็ดึงเราเข้าไปในชีวิต เหมือนเราได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบเหมือนหนัง วิธีการเขียนเรื่องนี้เหมือนหนัง ทำให้รู้สึกว่าเรื่องนี้ดีมาก ตื่นเต้นมาก

 

ฟรองซ์ : ขอเสริมนิดหนึ่ง ผู้ชายที่เขาบอกว่าจะตาย เขาบอกว่าตัวเขาไม่มีความสุขก็จริง แต่ที่เขาจะตาย ถ้าผู้หญิงเปลี่ยนใจเขาได้ เขาก็จะไม่ตาย และเก็บจดหมายนั้นไว้ตลอดชีวิต แต่ถ้าเขาจะตาย เขาจะตายด้วยความหวัง ความหวังว่าอย่างน้อยเขาก็ยังเห็นว่ามีคนที่พยายามเปลี่ยนแปลงสังคมนี้ และถ้าฉันจะตาย ก็จะเอาหนังสือมาไว้ที่เดิม และตอนจบก็มีกิมมิกว่าผู้หญิงไม่เคยไปดูที่ตู้เลยว่าผู้ชายเอาหนังสือมาวางไว้หรือไม่

          รู้สึกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเด่นมาก ที่จะเอาไปขายเมืองนอก ตรง respond ของผู้หญิง ถ้าพูดถึงเชิงโน้มน้าวให้คนไม่ฆ่าตัวตาย ในต่างประเทศส่วนมากเขาจะเน้นให้รักตัวเอง uplift ตัวเองให้ได้ แต่เหตุผลของผู้หญิงคนนี้ในการอยู่ก็คือไม่เป็นภาระของคนอื่นที่อยู่เบื้องหลัง ก็คือตายไปแล้วคนอื่นต้องมาเสียใจ ต้อง trauma เป็นการไม่ตายเพื่อจะคิดถึงคนอื่น มีความเอเชียสูงมาก ถ้าเอาไปแปล คนที่อ่านก็รู้สึกว่า setting เหมือนกัน แต่ว่าได้แนวคิดใหม่จากฝั่งตะวันออก ตะวันออกจะเน้นว่าเพื่อคนอื่น แต่ตะวันตกจะเน้น fulfil ตัวเอง รักตัวเอง

          คุณเก๋ชอบอะไรในเรื่องนี้

 

เก๋ : คิดว่าชอบเรื่องภาษาเหมือนกัน เก๋ไม่เคยอ่านงานคุณอัญชันมาก่อน เพิ่งมารู้จักครั้งนี้ ก็เห็นด้วย เรื่องของการบรรยาย ให้ภาพที่ชัดเจน

 

ฟรองซ์ : เรื่อง The land we stand มีพี่น้องสองคน เขาตกงานเพราะน้ำท่วมบ้าน เขาก็เลยต้องไปหางาน ไปสมัครเป็นชาวสวนกันคนละบ้าน พี่อยู่บ้านหนึ่ง น้องอยู่บ้านหนึ่ง เรื่องนี้ก็จะเล่าด้วยสรรพนามบุรุษที่ 1 เน้นตัวพี่เป็นหลักก่อน บ้านที่พี่ไปเริ่มงานวันแรก สวนรกมาก มีแต่วัชพืช เถาวัลย์เต็มไปหมด ดอกบัวที่ควรจะบานก็ถูกต้นไม้บังมิด จะตายอยู่แล้ว ไม่น่าอยู่เลย แต่เจ้าของบ้านบอกว่าห้ามทำอะไรกับมันเลย รดน้ำได้อย่างเดียว ดูแลได้อย่างเดียว ห้ามตัด ห้ามกีดกัน วัชพืชจะขึ้น ผึ้งจะทำรัง ก็ปล่อยไป เราไม่มีสิทธิควบคุมธรรมชาติทั้งสิ้นเลย พี่ชายเขาก็พบว่างานของเขาไม่มีอะไรเลย เพราะยุ่งอะไรไม่ได้เลย กลายเป็นว่าได้แต่นั่งดูธรรมชาติมันโตไปเอง แต่เขาก็ได้เรียนรู้ว่าความรกความสกปรกนั้นก็มีความสวยงาม ได้ยินเสียงนก ได้เห็นว่าธรรมชาติมันดูแลกันอย่างไร และเจ้าของก็ได้สอนเขาหลายอย่าง เช่น เขามีหมาตัวหนึ่ง เขาถามว่านี่ตัวอะไร พี่ชายก็ตอบว่าหมา เขาด่ายับเลย บอกว่าเขามีชื่อ ชื่อกาลิเลโอ คุณเป็นมนุษย์ หมาก็เป็นสิ่งมีชีวิต คุณมีอำนาจอะไรถึงไป label ว่าสิ่งนี้คือหมา อันนี้พูดถึงการ labeling พี่ชายก็รู้สึกศรัทธาในเจ้าลัทธิคนนี้มาก แล้ววันหนึ่งลูกสาวเจ้าของบ้านก็โดนต้นไม้มีหนามตำ เพราะลูกสาววิ่งเข้าไปเล่นแล้วก็โดนตำ เลือดออกมา แม่ก็เลยบอกคนสวนให้ไปจัดการต้นไม้ต้นนี้ทิ้ง เจ้าของบ้านไม่พอใจ ก็ด่าภรรยาตัวเอง ซึ่งด่าแบบ sexist ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ด้วย เหยียดผู้หญิงว่าผู้หญิงไม่มีความรู้ มาแต่งงานกับดอกเตอร์อย่างฉันแล้ว ยังไม่เรียนรู้ถึงจิตวิญญาณธรรมชาติ ซึ่งฝั่งแม่เขาก็มีเหตุผลว่ามันทำให้เป็นอันตราย พ่อก็บอกว่าลูกวิ่งเขาไปเอง พืชไม่ได้ทำอะไรสักหน่อย ก็เลยทะเลาะกันไม่สิ้นสุด คนสวนเบื่อ ก็เลยแอบไปดูบ้านข้างๆที่น้องชายทำงานอยู่ พบว่าบ้านข้างต้นไม้ตัดเป็นระเบียบ ดอกบัวสวยงาม แต่ไม่มีความเคลื่อนไหวเลย ทุกอย่างเพอร์เฟ็กต์มาก แต่ไม่มีนกร้อง ไม่มีอะไรเลย ก็เลยปีนข้ามลงไป เจอน้องชายจื้ปืนมา ก็บอกว่านี่พี่ชายเอง น้องชายก็บอกว่า อ๋อ ไม่เป็นไร พอดีได้รับคำสั่งว่าให้ยิงทุกอย่างที่เคลื่อนไหว เจ้าของบ้านน้องชายมีกฎว่าทุกอย่างห้ามเติบโตอย่างอิสระ ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้การควบคุมเจ้าของบ้าน หญ้าขึ้นมาแม้แต่มิลฯเดียวก็ต้องถูกตัดให้เรียบ ต้นไม้ทุกใบต้องนับให้ครบ เกินมาต้องเด็ดทิ้ง เจ้าของบ้านเชื่อว่าการควบคุมเท่านั้นที่สวยงาม อะไรที่ผิดไปจากควบคุมไม่ได้ ซึ่งน้องชายก็ทำงานไม่หยุดเลย คุยได้คำหนึ่งก็ต้องไปตัดหญ้าแล้ว เพราะหญ้างอกมา 1 มิลฯ มัน extreme มาก ขณะที่พี่ชายไม่ต้องทำงานเลย แต่น้องชายต้องทำงานตลอดเวลา แล้วทั้งสองคนก็เลยคุยกันว่าแลกงานกันไหม แต่ก็ไม่มีใครตอบตกลง และเรื่องนี้ก็บอกชัดมากเลยว่าเกี่ยวกับอะไร เพราะมีต้นไม้ชนิดหนึ่ง เป็นต้นไม้ที่ใหญ่โตมากในบ้านที่รักษ์โลก ขณะที่อีกบ้านหนึ่งห้ามมีอยู่เลย ต้นไม้ต้นนี้ชื่อ democracy บ้านรักธรรมชาติก็บอกว่าฉันรักต้นไม้ต้นนี้มากเลย อีกบ้านหนึ่งก็จะบอกว่าต้นไม้ต้นนี้มัน crazy เป็นการเล่นคำด้วย ทำให้เห็นว่าประชาธิปไตยที่สุดโต่งมากๆ ไม่มีการควบคุมจากรัฐเลย ปล่อยให้คนทำอะไรก็ได้ ก็ไม่ใช่โลกที่น่าอยู่ขนาดนั้น ขณะที่เผด็จการเบ็ดเสร็จ ห้ามใครทำอะไรเลย ก็ไม่ใช่โลกที่น่าอยู่ มันเป็นประเด็นทางสังคมที่อัญชันถามกลับมาว่าสวนแบบไหนเป็นสวนที่น่าทำงานด้วย ส่วนตัวรู้สึกว่าชอบเรื่องนี้ เพราะ raise ได้ทั้ง 4 ประเด็นเลย ทั้งเรื่องของการรักธรรมชาติ การที่พี่ชายไม่ได้อินกับสวนเลย พอเข้าไปแล้วก็ได้เรียนรู้ คืออัญชันเขาใช้บุคลาธิษฐานกับพืชบ่อยมาก การที่พืชมีกิริยาคล้ายมนุษย์ เช่น เถาวัลย์กำลังพันเกี่ยวเพื่อโอบอุ้ม มันเป็นการอธิบายความยิ่งใหญ่ของสวนหลังบ้านเล็กๆนี้ให้รู้สึกว่าสวยงาม แม้แต่สัตว์ก็เป็นสัตว์ที่ไม่น่าสนใจ เช่น ยุง แมลงสาบ แต่เขาทำให้คนอ่านรู้สึกเห็นความสำคัญ เรื่องของการ label ก็เป็นอีกอันหนึ่ง เขาสอนเรื่องการ label ไม่พอ แล้วเขายังด่าภรรยาด้วยการ sexist คนสวนก็ อ้าว เมื่อกี้ยังสอนฉันเรื่องการไม่ label หมา แล้วทำไมไป label ภรรยาว่าเป็นผู้หญิง มันย้อนแย้งในตัวเอง ขณะที่สังคมปัจจุบันกำลังรณรงค์ว่าไม่ label แต่จริงๆเรายังมีความ label อยู่เยอะมาก และเรื่องสิทธิทางเพศ ซึ่งผู้หญิงก็ด่ากลับแรงๆเลยว่าฉันก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ฉันก็มีความคิดเหมือนกัน ไม่ใช่ให้ผู้ชายมาสั่งอย่างเดียว และยังมีเรื่องของประชาธิปไต VS เผด็จการด้วย ถือว่าภายใน 4 หน้า อัญชันอธิบายประเด็นหนักๆ 4 อันได้อย่างแนบเนียนด้วย

          แต่ส่วนตัวมองว่าการเอา democracy มาเล่น รู้สึกว่าเป็นการเฉลยง่ายไปหน่อย แต่ก็เป็นมุกที่ตลกดี สร้างสีสันให้เรื่องด้วย

 

 

อ.ชมัยภร : ถ้าไม่เฉลยน่าจะดี ให้เราคิดเอง คุณเสนีย์ เสาวพงศ์ เคยเขียนเรื่องสั้นเรื่องทานตะวันดอกหนึ่งไว้ คือมีผู้ชายคนหนึ่งไปเอาเมล็ดทานตะวันจากเมืองนอกมาปลูก แล้วโตสวยงาม ชาวบ้านก็มาผูกโบขอหวย แล้วคนในเครื่องแบบก็ทนไม่ได้ ก็เลยมาตัด คนปลูกก็เสียใจมาก ตอนจบก็นั่งอยู่กับตอไม้ ลูกชายก็มาตบบ่า บอกพ่อว่าเราปลูกใหม่ได้ ก็ไม่มีคำว่า democracy เลย แต่อ่านแล้วรู้เลยว่าเป็นประชาธิปไตย เพราะตอนนั้นเป็นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 หลังไปแล้วหลายปี หลังจากที่เกรียงศักดิ์ (ชมะนันทน์) ขึ้นแล้ว คือระหว่างที่เผด็จการครองตลอด เรื่องนี้ไม่ออก พอเกรียงศักดิ์ให้สิทธิแล้ว เรื่องนี้ก็ออกมา แล้วมันมีประโยคที่เป็นร่องรอย คือคำว่า ความสงบเรียบร้อย อะไรบางอย่างที่อ่านแล้วเรารู้ว่าเป็นคีย์ที่เราจะย้อนกลับไปพบว่าต้นทานตะวันต้นนี้มีความสำคัญเท่ากับประชาธิปไตย แต่ไม่ต้องบอกว่าเป็นประชาธิปไตย มันชื่อทานตะวัน คือพอบอกว่าต้นไม้ต้นนี้ชื่อ democracy ก็เสียดายว่าไม่น่าเลย กำลังชอบเลย

 

ฟรองซ์ : อ่านเรื่องสั้นเซ็ตนี้แล้วรู้สึกว่าอัญชันเขาคงกลัวผู้อ่านไม่เข้าใจ หลายๆเรื่องมีเฉลยในตอนจบหมดเลยในบรรทัดสุดท้าย

 

อ.ชมัยภร : จริงๆอัญชันไม่ใช่คนแบบนั้นนะ ถ้าอ่านจากงานเก่าๆ ไม่ใช่จะมาเฉลย โหดต้องโหดสมใจ ให้ตีความเอง

 

อุ๋ม : ของอุ๋มเป็นเรื่อง The other side of the dream แก่นเรื่องคือเมื่อเราเดินหนีสิ่งทีดึงดูดใจความความฝัน ดำเนินเรื่องสรรพนามบุรุษที่ 1 ตัวเอกของเรื่องเป็นผู้หญิงที่ไปพักผ่อนคนเดียวที่ชายหาด และเต็มไปด้วยบรรยากาศของทะเลแอตแลนติก บรรยายละเอียดยิบเลย ไม่ว่าจะเป็นทราย กรวด อุณหภูมิของน้ำ ความร้อนจากแสงอาทิตย์ ประภาคาร หรือสิ่งที่อยู่บนหาดว่ามีอะไรบ้าง พืชทะเล สันทราย คลื่น เปลือกหอย เป็นต้น เรียกว่าเป็นการบรรยายที่ดีมาก ทำให้เรารู้สึกอิน และเธอเฝ้ามองจนรู้สึกว่าสิ่งที่อยู่ตรงข้ามในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นความเย็นจัดท่ามกลางความร้อน มันเป็นการแบ่งเขตแดนธรรมชาติ ทำให้รู้สึกว่าทุกอย่างมีอาณาเขตที่ต่างกัน ตัวเอกก็รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในดินแดนที่มีความงามและความเงียบสงบ มีความน่าสนใจ คล้ายความฝัน ตรงนี้ก็เริ่มเอาความรู้สึกฝันเข้ามาอีกแล้ว แล้วอยู่ๆก็มีผู้ชายรูปงาม ซิกแพ็ก เดินมา หล่อราวกับเทพบุตร สวยงามราวกับผู้หญิง แล้วก็ไม่รู้จักกัน แล้วก็มีบทสนทนากัน ทั้งคู่ก็แสดงออกถึงความซื่อตรงเปิดเผยเหมือนกัน ไม่โกหก ผู้ชายก็เลยชวนจูงมือเดินกันไปอีกที่หนึ่ง ผู้หญิงก็รู้สึกเหมือนกำลังมีความฝัน ผู้ชายก็บอกว่าเรามาถึงเส้นแบ่งเส้นหนึ่งแล้ว เธอเห็นไหม ที่ปลายชายหาด ผู้หญิงมองไปก็ไม่เห็นอะไร ผู้ชายบอกว่ามันเป็นร่องน้ำ ปรากฏว่าผู้ชายถอดกางเกงออก ยื่นกางเกงให้ผู้หญิง แล้วก็เฉลยว่ามันเป็นเขตแดนของชายหาดนู้ด และชวนให้ผู้หญิงมาด้วยกัน แต่เธอต้องถอดเสื้อผ้าเหมือนกันนะ แล้วผู้หญิงก็ตัดสินใจจากมา ถึงแม้ระยะมันจะแค่นี้ แต่ความเป็นจริงมันแตกต่างกันเหมือนโลกที่เขาไม่สามารถไปใช้ชีวิตได้ด้วย ซึ่งเขาก็บอกว่าถ้าเธอยอมเข้ามาอยู่ในอ้อมแขนเขา อะไรๆก็เป็นไปได้ ในที่สุดผู้หญิงก็กลับไปที่นั่นอีกครั้ง แต่สภาพแวดล้อมทุกอย่างมันก็เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว เธอก็ไปถามผู้ชายแก่ที่ดูแลแถวนั้นอยู่ ถามว่าเคยเห็นผู้ชายคนนี้ไหม ชายแก่ก็บอกว่ามีคนมาถามถึงเขาบ่อยๆ บางทีเขาก็มากับผู้ชายบ้าง ผู้หญิงบ้าง

          จุดเด่นของเรื่องนี้คือการใช้ภาษาที่สวยงาม พรรณนาเหมือนวรรณกรรม และเกิดจินตนาการ อย่างเช่น lullaby of the wave, was cradle between the west ocean and the last sand dune เหมือนกับถูกแกว่งไกว ทุกช่วงก็จะมีไคลแม็กซ์และคลี่คลายเหมือนกับเรื่องเมื่อกี้ แต่ไม่ได้ชี้นำอะไร ให้เราเห็นว่าชีวิตจริงเราก็ไม่สามารถเลือกสิ่งที่เราอยากได้ อะไรประมาณนี้

 

อ.ชมัยภร : เขาเขียนไว้ว่าอยู่ในหมวด romance erotica น่าจะเป็นเชิงสัญลักษณ์ ว่าถ้าเราข้ามเขตแดนนี้ไป มันก็จะไปอยู่ระว่าง romance กับ erotic เราจะไปอยู่ตรงไหนในความเป็นมนุษย์ คุณจะข้ามไปอยู่ไหน ก็ใม่ใช่เรื่องหนักอะไร เป็นเชิงนัยให้เราคิด

 

อุ๋ม : มีศัพท์ว่า paradox of thing กับ being ซึ่ง being คือความเป็นจริงของตัวเรา แต่ paradox คือความย้อนแย้ง

 

เก๋ : อยากฟังน้องๆด้วยว่าเท่าที่ฟังมาทั้งหมด 5-6 เรื่อง ภาพรวมเรื่องสั้นของคุณอัญชัน มีจุดเด่นอะไรที่เราเห็นชัด

          ส่วนตัวคิดเหมือนที่หลายๆคนว่า คือเรื่องการใช้ภาษา ใช้ภาษาที่ทำให้เห็นภาพชัดเจน ใช้คำซ้ำๆ ทำให้เห็นภาพที่มีความต่อเนื่อง เห็นภาพชัดเจนขึ้น และหลายเรื่องก็พูดถึงปรัชญาชีวิต ทำให้คนอ่านได้ทบทวนตัวเองไปด้วย

 

อ.ชมัยภร : เขาจะมีภาคสังคม ภาคความเป็นมนุษย์ส่วนตัว มีตัวความคิด อารมณ์ ความรู้สึก แล้วภาษาค่อยมาทีหลัง น้องๆอ่านแล้วรู้สึกไหมว่าเป็นสังคมฝรั่ง สังคมตะวันตก 

            ใช่ค่ะ และมีคำเปรียบเทียบของฝรั่ง เทียบนก raven ว่าเป็นเหมือนลูซิเฟอร์

 

อ.ชมัยภร : ถ้าเป็นอัญชันรุ่นเก่า เขาจะมีความเป็นไทยเยอะมาก เหมือนคนที่ยังข้ามประเทศไปไม่ได้ เขาก็จะเล่าเรื่องสังคมไทย เรื่องพระ เรื่องเด็ก เรื่องผู้หญิง เรื่องโรงเรียน แต่พอมาอ่านชุดนี้ ฟังจากน้องๆเล่า เหมือนเขาข้ามไปตะวันตกแล้ว

 

ฟรองซ์ : แต่ก็มีบางเรื่องที่เป็นธีมจีน ธีมญี่ปุ่น ก็มีเหมือนกันนะครับ เหมือนเขาทำการบ้านหนักมากในการเปลี่ยนไปในหลายๆวัฒนธรรม อย่างฝรั่งเอง เรื่องที่ผมอ่านก็มีความเป็นอังกฤษมากกว่าอเมริกา ดูจากค่านิยมแต่งสวน คนอังกฤษไม่ว่าบ้านรกแค่ไหน สวนหลังบ้านต้องดีเสมอ ซึ่งดีก็แปลว่ารกๆอย่างนั้น เป็นลักษณะเด่นของสวนอังกฤษที่ต่างจากสวนฝรั่งเศสที่เป๊ะๆ แต่เขาทำการบ้านดี ในการเปลี่ยนตัวเองนิดหน่อยให้วิธีการเขียนในแต่ละบทความเข้ากับ setting ของที่นั้นๆ อย่างฝั่งจีนเขาก็ใส่กลองไฮกุเข้าไป มีการใช้สื่อต่างๆทั้งกลอนทั้งจดหมาย ทำให้งานดูน่าสนใจ ทำให้คนที่เปิดอ่านรู้สึกสนใจเพราะอินกับเรื่องนั้นอยู่แล้ว ก็จะได้เจอวิธีการเขียนที่อ่านง่าย ถือว่าเขาปรับตัวได้ดีในแต่ละเรื่อง

 

อ.ชมัยภร : ในกลุ่มเรา ความสะเทือนใจอยู่ที่เรื่องอะไร

          เรื่องอัลไซเมอร์ เรื่องจดหมายความตาย ก็น่าสนใจ

 

อ.ชมัยภร : สองเรื่องนี้ก็คือความเป็นมนุษย์ เขายังสามารถควักเอาส่วนที่ลึกที่สุดของความเป็นมนุษย์ออกมาได้ ทำให้เราสะเทือนใจ

 

อุ๋ม : อีกเรื่องที่มีความเป็นมนุษย์ ก็คือเรื่อง The mask เรื่องหน้ากาก อธิบายถึงผู้ชายคนหนึ่งที่ถูกจับตัวไป และที่นั้นเป็นห้องขัง เป็นนรก และถูกขังรวมกับอีกคนหนึ่ง ซึ่งอีกคนหนึ่งจะแย่งทุกสิ่งทุกอย่างของเขา แย่งอาหาร แย่งที่นอน ไม่ว่าเขาต้องการอะไร คนนี้ก็แย่งหมด ตอนหลังผู้ชายคนนี้ก็ไม่ไหวแล้ว ก็เลยขอผู้คุมให้พ้นไปจากที่นี่ แต่ว่าต้องสวมหน้ากาก ห้ามถอดหน้ากากในระหว่างนั้น ผู้คุมก็บอกว่าวันนี้มาถึงแล้ว ให้ถอดหน้ากากออกมา ปรากฏว่าคนคนนั้นคือตัวเขาเองนั่นแหละ กลายเป็นว่าตัวเขาในชีวิตจริงก่อนตาย เขาเป็น asshole ในสายตาคนอื่น แต่เขามองไม่เห็นตัวเอง และก็ให้โอกาสเขาปรับปรุงว่าคุณจะทำอย่างไรให้คุณมีความสุขมากขึ้น ก็คือต้องเอื้อเฟื้อและปรับปรุงตัวเอง และอีกฝ่ายก็จะดีไปด้วย

 

แลกเปลี่ยนมุมมองจากผลงานเรื่องสั้นของ ‘อัญชัน’

 

อ.ชมัยภร : อันนี้เป็นเรื่องดีนะ เป็นเรื่องแปลกที่สุดในกลุ่มเราเลย ส่วนใหญ่เราจะอ่าน realistic หมด เพราะตายแล้วไปเจอตัวเองในคุก ซึ่งจริงๆเป็นคุกในยมโลก น่าสนใจ

 

เก๋ : Madame Butterfly ก็สะเทือนใจเหมือนกัน ที่เขาถูกกระทำมาก่อน

 

ฟรองซ์ : ชอบที่เขา link ประวัติศาสตร์โปแลนด์ด้วย แสดงว่าเขาทำการบ้านมาก่อน

          อีกเรื่องคือ A Tree Reincarnate คือมีแม่ที่รู้อดีตชาติของตัวเอง เคยเป็นต้นไม้มาก่อน แม่เล่าให้ลูกฟังว่าแต่ก่อนฉันเป็นต้นโอ๊ก ฉันไม่รู้ว่ามนุษย์ชั่วร้ายอย่างไร แต่ต้นไม้ต่างบอกกันว่ามนุษย์นั้นชั่วร้าย วันหนึ่งก็มีพายุมา และฉันก็ดูแลมนุษย์ สุดท้ายกลายเป็นว่ามนุษย์คนนั้นก็มาตัดฉันทิ้ง เพราะฉันกันพายุได้ดี ก็น่าจะทำบ้านได้ดี พอชาตินี้เขาก็รณรงค์ปกป้องต้นไม้เต็มที่เลย เพราะต้นไม้ทุกต้นเป็นเพื่อนของเขา ตอนจบพอแม่ตายไป ลูกก็เลยเอาเถ้ากระดูกของแม่มาปลูกต้นโอ๊ก เพื่อจะได้เห็นแม่เป็นต้นโอ๊กอย่างที่แม่เคยเล่า เป็นความอิ่มเอมใจ

          มีประเด็นตรงที่แม่เล่าว่าต้นไม้สื่อสารกันอย่างไร ต้นไม้เป็น life form ที่สูงกว่ามนุษย์อย่างไร มนุษย์เป็นสิ่งที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับต้นไม้ มีหลายๆเรื่องที่พูดว่ามนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่สูงที่สุด มันมีรูปแบบอื่น บางเรื่องพูดถึงผี บางเรื่องพูดถึงเทพเจ้า

 

เก๋ : คือประเด็นที่บอกว่ามนุษย์กะจิริดเมื่อเทียบกับธรรมชาติ มีในหลายๆเรื่อง อย่างเช่นในรวมเรื่องสั้น อ่านโลกกว้าง โลกในสายลม เน้นประเด็นว่ามนุษย์เป็นส่วนเล็กๆในความใหญ่โตของธรรมชาติ ในตอนจบของโลกในสายลม คือมนุษย์กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ประสานกับธรรมชาติ ซึ่งคุณอัญชันหยิบประเด็นได้ทันสมัยมาก แต่ก่อนเราจะยกความเป็นมนุษยนิยม แต่คุณอัญชันมองไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมีมานานแล้ว

 

อ.ชมัยภร : จริงๆมีแนวคิดมาจากอินเดีย อินเดียเขาเชื่ออย่างนี้มาตั้งนานแล้ว และมีตำราเยอะแยะมากมาย แล้วฝรั่งน่าจะตามทีหลัง อัญชันก็น่าจะได้ เพราะอัญชันเรียนอักษรศาสตร์ ก็มาทางสายอินเดียแหละ เรื่องนี้ก็ดี

 

เก๋ : แล้วก็หยิบเรื่องของคนชายขอบมาเล่นด้วย ขอทาน คนถูกกระทำ หรือชนเผ่าอินเดียนแดง เด็กเล็กๆ ประเด็นคนชายขอบซึ่งเรารู้อยู่แล้ว แต่มักจะหลงลืมไป ก็หยิบยกให้มีความสำคัญขึ้นมา โดยการใช้ภาษาอย่างดีงาม จากเรื่องที่เรามองข้าม และภาษาที่ดีทำให้เรากลับไปสนใจสิ่งเหล่านั้นได้

 

 

Writer

หนึ่ง หนึ่ง

พ่อแมวอันดับหนึ่งในปฐพี เขียน/คุยได้ทุกเรื่องยกเว้นเรื่องมีสาระ