วันนักแปลและล่าม ครั้งที่ 16 : และพิธีมอบรางวัลสุรินทราชา

วันนักแปลและล่าม ครั้งที่ 16

       เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2566 สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยได้จัดงานวันนักแปลและล่าม ครั้งที่ 16 วัตถุประสงค์หลักของงานคือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ของมิตรสหายนักแปลและล่าม ตลอดจนเป็นเวทีมอบรางวัลสุรินทราชา ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่พระยาสุรินทราชา (นกยูง วิเศษกุล) แก่นักแปลและล่ามผู้มีผลงานดีเด่นเผยแพร่มายาวนาน และสร้างคุณูปการแก่วงการวรรณกรรม สังคม และประเทศชาติ ณ ห้องออดิทอเรียม สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ถนนอโศก กรุงเทพฯ 

      โดยในครั้งนี้ มีผู้ได้รับรางวัล ทั้งหมด 12 ท่านด้วยกัน โดยแบ่งเป็น นักแปลดีเด่นจำนวน 11 ท่านได้แก่

  1. พระมหาอานนท์ อานนฺโท, ผศ. ดร.  - ผู้แปลตำราพุทธศาสนาภาษาจีน-ไทย-บาลี
  2. นางฉวีวงศ์ อัศวเสนา (ซากุไร) - ผู้แปลนวนิยายญี่ปุ่น
  3. นางสาวเฉิดฉวี แสงจันทร์ - ผู้แปล เดเมียน
  4. นายโตมร ศุขปรีชา - นักเขียน นักแปล และบรรณาธิการ
  5. นางสาวทิภาพร เยี่ยมวัฒนา - ผู้แปลหนังสือแนวพัฒนาตนเองและนิยายจีน
  6. นางธิดา จงนิรามัยสถิต - ผู้แปลหนังสือวิทยาศาสตร์และปกรณัมชุด มิดเดิ้ลเอิร์ธ
  7. นายประมวล โกมารทัต - ล่าม นักแปล นักเขียน และที่ปรึกษา เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก
  8. นางมะลิวัลย์ ซีมอน (‘สีมน’) - ผู้แปล สิทธารถะ
  9. ผศ. รัศมี กฤษณมิษ (จันทร์ประภาพ) - ผู้แปล กุ๊ชโฉ่ และ ปลูกฝันไว้ในแผ่นดิน
  10. ศ.ดร. สว่างวัน ไตรเจริญวิวัฒน์ ผู้แปล ดอนกิโฆเต้ แห่งลามันช่า ขุนนางต่ำศักดิ์นักฝัน
  11. ผศ.ดร. สงหราน (Assistant Professor RAN XIONG, Ph.D) - ผู้แปลนวนิยาย ลูกอีสาน เป็นภาษาจีน
  12. พลเรือตรีหญิงอารยา อัมระปาล (เนียมลอย) - ล่ามการประชุม

 

 

 

      ภายในงาน ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ได้ให้เกียรติขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "Translation as a Cultural Agent" หรือการแปลในฐานะทูตทางวัฒนธรรม โดยนำประสบการณ์การศึกษา คิดค้นวิธีการอนุรักษ์และถ่ายทอดประวัติศาสตร์ในนิทรรศการต่าง ๆ มาเล่าสู่กันฟัง “...อย่างในเรื่องรามายณะ มุมมองของการลงโทษนางสำมนักขาในอินเดียเหนือและอินเดียใต้จะแตกต่างกัน ทางตอนเหนือจมูกคือสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ของสตรีและเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ ชาวอินเดียเหนือจึงเชื่อว่าการตัดจมูกเป็นการลดทอนคุณค่าของสตรี ในขณะที่ชาวทมิฬหรืออินเดียใต้มองว่าการตัดนมเป็นบทลงโทษที่รุนแรงกว่า เพราะนมแสดงความงามของสตรี นี่เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าความหมายจะเปลี่ยนไปตามบริบทและพื้นที่ ในฐานะนักแปลเราต้องตีความต้นฉบับ พื้นผิวของความหมายอาจเปลี่ยนไป แต่เราต้องสะท้อนความคิดของผู้เขียนและส่งข้อความให้ถึงคนอื่นมากกว่าเดิม ความยากของรามเกียรติ์คือ “ความกล้าเปลี่ยน” เพราะเรื่องรามเกียรติ์เปลี่ยนแปลงมาหลายพันปีแล้ว”

 

 

     ช่วงปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Translation: On Getting ‘More’ Global” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปทมา อัตนโถ อดีตอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ผันตัวมาเป็นดาว TikTok ที่คนรุ่นใหม่รู้จักในฐานะ “ครูปุ้ม” ได้แชร์ลักษณะเฉพาะของงานแปลภาษาไทยที่ก้าวข้ามขอบเขตโลกาภิวัตน์ “...เดี๋ยวนี้ถ้าพูดว่า Globalization หรือโลกาภิวัตน์คือเชยแล้วค่ะ การแปลเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เป็นกระบวนการตัดสินใจว่าจะเลือกวัฒนธรรมหรืออะไร ยกตัวอย่างเช่น ในต้นฉบับเรื่องหนึ่งมีฉากพระเอกกำลังขอนางเอกแต่งงานริมหาด นักเขียนบรรยายว่ามีนก “sand piper” ส่งเสียงร้อง เราจะแปลเป็นภาษาไทยว่า “นกอีก๋อย” บรรยากาศจะโรแมนติกแบบต้นฉบับมั้ย หรือเราจะเลือกทับศัพท์ หรือเราจะเปลี่ยนเป็นนกนางนวล” นอกจากงานแปลจะเปลี่ยนไปแล้วภาษาไทยเองก็เปลี่ยนไปเช่นกัน “วรรณยุกต์ภาษาไทยเปลี่ยนไปมาก คนพูดเสียงสูงขึ้น นอกจากนี้ลำดับคำขยายภาษาไทยก็เปลี่ยนไป เช่น ‘โคตรร้อน’ เราพูดว่า ‘ร้อนโคตร’ หรือ ‘เปิด 24 ชั่วโมง’ เราทอนเหลือ ‘เปิด 24’ เท่านั้น” เมื่อพูดถึงกระแสโลกที่เปลี่ยนไป คงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญญาประดิษฐ์ก็มีบทบาทไม่น้อย “AI หรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามามีบทบาทมาก แต่ AI ก็คือคนป้อนเข้าไป งานแปลธรรมดาอาจจะช่วยลดภาระได้ แต่ถ้าเป็นงานแปลสร้างสรรค์อาจจะยังไม่ได้เร็วๆ นี้ ยกตัวอย่างเช่นคำขยายที่ลงท้ายด้วย -ly เช่น ‘eagerly’ ก็ชอบจัง ต้องแปลว่า “อย่าง...” เราลืมไปแล้วว่าภาษาไทยมีคำ 4 พยางค์ที่สวยงามหลายคำ เช่น ‘กุลีกุจอ’ ‘กระวีกระวาด’ ยังไงการแปลแบบ machine translation ก็ยังทำไม่ได้ ภาษาและวัฒนธรรมยังคงต้องอยู่”

 

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ