30 ปีซีไรต์ : ทบทวนเพื่อก้าวต่อไป

30 ปีซีไรต์

คุณชมัยภร แสงกระจ่าง : เราขอแนะนำตัวนะคะ ดิฉัน นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย และขออนุญาตเชิญคุณอดุล จันทรศักดิ์ ซึ่งโดยตำแหน่งหน้าที่ท่านเป็นนักกฎหมาย เป็นผู้พิพากษา เลยเชิญท่านมานั่งตรงกลางเพื่อเป็นผู้ควบคุมการพูดคุยกันในวันนี้ค่ะ

รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร : ท่านอดุลนี่ไม่ได้เป็นเฉพาะผู้พิพากษานะคะแต่ยังเป็นกวีรุ่นเดียวกับท่านเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ด้วย ขอต้อนรับทุกท่านและขอต้อนรับเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่มาจากภาคใต้แดนไกลทุกท่านเลยนะคะ เราจะได้มาคุยกันฉันพี่น้องเพื่อสร้างสรรค์วงการวรรณกรรมให้ดีต่อไป

คุณชมัยภร แสงกระจ่าง : เราจะเริ่มที่ประเด็นของกรรมการนะคะ คณะกรรมการจะแบ่งเป็น 2 คณะนะคะ คือ คณะกรรมการคัดเลือกจำนวน 7 คน เป็นผู้แทน 2 สมาคม สมาคมละ 2 คน และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3 คนและเวลาเลือกจะให้ 2 สมาคมไปเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิร่วมกัน ส่วนคณะกรรมการตัดสินมีจำนวน 7 คน ที่เป็นหลักอยู่แล้วคือ นายกสมาคมทั้ง 2 คน และกวีผู้ทรงเกียรติ 1 คนและมีผู้ทรงคุณวุฒิทางวรรณกรรมอีก 3 คน ส่วนประธานคัดเลือกนั้นเข้ามาโดยตำแหน่ง ที่ทางประชาคมวรรณกรรมและท่านอื่น ๆ มีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร เราก็จะมาเริ่มพูดกันด้วยเรื่องนี้ก่อน

รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร : คือเราจะดูองค์ประกอบของกรรมการ คือ กรรมการคัดเลือกและกรรมการตัดสิน และมีกรรมการอีกชุดหนึ่งคือ กรรมการดำเนินงาน

คุณธัชธาดา : สวัสดีครับ ผมทัดธาดาจากพรหมคีรีครับ ผมขอหารือที่ประชุมว่าเราน่าจะพูดอภิปรายถึงเรื่องของประเภทก่อน ผมรู้สึกว่าซีไรต์ของเราจะไปอิงอยู่กับโนเบลไพรซ์ ผมว่าถ้าเคลียร์ตรงนี้เสร็จ มันจะได้ชี้ชัดว่าคณะกรรมการจะตัดสินอะไร ขอบคุณครับ

รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร : ที่จริงแล้ว ระเบียบมันเริ่มที่เรื่องคณะที่กรรมการ แต่เมื่ออาจารย์ทัดธาดาเสนอมา ไม่ทราบว่าเห็นด้วยมั้ยคะ ถ้าเห็นด้วยก็จะเริ่มที่เรื่องประเภทนะคะ ดูที่ระเบียบการพิจารณาเพื่อรับรางวัลซีไรต์ปี 2528 จะเห็นว่า ประเภทของวรรณกรรมจะมี 4 ประเภท ไม่ใช่ 3 ประเภทตั้งแต่เมื่อปี 28 คือมีเรื่องของบทละครอยู่ด้วย จากการผลักดันมาหลายสมัย ประมาณ 4-5 ปี พยายามผลักดันให้บทละครมาเป็น category หนึ่งของการนำเสนอ และอาจมีการนำเสนอประเภทอื่น เช่นเรื่องของสารคดี ก็เรียนเสนอท่านประธานว่าจะพิจารณาประเด็นนี้หรือไม่

คุณอดุล จันทรศักดิ์ : ผมคิดว่าเมื่ออาจารย์ทัดเริ่มในเรื่องของประเภท อาจารย์ก็เปิดเกมส์ได้เลยครับ

คุณธัชธาดา : ในความเห็นของผมนะครับ ผมว่าถึงที่สุดแล้วประเทศไทยเราที่ผ่านมา เท่าที่สาธารณชนรับทราบ ผมมีความรู้สึกว่า รางวัลซีไรต์มีการอิงอยู่กับรางวัลโนเบล แต่พอมาทราบรายละเอียดซึ่งเราเป็นคนนอก ในฐานะประชาชนไทยคนหนึ่ง เราก็ไม่ทราบว่ามีรายละเอียดอะไร แต่พอมาทราบว่ารางวัลมีมาตั้งแต่ปี 2528 มาแล้ว แต่คนทั่วไปจะไม่ทราบ ทีนี้ผมบอกตรง ๆ ว่า ในความรู้สึกของผม ผมว่าหลักโดยทั่วไปแล้ว ที่ผ่านมาเราอิงอยู่กับรางวัลโนเบล แต่ว่าในขณะเดียวกันมันก็ปัญหาอยู่ในปัจจุบันนี้ในเรื่องของวรรณกรรมนั้น มันไม่ได้เป็นเรื่องตายตัวแบบที่ต้องมีโครงเรื่อง กรอบเรื่องแบบที่เป็นเรื่องสั้นสมัยก่อน ปัจจุบันมันเป็นลักษณะของโพสท์โมเดิร์นมากขึ้น วรรณกรรมมันเคลื่อนเปลี่ยนไปตามลักษณะทางสังคม เส้นแบ่งระหว่างเรื่องสั้น กวีนิพนธ์ สารคดี หรือบทละครเกือบจะไม่มีเลย ในส่วนตรงนี้ ผมเข้าใจความรู้สึกว่า มันต้องมีรายละเอียดต่อลงไป ถ้าเกิดว่ารางวัลซีไรต์ต้องการปีละ 1 ซึ่งผมเข้าใจว่ามันคงมีปีละ 1 เท่านั้น ซึ่งมันจะส่งผลเชื่อมโยงกับเรื่องระเบียบ เรื่องคณะกรรมการ เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ว่า พี่น้องในวงการวรรณกรรมของเรานั้นจะทำให้คนที่เป็นอยู่ในวงการสร้างสรรค์สารคดีและบทละคร ถูกแปรให้เป็นคนชายขอบหรือเปล่า ในความรู้สึกของผม ผมเห็นด้วยที่จะมีทั้ง 3 อย่าง แต่ว่าในทางปฏิบัตินั้นน่าจะต้องมีการเคี่ยวเข้มกันในแต่ละปี

คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา : เข้าใจในแง่ของการจัดประเภท แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า ในประเทศเรามีความนิยมของการเขียนต่างกัน ไม่ค่อยเห็นงานสารคดีหรือบทละคร ดังนั้น กลุ่มใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีตัวเลือกให้เลือกเยอะ นี่พูดถึงแง่ของการตัดสินนะคะ ไม่ได้พูดถึงอุดมคติทางวรรณกรรม

รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร : สมาคมภาษาและหนังสือเคยจัดเสวนา มากันร้อยกว่าคนในวงการละคร ตอนนี้เรากำลังพูดกันว่าประเภทของงานจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ เราอยากมีประเภทใหม่เพิ่มขึ้นมาหรือไม่ นอกจากสามชาติ คือ เรื่องสั้น นวนิยายและกวีนิพนธ์แล้ว บทละครและสารคดีมีจำนวนมากพอที่น่าสนับสนุนให้เป็นประเภทหนึ่งได้มั้ย

คุณเวียง วชิระ : ถึงแม้ว่าวรรณกรรมซีไรต์จะแบ่งเป็นกี่ประเภท ผมคิดว่าไม่ควรกีดกันประเภทของวรรณกรรมใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศของเรา ในขณะเดียวกันเราต้องพิจารณาด้วยว่า ถ้าเราจะใช้ระบบหมุนเวียนแบบนี้ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า อีก 3 ปีจะไม่มีประเภทใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมา ผมคิดว่าจะดีกว่ามั้ยถ้าเราเลิกคำว่า “ประเภท” แล้วมาอิงอยู่กับคำว่า “วรรณกรรมสร้างสรรค์” ความหมายของผมคือ เราไม่ต้องไปพูดกันว่าเป็นเรื่องสั้น เป็นบทกวี หรือว่าเป็นบทละคร เพราะฉะนั้นในแง่ของการตีพิมพ์เป็นเล่ม อาจเป็นไปได้ว่ารวมเรื่องสั้นอาจมีบทกวีอยู่ในนั้นก็ได้ ซึ่งมันจะส่งผลต่อการเขียนที่ว่า จะไม่ถูกกรอบหรือประเภทของงานวรรณกรรมมากำกับ ทีนี้เราต้องมาหารือกันให้ดีว่าวรรณกรรมคืออะไร วรรณกรรมคืองานศิลปะที่ถูกถ่ายทอดมาเป็นตัวหนังสือ ซึ่งมันจะเชื่อมโยงไปถึงว่า ตัวเลือกของงานมันจะมากขึ้นโดยปริยาย และในแง่ของการแสวงหาความเป็นเลิศสูงสุดของงานในปีนั้น ๆ มันจะง่ายขึ้น ที่ผมอยากจะหารือคือ เรามาคิดกันว่าสิ่งที่ผมเสนอไปมันดีมั้ย หรือคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้หรือไม่เกิดผลดีในการพิจารณา เราควรมาช่วยกันคิดครับ ถ้าเกิดว่าอีก 3 ปีข้างหน้ามีวรรณกรรมประเภทใหม่เกิดขึ้นมาโดยที่เราไม่สามารถคิดคำขึ้นมาเรียกมันได้ แล้วมันดี เราสามารถเอามันเข้ามาประกวดได้ แต่ถ้าเรายังอยู่ในกรอบเดิมว่าต้องมีแค่นั้น เราจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร

คุณภานุ ไตรเวทย์ : ไม่ได้เห็นด้วยหรือโต้แย้งกับใครนะครับ มันมีการประกวดอย่างนึงซึ่งอาจารย์ตรีศิลป์ก็เป็นกรรมการอยู่ด้วย ซึ่งในสาขาวรรณกรรมจะเป็นการรวมไปเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น นวนิยาย กวี ซึ่งอาจจะเป็นการทำในลักษณะที่คุณเวียงพูดถึง ซึ่งเท่าที่ตัวเองเคยผ่านการประกวดตรงนี้มาบ้าง ก็จะมีคนชอบในลักษณะนี้และก็ไม่ชอบ คิดว่าถ้ามองในแง่ดี กรรมการบางท่านอาจจะผ่านงานตรงนี้มาบ้าง ที่พูดคือเพียงแค่จะบอกว่ามีรางวัลบางรางวัลที่ใช้กติกาเช่นนี้ เอาวรรณกรรมมารวมกัน 3 อย่างเลยครับ

อาจารย์อิระวดี : ถ้าจะรวมบทละครไปด้วยคือ 4 ประเภทถ้าจะแบ่งตามประเภทของการเขียน ในอนาคตวรรณกรรมมันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วถ้าเราแบ่งประเภทตามกันไปเรื่อย ๆ มันก็จะเป็นปัญหากัน คือเราต้องตามประเภทย่อยกันไปไม่สิ้นสุด การแสดงออกของงานย่อย ๆ ก็คงไม่พ้น 4 ประเภทใหญ่นี้

คุณเวียง วชิระ : ถ้าเราพูดถึงประเด็นเรื่องประเภทในตอนนี้ คงรวมเรื่องบทละครเข้าไปด้วย และมีนักเขียนสารคดีต้องการที่จะให้บรรจุงานสารคดีเข้าไปในรางวัลซีไรต์ด้วย ผมดูจากสภาพการผลิตงานเขียนของบ้านเรา เราต้องไม่ลืมนะครับว่า ยังมีอีกหลายกลุ่มที่ยังไม่ได้ยื่นเรื่องเข้าประกวดรางวัลซีไรต์ ซึ่งถ้าเขาต้องการเราคงไม่มีสิทธิปฏิเสธ

รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร : ในการประชุมครั้งสุดท้ายที่วังสวนผักกาด เราได้ผลักดันเรื่องสารคดีไปครั้งหนึ่งแล้ว เหมือนกับบทละคร แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ แล้วข้อห่วงของคุณเวียงก็ไม่เป็นไร เพราะข้อกำหนดต่าง ๆ เราเป็นคนตั้งเอง เราก็สามารถแก้ไขได้ถ้าจำเป็น

คุณกานติ ณ ศรัทธา : ผมคิดว่า ประเภทที่มันมีอยู่ 5 ประเภทตอนนี้ เราไม่ควรกังวลว่ามันจะมี 6 7 หรือไม่ แต่เราควรจะดูกันว่า ใน 5 ประเภทนี้ เราควรจะแยกเป็นปีหรือเปล่า หรือว่าจะเอามารวมกันอย่างที่คุณเวียงเสนอ หรือว่าเราจะเอา 5 ประเภทนี้มาเรียงกัน ไล่ไปทีละประเภทเรียงกัน ถ้าคิดว่าเอามารวมกันทั้งหมดแล้วมันจะตัดสินยาก ผมว่ามันคงไม่ยาก วิธีการมันมี แต่ความเหมาะสมที่เราจะนำวรรณกรรมทุกประเภทมารวมกัน มันเหมาะสมหรือเปล่า หรือว่าถ้าแยกเป็นปี ๆ ผมว่ามันทำลายวัฒนธรรมการอ่าน เพราะถ้าปีนี้เขาไม่พิมพ์นวนิยายซีไรต์ เราที่ชอบอ่านก็คงไม่อ่านหนังสืออย่างอื่น มันเสียระบบการอ่าน ถ้าเรานำมารวมกัน ระบบการอ่านมันยังคงอยู่ แต่มันจะมีปัญหายุ่งยากในการตัดสินหรือไม่ เราน่าจะพิจารณาตรงนี้นะครับ

คุณธัชธาดา :ข้อดีของการที่เราไม่แยกประเภท ปัญหาที่เกิดขึ้นปีนี้จะไม่เกิด เพราะทุกคนจะไม่รู้ว่า คณะกรรมการปีนี้จะตัดสินให้อะไรได้รางวัล และแม้ว่าตัวหลักจริง ๆ จะเป็นวรรณกรรม 3 สาขาคือ เรื่องสั้น นวนิยาย และกวี ถ้าเกิดว่าคณะกรรมการพิจารณาแล้ว 3 สาขานี้มันด้อย สารคดี บทละครหรืออื่น ๆ ที่จะแทงทะลุขึ้นมาได้ก็เป็นการสร้างสรรค์ของมนุษย์ ผมว่าประเด็นหลักคือว่า องค์กรต้องชัดก่อนว่าเราจะเออออกับอะไร เพราะถ้าอภิปรายกันอย่างนี้มันคงไม่จบ ในประเด็นของผม ผมคิดว่าถ้าเราไม่มีปัญหาเรื่องการแบ่งประเภท ผมเชื่อว่ามันจะโยงไปถึงเรื่องคณะกรรมการด้วย

คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา : ประเด็นที่เราได้มาร่วมเสวนากันในวันนี้ มันเริ่มมาจากแรงสั่งสมมานาน คืออยากฟังจากต้นความคิดที่ทำให้เกิดมีการเสวนาในวันนี้ด้วย

คุณอดุล จันทรศักดิ์ : ผมคิดว่านี่คือประเด็นในเรื่องของการจัดประเภทและมันเกิดประเด็นย่อยตามมาว่า เราจะรวมทั้งหมดหรือว่าแยกย่อยไป มันทำได้กับวิธีคิด เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่เราพูดกันได้แต่คงยังไม่มีข้อสรุป องค์กรยังไม่ได้มีส่วนเข้ามาตัดสินใจ เริ่มตรงประชาคมว่าเลยมั้ยครับ ประเด็นจะได้ต่อเนื่อง

คุณวรภ วรพา : ประเด็นต่าง ๆ ที่เรานำเสนอนั้น เราได้มาจากหลายกลุ่มจากหลายทาง โทรศัพท์บ้าง จดหมายบ้างซึ่งบางคนไม่ได้ลงชื่อว่าอยู่ในกลุ่มของคนประชาคมวรรณกรรม เพราะฉะนั้นอยากจะขอร้องว่า พวกผมที่มาในวันนี้มาในนามของกลุ่มส่วนตัว ไม่ได้มาในนามของประชาคมวรรณกรรม และคิดว่าประชาคมวรรณกรรมนั้นคงจะยุติบทบาท เพราะฉะนั้นถ้าพูดคุยกันในวันนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ในส่วนตัวผมยังมองไม่ชัดว่าเวลาตัดสินจริง ๆ แล้ว ถ้าเรานำมารวมกันมันจะมีความยากลำบากมั้ย จริง ๆ ผมอยากจะรับฟังจากคณะกรรมการว่าเวลาพิจารณานั้นเป็นอย่างไร และหากว่าเอามารวมกันนั้น คณะกรรมการจะรู้สึกอย่างไร ส่วนตัวผมเองผมชอบที่จะให้มีการหมุนเวียน 5 ประเภทเช่นเดิม เนื่องจากคิดว่าแต่ละประเภทนั้นมีเนื้อหา วิธีการที่แตกต่างกันออกไป การพิจารณาคงจะมีความรอบคอบรัดกุมมากขึ้น ส่วนการหมุนวน 5 ปีนั้น ผมรอได้ ถ้าหากว่าที่ประชุมเห็นว่าให้เพิ่มสารคดีและบทละครเข้ามานั้น ผมก็คิดว่ามันก็รับได้

อาจารย์นลินี ศรีตะสุวรรณ : จริง ๆ แล้วคนผลิตบทละครของเรามีค่อนข้างจะน้อยมาก ในความหมายของบทละคร มันน่าจะเป็นบทที่เขียนแล้วและนำไปแสดงแล้ว ซึ่งถ้าเรากลับไปดูของสากล บทที่มีอยู่คือบทที่เขาแสดงมาแล้ว เมื่อบทมันผ่านการแสดงและผ่านการตีพิมพ์มาแล้ว ใครที่จะเอาไปเล่น ก็เพียงหาผู้กำกับ เพียงเท่านี้คุณก็เล่นได้แล้ว ถ้าต่อไปนี้ถ้าจะพิมพ์บทละคร ก็น่าจะถามวาเคยแสดงมาหรือยัง อย่างน้อยก็คงมีเรคคอร์ดไว้ว่าแสดงครั้งแรกเมื่อไหร่ ในฐานะที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ มันยังคงเป็นของผู้เขียนบทอยู่ ในขณะนี้บทละครที่ตีพิมพ์อยู่ในประเทศไทยนั้น ยังคงเป็นบทที่ดัดแปลงมาจากนวนิยาย การที่จะไปบังคับว่า 5 ปีจะต้องได้นั้น มันเป็นการบังคับกันเกินไปหรือเปล่าให้มันได้ผลงานดี ตรงนี้แค่ถูก mention มา คนเขียนบทละครก็ดีใจแล้วว่ามีการหยิบยกพูดถึงว่าน่ามีการได้รางวัลกันบ้าง แต่การที่คิดว่าทุก ๆ 5 ปีต้องมีใครได้รางวัล มันเป็นการยากเกินไป สำหรับบทละครที่ original เยอะ ๆ มักจะเป็นบทภาพยนตร์ที่ไม่ค่อยมีการนำมาตีพิมพ์ แต่ถ้าหากว่ามีการให้กำลังใจกันตรงนี้ นักเขียนต่าง ๆ อาจจะนำบทภาพยนตร์ดี ๆ มา ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจอีกด้วย มีคนมาถามว่าบทละครเขียนกันอย่างไร ซึ่งตอบลำบาก มีตัวอย่างบทละครดี ๆ มั้ย ซึ่งตอบว่ายากอีกเหมือนกัน งานที่เขียนตอนนี้จะเป็นงานจ้าง มีคนมาจ้างให้เขียนตามคำสั่งเพื่อนำไปแสดง แล้วจะมีเรื่องของผลตอบแทนเข้ามา

คุณจิระนันท์ พิตรปรีชา : ขอบคุณมากค่ะที่เปิดประเด็นนี้ขึ้นมา เรื่องของบทละครที่บอกว่า 5 ปีจะต้องมีให้ได้สักหนึ่งเรื่องนี่มันน่ากลัวมากนะคะ สมมติว่าปีนึงมีส่งเข้ามา 10 เล่ม เราก็ต้องคัดเลือกให้ได้ถึงแม้มันจะห่วยแค่ไหนก็ตามเหรอคะ อีกอย่างเราใช้คำว่าวรรณกรรม บทละครและบทภาพยนต์นี่ถามว่ามันใช่วรรณกรรมไหม มันก็กึ่ง ๆ นะ เพราะมันต้องผ่านการแสดงมาแล้วถึงจะปรากฏรูปแบบศิลปะเต็มขั้น

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ