จิตติ : นิยายหางเครื่องมีความเป็นมาอย่างไร
นิเวศน์ : เกิดจากความประทับใจจากเพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งที่เคยร้องเพลงอยู่ในสมัยที่ผมเล่นดนตรี ผมเห็นว่าชีวิตของเขามีความน่าสนใจ ก็เลยเป็นจุดเริ่มของการผูกพันและนำมาผสมผสานจนกลายเป็นนวนิยายขึ้นมา แต่ก่อนที่จะมาเป็นหางเครื่องต้องบอกว่าเป็นนวนิยายนักร้องอย่างหล่อนมาก่อน แต่เนื่องจากประทับใจมากถึงมากที่สุดว่าชีวิตของเขาไม่น่าจะมาหยุดแค่การเขียนเรื่องนักร้องอย่างหล่อน ผมก็เลยนำเรื่องนักร้องอย่างหล่อน มาปรุงมาเพิ่มให้เข้มข้นมากขึ้นเพื่อที่จะเชิดชูชีวิตนักสู้ของผู้หญิงคนนั้น เพื่อที่จะให้ตัวละครตัวนี้มีประโยชน์ต่อผู้อ่านมากขึ้น ก็เลยเป็นนวนิยายหางเครื่อง ตอนแรกให้ชื่อเรื่องเดือนประดับฟ้าแต่พอตอนเอาไปทำละครโทรทัศน์เขาบอกว่าชื่อนี้อาจจะไม่ค่อยน่าสนใจ ก็เลยใช้ชื่อเรื่องว่า "หางเครื่อง" "นักร้องอย่างหล่อน" เขียนขึ้นเมื่อปี 2522 ลงเป็นตอน ๆ ในภาพยนตร์บันเทิง แล้วก็เว้นวรรคไปหลายปีถึงจะหยิบมาเขียนหางเครื่อง พอเขียนเสร็จแล้วก็รอพิมพ์ที่ขวัญเรือน ตอนนั้นคนของกันตนาเขากำลังหาเรื่องเอาไปทำละครอยู่ แล้วเขาก็มาคุยกับผมว่ามีเรื่องอะไรไหม ก็บอกว่ามีอยู่สองสามเรื่องแล้วก็เล่าให้ฟัง เขาก็ไปเสนอผู้ใหญ่ซึ่งเขาก็สนใจเรื่องนี้ว่าเนื้อหาดี น่าจะไปทำเป็นละคร แต่ขอเปลี่ยนชื่อเรื่องก็เลยกลายเป็นละครเรื่อง “หางเครื่อง” แล้วนิยายเรื่อง หางเครื่อง ก็เคยลงตีพิมพ์ในนิตยสารขวัญเรือน แต่ละครสร้างเสร็จเร็วมากก็เลยต้องถอนเรื่องออกมาแล้วเขียนเรื่องอื่นให้เขาไป
จิตติ : ทราบว่าตัวละครเอกในเรื่องนี้คือคุณเดือนนั้น มีที่มาด้วย อยากให้ช่วยเล่าโดยละเอียด
นิเวศน์ : จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ผมไม่เคยเปิดเผยที่ไหน แต่ว่าเมื่อประมาณ 5 ปี ที่แล้วก็มีกรณีฟ้องร้องเรื่องลิขสิทธิ์ เพราะเกิดมีคนสงสัยว่าหางเครื่องนั้นไปลอกเรื่องของเขา จึงมีเหตุจำเป็นที่ผมต้องเปิดเผยว่าผมได้แรงบันดาลใจมาจากใคร คือผู้หญิงคนนี้เขาต่อสู้ชีวิต เขาเต้นเก่ง เขาเป็นคนน่ารัก เวลาอยู่ตรงไหนก็จะมีเพื่อพ้องน้องพี่เยอะแยะ พอถึงจุดอิ่มตัวกับวงดนตรีเขาก็ไปเป็นนักเต้น เป็นนักแสดง เป็นผู้อำนวยการสร้างจนประสบความสำเร็จ นั่นคือชีวิตของเธอ ส่วนในนวนิยายนั้น ผมก็เติมเพื่อต้องการให้มันมีความสนุกในเชิงของนวนิยาย ไม่มีคนมารังแกมันก็ไม่สนุก ก็อยากให้มีคนมารังแกจะได้เห็นว่าเขาต่อสู้อย่างไร ให้คนมาพูดจาหลอกลวงเขา จะได้เห็นว่าเขาเอาตัวรอดอย่างไรเมื่อเขาถูกหลอกลวง จะได้เห็นว่าคนจริงใจอย่างเขานั้น เวลามีคนมาหลอกลวงความซื่อของเขาทำให้เขาเชื่อคน แต่ขณะเดียวกันช่วงเวลาหนึ่งผ่านไปเขาก็รู้ตัวว่าถูกหลอก เพราะฉะนั้นชีวิตคนก็ไม่ได้แปลว่าจะหลอกกันได้เสมอไป เขาอาจจะผิดหวัง สมหวัง ก็เกิดจากเหตุการณ์ที่เป็นไปในนวนิยาย ซึ่งอาจจะมากกว่าในชีวิตจริง หรืออาจจะไม่เหมือนเลยก็ได้ แต่ชีวิตจริงที่เหมือนจริง ๆ คือเขาเป็นคนที่ต่อสู้ เป็นคนน่ารัก เป็นคนตรงไปตรงมา ไม่ท้อแท้ต่อความยากลำบาก ถ้าได้อ่านในหนังสือแล้วจะทราบว่าเดือนเป็นใคร แล้วที่โปรยคำเอาไว้นี่ใช่เลย “ชีวิตของเดือนอาจจะไปเหมือนชีวิตของคนหลายคน” ซึ่งเราจะไม่บอกกัน จะไม่บอกใครว่าชีวิตเรานั้นเจออะไรบ้าง เจอคนดีไม่ดีอย่างไร เราจะเก็บไว้ในใจ เดือนนี้เขาเจอมาหลายแบบทั้งดีและไม่ดี และเขาสู้ยังไงถึงมีชีวิตอยู่ได้ ทั้งหลายก็อยู่ในนวนิยายเล่มนี้ รวมทั้งกรณีศึกษาที่ผมเห็นว่ามีประโยชน์ และสำนักพิมพ์ก็เห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้อ่าน จึงได้นำมารวมไว้ท้ายเล่มด้วย ซึ่งมันก็จะเห็นได้ชัดว่าเรื่องลิขสิทธิ์นั้นเป็นเรื่องที่เราต้องเรียนรู้ต้องตระหนัก ต้องให้ความสำคัญต่อสิ่งเหล่านี้ด้วย
จิตติ : นอกจากชีวิตของเดือนในตัวจริงผสมผสานกับจินตนาการของคุณนิเวศน์ก็พูดได้ว่าเรื่องนี้เป็นลิขสิทธิ์ของคุณนิเวศน์ โดยสมบูรณ์แบบแล้ว
นิเวศน์ : เป็นลิขสิทธิ์ของผมโดยสมบูรณ์ครับ เพราะมันเป็นคดีกล่าวหา สงสัย และได้มีการตัดสิน ศาลชั้นต้นได้ตัดสินว่า ไม่ได้ลอกนะ เขาเขียนเอง นิเวศน์บริสุทธิ์ พออุทรไป ศาลฎีกาคือศาลสูงสุดก็ยืนตามศาลชั้นต้น เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเป็นสิทธิ์ของผมโดยสมบูรณ์
จิตติ : ไม่ทราบว่าเมื่อเกิดคดีขึ้น คุณนิเวศน์รู้สึกทุกข์ร้อน และพยายามต่อสู้อย่างไรบ้าง ช่วยเล่ากระบวนการตรงนี้อย่างละเอียดว่าเป็นอย่างไรบ้าง
นิเวศน์ : ทุกข์ร้อนแน่นอนครับ ทุกท่านคงรู้สึกเหมือน ๆ กัน เราไม่ได้ทำแล้วมีคนมากล่าวหาว่าเราทำเราทุกข์แน่ แล้วในความเป็นนักเขียนนั้น ผมเชื่อว่าจะมีชื่อเสียงแล้วหรือยังก็ตาม จะเขียนมานานแล้วหรือเพิ่งเริ่มเขียนใหม่ ๆ ความรู้สึกอย่างหนึ่งที่เรามีเหมือนกันก็คือ เรามีความภาคภูมิใจที่เราใช้สติปัญญาของเราเขียนเรื่องนั้นๆส่วนเรื่องนั้นจะดังหรือไม่จะได้รางวัลหรือเปล่า นั่นมันอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราภูมิใจเพราะเราเขียนเอง ตรงนี้มันเป็นศักดิ์ศรีที่เกิดขึ้นเงียบ ๆ แต่มันเป็นความภาคภูมิใจ คนที่เขียนหนังสือเองไม่ได้ลอกใครแล้วถูกกล่าวหานั้นมีความทุกข์อยู่แล้ว เอาเป็นว่าผมก็เครียด แล้วการต่อสู้กันในศาลนั้นเราก็ต้องมีทนาย ต้องมีหลักฐาน ความบริสุทธิ์ที่เรามีที่เรามั่นใจและยืนยันและมันเป็นอยู่จริง เราก็ต้องพิสูจน์ให้เห็นด้วยหลักฐานต่าง ๆ ผมก็ต้องไปหาหลักฐานว่าผมเคยเขียนเรื่อง”นักร้องอย่างหล่อน” โดยใช้นามปากกาแพรวพจนีย์ แล้วก้ต้องไปหาหลักฐานว่ามแพรวพจนีย์เป็นนามปากกาของนิเวศน์ กันไทยราษฎร์ ต้องไปหาหลักฐานว่านักร้องอย่างหล่อนลงที่ไหน และสุดท้ายต้องไปหาหลักฐานว่าผมได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตของใคร ซึ่งจริง ๆ ไม่เคยบอกใครแต่ก็ต้องเอาไปบอก ที่จริงเจ้าตัวเขาทราบมาตลอด แต่ว่าเราไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณชน เมื่อถึงคราวที่ต้องไปตามเขามา ความลำบากใจมันก็มี เพราะเราเป็นผู้ชาย แล้วเราก็มีความรู้สึกอยู่แล้วทำมาตลอดเวลาว่าเราจะไม่บอกใคร มีคนถามเราก็ไม่บอก เขาจะถามว่าหางเครื่องได้แรงบันดาลใจมาจากใคร ซึ่งผมไม่เคยบอกเลย
เพราะมีความรู้สึกว่ามันเหมือนแหล่งข่าว แต่นี่เราได้แรงบันดาลใจจากเขามาแล้วเรามาจินตนาการ เราไม่ได้เขียนอัตชีวประวัติของเขา มันก็เลยไม่อยากบอก แต่เมื่อถึงคราวต้องขึ้นศาลต้องบอก มันก็เลยเกิดความลำบากใจที่ต้องไปบอกให้เขามาช่วย พอเล่าให้เขาฟังเขาก็บอกว่ายินดีที่จะมาเป็นพยานให้ เท่านี้ยังไม่พอ ผมต้องให้นักวิชาการที่มีความรอบรู้ชัดเจน แยกแยะ เพื่อที่จะเป็นพยานว่าเรื่องนี้ ไม่ได้ลอก ผมก็พยายามไปหานักวิชาการมากมายหลายท่าน เช่นคุณชมัยภร แสงกระจ่างซึ่งนั่งข้างผม เช่น อ.รื่นฤทัย สัจพันธุ์ ดร.ถนอมวงศ์ ล้ำยอดมรรคผล คุณถาวร ชูวัน ที่เอ่ยมานี่คือคนที่ขึ้นศาลเป็นพยาน แล้วยังมีอีกหลายท่านที่ผมให้อ่าน แล้วทุกท่านก็มีความเห็นว่ามันไม่เหมือน ไม่ได้ลอก แต่ว่าด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ด้วยเรื่องของความพอเพียงซึ่งทนายบอกว่าพอแล้ว ก็จึงมีพยานเพียงเท่านี้ เพราะฉะนั้นการไปหาว่าหนังสือนักร้องอย่างหล่อนเขียนปีนั้นปีนี้มันยากผมต้องไปหอสมุดแห่งชาติซึ่งเขาก็เก็บเป็นมัดๆกองๆอยู่ผมก็ต้องไปหาซึ่งมันเป็นความยุ่งยากลำบากในเรื่องของการหา และเป็นความทุกข์ใจ เพราะว่าเราต้องพิสูจน์ว่าเราไม่ได้ทำต้องหาหลักฐานมาซึ่งการหาหลักฐานนี่แหละยาก ผมก็อธิบายไม่ได้ ถ้าใครอยากจะทราบลองถูกฟ้องแล้วจะทราบว่ามันเป็นอย่างไร แล้วผมภาคภูมิใจว่าเราเขียนเอง แต่มีคนมอง คนพูด ผมก็รู้สึกไม่สบายใจ ผมเป็นวิทยาการฝึกอบรม ไปบรรยายเจอคนเขารู้สึกสงสัยเราก็รู้สึกไม่สบายใจ บางคนเขาก็สงสัยว่าถ้าไม่จริงแล้วทำไมเขาฟ้อง แล้วทำไมเขาไม่ฟ้องสำนักพิมพ์ด้วย เราก็บอกว่าเขาฟ้องสำนักพิมพ์ด้วย แต่ไม่รู้เขาไปคุยกับสำนักพิมพ์อย่างไรเขาจึงถอนฟ้องสำนักพิมพ์ เขาฟ้องผม ฟ้องสำนักพิมพ์ แล้วก็ฟ้องสายส่ง คนเขาสงสัยว่าเอ๊ะ..อ.นิเวศ ถ้ามันไม่จริงทำไมเขาถึงรับฟ้อง ผมก็บอกไปว่ามันไม่ใช่คดีอาญา ถ้าคดีอาญาเขาจะมีอัยการตรวจสำนวนถึงจะฟ้องได้ แต่นี่เป็นศาลทรัพย์สินทางปัญญาก็รับฟ้องไว้เพื่อมาพิสูจน์กันว่า ทำหรือเปล่า คนถามเขาก็บอกว่าเข้าใจผมก็ไม่รู้ว่าเขาเข้าใจจริงหรือเปล่าเพราะแววตายังมีความสงสัย ผมก็ยังมีความทุกข์อยู่
ผมสอนมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งชั่วโมงนั้นไม่คุยเรื่องอื่นเลย คุยแต่เรื่องผม ทานข้าวก็คุยเรื่องผมแล้วอ.นิเวศจะมีความสุขได้อย่างไร ผมก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงถอนฟ้องสำนักพิมพ์และสายส่ง ซึ่งสุดท้ายผมต้องรับเละอยู่คนเดียว ผมรู้อยู่อย่างเดียวว่าผมต้องพิสูจน์ เพราะขนาดช่างแต่งหน้าก็ยังถามว่า “เนี่ยหนูเคยอ่านหนังสือของอา ไอ้เรื่องหางเครื่องที่มันดัง ๆ ที่มาทำเป็นละครเนี่ยได้ข่าวมาว่าอาลอกเรื่องเขามาเหรอ” พออธิบายให้เขาฟังเขาก็บอก ไม่ลอกแล้วทำเขาฟ้อง เขาก็จะบ่นอยู่อย่างนี้ แล้วเราจะมีความสุขได้อย่างไร แต่ก็ยังดีที่กลับมาบ้านแล้วที่บ้านเข้าใจ เข้าใจว่าเราไม่ได้ลอก เขาก็จะให้กำลังใจ ถ้าเกิดที่บ้านยังสงสัยอีกผมก็ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหนแล้วในโลกนี้ เพื่อน ๆ หลายคนก็จะรู้ว่าเราไม่ได้ลอก ฉะนั้นมันก็จะมีทั้งความทุกข์ใจและกำลังใจที่ควบคู่กันมา
จิตติ : ตอนที่นิยายเรื่องนี้ถูกฟ้องเป็นฉบับของการพิมพ์ครั้งที่ 3 ซึ่งเรื่องนี้ผ่านการพิมพ์มาแล้วเป็นสิบปี คุณนิเวศน์รู้สึกประหลาดใจอะไรมั้ยว่าทำไมไม่ถูกฟ้องตั้งแต่ครั้งที่ 1 ทำไมมาถูกฟ้องครั้งนี้ คิดว่ามันมีเบื้องหลังอะไรไหมครับ
นิเวศน์ : แปลกใจก็แปลกใจ แต่ไม่ต้องการหาคำตอบอะไรมากในช่วงนั้น ต้องการพิสูจน์ตัวเองมากกว่า แต่ผมก็ได้รู้ถึงเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาเรื่องลิขสิทธิ์ว่า ไอ้เรื่องที่พิมพ์ครั้งที่หนึ่งและสองนั้นมันหมดอายุความ เพราะถ้ารู้ว่าใครเป็นผู้ละเมิดต้องดำเนินการฟ้องไม่เกิน 10 ปี เขาเลือกเอาเล่ม 3 ที่พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ดับเบิ้ล นาย ซึ่งอยู่ในระยะเวลาที่เขาดำเนินการฟ้องร้องได้ ในคำฟ้องเขาบอกว่าได้ไปลาดพร้าวไปเจอหนังสือเล่มนี้ แต่ไม่พูดถึงเล่ม 1 เล่ม 2 ทนายความของผมบอกว่าที่จริงมันหมดอายุความแล้ว หมายความว่าฟ้องไม่ได้ ผมบอกกับทนายว่า ผมจะไม่สู้เรื่องหมดอายุความ แต่ผมจะสู้ให้ถึงที่สุดว่าเราบริสุทธิ์ เพราะถ้าเกิดไปต่อสู้เรื่องอายุความ เขาก็จะพูดได้ว่า เพราะมันหมดอายุความซะก่อน ถ้ายังไม่หมดอายุความก็แสดงว่าลอกเขามาจริง ๆ ผมไม่อยากให้เกิดความรู้สึกแบบนี้ เพราะฉะนั้นอะไรที่จะแสดงความบริสุทธิ์ได้ผมทำ
จิตติ : มาทางด้านคุณชมัยภร ผู้ที่ได้อ่านนิยายทั้งสองเรื่องนี้ และได้ไปเป็นพยานในศาล คุณชมัยพรมีความรู้สึกอย่างไรกับนิยายสองเรื่องนี้บ้างครับ
ชมัยภร : ก่อนอื่นขอพูดถึงคุณนิเวศน์ก่อนว่า เมื่อมีคนมาบอกว่าคุณนิเวศถูกฟ้องว่าลอกเรื่อง ไฟพระจันทร์ สิ่งแรกที่ดิฉันคิดก็คือ เป็นไปไม่ได้ มันเป็นเรื่องที่คิดได้ปกติมากเลยว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะตอนที่คุณนิเวศน์เขียนหนังสือนั้นดิฉันยังเป็นแค่นักวิจารณ์ ยังไม่ได้เขียนหนังสือเลย ตอนที่เราเริ่มเข้ามาเป็นนักวิจารณ์ เราเห็นงานของคุณนิเวศน์ อยู่ในระยะเหตุหลังเหตุการณ์ 16 ตุลา ซึ่งระยะนั้นจะมีนักเขียนอยู่ไม่กี่คน ทำให้เราจำได้และเชื่อว่าเส้นทางเดินของเขาตรงนี้ชัดเจน งานของคุณนิเวศน์นั้นมีชื่อเสียงมาก่อน จะมาบอกว่าคนที่ลอกงานของคนอื่นเป็นคนที่มีชื่อเสียงนี่ไม่ใช่ มันรู้สึกอย่างนั้นตั้งแต่แวบแรก คนที่สร้างตัวเองมาจนกระทั่งมีชื่อเสียงแล้ว เขาไม่ลอกงานใคร ดิฉันเชื่ออย่างนั้น หลังจากนั้นคุณนิเวศน์ก็โทรศัพท์มาหา มาขอความคิดเห็นจากดิฉัน ตอนนั้นรู้เลยว่าเขาทุกข์ร้อนมาก ที่เขาเล่ามันนิดเดียวเล่าแบบสนุก ๆ เพราะเรื่องมันผ่านมาแล้ว แต่ตอนที่ได้ยินเสียงเขาในโทรศัพท์ดิฉันรู้เลยว่ามันไม่สนุก เพราะดิฉันเคยไม่สนุกมาก่อนซึ่งอาจจะไม่ใช่การฟ้องเรื่องลิขสิทธิ์แต่ดิฉันถูกฟ้องเรื่องอื่น คดีนั้นยาวนานกว่าคุณนิเวศน์มากมาย แต่มันเข้าใจอารมณ์นี้ว่าฉันไม่ได้ทำอะไรผิดแล้วมันเกิดอะไรกับชีวิต ฉะนั้นตอนที่คุณนิเวศน์โทรมาขอให้ไปเป็นพยานดิฉันรับปากทันที เขาไม่ได้มาขอให้เป็นพยานว่าเขาเขียนเองจริง ๆ แต่เขาให้ดิฉันเป็นพยานในฐานะที่เป็นนักวิชาการทางวรรณกรรม ในฐานะที่เป็นนักวิจารณ์ ว่าอ่านแล้วคิดว่าเหมือนกันไหม อย่างไร
จากนั้นก็เลยเอาเรื่องทั้งสองเรื่องที่คุณนิเวศน์ให้มาอ่าน พูดกันแบบนักวิชาการทางวรรณกรรมนะคะ อ่านในฐานะที่เป็นผู้หญิง ถ้าเราอ่านไฟพระจันทร์ เราจะเห็นอารมณ์ผู้หญิง ผู้หญิงที่มีปัญหาสับสนในความรัก ผู้หญิงที่ซับซ้อนที่ไม่ใช่ผู้หญิงในอุดมคติ คืออาจจะต้องเสียตัว อาจจะมีหลายคน มีความทุกข์มากมาย เหล่านี้จะอยู่ในไฟพระจันทร์ เพราะผู้หญิงเขียน แต่ในเรื่อง หางเครื่องนั้นคุณนิเวศน์จะเหมือนผู้ชายอีกหลาย ๆ คนที่เขียนเรื่องของผู้หญิง ก็คือมีผู้หญิงเป็นภาพอุดมคติ จะแกล้งทำเป็นอารมณ์ผู้หญิงข้างในก็คงใส่ลงไปไม่ได้ รายละเอียดโครงสร้างมันเลยต่างกัน โครงสร้างของคุณนิเวศน์จะเป็นชั้นเดียว สามารถจะเล่าเรื่องเดือนก็คือเรื่องเดือนคนเดียว แต่ในไฟพระจันทร์เขาจะเล่าผู้หญิงได้หลายคน ผู้หญิงได้หลายแบบ เพราะคนเขียนเขาเป็นผู้หญิง เขาอาจจะอินกับความเป็นผู้หญิงมาก
ดิฉันว่าคุณนิเวศน์อินกับพระเอกมากกว่านางเอกเสียอีก เพราะฉะนั้นสองเล่มนี้แค่อ่านเอาอารมณ์มันก็ไม่ได้เท่ากันอยู่แล้ว ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว พอมาดูโครงสร้างเรื่อง เนื่องจากดิฉันเป็นอาจารย์สอนวรรณกรรมวิจารณ์ เวลาสอนเราก็จะสอนเรื่ององค์ประกอบของวรรณกรรม โครงสร้างของวรรณกรรม แล้วเราก็จะบอกว่าเมื่อตัวละครเกิดความขัดแย้งเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ความขัดแย้งต่อไปก็จะต้องสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นในลักษณะนิยายมันก็จะมีความขัดแย้งคู่ขนานเข้ามาคนนู้นคนนี้มาสร้างแล้วมันก็จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ พอคุณนิเวศน์บอกว่าให้เปรียบเทียบให้ดูว่ามันไม่เหมือนกันยังไง ดิฉันจะมาบอกว่าก็มันไม่เหมือนกันตรงนี้ แบบนี้ พูดเฉย ๆ คุณนิเวศน์หรือแม้แต่คนอื่นก็คงไม่เข้าใจ ก็เลยทำเป็นโครงสร้างดูทั้งสองเรื่องเลย ถ้ามันขึ้นต้นเหมือนกัน แล้วเหตุการณ์ต่อไปมันไปด้วยกันไหม เราก็แยกดูโครงสร้างไปเรื่อย ซึ่งมันก็เริ่มแตกออกไปไม่เหมือนกันแล้ว โครงสร้างมันไปคนละแบบ และดิฉันมีความสามารถในการทำแผนที่ หรืออะไรเหล่านี้มาก คือต่อกระดาษตลอดเพราะไม่สามารถทำได้ในแผ่นเดียว ก็ทำโครงสร้างนี้ให้คุณนิเวศน์ดูบอกว่ามันไม่เหมือนกันหรอก นี่มันเป็นแผนภูมิซึ่งปกติจะไม่ทำให้ใคร จะทำเฉพาะเวลาสอนเด็ก 3-4 เหตุการณ์ แต่นี่ทำหมดทั้งเรื่องเลย แล้วเขียนด้วยว่าเหตุการณ์ดีคนนี้มาเจอกันแล้วก็แยกกันไป มันเห็นได้ชัดว่าของไฟพระจันทร์มันแยกออกเป็นกิ่งไม้ คือตัวละคร 4 ตัวมีเรื่องเป็นของตัวเองหมด แต่ของคุณนิเวศน์นี่มาด้วยตัวละครที่เป็นนางเอกตัวเดียวดิ่งไปเลย แต่เผอิญว่าตอนท้ายตัวละครที่เป็นตัวเอกของเรื่องนั้น มันไปประสบเหตุการณ์ที่เป็นความทุกข์ยากทำนองเดียวกัน ไปเจอคนที่หลอกลวงเหมือนกัน แล้วอย่างในวงการนักร้องนักแสดงมันจะไปเจอใครได้ ก็ต้องเจอผู้ชายมาหลอก ไปเจอสื่อ เพราะสื่อเท่านั้นที่จะทำให้คุณดังยิ่งขึ้น ฉะนั้นกระบวนการมันจะคล้าย ๆ กันที่ว่าตัวละครที่เข้ามาในชีวิตมันจะคล้ายคลึงกัน เจอผู้มีอิทธิพล เจอนักการเมือง มันก็จะคล้าย ๆ กันหมด แต่ถ้าดูจากโครงสร้างโดยละเอียดแล้วมันจะไม่เหมือนกัน
ความคล้ายกันของเรื่องดิฉันยืนยันได้ว่ามันคล้ายกันทั้งโลก ลองไปเอาเรื่องดัง ๆ มาเลยทุกเรื่องต้องมีโครงสร้างใกล้เคียงกัน 1 พระเอกนางเอกตอนแรกต้องยังไม่รักกัน โกรธกันก่อน จนในที่สุดหันกลับมารักกัน อยากถามว่าโครงสร้างแบบนี้มีกี่เรื่อง ก็แทบหมดทั้งจอเลย เพราะฉะนั้นย่อมเป็นไปได้ที่โครงสร้างจะคล้ายกัน แต่เรื่องรายละเอียดมันจะไม่มีวันคล้ายกัน ถ้าไม่ได้ลอก เพราะถ้าลอกเรื่องกันเรื่องมันจะค่อย ๆ คล้ายกันไปเรื่อย ๆ ดีไม่ดีคำพูดยังเหมือนกันอีก อันนั้นน่ะลอกแน่นอน แต่ของคุณนิเวศน์มันไม่ใช่ คุณนิเวศน์ไม่สามารถจะไปเขียนรายละเอียดที่ผู้หญิงเขาพูดในบางเรื่องบางราวได้ เพราะฉะนั้นเทื่ดิฉันอ่านทั้งสองเรื่องนี้แล้วก็รู้เลยว่ามันไม่ใช่ แต่ดิฉันต้องไปหาวรรณกรรมเรื่องอื่น ๆ ไว้ยืนยันด้วยว่าความคล้ายหรือความเหมือนของโครงสร้างมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพราะมนุษย์เราทั้งหลายจะประสบปัญหาหรือชะตากรรมที่มันคล้าย ๆ กันทั้งนั้น เพราะนั้นไอ้ตังโครงสร้างนี้มันก็จะเหมือนกันได้ แต่รายละเอียดไม่มีวันเหมือน
จิตติ : ทีนี้ลองมาคุยทางด้านกฎหมายบ้างกับคุณ เขมะศิริ คืออยากจะถามว่าอะไรบ้างที่เข้าข่ายการละเมิดหรือไม่ละเมิด
เขมะศิริ : อย่างแรกเราต้องมาดูที่เรื่องลิขสิทธิ์กันก่อนว่า สิ่งที่จะได้การคุ้มครองลิขสิทธิ์ตามกฎหมายนั้นมีอะไรบ้าง อันแรกเลยเขาบอกว่ามันต้องมีการแสดงออกซึ่งความคิด ถ้ามันเป็นความคิดอยู่เฉย ๆ ก็ไม่ได้รับการคุ้มครอง อันที่สอง ก็คือต้องมีระดับของการสร้างสรรค์ มีระดับการสร้างสรรค์ที่เพียงพอที่จะเป็นงานลิขสิทธิ์ได้ อย่างที่สาม คือ เป็นงานตามที่กฎหมายกำหนด ซี่งอยู่ด้วยกัน 9 ประเภท ได้แก่ งานหนังสือ งานวรรณกรรม รวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ งานศิลปกรรม งานดนตรีกรรม งานนาฏกรรม สิ่งบันทึกเสียง งานโสตทัศนวัสดุ แพร่เสียงแพร่ภาพ และงานอื่น ๆ