พลังชีวิตของ ‘คุณเตือนใจ ดีเทศน์’ : หนังสือสู่แรงบันดาลใจ ‘เหล่าจิตอาสา’ สู่ชนบท

 พลังชีวิตของ ‘คุณเตือนใจ ดีเทศน์’

“ผมคงพูดสั้นๆ นะครับ รู้สึก ‘แม่จัน’ จะพิมพ์มาครั้งที่ 5 แล้วใช่ไหมครับ เป็นประกาศนียบัตรความดีของหนังสือเล่มนี้อยู่แล้ว แล้วที่ผมดีใจคือว่า ครูแดงกับผมชอบพอกันมานาน และผมก็เป็นคนหนึ่งที่เชิญครูแดงมาปาฐกถาที่โกมลคีมทอง ปาฐกมักจะเลือกคนพิเศษ ไม่ใช่คนธรรมดาสามัญ คนที่มีความประพฤติปฏิบัติถือได้เป็นตัวอย่างของสังคม มีความคิดความอ่านที่แหวกแนวไปจากสังคม “แล้วเราก็ไม่ผิดหวัง ครูแดงเป็นปาฐกที่ดีคนหนึ่งของเรา ได้อุทิศตัวเพื่อสังคม ต้องมาเป็นวุฒิสมาชิก แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ประเด็นสำคัญคือครูแดงอุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่อแม่จัน อย่าลืมนะครับ คนไทยเราสมัยโบราณถือแม่น้ำเป็นแม่ แม่จัน แม่น้ำ แม่ปิง แม่สะเรียง แม่ฮ่องสอน แม่ทั้งนั้นเลยครับ แล้วตราบใดที่เราเห็นผืนน้ำเป็นแม่ เหมือนที่เราถือแผ่นดินเป็นแม่พระธรณี แม่พสุธา เห็นธรรมชาติทั้งหมดเป็นพ่อเป็นแม่ อันนี้ครับเราจะไปพ้นลัทธิบริโภคนิยมทุนนิยม กลับไปหาสาระในชีวิตคือธรรมชาติ “ชาติแปลว่าเกิด คือสิ่งที่เกิดจากธรรมะ ธรรมะคือสิ่งสากลที่วิเศษสุด พูดตามภาษาฝ่ายคริสต์ก็คือพระผู้เป็นเจ้า นั่นทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตัว กลับไปหาพระผู้เป็นเจ้า กลับไปหาธรรมชาติ กลับไปหาแม่ ไปหาพ่อ ที่ครูแดงเตือนเราในเรื่องนี้ครับ ให้เราเห็นคุณค่าของแม่จัน “ถ้าเราอ่านแม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยนแล้ว จะเกิดโยนิโสมนสิการครับ ทำยังไงเราถึงยังอยู่รักษาแม่เหล่านั้น แม่จันและแม่อื่นๆ นะครับ สายน้ำให้ดำรงคงไว้ซึ่งธรรมชาติ เพื่อปลอดพ้นไปจากทุนนิยมบริโภคนิยม...”

ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของคำกล่าวในงานเปิดตัวหนังสือ ‘แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน’ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 5 ของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนคนสำคัญของประเทศไทย

 

แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน เตือนใจ ดีเทศน์

 

‘ครูแดง’ ในที่นี้ก็คือ คุณเตือนใจ ดีเทศน์ ผู้เขียนหนังสือเล่มข้างต้น เธอเป็นอดีตสมาชิกวุฒิสภา (เลือกตั้ง) จ.เชียงราย พ.ศ.2543-2549, ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษามูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) เคยได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นแห่งชาติ สาขาพัฒนาสังคม สำนักงานส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ, รางวัล Ashoka Fellow สาขาสิ่งแวดล้อม, รางวัลสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ UNEP Global 500, รางวัลสิ่งแวดล้อม Gold Man Environmental Award และรางวัล 1 ใน 25 สตรีด้านสิ่งแวดล้อมของโลก

หนังสือ ‘แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน’ ได้รับการยอมรับว่า เป็นแรงบันดาลใจละมีอิทธิพลทางความคิดต่อเหล่านิสิตนักศึกษารุ่นหลังในการอุทิศตนเองไปทำงานด้านอาสาสมัครในชนบท ซึ่งปัจจุบันมีคำกล่าวที่รู้จักกันแพร่หลายคือ ‘จิตอาสา’ หรือ ‘จิตสาธารณะ’ เพราะครูแดงหรือคุณเตือนใจ ได้เป็นบัณฑิตอาสาสมัคร สำนักบัณฑิตอาสาสมัครธรรมศาสตร์ ที่หมู่บ้านปางสา อ.แม่จัน จ.เชียงราย มาตั้งแต่ปี 2517 และทำงานอย่างต่อเนื่องฝังตัวอยู่ที่นั้นจนถึงปัจจุบัน

เรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจสู่ ‘คนหนุ่มสาว’ หนังสือ ‘แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน’
ได้บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของครูแดง ที่ตัดสินใจผันตัวไปเป็นครูบนดอย ใช้ชีวิตร่วมกับชาวไทยภูเขา ทั้งที่เพิ่งจบปริญญาตรีบัณฑิตจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงข้อพิสูจน์อุดมการณ์อันกล้าแกร่งของครูแดงเท่านั้น หากยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับหนุ่มสาวและผู้อุทิศตนทำงานเพื่อสังคมอีกด้วย ซึ่งครูแดงไม่ได้ทำหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือให้ชาวไทยภูเขาเท่านั้น หากยังทำงานร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้กับชาวไทยภูเขาเสมอมา

กรณีหนังสือเป็นแรงบันดาลใจและส่งอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงชีวิตนั้นมีอยู่จริง หนังสือ ‘แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน’ ก็เช่นกัน คุณอาริยา โมราษฎร์ หรือที่ใช้นามแฝงว่า ‘ดอกแก้ว’ ได้เขียนถึงประสบการณ์ชีวิตของเธอในเว็บไซต์ gotoknow.org ถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ‘...ตอนเย็นวันหนึ่ง ฉันปั่นจักรยานจาก มอ.ปัตตานี เข้ามาเล่นในเมืองและเข้าร้านหนังสือ เจอหนังสือเล่มนี้ แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน ฉันอ่านคร่าวๆในร้านหนังสือก่อนซื้อ เป็นบันทึกประสบการณ์ การทำงาน การสอนเด็กชาวชนเผ่าที่เชียงราย ตอนนั้น ฉันรู้สึกว่า ใช่เลย....นี่แหละ ประสบการณ์ ต้องแบบนี้ อยู่กับของจริง อยู่กับกลุ่มคนที่ต้องการการเรียนรู้จริงๆ สอนแบบ น้อยๆ คน และใช้ชีวิตในชุมชน ในปีรุ่งขึ้นที่ฉันจบจากมหาลัย....ก็ไม่เคยสอบครูเลยสักครั้งเดียว แต่เสาะหาที่จะขึ้นเขา ไปอยู่บนดอย สอนหนังสือ...และฉันก็ได้สอนหนังสือจริงๆ ที่ หมู่บ้านเขาเหล็ก จ.กาญจนบุรี .... ฉันไม่รู้จัก คนเขียนเป็นการส่วนตัว...หลังจากนั้น 15 ปี คุณเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ พี่แดง มาประชุมที่ เด็กรักป่า มาด้วยเรื่อง การสรรหาผู้ที่จะได้รับรางวัล ลูกโลกสีเขียว ฉันก็ปลื้มมาก เข้าไปกราบพี่แดง...ชวน พี่แดง เดินมาชมรูปภาพที่บ้าน และ บอกพี่แดงว่า "ตอนเรียนมหา’ลัย อ่านหนังสือของพี่ ทำให้ประทับใจมากคะ จนได้ไปสอนหนังสือกับเด็กๆ ที่เมืองกาญจน์ ไม่นึกเลยคะ จะได้เจอพี่ที่นี่..."

ซึ่งตรงกับประสบการณ์ของลูกสาวครูแดง คือ คุณเพียรพร ดีเทศน์ ซึ่งปัจจุบันก็ได้ทำงานในแนวทางเดียวกับคุณแม่ของเธอด้วยแรงบันดาลใจที่งดงาม โดยเธอได้กล่าวในการเสวนาถึงหนังสือเล่มนี้ที่มีอิทธิพลต่อคนหนุ่มสาวว่า “ก็เห็นหลายๆ ท่านที่เป็นทั้งอาจารย์ หรือว่าเป็นคนทำงานเชิงสังคม หรือว่านักศึกษา ก็อ่าน แล้วมีคนพูดถึงบ่อยๆ ก็รู้สึกดีใจที่หนังสือของแม่เป็นแรงบันดาลใจหนึ่งที่ทำให้คนรู้สึกว่าเราสามารถมีจิตอาสาได้ รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม แน่นอนว่าการที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะไปอยู่ในหมู่บ้าน แล้วก็มีครอบครัวอยู่ที่นั่น มีลูกอยู่ที่นั่น โดยที่ผู้หญิงคนนั้นเป็นคนที่กรุงเทพ เรียนจบจุฬาฯ ก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดา ในสมัยนั้นที่มันก็ไกลเหลือเกินนะคะ แล้วก็การที่เราสามารถจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ได้ด้วยผ่านตัวหนังสือ ก็เป็นสิ่งที่เป็นความภาคภูมิใจส่วนหนึ่งของครอบครัวเลย “ส่วนการพิมพ์ครั้งนี้ไผ่ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าผู้อ่านจะมากน้อยแค่ไหน เพราะว่าอย่างที่เราทราบดีว่าตอนนี้ใครๆ ก็อ่านแวบๆ ในมือถือซะเกินแปดบรรทัดก็จะไม่อ่านแล้ว หรือว่าอาจจะน้อยคนที่จะอ่าน ก็ทำให้เป็นการสกรีนคนอีกขั้นหนึ่งว่า คนที่จะอ่านหนังสือเยอะๆ หนาๆ แบบนี้ ต้องเป็นคนที่ตั้งใจจริงๆ แล้วก็เรียกว่าผู้อ่านคุณภาพที่อยากใช้เวลานานๆ กับตัวหนังสือ สิ่งที่อยากจะเห็นในหนังสือเล่มนี้ก็คือคิดว่าอยากจะทำให้คนในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะน้องๆ หนุ่มๆ สาวๆ ที่เป็นนักศึกษาอยู่ หรือคนที่ทำงานใหม่ๆ หรือไม่นักเรียนก็ตามได้เห็นว่าเราไม่จำเป็นต้องมีรูปร่างหน้าตาที่สวย เราไม่จำเป็นต้องมีผิวที่ขาวใส หรือว่ามีคนมาไลค์เยอะๆ ในเฟซบุ๊ก แต่ว่าจะทำยังไงที่ทำให้เราได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ทำให้เราได้เป็นบุคคลที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่ อันนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแน่นอนอยู่แล้ว แต่ทำยังไงให้เราเป็นคนที่มีความหมายในสังคม ทำให้เราได้ช่วยผู้อื่น

“นอกจากพวกเราในมหาวิทยาลัย หรือนอกจากพวกเราที่อยู่ในห้องนี้แล้ว เราก็จะมีชาวเลที่มีปัญหาอยู่ที่ภูเก็ต อยู่ชายฝั่งอันดามันมากมายที่ไร้ที่อยู่อาศัย หรือว่ากำลังถูกนายทุนขนาดใหญ่แย่งพื้นที่ทำมาหากิน พื้นที่อาศัยของเค้าไป บนภูเขาก็ยังมีชาวปกาเกอญอที่กำลังถูกอพยพจากเขื่อนใหญ่ที่กำลังจะกั้นแม่น้ำสาละวิน หรือที่แม่น้ำโขง ก็กำลังมีคนหาปลาตัวเล็กตัวน้อยที่กำลังจะต้องถูกชิงทรัพยากรไป เพราะเขื่อนใหญ่ที่กำลังจะสร้างเพื่อผลิตไฟฟ้ามาให้พวกเรานั่งสบายอยู่ในห้องแอร์แบบนี้ ฉันคิดว่าการตั้งคำถามต่อสังคม การรู้สึกว่าเราเป็นพลเมืองของโลกใบนี้ การรู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของคนอื่นๆ ของสังคมนี้ ฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่อยากให้เป็นแรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นกับหนังสือที่พิมพ์ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5”

‘จิตอาสา’ ผ่านหนังสือครูแดง...ออกดอกงอกผล ‘จิตอาสา’
อาจจะเป็นคำใหม่ที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างไม่ถึง 10 ปี ผู้นำคำนี้มาใช้ครั้งแรกในน่าจะเป็นเครือข่ายพุทธิกา ในโครงการฉลาดทำบุญด้วยจิตอาสา ต่อมาคำนี้ได้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งพระไพศาล วิสาโล ได้ให้ความหมายของ ‘จิตอาสา’ ว่า คือจิตที่ไม่นิ่งดูดายต่อสังคม หรือความทุกข์ยากของผู้คน และปรารถนาเข้าไปช่วย ไม่ใช่ด้วยการให้ทาน ให้เงิน แต่ด้วยการสละเวลา ลงแรงเข้าไปช่วย ด้วยจิตที่เป็นสุขที่ได้ช่วยผู้อื่น จะเน้นว่า ไม่ใช่แค่ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาจิตวิญญาณด้วย

จิตอาสา คือ ผู้ที่มีจิตใจที่เป็นผู้ให้ เช่น ให้สิ่งของ ให้เงิน ให้ความช่วยเหลือด้วยกำลังแรงกาย แรงสมอง ซึ่งเป็นการเสียสละ สิ่งที่ตนเองมี แม้กระทั่งเวลา เพื่อเผื่อแผ่ ให้กับส่วนรวม...อีกทั้งยังช่วยลดอัตตาหรือความเป็นตัวเป็นตนของตนเองลงได้บ้าง ส่วน ‘อาสาสมัคร’ เป็นงานที่เกิดจากผู้ที่มี จิตอาสา ซึ่งมีความหมายอย่างมาก กับสังคมส่วนรวม เป็นผู้ที่เอื้อเฟื้อ เสียสละ เวลา แรงกาย แรงใจ เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น หรือ สังคมให้เกิด ประโยชน์และความสุขมากขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.สุภางค์ จันทวานิชศาสตราจารย์กิตติคุณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่คุ้นเคยและร่วมงานกับครูแดง ได้บรรยายความประทับใจเกี่ยวกับครูแดงไว้ว่า “หนังสือเล่มนี้แต่ละบทๆ ถ้าหากว่าทุกท่านได้มีโอกาสอ่าน หรือว่าได้อ่านแล้ว ก็จะพบว่าครูแดงได้เล่าถึงชีวิตบนดอยจากแง่มุมต่างๆ ดิฉันได้ใช้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือให้นิสิตที่ภาคสังคมวิทยาที่คณะรัฐศาสตร์อ่าน แล้วก็ได้เคยเชิญครูแดงไปเป็นวิทยากรให้เด็กได้สัมผัสตัวเป็นๆ ด้วย เพราะว่าเด็กนิสิตที่คณะรัฐศาสตร์ ต้องรู้จักชนบท แต่ว่าชนบทเฉยๆ ไม่พอ มันก็มีชนบทที่ห่างไกลออกไปด้วยนะคะ

“มันก็จะมีวิชาประเภทชื่อสังคมวิทยาชนบท วิชาอย่างที่ อ.สุริชัย หวันแก้ว เคยดูแล หรือวิชาอย่างเช่น ปฏิบัติการพัฒนาสังคม หรือแม้แต่วิชา ระเบียบวิธีวิจัยทางมานุษยวิทยา วิชาเหล่านี้ใช้หนังสือเล่มนี้ได้หมดเลย แล้วก็ยังอยากเสนอกับทางสำนักพิมพ์ด้วยว่า น่าจะไปคุยกับศูนย์หนังสือที่จุฬาฯ เพราะว่าเราก็ยังสามารถที่จะใช้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนได้ หรืออาจจะใช้เป็นตำราได้บางวิชาด้วยซ้ำ”

แน่นอน ความงอกงามของอุดมการณ์ทีเกี่ยวกับจิตอาสาในชนบท แรงบันดาลใจให้กับหนุ่มสาวและผู้อุทิศตนทำงานเพื่อสังคม จะแฮ ชาวเขาเผ่าลีซู ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของครูแดง และปัจจุบันทำงานอยู่ในมูลนิธิมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ได้เล่าถึงประสบการณ์ตรงของเขาว่า “ผมเองก็มาอยู่มูลนิธิที่ครูแดงได้สร้างบ้านไว้ และตอนนี้ก็เป็นพื้นที่ที่แข็งแรง ได้ทำให้พวกเราที่เป็นนักพัฒนามีที่อยู่ที่แข็งแรงและก็ทำให้สังคมสบายใจและยิ่งใหญ่ขึ้น ถึงแม้จะเป็นงานที่เล็ก ๆ แต่ครูแดงก็บอกว่าชัยชนะเล็กๆ นี้เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่เราสามารถเติมเต็มให้คนอื่นได้เห็น คนอื่นที่เห็นที่มีชีวิตและจิตใจมองเห็นวัฒนธรรมของชุมชนเป็นวัฒนธรรมที่งดงามไม่มีการเปรียบเทียบว่าวัฒนธรรมของใครเด่นกว่าใคร เห็นทุกสิ่งทุกอย่างนั้นงดงามไปหมด

“อยู่มูลนิธิถึงปัจจุบันและก็มีนักศึกษาฝึกงานทั่วประเทศ พอถามน้องๆ ที่มาฝึกงานในมูลนิธิว่าน้องรู้จักที่นี่ได้อย่างไร น้องก็บอกว่ามาตามหนังสือ ‘แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน’ เพราะฉะนั้นเล่มนี้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ นักศึกษาทั่วประเทศ ปีนี้ก็มากันเยอะเลยครับ มากันตั้งสามสิบกว่าคน ตั้งแต่เดือนหน้าจนถึงเดือนมกราฯ ก็มาตามหนังสือเล่มนี้ ผมก็คิดว่าหนังสือแม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน มีจิตอาสาพัฒนาตนเอง พัฒนาผู้อื่น พัฒนาสังคมให้ยิ่งใหญ่ขึ้นไปได้ ก็ถือว่าเป็นครูที่ยิ่งใหญ่” จิตอาสาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีความตระหนักว่าเราเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะฉะนั้นจิตอาสาไม่ได้มีความหมายแค่ว่า การช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการช่วยเหลือส่วนรวม ซึ่งเกิดจากความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนที่มีจิตอาสานอกจากจะทำงานสังคมสงเคราะห์หรือบำเพ็ญประโยชน์แล้ว ยังทำงานในลักษณะอื่นด้วย เช่นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการปฏิรูปสังคมหรือช่วยให้สังคมดีขึ้น

โดยหัวใจสำคัญของ ‘จิตอาสา’ คือจิตที่เต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ปรารถนาดีต่อผู้อื่น อยากให้เขาพ้นทุกข์ โดยไม่หวังประโยชน์สุขหรือผลตอบแทนให้แก่ตัวเอง เป็นจิตที่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ รางวัลของจิตอาสา คือ ความสุขและความภาคภูมิใจในตนเองเท่านั้น กระบวนการสร้างจิตอาสา ต้องประกอบด้วยการปลูกฝังให้ตระหนักถึงความสำคัญของจิตอาสา การเตรียมความพร้อมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ความรู้ และการติดต่อสื่อสาร การสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง และการเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง คุณลักษณะของผู้มีจิตอาสาคือ มุ่งประโยชน์ต่อส่วนรวม การทำงานทุกอย่างเป็นไปด้วยความสมัครใจ ไม่มุ่งหวังผลตอบแทนในรูปของอามิส สินจ้างหรือรางวัล ตลอดจนการอุทิศกาย กำลังใจ และเวลาให้แก่ส่วนรวม หนังสือ ‘แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน’ จึงเป็นหนังสือต้นแบบแห่งแรงบันดาลใจที่ส่งอิทธิพลต่อคนหนุ่มสาวในสังคมไทย ด้านจิตอาสาอีกเล่มหนึ่งที่อยู่เหนือกาลเวลา และเป็นหนังสือจำแลงอย่างแท้จริงในการเปลี่ยนชีวิตคนให้มุ่งสู่ความเสียสละที่ดีงาม...

 

แม่จัน สายน้ำที่ผันเปลี่ยน เตือนใจ ดีเทศน์

 

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ