หางเครื่อง : ลิขสิทธิ์ละเมิดใคร? ใครละเมิด?

หางเครื่อง

นิยายเรื่อง หางเครื่อง นิเวศน์ กันไทยราษฎร์

 

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2550 สำนักพิมพ์ Woman puplisher (ในเครือประพันธ์สาส์น) ร่วมกับ บริษัท บีทูเอส จำกัด ได้จัดงานเปิดตัวหนังสือนวนิยายเรื่อง “หางเครื่อง” ของผู้เขียน นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ และมีการร่วมเสวนากันในหัวข้อ หางเครื่อง : ลิขสิทธิ์ละเมิดใคร? ใครละเมิด? โดยมีการพูดถึงกรณีศึกษาเรื่องการฟ้องร้องคดีการละเมิดลิขสิทธิ์นวนิยายเรื่องหางเครื่อง ซึ่งกว่าผู้เขียนจะได้รับความเป็นธรรมจากศาล ต้องสืบสาวราวเรื่องถึงที่มาของวัตถุดิบและการสร้างสรรค์จากพยานยาวนานกว่า 5 ปี และมีผู้ร่วมเสวนา 4 ท่านที่มาพูดคุยกันถึงเรื่องดังกล่าว ได้แก่ คุณนิเวศน์ กันไทยราษฎร์ ผู้เขียนนวนิยาย “หางเครื่อง”, คุณชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, คุณเขมะศิริ นิชชากร หัวหน้าส่วนส่งเสริมงานลิขสิทธิ์ สำนักลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา และคุณจิตติ หนูสุข บรรณาธิการอิสระ (ผู้ดำเนินรายการ) ณ ร้านหนังสือบีทูเอส สาขาเซ็นทรัลเวิลด์

 

นิยายเรื่อง หางเครื่อง นิเวศน์ กันไทยราษฎร์

 

นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ เปิดใจถึงเรื่องที่ผ่านมาว่า เมื่อเกิดคดีกล่าวหาว่านวนิยายหางเครื่องนั้นลอกเลียนมาจากผู้อื่นเมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา ยอมรับว่าในขณะนั้นทุกข์ใจมาก เพราะเราไม่ได้ทำ ในความเป็นนักเขียนผมเชื่อว่าเรามีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือความภูมิใจที่ได้ใช้สติปัญญาเขียนเรื่องนั้น ๆ ขึ้นมา เมื่อมาโดนกล่าวหาว่าลอกงานของคนอื่นมันก็ต้องร้อนใจ แล้วเราก็ต้องหาหลักฐานมายืนยันความบริสุทธิ์ให้ได้ โดยการหาหลักฐานต่าง ๆ มาพิสูจน์ ไม่ว่าจะเป็นหลักฐานการเขียนเรื่อง “นักร้องอย่างหล่อน” ก่อนที่จะนำมาเขียนใหม่เป็น “หางเครื่อง” โดยใช้นามปากกาว่า แพรว พจนีย์ แล้วก็ต้องหาหลักฐานว่า แพรว พจนีย์ เป็นนามปากกาของผม จนถึงกับต้องเปิดเผยว่าได้แรงบันดาลใจในการเขียนมาจากใคร ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยคิดจะเปิดเผย เพราะผมได้แรงบันดาลใจในการเขียนมาจากชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเป็นนักร้อง ก็คือ คุณดวงดาว มนต์ดารา ผมนำเรื่องราวของเธอมาร้อยเรียงผสมกับจินตนาการ ซึ่งในนิยายไม่ใช่เรื่องจริงของเขาทั้งหมด เพราะไม่ได้เขียนชีวประวัติของเขาก็เลยไม่อยากบอก แต่สุดท้ายก็ต้องไปเล่าให้เขาฟังแล้วขอให้เขามาช่วยเป็นพยาน แล้วก็ต้องไปหาผู้มีความรู้ทางด้านวรรณกรรมมาช่วยเป็นพยานให้อีกหลายคน ซึ่งทุกคนอ่านแล้วก็บอกว่า ไม่เหมือนไม่ได้ลอก แต่ในระหว่างนั้นมันเป็นความยุ่งยากมากในการหาหลักฐาน หาพยานมายืนยัน เพราะว่าเราต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเราไม่ได้ทำ มันเป็นความรู้สึกที่แย่มากในช่วงนั้น ขนาดผมไปสอนหนังสือก็มีคนคุยกันแต่เรื่องนี้ มีแต่คนสงสัย ก็เลยยิ่งทำให้ทุกข์ ยังดีที่ยังมีที่บ้านและเพื่อน ๆ เชื่อใจว่าเราไม่ได้ลอก ไม่อย่างนั้นก็คงแย่กว่านี้

 

นิยายเรื่อง หางเครื่อง นิเวศน์ กันไทยราษฎร์

 

“สุดท้าย ศาลก็ตัดสินว่าเราไม่ได้ละเมิดงานของใคร และนวนิยายหางเครื่องก็ถือเป็นลิขสิทธิ์ของเราอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนใครละเมิดงานของเราหรือไม่นั้น ไม่ขอออกความคิดเห็น หากใครถามว่าจะฟ้องคู่กรณีกลับหรือไม่นั้นผมก็มีคำตอบอยู่ในใจ ที่ไม่ขอตอบ” นิเวศน์กล่าว ทางด้าน ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนฯ ในฐานะนักวิชาการทางวรรณกรรม กล่าวว่า เมื่อได้ยินเรื่องที่คุณนิเวศน์ถูกฟ้องว่าลอกงานนวนิยายเรื่อง “ไฟพระจันทร์” ก็รู้สึกเลยว่าไม่จริง เพราะว่าตอนที่เข้ามาเป็นนักวิจารณ์ก็เห็นงานของคุณนิเวศน์แล้ว เขาเป็นคนที่มีชื่อเสียงมาก่อน แล้วความรู้สึกแรกที่ได้ยินว่าคนที่มีชื่อเสียงลอกงานคนอื่น มันรู้สึกเป็นไปไม่ได้ พอคุณนิเวศน์โทรมาขอให้ไปเป็นพยานในฐานะนักวิจารณ์ วรรณกรรม จึงไม่ปฏิเสธ เพราะเรารู้ถึงความรู้สึกนั้นดีว่าการที่เราไม่ได้ทำผิดแล้วมีคนมากล่าวหามันทุกข์ใจขนาดไหน

เมื่อลองอ่านทั้งสองเรื่องแล้ว รู้สึกว่าเรื่องไฟพระจันทร์มันจะให้อารมณ์ผู้หญิงมากกว่า ซึ่งไม่ใช่ผู้หญิงในอุดมคติ แต่จะเป็นผู้หญิงในชีวิตจริง เพราะผู้หญิงเขียน แต่เรี่องของคุณนิเวศน์จะเล่าถึงผู้หญิงในแบบของผู้ชาย คือผู้หญิงในอุดมคติ เพราะเขาคงใส่ภาพความเป็นผู้หญิงจริง ๆ ลงไปไม่ได้ ฉะนั้น โครงสร้างมันจึงต่างกัน รายละเอียดต่าง ๆ ก็ไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน ซึ่ง ณ วันนี้ศาลก็ตัดสินแล้วว่าคุณนิเวศน์ไม่ได้ละเมิดงานของใคร แล้วดิฉันก็ขอตอบแทนเขาได้เลยว่า เขาจะไม่มีวันฟ้องคู่กรณีกลับ ทั้งที่ใจอยากจะฟ้อง เพราะคุณนิเวศน์รู้ดีว่าความรู้สึกตรงนั้นเป็นอย่างไร “ในฐานะนายกสมาคมฯ ก็พยายามมาตลอดที่จะรณรงค์เรื่องการสร้างจิตสำนึกในเรื่องลิขสิทธิ์มาตลอด ล่าสุดก็ได้มีการประกวดคำขวัญ ซึ่งมีบทหนึ่งที่รู้สึกชอบมากจึงขอนำมาทิ้งท้ายไว้ และอยากให้นำไปใช้กัน เขาบอกไว้ว่า

“ติดคุกยังมีวันออก ลอกงานถูกประจานจนตาย” ชมัยภรกล่าว ส่วน เขมะศิริ นิชชากร ได้ให้ข้อมูลเสริมว่า การคุ้มครองลิขสิทธิ์ทางปัญญาจะไม่คุ้มครองความคิด แต่จะคุ้มครองการแสดงออกของความคิด ต้องมีระดับของความสร้างสรรค์ และต้องเป็นงานตามที่กฎหมายกำหนด 9 ประเภท นั่นคือ งานวรรณกรรม งานศิลปกรรม งานดนตรีกรรม งานนาฏกรรม งานโสตทัศนะวัสดุ และงานอื่น ๆ เหล่านี้คืองานที่มีลิขสิทธิ์ อย่างกรณีของคุณนิเวศน์ที่เขียนเรื่อง “นักร้องอย่างหล่อน” ขึ้นมาเป็นนวนิยาย ถือว่ามีระดับของการสร้างสรรค์และได้รับการเผยแพร่ จึงมีลิขสิทธ์แล้ว การที่คุณนิเวศน์เอาโครงเรื่องเดิมไปเขียนเป็นเรื่องใหม่คือ “หางเครื่อง” เรียกว่าเป็นการดัดแปลง ซึ่งเป็นสิทธิ์ของเจ้าของอยู่แล้ว แต่กรณีที่บอกว่าไปก็อปปี้งานของคนอื่น เขาก็จะดูที่ลักษณะของงานว่า โครงสร้างอาจจะเหมือนกันแต่การแตกแขนงออกไปย่อมไม่เหมือน ส่วนในกรณีของอายุความคือ คุณต้องฟ้องภายใน 10 ปีนับแต่การละเมิดนั้นเกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นกรณีอาญาจะต้องฟ้องภายใน 3 เดือนหลังจากวันที่รู้ว่ามีการละเมิด

ถึงแม้ว่าลิขสิทธิ์จะมีการคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์โดยไม่ต้องจดทะเบียน แต่มันก็เป็นสิ่งยากที่จะพิสูจน์เหมือนกันว่าคุณเขียนมันขึ้นมาจริงหรือเปล่า ดังนั้นหากต้องการให้คนอื่นทราบว่าเราสร้างงานขึ้นมาสิ่งที่ทำได้ก็คือ การไปแจ้งข้อมูลไว้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเป็นการแสดงสิทธิ์เบื้องต้น แต่ไม่ได้เป็นการยืนยันสิทธิ์ จริง ๆ แล้วคดีลิขสิทธิ์นี้จะเป็นคดีที่จะไกล่เกลี่ยกันมากกว่าที่จะฟ้องร้องต่อไป เพราะเป็นเรื่องที่น่าจะคุยกันได้

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ