สายน้ำชีวิต พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ : งานเปิดตัวหนังสือ“สายน้ำชีวิต พงษ์สิทธิ์ คำภีร์:ประสบการณ์นักเพลงผู้เดินตามฝัน"วันที่ 2 มิถุนายน

สายน้ำชีวิต พงษ์สิทธิ์ คำภีร์

คุณจำเนียร: สวัสดีครับแขกผู้มีเกียรติทุกๆ ท่าน วันนี้สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์นร่วมกับร้านหนังสือ B2S มีหนังสือใหม่มาแนะนำ คือ สายน้ำชีวิต พงษ์สิทธิ์ คำภีร์ เป็นเรื่องราวประสบการณ์การต่อสู้ของเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มาจากที่ราบสูง พกเอาความใฝ่ฝัน ความเป็นนักเพลงเข้ามาสู่เมืองกรุง มุ่งมั่นที่จะฝันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ซึ่งจากวันนั้นจนมาถึงวันนี้ก็หลาย 10 ปีมาแล้ว นอกจากจะได้ฟังประสบการณ์ของคุณปู พงษ์สิทธิ์แล้ว ก็มีบทเพลงเพราะๆ ในช่วงท้ายๆ นอกจากนั้นยังมี คุณสุรชัย จันทิมาธร อาจารย์ใหญ่แวดวงเพื่อชีวิตนักเขียนรางวัลศรีบูรพาคนล่าสุด และ คุณชูเกียรติ ฉาไธสง ผู้ที่เรียบเรียงความฝันของคุณพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ จึงขอแนะนำคุณชูเกียรติสักเล็กน้อย เพราะสองท่านนั้น (สุรชัย และ พงสิทธิ์) เป็นที่รู้จักกันพอสมควรอยู่แล้วในแวดวงของนักเพลงและนักเขียน

 

พงษ์สิทธิ์ คำภีร์

 

ณชูเกียรติ ฉาไธสง เริ่มเขียนหนังสือมาตั้งแต่ยังนุ่งกางเกงขาสั้นอยู่บุรีรัมย์ เขียนได้หลากหลายแนวทั้งบทกวี บทเพลง ที่มีรวมเล่มก็คือ บทเพลงผู้พเนจร, งานความเรียง, ระหว่างรอยเท้า, ในอ้อมกอดของชีวิต งานเรียบเรียงประวัติ อาทิ งานของ คุณประเทือง เอมเจริญ คือ เส้นสีแห่งชีวิต งานเรียบเรียงชีวประวัติของครูสังคม ทองมี คือ สีชอล์กในเปลวเทียน งานของคุณไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ คือ บนถนนสายราชครู และเล่มที่เขียนเรื่องราวของคุณสุรชัย จันทิมาธร คือ กำเนิดในยามพระเจ้าหลับใหล ซึ่งในปัจจุบันยังเป็นทั้งนักเขียน นักดนตรี และเป็นคอลัมนิสต์อยู่ที่เนชั่นฯ และผลงานเล่มล่าสุด คือหนังสือของคุณปู พงษ์สิทธิ์ คำภีร์

ขอกลับมาเริ่มต้นที่คุณปูอีกครั้งว่า หลังจากวันที่ออกอัลบั้ม “ถึงเพื่อน” จนกระทั่งวันนี้นับเป็นเวลา 19 ปี บนเส้นดนตรี จึงต้องขอย้อนยุคไปนะครับว่าบรรยากาศตรงนั้นจากจังหวัดหนองคายที่ถือว่าไกลมาก ได้มาเริ่มต้นทำเพลงชุดนั้นอย่างไร ลองเล่าให้ฟังสักเล็กน้อยครับ

คุณพงษ์สิทธิ์:ที่จริงเล่าเรื่องนี้บ่อยมาก (หัวเราะ) คือผมอยากเป็นนักดนตรีและเป็นแฟนเพลงของพี่หงา ผมมีโอกาสได้เริ่มอาชีพจากการติดตามพี่หงาไปในที่ต่างๆ ตั้งแต่เป็นเด็กๆ ในวงการ ก็เริ่มต้นจากนั้นเรื่อยมาแล้วก็เริ่มแต่งเพลง พยายามทำดนตรีไปเสนอตามบริษัทต่างๆ จนกระทั่งได้ทำงาน

คุณจำเนียร: ผมมองว่าพี่หงาเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คน แล้วคุณปูรู้จักกับเพลงของพี่หงาในช่วงไหนครับ

คุณพงษ์สิทธิ์: นาน นานมากแล้วนะครับ ผมอยู่ที่หนองคายไม่มีเทปวงคาราวาน ต้องรอรุ่นพี่ที่เรียนรามฯ กลับมาบ้าน เขาก็จะเอาเทปคาสเช็ทมาฝากบ้าง มีแฮมเมอร์, คาราบาว

คุณจำเนียร : ผมเองก็เป็นแฟนเพลงของพี่หงา มีเทปของพี่หงาเหมือนกัน ตอนนั้นเป็นเหมือนเทปใต้ดิน มีเพลงจิตร ภูมิศักดิ์, คนกับควาย อยากถามพี่หงาว่า ตอนนั้นคิดว่างานเพลงของตัวเองจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครต่อใครเยอะไหมครับ หรือคิดว่าเป็นการสร้างงานเพลงออกมาโดยปกติ

คุณสุรชัย: ความจริงก็คือ ต้องการทำงานเขียนเพลงเท่านั้นเองครับ แต่ว่า อาจเป็นเพราะสถานการณ์ สภาพการณ์ของสังคม การเคลื่อนไหว การต่อสู้ทางสังคม ความขัดแย้งทางสังคมมันสูง จึงเป็นปัจจัยทำให้บทเพลงไปสู่คนส่วนหนึ่ง ซึ่งเพลงช่วงนั้นไม่น่าจะมีทางเลือกมากนัก เพราะพูดตรงๆ แล้วก็คือ ถ้าเราไม่ฟังเพลงแบบหนึ่ง เราก็ต้องฟังเพลงอีกแบบหนึ่ง ช่วงนั้นเพลงมันจะแบ่งชัดๆ เป็น เพลงไทย เพลงลูกทุ่ง ซึ่งทุกคนก็คงทราบดีว่าเป็นอย่างไร แล้วก็ลูกกรุง ซึ่งคำนี้ผมคิดว่าทุกคนต้องเข้าใจ แต่มันจะมีคนที่อยู่ระหว่างลูกทุ่งกับลูกกรุงและถ้ามีรสนิยมหน่อยก็จะฟังเพลงดีๆ จากทางตะวันตก เพลงคลาสสิกอะไรทำนองนี้ เช่น เพลงโมสาร์ต ผมเองเคยฟังทั้งโมสาร์ต, บีโทเฟ่น ไม่ใช่ผมรสนิยมดีนะ เพื่อนจับยัดใส่หู แล้วก็จำเมโลดี้ในหลายวรรคหลายตอนได้ จนซื้อซีดีเลย และยังฟังเพลงร็อก บีทเทิล ต่างๆ นานาที่มาจากพวกตะวันตก นี่คือส่วนของคนที่อยู่ระหว่างกลางของลูกทุ่งและลูกกรุง

แล้วเพลงเพื่อชีวิตก็กำเนิดขึ้นมาในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของสังคม มีกลุ่มหนึ่งที่เคลื่อนไหวต้องการเพลงพวกนี้ เพราะเพลงฝรั่งก็ชอบอยู่แต่พูดตรงๆ ว่าฟังไม่รู้เรื่องครับ ฟังเป็น เอ บี ซี ดี ไปหมด เหมือนฟังพระสวดมนต์ คือ ฟังไม่เข้าใจแต่ซาบซึ้ง เวลาพระสวดไม่ว่าจะเป็นปานาติปาตา นะโม เราไม่รู้ว่าแปลว่าอะไรแต่เราก็ซาบซึ้ง เพลงฝรั่งก็คล้ายๆ พระสวดนั่นแหละครับ “ซาบซึ้งแต่ไม่เข้าใจ” ยกเว้นว่าไปค้นหาไปแปลเอาเองอันนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง เพราะฉะนั้นเพลงเพื่อชีวิตจะเกิดมาในช่วงนี้ครับ ตามที่ผมคิด

คุณจำเนียร:ได้คุยกับพี่หงาถึงเรื่องเพลงเพื่อชีวิตมาแล้ว ที่ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ ปู พงษ์สิทธิ์ แล้วในส่วนของ น้อย ชูเกียรติ อยากให้พูดถึงแรงบันดาลใจในเสียงเพลง อยากให้พูดถึงคนหนุ่มจำนวนมากที่มีแรงบันดาลใจจากคนที่เป็นเหมือนวีรบุรุษในใจเรา

คุณชูเกียรติ: ผมคิดว่า เพลงเพื่อชีวิตนี้เกี่ยวเนื่องกับรอยต่อของสังคมไทย คือ เป็นการสะท้อนยุคสมัยออกมาเป็นบทเพลง สะท้อนภาพโศกนาฏกรรม สะท้อนการต่อสู้ ผมว่านิยามของเพลงเพื่อชีวิตนั้นมาจากหนังสือเล่มหนึ่งที่เขียนโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ที่ใช้นามปากกาว่า ทีปกร ชื่อหนังสือ ศิลปะเพื่อชีวิตศิลปะเพื่อประชาชน ถ้าจำไม่ผิดนะครับ เลยเกิดเพลงเพื่อชีวิตขึ้นมาเพราะมีคำนิยามว่าเป็นศิลปะเพื่อชีวิต แล้วการที่มีเพลงเพื่อชีวิตในยุคแรกๆ เป็นลักษณะของคนเดียวร้องไป ยังไม่เป็นวงอะไรอย่างนั้น เช่น ไพบูลย์ บุตรขัน แต่ง กลิ่นโคลนสาบควาย ให้ คำรณ สัมปุณนานนท์ และที่มาเป็นระบบเพลงจริงๆ ผมคิดว่ามาจากพี่หงา มาเป็นวงคาราวานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่เป็นต้นแบบเป็นต้นทางของบทเพลงในตระกูลนี้และก็เป็นแรงบันดาลใจกับน้องๆ รุ่นต่อๆ มา

คุณจำเนียร: สำหรับปู จริงๆ แล้วเห็นว่าอยากจะเป็นนักฟุตบอลใช่ไหม ตอนนั้นคนที่ชื่นชอบเป็น ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน เห็นเขียนบอกไว้ในหนังสือ แล้วเกิดจุดหักเหยังไงครับทำให้อยากเป็นนักดนตรี กีต้าร์ตัวแรกได้มาอย่างไรแล้วใครสอนให้ครับ

คุณพงษ์สิทธิ์: คือเด็กต่างจังหวัด การเป็นนักกีฬาก็จะมีส่วนช่วยให้เราได้เรียนโรงเรียนดีๆ ถ้าสอบได้คะแนนไม่แย่นักเพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่ก็จะแย่งกันเล่น และผมมันก็ไม่ค่อยได้เรียน (หัวเราะ) ผมได้กีต้าร์ตัวแรกเป็นกีต้าร์เวียดนาม ที่เป็นเวียดนามก็เพราะบ้านผมอยู่หนองคายหาซื้อง่าย และได้เพื่อนรุ่นพี่ช่วยฝึกสอนให้ครับ

คุณจำเนียร: มีอีกเรื่องที่แปลกๆ นะครับ เพราะว่าคนในแวดวงนี้ส่วนใหญ่เป็นคนที่ชอบศิลปะ อย่างพี่หงานี่ก็เรียนช่างศิลป์ น้อย ชูเกียรติเองก็เป็นนักเรียนศิลปะของสวนสุนันทา แต่ปูนี่เป็นนักเรียนช่างกลแล้วมาสนใจดนตรี รู้สึกว่ามันต่างไหม

คุณพงษ์สิทธิ์:(หัวเราะ)ก็มีทางเลือกอยู่สองอย่างว่าจะเป็นอันธพาลหรือว่าจะเป็นนักดนตรี (หัวเราะ) ผมเลือกเป็นนักดนตรีดีกว่าครับ

คุณจำเนียร: ช่วยเล่าให้พวกเราฟังนิดหนึ่งได้ไหมครับ ช่วงที่อยู่วงรีไทร์

คุณพงษ์สิทธิ์: วงรีไทร์เป็นวงประจำวิทยาลัยที่ผมเรียนอยู่ พอผมเข้าเรียนปี 1 ก็ไปสมัครออดิชั่น เพื่อจะเล่นกีต้าร์ ผมก็ผ่านเข้าไปและได้เล่น

ตอนที่เล่นอยู่วงรีไทร์นี่แหละที่ผมมีโอกาสได้พบกับพี่หงา ที่มาทัวร์คอนเสิร์ตแถวๆ ภาคอีสาน ตอนนั้นวงของพวกเรามีโอกาสได้เล่นเปิดม่านก่อนที่พี่ๆ เขาจะเล่น แน่นอนที่เด็กหนุ่มๆ อย่างเราพอได้เจอกับวีรบุรุษที่ชอบก็ยิ่งมีความทะเยอทะยาน มันเลยมีมากขึ้นๆ ครับ คุณจำเนียร: พี่หงาครับ ช่วงนั้นเป็นช่วงคอนเสิร์ต 1985 หรือเปล่า เพราะจะตระเวนเยอะมาก คุณสุรชัย: น่าจะใช่นะ ทัวร์สันติภาพ ในวงมีคนเยอะมากคือ มือเบสสองคนอะไรทำนองนั้น มาแย่งกันเล่น มือเบสนี่ญี่ปุ่นคนหนึ่งไทยคนหนึ่ง มีคนรักเรามากงั้นก็เล่นมันสองตัวไปเลยเอาให้มันขาดใจไปเลย ส่วนมือกลองก็มีสองคนทำนองนี้

ตอนนั้นคุณพงษ์สิทธิ์ คำภีร์เขาเล่นก่อนที่เราจะเล่น ปกติผมไม่ได้สนอกสนใจอะไร พอมีวงหนึ่งเล่นแล้วก็มีเสียงพูดคือเสียงเขานั่นแหละ เขาไม่ได้เป็นนักร้องนำแต่จะพูดเป็นโฆษกถ้าจำไม่ผิดนะครับ ดูการพูดการจามีอารมณ์ขัน หยอกล้อคนดูได้ นำคนได้ พอเสียงเพลงออกมาก็รู้สึกว่า เออ เด็กคนนี้มีแววนะ ยังพูดกับน้าหว่อง มงคล อุทก ว่าเสียงดีว่างั้นเถอะ เกิดมาเสียงดี(หัวเราะ) คุณจำเนียร: จุดนั้นเลยเป็นแรงบันดาลของปูเลยรึเปล่า ที่เจอกับพี่หงาแล้วรู้สึกว่าต้องพยายามขึ้นอีก มีจุดหักเหว่าจะเดินทางถนนสายดนตรี แล้วจึงเดินทางลงมาที่กรุงเทพฯ คุณพงษ์สิทธิ์: ครับ ผมก็ตัดสินใจช่วงที่อยู่ปีสองว่าจะยึดอาชีพนักดนตรี แต่ไม่นึกฝันถึงขนาดว่าจะออกอัลบั้ม คิดแค่ว่าได้เล่นดนตรีประจำ มีเงินเดือนเลี้ยงตัวก็พอแล้ว เป็นความฝันแต่พอได้ออกรายการทีวีช่อง 5 โลกดนตรี กลับไปบ้านก็ว่าเฮ้อ (หัวเราะ)

คุณจำเนียร: ขอถามน้อย ชูเกียรติ ถึงช่วงคอนเสิร์ต 1985 ตอนนั้นยังอยู่ที่ต่างจังหวัดหรืออยู่ที่กรุงเทพฯ

คุณชูเกียรติ: ปี 1985 ผมเรียนจบแล้วมั้งฮะ ผมเรียนจบปี 2527 สมัยผมเรียนอยู่ก็ไปนอนบ้านพี่หงานี่ละ ตอนนั้นรู้สึกว่าจะเป็นบ้านของพี่เสนีย์ ด้ายมงคล เพราะเมื่อก่อนตั้งแต่ผมยังเรียนอยู่สวนสุนันทาผมจะเล่นดนตรีกับน้องชายของพี่หงาคือ แดง อินโดจีน บรรยากาศตอนนั้นวงเพื่อชีวิตยังมีน้อยมากนอกจากวงคาราวานก็มีคาราบาว เมื่อพงษ์สิทธิ์พุ่งขึ้นมา ก็มีความสนใจในแง่การทำให้ตลาดกว้าง หันมามองเพลงเพื่อชีวิตอีกแบบหนึ่งที่เขาเรียกว่าซอฟต์หรือโรแมนติค ในที่นี้ไม่ใช่ความรักอย่างเดียวนะครับ คือ อารมณ์สะเทือนด้วย เช่น ความตาย ความเศร้า ความรัก ความอ่อนไหวเป็นโรแมนติคหมดเลย เพลงของปูเป็นอย่างนั้น เป็นแบบที่ฉีกมาอีกสายทางหนึ่ง นอกจากคาราบาวซึ่งเต็มไปด้วยพลัง เต็มไปด้วยการเหน็บแหนม หรือว่าพี่หงาที่เต็มไปด้วยความลึกซึ้ง เต็มไปด้วยปรัชญา แต่ปูเขาเป็นอีกสายทางหนึ่ง เรียกว่าเกาะกลุ่มวัยรุ่นในระดับที่อายุน้อยๆ จนกระทั่งนักศึกษาได้ค่อนข้างดีด้วยน้ำเสียงด้วยอะไรที่ต่าง ผมก็เลยสนใจเขามาตั้งแต่บัดนั้น ผมว่าจุดเด่นของปูในยุคแรกๆ ที่ค่อนข้างน่าสนใจสำหรับผมก็คือ ในอัลบัมชุดที่สอง มันมีเพลงอยู่เพลงหนึ่งที่ชื่อว่า ถามยาย ถ้าใครเป็นแฟนปูคงรู้จักเพลงนี้ เป็นเพลงที่ไม่ค่อยมีฉันทลักษณ์ เป็นคำต่อคำที่เอามาผสมกันแล้วมันกลมกลืน ด้วยเมโลดี้ที่ไปทางเดียวกัน ไม่ต้องเป็นกลอนแปด ไม่ต้องเป็นกลอนหก ไม่ต้องเป็นกาพย์ยานี ไม่ต้องเป็นกาพย์ฉบัง แต่ว่าเป็นคำง่ายๆ นี่แหละแต่ว่าร้อยเรียงกันแล้วมันได้อารมณ์ ก็เลยสนใจปูมาตั้งแต่นั้นครับ

คุณจำเนียร: นี่คือมุมมองที่บอกว่าแบบของปู พงษ์สิทธิ์ คือ วิธีการเขียนเพลง วิธีการนำเสนออาจจะไม่มีฉันทลักษณ์แต่มีลักษณะเป็นแนวอารมณ์ พอ น้อย ชูเกียรติคุยถึงตรงนี้ก็อยากฟังทัศนะของพี่ หงา ว่าเห็นต่างจากน้อยไหมครับ หรือคล้ายๆ กัน เกี่ยวกับวิธีการเขียนเพลง วิธีการทำงานเพลงนะครับ

คุณสุรชัย:คงจะคล้ายๆ กันครับ น้อยอาจตั้งข้อสังเกตได้ละเอียดกว่า เพราะเขาก็ติดตามงานของปูมานาน ผมเองก็ชอบเพลงเขาหลายเพลงนะ อันนี้ไม่ได้แกล้งมาพูดเอาใจกัน (หัวเราะ) ผมเองชอบเพลงง่ายๆ อย่างเพลง ตลอดเวลา ก่อนตลอดเวลาก็จะมีอีกเพลงหนึ่งผมก็ชอบแต่ว่าเพลงนั้นหายไปแล้วไม่มีการบันทึกเสียง ผมจำไม่ได้ว่าเป็นเพลงอะไรเสียดายเหมือนกัน คงถูกเลือกออกไป คงต้องถามเขาเอง เพลงอะไร

คุณจำเนียร:สองท่านได้พูดถึงแนวเพลงที่เขียนแล้วก็ทัศนะที่มอง ซึ่งปูเริ่มที่จะเขียนเพลงในช่วงที่อยู่โรงพยาบาลเป็นบรรยากาศในตอนเด็กๆ จนมาเขียนเพลงชุด ถึงเพื่อน ตอนนั้นเริ่มอย่างไร

คุณพงษ์สิทธิ์: คือแต่งเพลงในระยะแรกๆ ผมไม่รู้ว่าผมแต่งได้ ผมก็แต่งแบบเด็กๆ

คุณจำเนียร: ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ว่าเป็นคนที่ชอบเรื่องโคลงกลอน แล้วมันเกิดขึ้นได้ยังไง หรือว่าแค่ฮัมเพลงแล้วมันก็ไหลไปกับบรรยากาศ

คุณพงษ์สิทธิ์:การแต่งเพลงในช่วงแรกๆ คือเล่นกีต้าร์แล้วก็แต่ง คิดว่ามันเข้ากัน คิดแค่นั้น อยากพูดเรื่องอะไรก็แต่งเป็นเพลง แล้วคิดไปเองว่ามันเข้ากัน ก็เริ่มต้นอย่างนั้นเรื่อยมา ตอนนี้ผมก็ยังทำอย่างนั้นอยู่ครับ

คุณจำเนียร: พอมีความรู้สึกหรือมีเรื่องอะไรมาปะทะก็สามารถแต่งเขียนหรือเรียบเรียงได้เป็นอย่างนั้น แล้วบรรยากาศช่วงที่เริ่มเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ เด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ แล้วรู้สึกว่ามันว้าเหว่ไม่ได้เดินบนทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ช่วงที่ย่ำแย่กับความรู้สึกอย่างนั้น ประคับประคองชีวิตอย่างไร

คุณพงษ์สิทธิ์:คงเป็นเพราะยังหนุ่มยังวัยรุ่น เวลามีปัญหาจึงไม่ค่อยรู้สึก มันต้องผ่านช่วงนั้นแล้วมองย้อนไปถึงจะรู้สึกว่า เออ มันแย่นะตอนนั้น แต่ ณ เวลานั้นผมไม่รู้สึกว่าเป็นทุกข์ เห็นว่ามันเป็นความสุข

คุณจำเนียร: เห็นว่าช่วงนั้นต้องไปช่วยเพื่อนขายซาลาเปาที่อยู่หน้ารามฯ เหมือนกัน

คุณพงษ์สิทธิ์: ครับ คือมันต้องขาย มันเป็นความสนุกที่ได้สตางค์ด้วย

คุณจำเนียร: ตอนนั้นออกเทปแล้ว

คุณพงษ์สิทธิ์: ออกชุดแรกนะ

คุณจำเนียร: เรียกว่าในช่วงหนึ่งของชีวิตได้ผ่านช่วงสนุกสนานในวัยหนุ่มที่มีเสน่ห์ หรือเป็นช่วงย่ำแย่แม้ว่าจะไม่แย่ถึงที่สุด ถามพี่หงานิดนึ่งว่าในช่วงที่ย่ำแย่ของชีวิตในวัยนั้น พี่หงาสามารถประคับประคองตัวเองยังไงบ้าง

คุณสุรชัย: คิดว่ามันเป็นช่วงที่ดีที่เราจะต้องผ่าน มันเป็นเบ้าหลอมที่สำคัญมาก ความแย่นี่ถ้าเราไม่สามารถผ่านมันได้เราก็จะแย่เหมือนกัน ถึงขั้นว่าไม่เป็นคนเลยก็ได้ ผมเองเคยผ่านช่วงที่หนักๆ ที่ทุกคนก็ต้องเคยผ่าน คล้ายๆ เราไม่มีอะไรจะสูญเสีย มันหนักจนตัวเราแบนติดไปกับดินเลย ใครจะมาเหยียบมันก็ไม่เสียหาย เพราะมันเป็นดินอยู่แล้วเหยียบเท่าไรมันก็อยู่ในดินนั่นล่ะนะครับ พอถึงขั้นที่ว่าเราไม่มีอะไรจะสูญเสียไปกว่านั้นแล้วเราก็เอาความเจ็บปวดนั้นมากลับวิกฤตให้เป็นโอกาส เราไม่ได้พูดตามทฤษฎี แต่หมายความว่าเราฟื้นชีวิตได้จากงาน จากแนวคิด จากความคิด จากความเจ็บปวด ทำให้ชีวิตเราได้ฟื้นขึ้นครับ

คุณจำเนียร:ผมมองในแง่นี่นะครับว่า ชีวิตเราแต่ละคนที่ผ่านมาก็คงมีทั้งช่วงที่มีความสุขและทุกข์ ในขณะที่เรามาคุยกับคุณปูหรือพี่หงาในช่วงนี้มันก็ได้ผ่านช่วงนั้นมาแล้ว แต่เราอยากจะมองย้อนกลับไปสักนิด ว่าในช่วงวัยที่ปูรู้สึกเหมือนไม่มีอะไรเลย ย่ำแย่ นั้นจะมีเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เข้ามาให้การดูแลหรือช่วยในช่วงนั้น

คุณพงษ์สิทธิ์: อาจเป็นโชคดีครับ ทุกคนคงไม่โชคดีแบบนี้ สำหรับแต่ละช่วงชีวิตผมก็มีพวกพี่ๆ เพื่อนๆ คอยช่วยกันประคองไม่ให้ล้ม ช่วยกันดันคนละมือ มันก็ผ่านมาได้ครับ คนที่ไม่ลำบากก็ถือว่าโชคดีครับ

คุณจำเนียร:คนเราจะมีช่วงจังหวะของชีวิตเหมือนกัน ตอนที่คุณปูเริ่มทำเทปชุดใหม่บรรยากาศช่วงนั้นเป็นอย่างไรครับ

คุณพงษ์สิทธิ์: ชุดแรกออกปี 2530 แล้วก็ล้มเหลว ผมไปอาศัยกับพี่ๆ คือ พี่หงา พี่หว่อง บางคืนทุ่มหนึ่งก็ไปเล่นในบาร์ แล้วก็พยายามทำเพลงไปเสนออีก ผ่านไปประมาณ 2-3 ปี ถึงได้รับการตอบรับว่าให้ทำงาน ผมทำชุดสองประมาณปี 2533 ชุดเสือตัวที่ 11 ไปอยู่กับบริษัทๆ หนึ่ง ทำไปจนเกือบเสร็จแล้วเขาขอให้เปลี่ยนเพลง 9 เพลงใน 10 เพลง ผมก็เลยเลิกทำกลับไปเล่นในบาร์ใหม่ พอไปเสนอที่บริษัทอื่นก็ไปเจอบริษัทรถไฟดนตรี ผมก็ทำใหม่อัดใหม่จากที่อัดไปแล้ว จึงออกมาเป็นชุดที่สอง ตอนออกใหม่ก็เงียบๆ 4-5 เดือน จนคิดว่าคงต้องเลิกทำ เพราะไม่มีใครรู้จักเพลงเลย

คุณจำเนียร: ในยุคนั้นเริ่มมีผับเพื่อชีวิตเปิด

คุณพงษ์สิทธิ์:ใช่ ใช่ครับ ผมคิดว่าพี่หงานี่เป็นทัวร์ตามผับคนแรกของประเทศไทยมั้งครับ ไม่นับฝรั่ง

คุณจำเนียร:มาพูดกันถึงในช่วงบรรยากาศการทัวร์ผับเพื่อชีวิต สนุกไหมครับพี่หงา ทัวร์ในผับเพื่อชีวิตกับปูตอนนั้น ในหนังสือมีเขียนถึงเอาไว้เหมือนกัน บางคนอาจคิดไม่ถึงว่าพี่หงานี่เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกตระเวนตามร้านอาหาร ตามผับ เป็นยังไงบ้างครับช่วงนั้น

คุณสุรชัย: แต่ก่อนผับเพื่อชีวิตไม่มี บางทีก็ไปเล่นที่ผับที่ไม่ใช่เพื่อชีวิต เรียกว่าเป็นของแปลกอย่างนั้นเถอะ อีกอย่างผับมันไม่ค่อยมี ไปเล่นที่เขากำลังนั่งดริงก์กันอยู่ก็เขินเหมือนกัน เป็นคลับก็มี จนกระทั่งมีผับเพื่อชีวิตเกิดขึ้น ออกมาแล้วกระจายเป็นดอกเห็ดเลยครับอย่างที่ทราบกัน

คุณจำเนียร:ขอถามน้อย ชูเกียรติ ว่ามองยังไงกับการเอาเพลงเพื่อชีวิตเข้าไปในร้านอาหาร

คุณชูเกียรติ:ผมว่าดีนะ เป็นการเอาเพลงเพื่อชีวิตไปเผยแพร่อีกทางหนึ่ง เพราะวิทยุหรือว่าทีวีไม่ค่อยจะตอบรับเพลงเพื่อชีวิตซักเท่าไร ผมว่าเป็นเรื่องดี จนตอนหลังมานี่บูมมาก ผับเลยกลายเป็นกระบอกเสียงอันเดียวของเพลงเพื่อชีวิตไปแล้ว เพลงเพื่อชีวิตก็เป็นเพลงในอีกตระกูลหนึ่ง มันทำให้ผ่อนคลาย แต่มันมีความเป็นมาที่เข้มข้นมีเรื่องราว พอเพลงเพื่อชีวิตถูกปิดกั้นมากในจอทีวีหรือวิทยุ ผมว่ากระบอกเสียงใหญ่ๆ ก็คือผับนี่ล่ะที่จะปะทะกับผู้บริโภคได้มากที่สุด

 

Writer

Sirirat Soonsakul

นักอยากเขียน ผู้รักการสะสมท้องฟ้าสีวนิลลา และใช้หมูกระทะเยียวยาจิตใจ