พิธีกร(คุณเค) : สวัสดีครับ ก่อนอื่นให้ทั้งสามท่านแนะนำตัวเองก่อนอีกหนึ่งครั้งดีกว่านะครับ แนะนำตัวเองว่าชื่ออะไร นามสกุลอะไร และมีผลงานอะไรมาแล้วบ้าง
พิธีกร(คุณโหน่ง) : ผมเชื่อมั่นว่าพี่ๆ สื่อมวลชนบางท่านที่เป็นน้องใหม่หรือเพิ่งมาทำสื่อ อาจจะไม่เข้าใจว่าการทำงานของพวกพี่ทั้งสามคนมีบทบาทอย่างไรกับนักเขียนแล้วก็ในยุคนี้ด้วย อยากให้พี่แนะนำตัวและบอกผลงานของพี่สักนิดหนึ่ง ขอเชิญครับพี่
คุณสุมิตรา : สวัสดีค่ะทุกท่าน ดิฉันสุมิตรา จันทร์เงานะคะ ผลงานที่มีอยู่มีอยู่หลายประเภทนะคะ แต่ที่เป็นเพลสมารค์ของตัวเองก็น่าจะเป็น “หนังสือชุดคนรักผัก” ค่ะ นอกนั้นก็มีเรื่องสั้น สารคดี มีความเรียง มีหนังสือในแนวชีวประวัติอะไรพวกนี้ อยู่หลายเล่ม
พิธีกร(คุณโหน่ง) : ครับ มาถึงอีกหนึ่งท่านครับ
คุณอุรุดา : เราก็ชื่ออุรุดา โควินท์นะคะ เป็นคนจังหวัดเชียงราย เขียนหนังสือมาสิบปีแล้วนะคะ ส่วนใหญ่ก็จะเขียนเรื่องแต่งค่ะ ก็มีรวมเรื่องสั้นออกมาสามเล่มนะคะ เล่มล่าสุดก็...อยู่บนโต๊ะตัวที่สองค่ะ ชื่อ “มีไว้เพื่อซาบ” นะคะ แล้วก็ตอนนี้ก็เขียนเป็นคอลัมน์ประจำอยู่ในนิตยสารขวัญเรือน ชื่อคอลัมน์ครัวสีแดงค่ะ
พิธีกร(คุณโหน่ง) : และคุณพี่ท่านสุดท้ายของเรา
คุณปรารถนา : ชื่อเอ้นะคะ ชื่อจริงชื่อปรารถนา รัตนะสิทธิ์ นามปากกาคือปรารถนา รัตนะ ซึ่งตรงนี้บางคนจะสงสัยว่าคนเดียวกันรึเปล่า คนเดียวกันนะคะ ปัจจุบันนี้ก็มีงานรวมเล่มออกมาประมาณ ไม่ได้นับนะคะ ประมาณเจ็ดหรือแปดยังไม่ทราบ เดี๋ยวล่าสุดกำลังจะมีออกมาอีก แต่ว่าวันนี้ไม่ได้มีงานมา ก็เลยคิดว่าที่พึ่งออกกับประพันธ์สาส์นจะมี “ตามใจหัวใจฯ” นะคะ เป็นนวนิยาย แล้วก็เรื่องสั้น “ด้วยอุ้งมือของโลกฯ”ค่ะ แค่นี้ก่อนละกันนะคะ เพราะว่าถ้าพูดเดี๋ยวจะ...ชอบพูดยาวค่ะ
พิธีกร(คุณโหน่ง) : ถ้าอย่างนั้นถามพี่ๆ ทั้งสามท่านดีกว่าว่า โดยปกติแต่ละท่านก็จะมีหนังสือเป็นของตัวเองที่ออกกันมา เป็นผลงานของตัวเอง แล้วโปรเจ็คนี้เกิดขึ้นได้ยังไงทำไมถึงได้มารวมกันเขียนเป็นหนึ่งเล่ม นักเขียนคุณภาพสามคน เสือสามตัวอยู่ในถ้ำเดียวกัน
คุณอุรุดา : ให้พี่แหม่มเล่าค่ะ
คุณสุมิตรา : จริงๆ ต้องสารภาพว่าเราไม่ได้ตั้งใจให้งานเขียนชุดนี้เป็นเล่มตั้งแต่แรก เพราะว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวมากทั้งหมดคือเรียลลิตี้ในชีวิตเราสามคน พูดตรงๆ ก็คือ เป็นจดหมายส่วนตัวที่เราสามคนใช้เขียนติดต่อกัน เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ติดแสตมป์ส่งไปรษณีย์เท่านั้นเอง
พิธีกร(คุณโหน่ง) : อ๋อไม่โบราณเหมือนพี่เค
คุณสุมิตรา : เราใช้จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ค่ะ ส่งถึงกันในระยะเวลาประมาณเกือบสองปี เวลาเฉลี่ย จุดเริ่มต้นก็คือ เราต้องการที่จะปลอบโยนอุรุดาเค้า เพราะว่าช่วงนั้นอุรุดาอยู่ในภาวะที่สูญคนในครอบครัว เสียคนรัก คุณกนกพงศ์ สงสมพันธ์ หลายๆ ท่านคงจะรู้จักดี พอคุณกนกพงศ์เสีย เราก็เป็นห่วงพู ทั้งเอ้ ทั้งแหม่มเองก็เป็นห่วงพู แล้วเราก็มีโอกาสเจอกันหลังจากงานศพกนกพงศ์แล้ว ก็คือในวันนักเขียน วันที่ 5 พฤษภาคม ปี2549 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น
พิธีกร(คุณโหน่ง) : ก็คือมีจุดเริ่มต้นจากผู้หญิงที่นั่งตรงกลางนี่เองพี่พูของเรา เหมือนเป็นฟีลของเพื่อนพี่น้องที่เป็นห่วงกันนะครับ อยากจะให้กำลังใจ อยากจะให้คนๆ นึงเนี่ยลุกขึ้นได้อย่างเข้มแข็งแล้วก็แข็งแรง ก็เลยมีเรื่องของการส่งเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา ใครเริ่มก่อนครับพี่
คุณสุมิตรา : เอ้
คุณปรารถนา : คือหลังจากคืนนั้น คือวันที่ห้า เดือนห้า สี่เก้า คือทางเอ้ก็เลยได้เริ่ม กลับมาคืนนั้นเขียนเลย ก็เริ่มเขียนพิมพ์ในเครื่องแล้วก็ บอกกับพี่แหม่มกับชมพูว่า วันนี้เป็นวันฉัตรมงคลและเป็นวันนักเขียน เป็นนิมิตหมายที่สำหรับเราที่เราจะเริ่มต้นงานเขียนด้วยกัน เพราะว่า คือตอนนั้นเป็นห่วงชมพูมากด้วยเพราะว่า เราไม่รู้ว่าเพื่อนเราเขามีภาวะในจิตใจเป็นยังไงบ้าง เราคิดมาก ด้วยความที่เราเป็นนักเขียน เราคิดว่างานเขียนและตัวหนังสือของเราจะช่วยปลอบโยนเพื่อน หรือว่าจะช่วยอะไรก็ได้ คือหมายความว่าถ้าเขารู้สึกยังไงก็ให้เรารู้ ให้เขาถ่ายทอดออกมาค่ะ คืนนั้นก็เลย “สู้ๆ นะทุกคนเริ่มต้นกันนะ เราต้องเริ่ม ถ้าไม่เริ่มมันจะไม่สำเร็จค่ะ” ก็จะเป็นจดหมายที่อยู่อันแรกในหนังสือค่ะ
พิธีกร(คุณโหน่ง) : เป็นจดหมายฉบับแรกนะครับ แล้วก็พอส่งมาปุ๊บ
คุณปรารถนา : เดี๋ยวนะคะ ขอต่อนิดนึง ชมพูตอบกลับมาได้ประทับใจมาก คือชมพูบอกว่า เค้าดึงกระดาษคู่แรกออกมาเขียนด้วยดินสอ ซึ่งตอนนั้นชมพูเขาไปอยู่ทางที่นครฯไงคะ คืออยู่ในบ้านกับพี่กนกพงศ์ ในบ้านนั้นน่ะเราเข้าใจว่ามันไม่ใช่บ้านที่มีอินเตอร์เน็ต แล้วก็เลยทำให้การเขียนก็คงจะเขียนด้วยกระดาษแล้วก็ดินสอ อะไรประมาณนี้ คือเหมือนกับว่ามันคือการพลิก คือการสูญเสียของพี่กนกพงศ์ทำให้อุรุดาได้เทคโนโลยีกลับคืนมา
พิธีกร(คุณโหน่ง) : ได้อินเตอร์เน็ต เข้ามาในชีวิตทันทีเลย
คุณปรารถนา : มันเหมือนกับว่าเราต้องใช้เทคโนโลยีช่วยแล้วล่ะ คือเราส่งกันด้วยจดหมายไม่น่าจะทันการ ที่จะช่วยคุยกัน อะไรแบบนี้ค่ะ
พิธีกร(คุณโหน่ง) : อ๋อ! ก็เลยแบบว่าเป็นที่มาของการริเริ่ม แล้วพี่แหม่มเข้ามาแชทตอนไหนครับพี่
คุณสุมิตรา : ก็พอเอ้เค้าเขียนมาก็ตอบกลับไปเลย เพราะว่าช่วงนั้น ก็เข้าใจสภาวะจิตใจของพูว่า เขาคงต้องปรับอะไรอยู่ จดหมายช่วงแรกๆ หลายฉบับนะที่พูจะเขียนน้อยมาก สั้นมาก ส่วนใหญ่แหม่มกับเอ้ก็จะคุยกัน
พิธีกร(คุณโหน่ง) : คือจดหมายทุกๆ ฉบับ ทั้งสามท่านจะได้เห็นเหมือนกันหมดใช่ไหมครับ
คุณอุรุดา : คือที่เขียนน้อย ไม่ใช่อะไรนะคะ เขียนด้วยดินสอก่อนค่ะแล้วถึงเอาไปพิมพ์ เวรกรรมมาก คือว่าพิมพ์ไม่ถนัดเลย ไม่ชินกับการพิมพ์เลยค่ะ
พิธีกร(คุณโหน่ง) : แสดงว่าตลอดเวลาที่เป็นนักเขียนก็คือ เขียนด้วยมือตลอด
คุณอุรุดา : เหลาดินสอแล้วก็เขียนค่ะ ก็เลยเขียนน้อย คือวันนึงก็จะเขียนได้น้อย รู้สึกว่ายุ่งยากมากเขียนเสร็จแล้วก็ต้องเอาไปพิมพ์ และตัวเองก็ยังไม่ค่อยแข็งแรงอยู่กับร่องในรอยเท่าไหร่ ก็เลยเขียนได้แค่นั้น แต่ตอนนี้ก็เปลี่ยนไปมากนะคะ ตอนนี้เขียนด้วยดินสอไม่ได้แล้ว
พิธีกร(คุณโหน่ง) : แล้วใช้เวลานานแค่ไหนที่ เริ่มรู้สึกว่ามันน่าจะได้เป็นผลงานแล้ว
คุณสุมิตรา : เป็นปีเกือบสองปี
พิธีกร (คุณโหน่ง) : เกือบๆ สองปี
คุณสุมิตรา : เราเขียนไปเรื่อยๆ เราไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นหนังสือในตอนแรก
พิธีกร(คุณโหน่ง) : จริงๆ แล้วเหมือนกับว่าให้กำลังใจซึ่งกันและกัน กันเองนะครับ...นานไหมครับกว่าจะได้กำลังใจกลับคืนมา
คุณอุรุดา : เมื่อเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกได้ค่ะ คือสำหรับนักเขียนนี่การได้ตัวตนของตัวเองกลับมาจริงๆ ก็เมื่อเราสร้างงานชิ้นใหม่ได้ ก็ประมาณสักครึ่งปีหลังจากที่เขียนเมลคุยกับพี่แหม่มและเอ้แล้วก็มีแรงลุกขึ้นมาเขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าเราเข้มแข็งขึ้นค่ะ
พิธีกร(คุณโหน่ง) : แล้วของพี่เอ้ วันแรกที่กดเซ็นด์เมลไปหา วินาทีที่กดเซ็นด์รู้สึกยังไง
คุณปรารถนา : คือพี่จะกลัวว่ามัน เอ่อ...มันเหมือนหลายๆ โปรเจ็คอ่ะนะที่เราคุยแล้วเราคิดว่าเราจะเขียนหนังสืออย่างนี้ด้วยกันได้ไหม คือมันเหมือนกับว่า เราต้องทำให้ได้ ก็คือมีความมั่นใจว่า....ต้องเล่าก่อน คือวันนั้นกลับดึกนะคะ กลับมาแล้วยังเมา
พิธีกร(คุณโหน่ง) : เรียลลิตี้มากๆ กลับดึกไม่ว่าเมาด้วยนะครับ ก็ยังพิมพ์ได้
คุณสุมิตรา : เดี๋ยวขอเสริมนิดนึง คืนนั้นจำได้ว่าก่อนที่จะกลับ สองคนนี้เค้าไปคุยกันที่หน้าโรงแรม คือวันนักเขียนจะจัดที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์เป็นประจำหลายปีมาแล้วนะคะ สองคนก็ไปคุยกัน ก็ไปคุยกันเรื่องกนกพงศ์นี่แหละ ว่าทำไมไม่เขียนเรื่องสั้นหรืออะไรประมาณนั้น แต่แหม่มไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นะ เค้าคุยตรงนั้นก่อนแล้วเอ้ก็คงคิดว่ายังไงก็ต้องทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้ การติดต่อกันที่เป็นกิจจะลักษณะของเราประจำเนี่ย เอ้เขาก็เลยตัดสินใจคืนนั้นเลยว่าไปเปิดคอมพิวเตอร์แล้วก็เขียนเลย เพราะจำได้ว่าเวลาในการส่งเมลมันตั้งจะหกทุ่มหรือกี่โมง
คุณปรารถนา : มันตีหนึ่งไปแล้ว
คุณสุมิตรา : ประมาณนั้นค่ะ ดึกไปมากแล้ว
พิธีกร(คุณโหน่ง) : ตายแล้วพี่พูดหกทุ่ม โหน่งเครียดเลย นับนิ้วเลยนะพี่